"การคิดเชิงกลยุทธ์" แบบคิดแหวกมุม (ตอนที่ 1)


เขียนโดย แอมมี่ - อิศราวดี  ชำนาญกิจ

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 9 กรกฎาคม 2553 แอมมี่ได้ไปเป็นวิทยากรในหลักสูตรชื่อเก๋ไ๋ก๋ว่า "Modern Strategic Planning in Action" หรือในชื่อภาษาไทยว่า การคิดเชิงกลยุทธ์ภาคปฏิบัติ  ให้กับพนักงานกลุ่มบริหาร ของบริษัท ทรูวิชั่น  (บางท่าน เจอกันเป็นรอบที่สองแล้ว ^^)

หลักสูตรนี้ ความจริงควรจะเป็น 2 วันนะคะ  แต่เนื่องด้วยเป็นยุควิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อจะ win-win กันทั้งสองฝ่าย แอมมี่ก็ต้องพยายามจำกัดให้มาอยู่ในวันเดียวให้ได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ยากจริงๆ ค่ะ  เพราะดูตั้งแต่ชื่อวิชานะคะ ต้องสามารถคิดกลยุทธ์ให้ได้ด้วย  แล้วต้องวางแผนกลยุทธ์ให้ได้อีก สุดท้ายยังต้องสามารถเอามาประยุกต์ใช้กับองค์กรด้วย  โห...มหาหิน จริงๆ

ถือเป็นการบ้านที่วิทยากรเครียดไปเลยค่ะ ^^ 

 

เลยต้องมาเขียนสรุปบทเรียนไว้ในบล็อค เผื่อว่า ผู้เข้าอบรมยังงงๆ หลงๆ หรือตามไม่ทัน และเผื่อเป็นวิทยาทานกับผู้สนใจในหัวข้อนี้ท่านอื่นๆ ด้วยค่ะ

(อ้อ เมื่อวันเสาร์ 10 ก.ค.) แอมมี่ได้เจอท่านอาจารย์ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด กูรูแห่ง KM ของเราด้วย ในงานสัมนาเรื่อง Learning Organization Through TQM จัดโดย FTQM ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตร เลยเกิดสำนึกผิด ว่าไม่ได้ทำ AAR (After Action Review) อย่างสิ้นเชิงในปีนี้  เพราะฉะนั้น วันนี้วันอาทิตย์เลยต้องรีบเขียนซะ ก่อนที่จะลืมค่ะ ^^

สรุปบทเรียนวันนี้  เป็นการนำทั้งสิ่งที่แอมมี่เอามาแชร์ในคลาส และความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะดีดี ของผู้เข้าอบรมมารวมกัน ถือเป็นแก่นความรู้ที่เราได้จากการคิดร่วมกัน ระดมสมองและนำเสนอนะคะ (ไม่ใช่ไอเดียจากอาจารย์ฝ่ายเดียว)  จึงมีค่ามากกว่าในแง่ของการเรียนรู้และการทำความเข้าใจในหัวข้อเรื่อง กับความสามารถในการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ต่อไปค่ะ


 

เริ่มเลยนะคะ

ก่อนที่เราจะคิดเชิงกลยุทธ์ได้นั้น ทักษะที่สำคัญที่เราต้องมี ก็คือเรื่อง 5 คิด ซึ่งก็คือ

  1. การคิดเชิงบวก (Positive Thinking +++)
  2. การคิดสร้างสรรค์/นอกกรอบ (Creative Thinking)
  3. การคิดเชิงรุก (Proactive Thinking)
  4. การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking)
  5. การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)

 

เรื่องการคิดบวก - หนังสือ The Top Secret เค้าเล่าไว้ว่า ถ้าเราคิดลบ เราจะดึงดูดพลังทางลบ เข้ามาหาตัวเอง  เช่น ลองสังเกต ถ้าวันนี้ทำอะไรผิดพลาดมาตั้งแต่เช้า มันจะผิดนู่นผิดนี่ไปตลอดทั้งวัน เพราะคิดไปว่ามันจะต้องเกิดเรื่องร้ายๆ

ดังนั้น ในเรื่องกฎแห่งแรงดึงดูด (The Law of Attraction) จึงแนะนำให้เราคิดทางบวก คิดดีๆ คิดว่าทำได้  ให้เปลี่ยนจากสิ่งที่ร้ายๆ เป็นคิดในแง่ดี  เช่น ถ้ารถติด ก็ให้คิดว่า แหมดีจังเลย เราจะได้มีเวลาฟังเพลงมากขึ้น  มีเวลาเตรียมงานมากขึ้น  มีเวลาคุยกับแฟนเรา กับลูกเราในรถมากขึ้น  จะได้มองเห็นทัศนียภาพความงดงามของรอบๆ บริเวณที่รถติดที่เราไม่เคยสังเกตมาก่อน มองเห็นชีวิตผู้คนที่อาจจะต่ำต้อยด้อยค่ากว่าเรา แล้วดีใจว่าเรายังเกิดมาดีกว่าเค้าตั้งเยอะ  หรือว่ารถติดก็ดีจะได้ เตรียมทำ To Do Lists ว่าเรามีเรื่องสำคัญอะไรบ้างที่ต้องทำในวันนี้

หรือถ้าสมมติวันนี้ เจ้านายด่า ก็ให้คิดใหม่ว่า แหมดีจังเลย เจ้านายคงจะรักเราน่าดู เลยด่าเพื่อหวังให้เราพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น  (บางคน ดีใจมากนะคะ แบบว่า ไม่ค่อยได้เห็นหน้าเจ้านายเท่าไหร่  เจ้านายด่า ก็ดี จะได้เห็นว่าเจ้านายยังอยู่ ...อ้าว เป็นงั้นไป ^^)

ทดลองเอาไปคิดในหลายๆ สถานการณ์ดูนะคะ เช่น ถ้าแฟนทิ้ง  ถ้าสอบตก  ถ้าน้ำท่วมหนัก  ถ้าขายของไม่ได้เลย  ถ้าลูกค้าบ่น   จะเปลี่ยนเป็นการคิดบวก ว่ามัน "ดีจังเลย"  ได้อย่างไร

เรื่องการคิดสร้างสรรค์/นอกกรอบ (วันนี้ไม่ได้เน้นมากค่ะ เพราะเรื่องมันยาว ต้องเรียนกัน 1-3 วันเป็นอย่างน้อย)  แต่เป็นทักษะที่ฝึกฝนกันได้ไม่ยาก เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการแก้ปัญหา/ตัดสินใจ และการวางแผนต่างๆ โดยเฉพาะกลยุทธ์การตลาด การโฆษณา และการบริหารจัดการ  ใช้วิธีระดมสมอง focus group การคิดด้วย Mind Mapping

เรื่องการคิดเชิงรุก - หนังสือ 7 Habits for Highly Effective People ของ Steven R. Covey ได้ระบุไว้ชัดเจนเลยค่ะ ว่าเป็นคุณสมบัติข้อแรกของผู้มีประสิทธิผลสูง

คนที่มีความคิดเชิงรุก มักจะมีภาวะผู้นำสูงด้วย จึงมักขี้สงสัย ชอบตั้งคำถาม ชอบแก้ปัญหา ลงมือทำ(จริง ไม่มัวแต่ฝันหวาน) ตั้งทีมวางแผนกลยุทธ์ในเรื่องต่างๆ ให้สังเกตว่า เด็กที่เป็นหัวโจกทั้งหลาย  จะเป็นคนเชิงรุกสุดๆ เดี๋ยวจะหาเรื่องเ่ล่นเกมต่างๆนาๆ ชวนลูกทีม ทำโน่น ทำนี่ ปีนป่าย หาอะไรทำได้ตลอดเวลา แล้วลูกทีมก็ชอบตามอย่างเต็มใจอีกด้วย

สรุป 7 อุปนิสัยของผู้มีประสิทธิผลสูงไว้สั้นๆ ดังนี้ค่ะ

  1. Be Proactive - การคิดเชิงรุกและลงมือทำ
  2. Begin with the end in mind - เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายก่อน
  3. Put first thing first - ทำสิ่งที่สำคัญ/จำเป็นก่อน
  4. Think win-win - คิดแบบชนะ-ชนะ
  5. Seek first to understand, then to be understood - เข้าใจผู้ื่อื่นก่อน  แล้วจึงให้ผู้อื่นเข้าใจเรา
  6. Synergize - ผนึกพลังประสานความต่าง
  7. Sharpen the saw - ลับเลื่อยให้คมอยู่เสมอ (พัฒนาตนเองตลอดเวลา)

เรื่องการคิดเชิงวิเคราะห์  ก็คือการคิดแบบแยกส่วน เพื่อการคิดแยกปัญหาออกมาเป็นข้อๆ ให้ได้ หัวข้อนี้ แอมมี่ ให้ลองฝึกคิดแยกองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ เช่น  รถยนต์  แกงเขียวหวาน  คอมพิวเตอร์  ไปจนถึงปัญหาจราจร  ปัญหาความยากจน ฯลฯ เมื่อคิดวิเคราะห/แยกส่วน์ออกมาได้แล้ว ก็จะสามารถหาวิธีแก้ปัญหา หรือวางกลยุทธ์ไปเป็นข้อๆ ได้ด้วย ตามลำดับค่ะ

เรื่องการคิดเชิงระบบ - หนังสือ The Fifth Discipline หรือ กฎการนำองค์กรไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ 5 ข้อ

เขียนโดย ปีเตอร์ เซงเก้ กูรูบริหารจัดการระดับโลก  ได้เขียนไว้ว่า องค์กรที่จะก้าวไปสู่ LO (Learning Organization) ได้นั้น ต้องสร้างให้มีคุณลักษณะ 5 ประการดังนี้ค่ะ

  1. Personal mastery - การพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ มีเป้าหมายในชีวิต รู้จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง
  2. Mental models - มีปรัชญาการใช้ชีวิต  เข้าอกเข้าใจในความเป็นไปต่างๆของโลก (มองภาพรวมได้)
  3. Building shared vision - การแชร์วิสัยทัศน์ขององค์กรให้พนักงานทุกคนทราบเป้าหมาย  จะได้มีจุดยืน/มีเป้าหมาย/มีคำมั่นสัญญาร่วมกัน ในการทำงานและการพัฒนาองค์กร
  4. Team Learning - เริ่มจากการสนทนา (ในลักษณะสุนทรียสนทนา (dialogue) หรือ สนทนา/พูดคุย/แลกเปลี่ยนปัญหาการทำงานแบบบรรยากาศสบายๆ ไม่เครียด ทุกคนแสดงความคิดเห็นได้เสรี ทุกคนรับฟังอย่างตั้งใจ ไม่บล็อคความคิด  เคารพซึ่งกันและกัน) จะก่อให้เกิดแนวทางในการทำงาน/การแก้ปัญหาในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นใหม่ๆ บางครั้ง สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้จากการพูดคุยแบบสุนทรียสนทนานี้ค่ะ
  5. Systems Thinking - การคิดเชิงระบบ (เข้าใจระบบทั้ง แบบระนาบ (input-process-output) และแบบพลวัตร หรือ ระบบเปิดที่ทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน เด็ดดอกไม้-กระเทือนถึงดวงดาว,  วิกฤตต้มยำกุ้งที่เกิดในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก, น้ำแข็งละลายที่ขั้วโลกเหนือส่งผลกระทบต่อหมู่บ้านเล็กๆทางภาคอีสานของไทย (โลกร้อน >> ทำให้ฝนแล้ง >> ทำให้เพาะปลูกไม้ได้) เป็นต้น

โดยที่ เซงเก้ ระบุไว้เลยค่ะว่าเจ้าตัว Systems Thinking นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่จะนำให้องค์กรใช้และเน้นข้อ 1-4 อย่างได้ผล 

ความหมายของการคิดเชิงกลยุทธ์

  การคิดเชิงกลยุทธ์ ก็คือ ความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุด ภายใต้สภาวะต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ 

  การคิดเชิงกลยุทธ์ จะมุ่งชัยชนะได้นั้น เราต้องใช้ทั้ง "ศาสตร์" (เช่น การวางแผนเป็นขั้นตอน  ความสามารถในการถ่ายทอดความคิด และการเรียนรู้กลยุทธ์ร่วมกัน ฯลฯ) และ "ศิลป์" (ใช้ความแตกต่าง หลากหลายของทีม, สถานการณ์แตกต่าง เวลาแตกต่าง กลยุทธ์ก็ต้องแตกต่างกันด้วย, คือต้องสามารถยืดหยุ่น ไม่ตายตัว พลิกแพลงไปได้ตามสถานการณ์  ผู้วางแผนจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อมอยู่้เสมอ)

The Art of War (Sun Tzu) - ตำราพิชัยสงคราม

   เค้าว่าไว้เลยว่า  กลยุทธ์ทางการทหาร/การทำสงครามนั้น จะรบได้ชัยชนะก็จะต้องมีหลักคิด/หลักการดังนี้ค่ะ

  1. ควรจะสู้เพื่อคุณธรรม - สงครามที่จำเป็นที่สุด ก็คือสงครามแห่งคุณธรรมด้วย คือ ไม่ได้เอาชนะคะคานกันอย่างเอาเป็นเอาตาย  ในหนังบางเรื่องเราจะเห็นว่่า  บางครั้ง รบกันตัวต่อตัว อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ คู่ต่อสู้ก็ไม่ได้ฆ่าทิ้ง  เพราะให้เกียรติถือว่าสู้กันจนสุดความสามารถแล้ว สู้ไม่ได้จริงๆ  ฝ่ายแพ้เป็นถึงหัวหน้า มีผู้คนเคารพ มีลูกเมียต้องดูแล ก็ปล่อยให้มีชีวิตอยู่  (กลับไปฝึกวิทยายุทธมาสู้ใหม่ได้)  อย่างในเรื่อง The Prince of Persia ที่พระเอกใช้กลยุทธ์ทำสงครามแบบกองโจร  แอบตีเข้าเมือง  เปิดประตูเมืองได้ก่อนทัพใหญ่จะตีเข้ามาในวันรุ่งขึั้้้น ก็เนื่องจากแนวคิดไม่อยากให้ผู้คนเสียเลือดเนื้อมากนักทั้งสองฝ่าย ได้รับเกียรติว่าเป็นผู้นำที่มีคุณธรรมสูง
  2. ควรจะรู้จักสภาพแวดล้อม - รู้ว่าสมรภูมิที่เราจะลงแข่งขันนั้นมีสภาพเป็นอย่างไร  สามารถรู้จักวิเคราะห์สถานการณ์ของฝ่ายตรงข้าม  อย่างเช่น นักกีฬากอล์ฟ จะดึงเศษหญ้ามาโปรยเพื่อหาทิศทางลม เพื่อจะทราบว่า ควรจะตีลูกด้วยความเ็ร็วเท่าไหร่ ต้านลมหรือตามลม เบา-แรงแค่ไหน และฝึกซ้อมในสนามจริงหลายรอบก่อนจะลงแข่งจริง หรือนักฟุตบอลที่ลงซ้อมในสนามจริงเป็นเดือนก่อนจะลงแข่งค่ะ  การรู้จักสภาพแวดล้อมและพื้นที่จะช่วยให้เราประเมินได้ถูก และหาวิธีวางกลยุทธ์ได้เหนือคู่แข่งขันมากขึ้นนะคะ
  3. กำลังเขียนอยู่จ้า (ที่เขียนไว้ตั้งเยอะ หายโม๊ด เลยต้องมาเขียนอีกรอบ)
หมายเลขบันทึก: 373743เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 09:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท