ชีวิตอินเทอร์น : การประชุมประจำสัปดาห์


บรรยากาศเหมือนตอนเรียนปริญญาโท และได้เข้าไปร่วมนั่งอยู่ในห้องที่อาจารย์วิจารณ์กำลังสอน(โดยไม่สอน)นักศึกษาในชั้นเรียนของท่าน

 เมื่อวานนี้ได้เข้า Weekly Meeting เป็นครั้งแรก  วาระแรกของการพบกันก็คือ การ Review literature ซึ่งในช่วงนี้เป็นเรื่องของ AI (Appreciative Inquiry) ที่ต้องไปอ่านกันมาคนละบท แล้วกลับมาเล่าให้ที่ประชุมฟัง วันนี้เป็นคราวของเก๋ และพี่แอน หลังจากที่นำเสนอแล้วก็จะเป็นความคิดเห็นจากที่ประชุม ที่บ้างก็ช่วยเสริม บ้างก็ถามคำถาม เป็นที่เฮฮา บรรยากาศเหมือนตอนเรียนปริญญาโท และได้เข้าไปร่วมนั่งอยู่ในห้องที่อาจารย์วิจารณ์กำลังสอน (โดยไม่สอน)นักศึกษาในชั้นเรียนของท่าน ตอนที่พี่แอนนำเสนอนั้นมีคำถามน่าสนใจที่ถามว่า What do you believe is the essence or life - giving force to the firm? ซึ่งเป็นคำถามที่อาจารย์ได้ถามให้ทุกคนในที่ประชุมตอบออกมาว่าคุณคิดว่าอะไรเป็นหัวใจหรือพลังที่ทำให้สคส.มีชีวิตอยู่ได้  คำตอบที่ได้แม้จะพาให้พวกเรา"เลี้ยวเข้าซอยไปไกล" ตามคำของอาจารย์ แต่ก็คุ้มเพราะทำให้เราได้เห็นองค์กรที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างชีวิตได้ชัดเจนขึ้น เมื่อการนำเสนอจบลงแล้วก็เข้าสู่วาระต่อไปคือ การเตรียมงานมหกรรม KM ราชการสู่ LO ที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ ๒๑ ก.ค.นี้  จากนั้นก็เข้าสู่วาระของการ AAR ที่ทุกคนจะเล่าสู่กันฟังว่าอาทิตย์ที่ผ่านมาใครไปทำอะไรมาบ้าง ลักษณะของงานที่ไปทำมาเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือบรรยากาศการ AAR ของคนที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับงานนั้นๆ ใน ๔ ประเด็นด้วยกันคือ สิ่งที่คาดหวังจากการทำงานครั้งนี้คืออะไร / สิ่งที่ได้เกินความคาดหวังคืออะไร เพราะอะไร / สิ่งที่ได้น้อยกว่าความคาดหวังคืออะไร เพราะอะไร / จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้อย่างไร / หากมีการจัดกิจกรรมอย่างนี้อีกควรปรับปรุงอย่างไร
สิ่งที่ทุกคนได้เรียนรู้ก็คือภาพรวมว่าใครกำลังทำอะไร  บรรยากาศของการหมกมุ่นอยู่กับงานของตนอย่างชนิดที่มองไม่เห็นคนอื่นก็จะหมดไป ปัญหาเรื่องการสื่อสารที่ไม่ทั่วถึงก็จะหมดไป ความเท่าเทียมในการรับรู้ก็จะเกิดขึ้น ความเข้าใจในกันและกันก็จะเกิดตามมา  เมื่อทุกคนมีความรับรู้ในสิ่งที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ ก็จะเกิดความร่วมมือร่วมใจในการแก้ปัญหาให้ลุล่วง  และการAARนี้ก็ก่อให้เกิดการเรียนรู้จากกันและกันอย่างมากมาย ทั้งเรื่องของมุมมองที่แตกต่าง และความคาดหวังของแต่ละคน(ที่ไม่เท่ากัน) ที่ส่งผลให้เกิดปฏิกริยาต่อเรื่องราวเดียวกันแตกต่างกันไป

แต่หากความคาดหวังนี้ตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์ของการทำงานแล้ว ก็จะช่วยให้ความแตกต่างของความคาดหวังลดลง  และการทำAARก็ยังเป็นการนำเสนอมุมมองที่แตกต่างหลากหลายอย่างกว้างขวาง อันช่วยให้การทำงานครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นได้

 วาระถัดไปเป็นการพิจารณารายละเอียดของโครงการ KM Externship Program ที่ร่างขึ้นโดยอินเทอร์นคนแรกคือ วีร์ และ อ้อม ที่เป็นคู่บัดดี้ของวีร์ ซึ่งวิธีการทำงานที่ไม่ต้องรวมศูนย์ว่าทุกอย่างต้องออกมาจากยอดสามเหลี่ยม หรือผู้บริหารสูงสุด ซึ่งการตัดสินใจจ่ายงานชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้บริหารต้องมีความวางใจ และเห็นในคุณค่าว่าทุกคนมีความสามารถ และมีความคิดอ่านที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร และเมื่อที่ประชุมที่ประกอบไปด้วยสมาชิกทุกคนได้ร่วมกันเสนอแนะแล้ว สิ่งที่ดีที่สุดก็เกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็นอะไร และเมื่อมีการพูดถึงโครงการฯนี้ทุกคนก็เข้าใจดีว่าคืออะไร เป็นอย่างไร โดยไม่ต้องตกเป็นหน้าที่ของใครที่ต้องมาเป็นคนชี้แจง  เนื่องจาก Extern ไม่ได้เข้ามานั่งประจำอยู่ในสถาบันฯ ทำให้ขาดโอกาสในการซึมซับรับรู้และปะทะสังสรรค์กับสิ่งที่เป็นพลังชีวิตของสคส. ช่วงเวลาของการฝึกจึงต้องขยายออกไปถึง ๖ เดือนหรือกว่านั้น และมีลักษณะที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของ Extern แต่ละคน ซึ่งอาจมีการ"ส่งต่อ" Extern ไปยังแหล่งเรียนรู้ที่มีทรัพยากรบุคคลเป็นภาคีสมาชิกของสคส.เพื่อเป็นการขยายแวดวงของเครือข่ายของผู้ที่รักในการ ลปรร.ให้กว้างขวางออกไป

 สำหรับโครงการของอินเทอร์นนั้น หลักๆ แล้วจะเป็นการเรียนรู้ไปบนหน้างาน ทุกคนมาที่นี่ด้วยฉันทะ ดังนั้นไฟของความใฝ่รู้จึงเต็มเปี่ยม แต่เนื่องจากอินเทอร์นมีเวลาจำกัด เป้าหมายของการเรียนรู้จึงต้องคมชัดเป็นพิเศษ 

คำถามที่ตั้งอยู่ในใจขณะนี้คือ จะนำเอาความรู้ ความคิดและประสบการณ์ทุกชนิดที่เก็บเกี่ยวมาได้กลับไปพัฒนาให้ครู และนักเรียนให้เข้าสู่กระบวนทัศน์ของการจัดการความรู้ได้อย่างไร  

 

 

หมายเลขบันทึก: 37425เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2006 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 18:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท