แผลเจ้าเอย...ต้องเผยการดูแล (๒)


กระบวนการ TIME เรียกว่าเป็นหัวใจของการดูแลแผลที่เดียว

          พูดคุยกันต่อนะคะ สืบเนื่องจากการที่ดิฉันได้เข้าร่วมประชุมวิชาการเรื่อง "การพยาบาลผู้ป่วยที่มีทวารเทียมที่มีรูปิดที่ผิดปกติ ระหว่างช่องอวัยวะภายในร่างกายและผิวหนัง และที่มีแผลเรื้อรัง" คราวก่อน เราได้คุยกันถึงเรื่องกรรมวิธี กลไกของร่างกายในการสมานแผลใน Acute Wound ทำให้เราทราบว่าเนื้อเยื่อที่ชอกช้ำหรือบาดเจ็บต้องเกิดการอักเสบก่อนทุก ครั้งถึงจะเกิดขบวนการซ่อมแซม สร้างเนื้อเยื่อใหม่ก่อนแผลปิด ตลอดขบวนการสมานแผลร่างกายจะปล่อยน้ำในรูปของสารคัดหลั่งในปริมาณที่พอเหมาะ     มากวาดล้างแผลให้สะอาด ชุ่มชื้น ซึ่งถ้าเจ้าของแผลไม่ร่วมดูแลด้วย ปล่อยให้ผิวหนังตรงนั้นบาดเจ็บซ้ำๆ หรือติดเชื้อไม่เลิก น้ำจากแผลก็จะมามากเกิน ทำให้พระเอก Fibroblast ของเราเสื่อมทำงานน้อยลง เกิดอ่อนแอและแก่ชราลง ขบวนการซ่อมสร้างเนื้อเยื่อก็จะเกิดขึ้นได้น้อย แผลจะยิ่งแย่ลงอีกนะคะ เพราะเนื้อตาย และเชื้อโรคจะมากขึ้น เพราะมีเนื้อตายเป็นอาหารเต็มไปหมด ถ้าทิ้งไว้ไม่แก้ไขก็จะกลายเป็นแผลเรื้อรัง

          เมื่อมีแผลเกิดขึ้นจึงต้องช่วยกันแก้ไข ยิ่งรู้ว่าแผลดำเนินการอย่างไรเรายิ่งต้องกำจัดขั้นตอนที่จะทำให้แผลแย่ลง ถ้าพวกเราในทีมช่วยกันดักคนละทางได้ก็จะยิ่งดีนะคะ ซึ่ง Wound bed preparation ก็เป็นวิธีการช่วยเตรียมแผลให้อยู่ในสภาวะเหมาะสมแก่การซ่อมสร้างเนื้อเยื่อ โดยใช้หลักการของ "TIME" concept คือ

               - Tissue debridement คือการเอาเนื้อตายออก เนื้อตายจะยับยั้งการเกิด Granulation ซึ่งอาจารย์บอกว่าอาจใช้วิธีจัดการได้หลายวิธี เช่น มีด, น้ำยา Anti-Sepetic, H2O2, DAKIN หรือใช้วิธีการใส่อุปกรณ์เข้าไปช่วยในแผล เช่น Hydro gel, Duoderm gel

               - Infection and Inflammatory Control คือการป้องกันและพยายามลดการติดเชื้อ     ซึ่งการติดเชื้อมี  ๒ แบบ คือ

  ;                     ๑. Topical Infection แผลลักษณะนี้นิยมใช้วิธีการทำความสะอาดแผลแบบ Friendly ที่สุดต่อเนื้อเยื่อและ skin เราคาดหวังแค่เอาสิ่งสกปรกที่ติดหลวมๆ ออก ต้องไม่มีการระคายเคือง หรือเจ็บปวดแผลจนเจ้าของแผลไม่มีความสุขทุกครั้งที่ทำแผล ปกติจะเน้นทำแผลสดอย่างน้อยวันละ ๒ ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคได้ทันเกาะฟักตัวเพิ่มจำนวน ยิ่งในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานของเราก็จะทำแผลโดยเฉลี่ยวันละ ๓-๔ ครั้ง เนื่องจากBSสูงน้ำในแผลของผู้ป่วยเบาหวานจะมีอาหารเหลือเฟือแก่เชื้อโรค

                        ๒. Systemic Infection แบบนี้ต้องให้ยา Antibioticพวกเราต้องระวังเชื้อโรคที่ดุประเภท Pseudonas และ MRSA ซึ่งมักดื้อยาจากตัวมันเอง สร้าง  Biofilm มาคลุมทำให้ยาเข้าไม่ถึง เราจึงต้องดูแลเจ้าของแผลให้กินได้ นอนหลับ ร่างกายแข็งแรง จะเป็นตัวกันไม่ให้เชื้อดุเข้ามาได้ทางหนึ่ง

               - Manage of Exudate  คือ การกำจัดน้ำในแผลที่มากเกินพอดีออก โดยใช้วิธีการเลือกใช้อุปกรณ์ช่วยดูดซับน้ำบางส่วน จะใช้อุปกรณ์ชนิดใดขึ้นอยู่กับการประเมินสภาพแผลเช่น Duodern  gel (แผลแห้ง เนื้อแดง), Hydrocolloid (แผลแฉะน้อยไม่มาก), Hydro fiber (พวกแผลแฉะมาก)

               - Edge of Wound  คือ การจัดการกับขอบแผลของ แผลเรื้อรังซึ่งมักจะมีขอบแผลม้วนเข้า ทำให้ไม่เกิดการดึงรั้งของแผลเข้ามา ซึ่งอาจจะต้องใช้วิธี Debridement ถ้าเกินความสามารถของพวกเราทำไม่ได้อาจปรึกษาทีมแพทย์ให้ช่วยพิจารณาหาวิธี

          ซึ่งกระบวนการ TIME เรียกว่าเป็นหัวใจของการดูแลแผลที่เดียว และเป็นบทบาทที่สำคัญมากในส่วนของพยาบาลที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดแผลมากกว่าผู้ อื่น ถ้าเราทำแผลถูกวิธีและดีกับสภาพแผล ทำบ่อยจนเชื้อโรคไม่เกิด สิ่งที่จะได้รับตามมา คือ การปลดความทุกข์ และสร้างความสุขให้แก่ผู้ที่เราดูแล แถมการเรียนรู้ที่จะหาวิธีที่ถูกให้กับแผลยิ่งทำให้เรารู้จักประเมินทั้งแผล และอุปกรณ์ที่จะใช้ได้เหมาะสมจนเกิดเป็นความรอบรู้ และความชำนาญเฉพาะทางได้ในเรื่องแผล Professional Nurse ในเรื่องแผลค่ะ

ยุวดี   มหาชัยราชัน 

คำสำคัญ (Tags): #wound
หมายเลขบันทึก: 37413เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2006 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท