ความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับพสกนิกรของพระองค์


“...ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่น่าวิตกก็คือ ทุกวันนี้ ความคิดอ่านและความประพฤติหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นความชั่วความผิดได้กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมยอมรับ แล้วพากันประพฤติปฏิบัติโดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน จนทำให้เกิดปัญหาและทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมนลงไป...” พระบรมราโชวาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๒

 

 

ความผูกพันระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชกับพสกนิกรของพระองค์

 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยในการดำเนินชีวิตและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันของประชาชนชาวไทย ซึ่งสังเกตได้จากพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่พสกนิกรของพระองค์ เนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ.๒๕๔๖ ในวันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕  ไว้ดังนี้ “...ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นชาวไทยมีความสุขถ้วนหน้ากันด้วยการให้ คือ ให้ความรัก ความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองกัน ให้การสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกันด้วยความบริสุทธิ์และจริงใจ...”  เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วน จะสัมผัสได้ถึงความเป็นครูของพระองค์ ที่สอนประชาชนชนชาวไทยในฐานะศิษย์ พระองค์มีความเมตตาต่อศิษย์ ปรารถนาให้ศิษย์พ้นจากความทุกข์ที่เกิดจากอวิชชา ประสบกับความสุขอันเกิดจากคุณธรรม โดยวิชาที่พระองค์ทรงสอนคือวิชาจริยธรรม โดยใช้ภาษาง่าย ๆ ในการสอนหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ทั้งในเรื่องของการมีความรักและความเมตตาต่อกัน (พรหมวิหาร ๔)  การมีน้ำใจไมตรีสงเคราะห์อนุเคราะห์กัน (สังคหวัตถุ ๔)  รวมถึงการให้อภัย (อภัยทาน หรือ การไม่ผูกโกรธผูกพยาบาท)    ซึ่งคำสอนที่พระองค์สอนเหล่านี้ล้วนเป็นหลักจริยธรรมสากล อันจะทำให้ประชาชนชาวไทยผู้เจริญมรรควิถีที่พระองค์ทรงไขแสดงพุทธธรรมด้วยภาษาอันเรียบง่าย  สอดคล้องกับหลักธรรมในศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม ซึ่งแสดงถึงคุณลักษณะของพระองค์ในฐานะพระราชาผู้ทรงภูมิธรรม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยในประเทศชาติบ้านเมืองและความสุขของประชาชน รวมถึงประโยชน์ในภาพรวมที่จะมีต่อประเทศชาติบ้านเมืองและประชาชน จากการปฏิบัติหน้าที่ของนักการเมืองในฐานะสมาชิกรัฐสภา โดยประชาชนชาวไทยรับรู้รับทราบได้จากพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานในพิธีเปิดประชุมรัฐสภา (ชุดที่ ๒) ครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม (ใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภาในขณะนั้น)  ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๐๐  ไว้ดังนี้ “...ชาติบ้านเมืองจะเจริญก้าวหน้า อาณาประชาราษฎร จะได้รับความผาสุกเพียงไรหรือไม่ ย่อมอาศัยการที่ท่านทั้งหลายจะสมัครสมานสามัคคีกัน ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต หวังประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งโดยยึดมั่นในการสร้างเสริมความวัฒนาสถาพรแก่ประเทศชาติอันเป็นที่รักของเรา และส่งเสริมประโยชน์สุขแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งปวง...”   

นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความห่วงใยในประเทศชาติบ้านเมืองและความสุขของประชาชนชาวไทยแล้ว พระองค์ยังทรงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรของพระองค์มีความสมัครสมานสามัคคีกัน เพื่อให้ประเทศชาติของเราดำรงอยู่อย่างมั่นคงตลอดไป ซึ่งทหารรักษาพระองค์และพสกนิกรชาวไทยรับทราบได้จากพระบรมราโชวาทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ทหารรักษาพระองค์ ในพิธีตรวจพลสวนสนามเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา วันพุธที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๒  ไว้ดังนี้ “...ชาติของเรารักษาเอกราชอธิปไตยมาได้จนถึงทุกวันนี้ด้วยความสามัคคี คนไทยเราแต่ละคนรู้จักประโยชน์ส่วนรวมของชาติ รู้จักปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องและเกื้อกูลกัน ผลการปฏิบัติของเรานั้นจึงเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ซึ่งสามารถจำกัดและป้องกันภัยต่าง ๆ มิให้ทำอันตรายแก่เราได้ แม้จะมีศัตรูคิดร้าย บุกรุกคุกคามอย่างหนักหนาเพียงใด เราก็ยังไม่เพลี่ยงพล้ำ ขอให้ทุกคนสำนึกตระหนักว่า ความสมัครสมานสามัคคีของเรานั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องรักษาไว้ให้ยั่งยืนอยู่ตลอดไป หากเรามีความประมาท เราแตกสามัคคีกันเมื่อใด เราก็จะเป็นอันตรายย่อยยับลงเมื่อนั้น...” 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) ตามบทบาทหน้าที่ (Role and Position)  คนทุกคนในสังคมที่มีความสามารถแตกต่างกัน จึงมีหน้าที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมได้  ทั้งนี้บัณฑิตใหม่และประชาชนชาวไทยได้รับฟังพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่บัณฑิตใหม่ ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๓  โดยมีใจความดังนี้ “...ความเจริญของประเทศชาติเป็นความเจริญส่วนรวม ซึ่งเกิดจากผลงานหรือผลของการกระทำของคนทั้งชาติ ถือได้ว่า ทุกคนแบ่งหน้าที่กันทำประโยชน์ให้แก่ชาติ ตามความถนัดและความสามารถ และต่างคนต่างก็ได้เกื้อกูลกันและกัน ไม่มีผู้ใดจะอยู่ได้และทำงานให้แก่ประเทศชาติ ได้โดยลำพังตนเอง...”   และในอีกวาระหนึ่ง ในสถานที่เดียวกัน, ๒๖ ปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังคงพระราชทานพระบรมราโชวาทที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการแบ่งงานกันทำ (Division of Labor) ตามบทบาทหน้าที่ (Role and Position)  พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๙  มีใจความดังนี้ “...งานของชาตินั้นมีมากมายหลายด้าน ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ศิลปวัฒนธรรม การเมือง การปกครอง และจำเป็นจะต้องมีผู้มีความรู้ความสามารถในแต่ละสาขาวิชามาปฏิบัติบริหารให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีในทุก ๆ ด้าน ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นชัด ก็ขอเปรียบเหมือนวงดนตรีวงหนึ่ง ซึ่งจะต้องประกอบด้วยเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ มีเครื่องดีด สี ตี เป่า เป็นต้น และมีผู้ชำนาญในเครื่องดนตรีนั้น ๆ เป็นผู้ปฏิบัติให้กลมกลืน ไพเราะ และถูกต้องตามจังหวะจะโคน จึงจะเป็นวงดนตรีที่สมบูรณ์ได้  เพราะฉะนั้นผู้มีปัญญาความสามารถไม่ว่าจะทำงานในด้านใด เป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ ง่ายยาก จะต้องถือว่างานทุกงานมีความสำคัญเท่าเทียมกัน และต้องตั้งใจกระทำให้ดีที่สุด ด้วยความรับผิดชอบ และด้วยความอุตสาหะวิริยะ โดยมุ่งถึงความสำเร็จของงานเป็นจุดหมายสำคัญ...”

นอกจากพระบรมราโชวาทที่ปวงชนชาวไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณเมื่อวันศุกร์ที่ ๑๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๓  ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่คนส่วนรวมแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเน้นย้ำพสกนิกรของพระองค์อยู่เสมอตลอดระยะเวลาหลายปีและในหลาย ๆ วโรกาสที่พระองค์ทรงสามารถพระราชทานพระบรมราโชวาท ถึงความสำคัญของการกระทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม  โดยในอีก ๗ ปีต่อมา ในท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองขณะนั้น ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้ผ่านการเกิดรัฐประหารขึ้นหลายครั้ง รวมถึงวิกฤตการณ์ทางการเมือง ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๖  และวิกฤตการณ์ทางการเมือง ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙  ที่ทำให้ประชนชาวไทยเกิดความแตกแยกทางความคิด โดยมีประชาชนชาวไทยจำนวนหนึ่งมีความนิยมในลัทธิการเมืองที่แตกต่างไปจากประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท ในรูปแบบพระราชดำรัสพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทยในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๒๑  เมื่อวันเสาร์ที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐  โดยมีใจความว่า “...อันการทำนุบำรุงบ้านเมืองนั้น เมื่อเป็นการกระทำของคนทั้งชาติ ก็ย่อมจะมีความขัดแย้งอันเกิดจากความคิดความเห็นที่ไม่ตรงกันเกิดขึ้นได้ จะให้สอดคล้องต้องกันตลอดทุกเรื่อง ย่อมเป็นการผิดวิสัย เพราะฉะนั้น แต่ละฝ่าย แต่ละคน จึงควรจะคำนึงถึงจุดประสงค์สำคัญ คือความเจริญ ไพบูลย์ของชาติ เป็นใหญ่...”

เนื่องจากประเทศไทยของเราเป็นประเทศที่อยู่บนรากฐานเกษตรกรรม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีความใส่พระราชหฤทัยในความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ดังพระราชดำรัสในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรและอนุปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๗  โดยมีใจความดังนี้ “...เศรษฐกิจของเราขึ้นอยู่กับการเกษตรมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว รายได้ของประเทศที่ได้มาใช้สร้างความเจริญด้านต่าง ๆ เป็นรายได้จากเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ จึงอาจกล่าวได้ว่าความเจริญของประเทศต้องอาศัยความเจริญของการเกษตรเป็นสำคัญ และงานทุก ๆ ฝ่ายจะดำเนินก้าวหน้าไปได้ ก็เพราะการเกษตรของเราเจริญ”  และในอีก ๑๐ ปีต่อมา ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๗  ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์อีกเช่นกัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาท ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่อยู่ในพระราชหฤทัยมาตลอดระยะเวลา ๑๐ ปี นั่นคือ ความใส่พระราชหฤทัยในความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยพระบรมราโชวาทดังกล่าว มีใจความว่า “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือความพอมีพอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆ ขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ในเวลานี้... ”   ความใส่พระราชหฤทัยในความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศและชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงแสดงออกให้พสกนิกรชาวไทยได้รับทราบผ่านทางพระราชดำรัสในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ และ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๗ ดังกล่าว สะท้อนให้เรา ประชาชนชาวไทยได้เห็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจของพระเจ้าแผ่นดินมาตลอด ๑๐ ปี อันเป็นสิ่งที่อาจปรากฏขึ้นได้ยากในหัวใจของผู้สูงศักดิ์บนพื้นพิภพนี้  เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่อยู่ในหัวใจของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ เป็นที่มาของแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ โครงการแกล้งดิน โครงการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำ โครงการแก้มลิง ฝนหลวง รวมไปถึงโครงการในพระราชดำริอื่น ๆ ซึ่งเป็นไปเพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยเริ่มต้นจากการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยที่เป็นเกษตรกร อันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยหลุดพ้นจากความยากจน ด้วยหลักสามห่วง-สองเงื่อนไข (สามห่วง : พอประมาณ มีเหตุมีผล มีภูมิคุ้นกันที่ดี / สองเงื่อนไข : ความรู้ คุณธรรม) ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว ประเทศไทยก็จะมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน  อนึ่งความหลุดพ้นจากความยากจนของประชาชนชาวไทย มิได้หมายความว่า ทุกคน---ทุกครัวเรือนเป็นเศรษฐีผู้มั่งคั่งร่ำรวย หากแต่ความหลุดพ้นจากความยากจนดังกล่าวหมายถึง ทุกคน---ทุกครัวเรือนสามารถดำรงชีพได้อย่างเป็นปกติสุขโดยไม่อัตคัดขัดสน

หลายปีต่อมา ท่ามกลางกระแสความโลภ ความโกรธ และความหลงของมนุษย์ อันเป็นกิเลสซึ่งถูกห่อหุ้มไว้ด้วยอวิชชา ไม่เว้นแม้แต่ประชาชนชาวไทยบางคนผู้อุดมไปด้วยลาภ ยศ และเครื่องสักการะ อันเกิดจากการได้ดำรงตำแหน่งสูงในทางการเมือง และ/หรือ ในวงราชการ  ความขัดแย้งจึงเป็นเรื่องที่สามารถพบเห็นได้เป็นปกติ ในกรณีที่ผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจหน้าที่ (Authority) เหล่านี้ ไม่ถูกต้องตรงกัน  ความขัดแย้งกันในหลาย ๆ วงการ รวมถึงความขัดแย้งในทางการเมือง ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวนั้น เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเพิ่งจะผ่านการรัฐประหารอีกครั้ง นำมาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลบนความคับข้องใจของมหาชน และตามมาด้วยวิกฤตการณ์พฤษภาทมิฬ (พ.ศ.๒๕๓๕)  แต่ด้วยพระบารมีแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานพระราชดำรัสเตือนสติแก่ผู้นำทั้งสองฝ่าย ทำให้เหตุการณ์นองเลือดดังกล่าวไม่รุกลามบานปลายไปมากกว่านั้น ภายหลังจากสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชนชาวไทยบทถนนราชดำเนิน ได้เกิดมีรัฐบาลที่ได้รับฉันทานุมัติจากปวงชนชาวไทย แต่ก็มีเสถียรภาพไม่มากเท่าที่ควรในรัฐสภา  ด้วยความห่วงใยในประเทศชาติบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาท ในรูปแบบพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคมในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๕  วันเสาร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕  โดยมีใจดังนี้ “...ปัจจุบันนี้ รู้สึกว่าบ้านเมืองมีปัญหาและความขัดข้องเกิดขึ้น ไม่สร่างซาเกือบทุกวงการ เป็นเครื่องบ่งบอกชัดเจนว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องลดความถือดีและการทำตามใจตัวลง แล้วหันมาหาเหตุผล ความถูกต้องและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมกันอย่างจริงจัง เพื่อจำกัดอคติและเสริมสร้างความเมตตาสามัคคีในกันและกัน จักได้สามารถร่วมกันเร่งรัดปฏิบัติสรรพกิจการงานให้ประสานสอดคล้อง และปรองดองเกื้อกูลกันให้สัมฤทธิ์ประโยชน์สูงสุดในการธำรงรักษาอิสรภาพ อธิปไตย และความเป็นไทย ให้ยืนยงมั่นคงอยู่ตลอดไป...”

ในปี พ.ศ.๒๕๓๓  นักการเมืองไทยผู้ได้อำนาจรัฐมาจากประชาชนผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เคยประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจว่า จะนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (New Industry Countries, NICs)  และเป็น “เสือตัวที่ห้า” ของเอเชีย ต่อจากญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์  อันจะทำให้ประเทศไทยเจริญรุ่งเรืองเทียบเท่า “เสือทั้งสี่ตัว”  จากนั้นไม่นาน มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้าราชอาณาจักรเป็นจำนวนมาก ทั้งในรูปเงินลงทุนและเงินกู้  ในส่วนเงินที่กู้เขาเข้าประเทศมานั้น บ้างก็กู้เงินนำมาลงทุนสร้างโรงงาน---ประกอบกิจการ บ้างก็กู้เงินมาออกดอกเบี้ย---ปล่อยให้ประชาชนรายย่อยกู้ต่อ  อย่างไรก็ตามในกาลต่อมาปรากฏว่า เกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นในประเทศไทย อันเป็นผลมาจากการถูกโจมตีค่าเงินบาทอย่างเป็นกระบวนการที่ได้รับการวางแผนมาเป็นอย่างดี โดยอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ จาก ๑ เหรียญสหรัฐฯ ต่อ ๒๕ บาท กลับกลายเป็น ๑ เหรียญสหรัฐฯ ต่อ ๔๘ บาท  ส่งผลให้เงินจำนวนมหาศาลที่กู้มาจากต่างประเทศในสกุลเงินเหรียญสหรัฐฯ มีมูลหนี้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าตัวอย่างถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งหมายความว่า เป็นหนี้สินที่ต้องชดใช้คืนให้เจ้าหนี้อย่างหลีกเลี่ยงและต่อรองมิได้  ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๐ วิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยปรากฏภาพชัดเจนขึ้นในระบบเศรษฐกิจโลก  วิกฤตของประเทศไทยดังกล่าวเกิดจากการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบเทียมเท็จ หรืออาจเรียกว่า ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบ “ฟองสบู่”   วิกฤตทางเศรษฐกิจประเทศไทยในคราวนั้น ถูกชาวโลกขนานนามว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” ซึ่งได้รุกลามไปกระทบเทือนระบบเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย และระบบเศรษฐกิจโลก ตามลำดับ  ในการพิจารณาอีกด้านหนึ่ง วิกฤตทางเศรษฐกิจดังกล่าว ยังได้แสดงภาพที่ชัดเจนของความไม่ยั่งยืนและความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมตะวันตก ซึ่งมีรูปแบบการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจด้วยพลังอำนาจแห่งกิเลส ตัณหา และความโลภ  อย่างไรก็ดี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณปกเกล้าปกกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ปวงชนชาวไทย เพื่อให้เกิดสติและปัญญาด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในรูปพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตลดาฯ พระราชวังดุสิต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๐  ใจความว่า “...การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก  อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัยจริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้าไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้  ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถพ้นวิกฤตการณ์ได้ดีกว่าหลายประเทศ เพราะแผ่นดินนี้ยังเหมาะสมกับความเป็นอยู่ได้ อย่างที่เคยพูดมาหลายปีแล้วว่า ภูมิประเทศยัง “ให้” คือเหมาะสม แต่ความเป็นอยู่ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ต้องอยู่อย่างประหยัด และต้องไปในทางที่ถูกต้อง...”   และวันเดียวกันในปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้ง ในรูปพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตลดาฯ พระราชวังดุสิต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๑  ดังต่อไปนี้                 “...ถ้าทำโครงการอะไรที่สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศ ก็สามารถจะสร้างความเจริญให้กับเขตที่ใหญ่ขึ้นได้ เขตที่ใหญ่ ลงท้ายก็จะแผ่ทั่วประเทศได้  แต่เพื่อการนี้จะต้องมีความร่วมมืออย่างดีระหว่างทุกฝ่าย ทั้งนักวิชาการ และนักปกครอง ดังนี้ ถึงบอกว่าเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ สองอย่างนี้ จะทำความเจริญแก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร และต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้...”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในเรื่องเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยพระราชทานพระราชดำรัสในโอกาสที่คณะบุคคลต่าง ๆ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย วันอาทิตย์ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๖  ความว่า “...การที่ดัดแปลงธรรมชาติหรือสภาพของธรรมชาติมาใช้เพื่อประโยชน์ของบุคคลนั้นก็ต้องระมัดระวังมากที่จะไม่ให้เกิดความเสียหาย และการที่จะทำให้เกิดประโยชน์ได้ แต่ละคนก็จะต้องช่วยกันควบคุมสิ่งที่จะเสียหาย สิ่งที่เสียหายก็จะลดลงไป...”   ไม่เพียงแต่ทรัพยากรธรรมชาติเท่านั้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงวินิจฉัยว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ ทรัพยากรบุคคลก็เป็นทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติเช่นกัน  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแง่คิดอันลึกซึ้งเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสำคัญทั้งสอง ผ่านพระราชดำรัสในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๒๙  เมื่อวันศุกร์ที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๙  ความว่า “...ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราจะต้องรู้จักใช้ทรัพยากรทั้งนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์...”   

ก่อนที่โลกจะตื่นตัวอย่างยิ่งยวดเกี่ยวกับปัญหาสภาวะโลกร้อน (Global Warming)  อันเกิดจากการปาฐกถาของนายอัล กอร์, อดีตรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ และอดีตผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ (ผู้ชนะคะแนนความนิยม (Popular Vote)  แต่พ่ายคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral Vote)  ต่อนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู บูช, อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ)  ถึงแม้ว่าปาฐกถาของ นายอัล กอร์ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้ทำให้ประชาคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสภาวะโลกร้อน  แต่นั่นเกิดขึ้นหลังจากการพระราชทานพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับปัญหาสภาวะโลกร้อนถึงเกือบ ๒๐ ปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลาดฯ พระราชวังดุสิต วันจันทร์ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๒  ดังนี้ “...การเผาเชื้อเพลิง เช่น ถ่าน ถ่านหิน น้ำมัน เชื้อเพลิงอะไร ๆ ต่าง ๆ เหล่านี้ทั้งหมดทำให้คาร์บอนขึ้นไปในอากาศจำนวน ๕ พันล้านตันต่อปี แล้วก็ยังมีการเผาทำลายป่าอีก ๑.๕ พันล้านตัน รวมแล้วเป็น ๖.๕ พันล้านตัน  ถ้าขึ้น ๆ ไปอย่างนี้ ก็เท่ากับเกือบสิบเปอร์เซ็นต์ ของจำนวนที่มีอยู่แล้วในอากาศ  ถ้าไม่มีอะไรที่จะทำให้ให้จำนวนของสารนี้ในอากาศลดลง ก็จะทำให้สารนี้กลายเป็นเหมือนตู้กระจกครอบ ทำให้โลกนี้ร้อนขึ้น...”

เกี่ยวกับความสมดุลของสรรพสิ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวพระราชดำริอันลึกซึ้งเกี่ยวกับความสมดุลทางชีววิทยาของมนุษย์ อุปมากับความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งที่มนุษยชาติสร้างขึ้น รวมความเป็นความสมดุลในทุกสรรพสิ่ง ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยมหิดล ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร วันพฤหัสบดีที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๔  ความว่า “...สรรพสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่พร้อมกับเจริญยั่งยืนไปได้ เพราะมีความสมดุลในตัวเอง อย่างชีวิตมนุษย์เรานี้ดำรงอยู่ได้เพราะมีออกซิเจน ไฮโดรเจน และคาร์บอน อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของชีวิตได้สัดส่วนกัน เมื่อใดส่วนประกอบอันเป็นแก่นแกนของชีวิต ส่วนใดส่วนหนึ่งบกพร่องขาดหายไป ไม่อาจแก้ไขให้คงคืนสมดุลได้ เมื่อนั้นชีวิตก็เสื่อมโทรมแตกดับ ธรรมชาติอื่น ๆ ตลอดจนสิ่งที่มนุษย์ปรุงแต่งสรรค์สร้างขึ้น เช่น เครื่องจักร โรงงาน อาคาร บ้านเรือน แม้กระทั่งเศรษฐกิจ กฎหมาย และทฤษฎีต่างๆ ก็เหมือนกัน ล้วนต้องมีส่วนประกอบที่สมดุลทั้งสิ้น...” 

ในเรื่องของรักษาสิ่งแวดล้อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงวินิจฉัยว่า ควรเป็นความพยายามร่วมกันของมนุษยชาติ ในอันที่รับผิดชอบต่อสภาพแวดล้อม และดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขร่วมกัน โดยพระราชทานพระราชดำรัส เพื่อเชิญลงพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก ในพิธีรับมอบเรือขจัดคราบน้ำมัน ซึ่งรัฐบาลเดนมาร์กน้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันพุธที่ ๒๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๙  ดังนี้ “...ปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับสภาวะแวดล้อม อันเนื่องมาจากมลพิษหรือความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงที่อื่น ๆ   ด้วยเหตุนี้ ทุกคนทุกประเทศในโลก จึงย่อมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ด้วยกัน ทั้งในการแก้ปัญหา ลดปัญหา และปรับปรุงเสริมสร้างสภาวะแวดล้อมให้กลับคืนมาสู่สภาพอันจะเอื้อต่อการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นสุขของตนเองและเพื่อนมนุษย์...”

เหนือกว่าพระราชาสามัญโลก นอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ปกป้องอาณาประชาราษฎร์จากความทุกข์และผองภัยต่าง ๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงเป็นครูผู้สอนธรรมะ มีจิตเมตตาต่อศิษย์ ปรารถนาให้ศิษย์ได้รับหลักธรรมและนำไปปฏิบัติ เพื่อประสบกับความสุข ความเจริญ และผลแห่งความสำเร็จในการดำเนินชีวิต ดังพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ณ สวนอัมพร เมื่อวันพุธที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๑  โดยมีใจความว่า “...การที่จะร่วมมือกันทำให้งานราบรื่น สำเร็จ และดำเนินก้าวหน้าต่อเนื่องกันไปได้นั้น นักปฏิบัติงานทุกคนจะต้องมีวินัยสำหรับใช้กับตนเอง คือ ต้องไม่ประมาทปัญญา ต้องรักษาความจริงใจ ต้องสลัดทิ้งความคิด จิตใจที่ต่ำทรามอ่อนแอ และต้องทราบตระหนักในความสำรวม ไม่ฟุ้งเฟ้อ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติที่จะช่วยให้งานเป็นงาน และให้ชีวิตมั่นคงเป็นสุข...”  และพระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันพุธที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๒๔  ความว่า “...รากฐานที่นับว่าสำคัญ คือ รากฐานทางจิตใจ อันได้แก่ความหนักแน่นมั่นคงในสุจริตธรรมอย่างหนึ่ง ในความมุ่งมั่นที่จะประกอบกิจการงานให้ดีจนสำเร็จอีกอย่างหนึ่ง เหตุใดจึงต้องมีความสุจริตและความมุ่งมั่น ก็เพราะความสุจริตนั้นย่อมกีดกันบุคคลออกจากความชั่วและความเสื่อมเสียทั้งหมดได้”  

ในส่วนของความประพฤติทุจริตของคน ซึ่งแต่เดิมเป็นจริตที่ผิดปกติในทัศนะของสังคมไทย เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ความทุจริตทั้งหลายกลับกลายเป็นสิ่งอาจพบเห็นได้อย่างชินตา ผู้คนที่ประสบกับความทุจริตจนเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ก็ยอมรับให้ความทุจริตเหล่านั้นกลับกลายเป็นเรื่องปกติไป  การขาดสติแยกแยะผิดชอบชั่วดีนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อเตือนสติประชาชนชาวไทย ผ่านทางพระบรมราโชวาท สำหรับเชิญไปอ่านเนื่องในการเปิดประชุมใหญ่ของสมาคมพุทธศาสนาทั้งราชอาณาจักร ครั้งที่ ๓๖  ณ พุทธสถาน อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ ๑๘-๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๒  โดยมีใจความว่า “...ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่น่าวิตกก็คือ ทุกวันนี้ ความคิดอ่านและความประพฤติหลาย ๆ อย่าง ซึ่งแต่ก่อนถือว่าเป็นความชั่วความผิดได้กลายเป็นสิ่งที่คนในสังคมยอมรับ แล้วพากันประพฤติปฏิบัติโดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน จนทำให้เกิดปัญหาและทำให้วิถีชีวิตของแต่ละคนมืดมนลงไป...”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้พสกนิกรชาวไทยมีความสามัคคี ใช้ปัญญา และร่วมมือร่วมใจกันประกอบภารกิจตามบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม นั่นคือประชาชนชาวไทย  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีกระแสพระราชดำรัส พระราชทานแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๑  ความว่า “...การที่ได้ทำความเจริญหรือความสุขแก่ประเทศชาติและประชาชนนั้น มิได้เป็นงานของผู้หนึ่งผู้ใดที่จะปฏิบัติได้ ต้องร่วมมือกัน ผู้ใดมีความรู้ทางใดก็ควรจะใช้ความรู้ความสามารถนั้นเพื่อสร้างความมั่นคง ถ้ามีหลายคนที่มีความรู้อย่างเดียวกัน ก็ต้องร่วมมือกัน บางคนมีความรู้เหมือนกัน แต่ความเห็นต่างกัน ดังนี้ก็จะต้องปรึกษากันมากกว่าที่จะเถียงกัน คำว่าปรึกษากับคำว่าเถียงนี่ต่างกัน คำว่าเถียงใช้แต่อารมณ์ คำว่าปรึกษาใช้ปัญญา ถ้าสามารถที่จะใช้ปัญญาปรึกษากัน จะได้คำตอบ เพราะว่าความจริงนั้นมีอันเดียว ความเท็จมีหลาย หรือทางที่ผิดมีมากมาย แต่ความจริงทางที่ดี ส่วนมากเป็นทางเดียวที่จะสามารถนำพาสู่ความสำเร็จ...”

 

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ

 

หมายเลขบันทึก: 373534เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2010 13:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 12:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท