ลูกคน-ลูกผี(ปู่ย่า)


คุณค่าเรื่องผีปู่ย่านั้นมิใช่เรื่องงมงายหลุดโลก แต่เป็นโซ่ที่มองไม่เห็น ซึ่งร้อยรัดคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล มีศานติ

10 - 11 ก.ย. 48 ผมตามทีมงานการสื่อสารเพื่อสุขภาพมาเป็นเจ้าภาพงาน "รวมพลคนรักงานวิจัย" ที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่ มีการเสนอผลงานวิจัยจากชุดโครงการการสื่อสารเพื่อชุมชน โดย ทุน สกว. ซึ่งสิ้นสุดไปประมาณสองปีแล้ว แต่ยังส่งแรงกระเพื่อม หรือ impact ถึงปัจจุบัน และส่งพลังเลยต่อไปถึงอนาคตโน่น อย่างงานวิจับเรื่อง "สื่อพื้นบ้าน/สื่อท้องถิ่นเพื่อการพัฒนา-สื่อผีปูย่าเพื่อลูกหลาน" โดย คุณอดุลย์ ดวงดีทวีรัตน์ และทีมงาน ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตร ลำปาง

ผีปู่ย่า คือ ความยำเกรงบรรบุรุษและสำนึกว่าเครือญาติต้องช่วยเหลือดูแลกันและกัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง แต่ช่วยดูแลลูกหลานมิให้ประพฤติเสื่อมเสีย คุ้มครองลูกหลานสตรีมิให้มีการล่วงละเมิด เช่น บนบ้านมีเขตหวงห้ามผู้ชายนอกตระกูลผีห้ามกล้ำกรายเข้าห้องสาว มันผิดผี หนุ่มสาวนั่งคุยกันชิดแนบติดกันมันเกินไป กระเถิบออกมาหน่อยน่า ผีปู่ย่าท่านไม่ชอบ พี่น้องโกรธขึ้งด่าทอ ไม่ช่วยเหลือกัน ผีบรรพบุรุษจะทุกข์

แต่ความเชื่อเรื่องผีปู่ย่าแทบจะตายหายไป จนมีการผลิกฟื้นคืนคุณค่าขึ้นมาจากกระบวนการทำวิจัยที่ชาวบ้านมีส่วนร่วม และเป็นเจ้าของวัฒนธรรมของเขา เล่าด้วยความภูมิใจว่าตัวเองเป็นลูกหลานสืบต่อโคตรเหง้าเหล่าตระกูลจาก "ผี" บรรพบุรุษใด ที่ไหนได้ คนในชุมชนล้วนเกี่ยวดองเป็นญาติกันทั้งสิ้น ที่เคยอยู่แบบตัวใครตัวมันก็มองเห็นญาติ

"สื่อผีปูย่าเพื่อลูกหลาน" ทำให้คนตำบลวอแก้วรู้รากเหง้าตนเองว่าลึกมาก โรงเรียนและ อบต. ร่วมกันจัดกิจกรรมค้นหาสายตระกูลบรรพบุรุษ และไหว้ผีปู่ย่าเป็นงานใหญ่ระดับตำบล ต่อมา คุณสุพรรณ ไชยลังกา หนึ่งในทีมงานวิจัยผีปู่ย่า เพิ่งได้รับเลือกเป็นประธาน อบต.วอแก้ว งานนี้ไปโลด ผู้เฒ่า หรือ "เก๊าผี" ถ่ายทอดความภาคภูมิใจผ่านเยาวชน ลูกหลานผีปู่ย่า หรือ "ลูกผี" วัยรุ่นดูแลรุ่นเดียวกัน หรือ peer assist ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง

ลองวัดใจคนที่อยู่ปลายทาง คือ เยาวชนผู้จะสืบทอดวัฒนธรรม ผมสัมภาษณ์เยาวชนอายุสิบเจ็ด หลานสาวคนนี้บอกด้วยความภาคภูมิว่า จะสืบทอดความเชื่อผีปู่ย่า ถ้าตนได้รับเลือกเป็น "เก๊าผี" หรือ สตรีอาวุโสผู้สืบต่อประเพณีไหว้ผีปู่ย่าและสอบลูกหลานให้รัก+เกื้อกูลกัน หญิงสาวอายุสิบเจ็ดปีบอกด้วยสายตาเป็นประกายว่า การจะคัดเลือกผู้สืบทอดพิธีกรรมและเป็น "เก๊าผี" นั้นผ่านหลายขั้นตอนพิถีพิถันอย่างยิ่ง แต่ถ้าตนถูกเลือก ตนยินดีรับและจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด

อย่างนี้น่าจะแน่ใจว่า คุณค่าเรื่องผีปู่ย่านั้นมิใช่เรื่องงมงายหลุดโลก แต่เป็นโซ่ที่มองไม่เห็นซึ่งร้อยรัดคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล มีศานติ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3735เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2005 16:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บุพการีของผมเชื่อเรื่องหิริ-โอตตัปะ พ่อแม่สอนว่าต้องไม่ทำชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง สวรรค์นั้นมีตา

อย่างนี้จะเข้ากับความเชื่อผีปูผีย่าที่โพสต์มาได้บ้างไหมครับ?

ผมจินตนาการว่า ถ้านักการเมือง คนมีอำนาจ เจ้าหน้าที่รัฐ เชื่อเรื่องหิริ-โอตตัปะ ผีปู่ย่า ผีบ้านผีเมือง เมืองไทยน่าจะใสสะอาด Good Governance ได้แบบไม่อายผีบรรบุรุษ

คือหนูจะอยากจะทราบว่าผีปู่ย่าในชุมวอแก้วนั้น แตกตางจากชุมชนอื่นอย่างไรค้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท