Entry journal week 2


 

         

      สวัสดีค่ะอาจารย์ดร.ประเสริฐ  1 สัปดาห์ผ่านไปแล้วอย่างรวดเร็ว ดิฉันรู้สึกว่าเรียน ป.เอกที่ มศก.นี้ หนักมาก ก็อาจเป็นเพราะเราเรียนภาคพิเศษหรือเปล่า  ก็เลยทำให้การจัดสรรเวลานั้นไม่ดีเท่าที่ควร ดูเหมือนว่าจะทำอะไรไม่ทันไปซะทุกอย่างเลย ก็เลยค่อนข้างเครียดมากๆเลยค่ะ สัปดาห์นี้ตั้งใจจะหยิบหนังสือของอาจารย์วัชรามาอ่านต่อ เพราะกลัวอาจารย์มาก กลัวเรียนวิชานี้ได้ไม่ดี ก็ยังไม่ได้อ่าน แบบว่าสถานการณ์ชีวิตระยะนี้ไม่ค่อยลงตัวเท่าไร ก็เลยเปลี่ยนแผนมาอ่านหนังสือเพื่อช่วยฟื้นฟูจิตใจอะไรประมาณนี้ดีกว่าค่ะ เช้านี้ก็อ่านหลักปฏิบัติของชาวพุทธ เป็นหนังสือที่เพื่อนให้มา ยังไม่เคยอ่านเลย วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันฤกษ์งามยามดีที่ได้มาอ่านหนังสือดีเล่มหนึ่ง ซึ่งมีใจความดังนี้      

      ปัจจุบันนี้  ปัญหาสำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง  ซึ่งปรากฏชัดในสังคม  คือการที่คนมากมายเป็นชาวพุทธกันเพียงในนาม  โดยไม่มีทั้งความรู้และการปฏิบัติของชาวพุทธ  สภาพเช่นนี้เป็นเหมือนเมฆหมอกที่บดบังแสงสว่างและความงามแห่งคุณค่าของพระพุทธศาสนานอกจากตัวบุคคลนั้นจะไม่เจริญงอกงามในธรรมแล้วสังคมก็สูญเสียประโยชน์มากมายที่พึงได้จากพระพุทธศาสนา  จึงเป็นปัญหาร้ายแรงที่ควรตื่นตัวขึ้นมาเร่งแก้ไข

                คำว่า  “ชาวพุทธ” มิใช่เป็นถ้อยคำที่พึงเรียกขานกันอย่างเลื่อนลอย บุคคลที่จะเรียกได้ว่าเป็น “ชาวพุทธ” จะต้องมีหลักการ มีคุณสมบัติประจำตัวและมีมาตรฐานความประพฤติ ที่รองรับ ยืนยัน และแสดงออกถึงความเป็นชาวพุทธนั้น

                หลักการและปฏิบัติการที่เรียกว่า  “หลักชาวพุทธ” ดังต่อไปนี้ เป็นภูมิธรรมขั้นพื้นฐานของชาวพุทธ

                ผู้ที่ตั้งมั่นอยู่ในหลักการและดำเนินตามปฏิบัติการนี้  นอกจากเป็นชาวพุทธสมแก่นามแล้ว  จะมีชีวิตที่พัฒนาก้าวหน้างอกงาม  และช่วยให้สังคมเจริญมั่นคงดำรงอยู่ในสันติสุข  เป็นผู้สืบต่อวิถีชาวพุทธไว้  พร้อมทั้งรักษาธรรมและความเกษมศานต์ให้แก่โลก

 “หลักชาวพุทธ” อันพึงถือเป็นบรรทัดฐาน มีดังต่อไปนี้

หลักการ

๑.      ฝึกแล้วคือเลิศมนุษย์ : ข้าฯ  มั่นใจว่า  มนุษย์จะประเสริฐเลิศสุดแม้กระทั่งเป็นพุทธะได้  เพราะฝึกตนด้วยสิกขา  คือ  การศึกษา

๒.     ใฝ่พุทธคุณเป็นสรณะ : ข้าฯ  จะฝึกตนให้มีปัญญา  มีความบริสุทธิ์และมีเมตตากรุณา  ตามอย่างองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๓.     ถือธรรมะเป็นใหญ่ : ข้า ฯ  ถือธรรม  คือความจริง  ความถูกต้องดีงาม  เป็นใหญ่  เป็นเกณฑ์ตัดสิน

๔.     สร้างสังคมให้เยี่ยงสังฆะ : ข้าฯ  จะสร้างสังคมตั้งแต่ในบ้านให้มีสามัคคี  เป็นที่มาเกื้อกูลร่วมกันสร้างสรรค์

๕.     สำเร็จด้วยกระทำกรรมดี : ข้าฯ  จะสร้างความสำเร็จ  ด้วยการกระทำที่ดีงามของตน  โดยพากเพียรอย่างไม่ประมาท

ข้าฯ  จะนำชีวิต  และร่วมนำสังคมประเทศชาติ  ไปสู่ความดีงาม  และความสุขความเจริญ  ด้วยการปฏิบัติ  ดังต่อไปนี้

ก)      มีศีลวัตรประจำตน

๑.      บูชาปูชนีย์ : มีปกติกราบไหว้  แสดงความเคารพ  ต่อพระรัตนตรัย  บิดามารดา  ครูอาจารย์และบุคคลที่ควรเคารพ

๒.     มีศีลห่างอบาย : สมาทานเบญจศีลให้เป็นนิจศีลคือหลักความประพฤติประจำตัวไม่มืดมัวด้วยอบายมุข

๓.     สาธยายพุทธมนต์ : สวดสาธยายพุทธวจนะหรือบทสวดมนต์  โดยเข้าใจความหมาย  อย่างน้อยก่อนนอนทุกวัน

๔.     ฝึกฝนจิตด้วยภาวนา : ทำจิตใจให้สงบ  ผ่องใส  เจริญสมาธิ  อันค้ำจุนสติที่ตื่นตัว  หนุนปัญญาที่รู้ทั่วชัดเท่ากัน  และอธิษฐานจิตเพื่อจุดหมายที่เป็นกุศล  วันละ  ๕-๑๐ นาที

ข)      เจริญกุศลเนืองนิตย์

๕.ทำกิจวัตรวันพระ : บำเพ็ญกิจวัตรวันพระด้วยการตักบาตร  หรือแผ่เมตตา  ฟังธรรม  หรืออ่านหนังสือธรรม  โดยบุคคลที่บ้าน  ที่วัด  ที่โรงเรียนหรือที่ทำงาน  ร่วมกัน  ประมาณ  ๑๕  นาที

๖. พร้อมสละแบ่งปัน : เก็บออมเงิน และแบ่งมาบำเพ็ญทาน เพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อบูชาคุณ เพื่อสนับสนุนกรรมดี อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง

๗. หมั่นทำคุณประโยชน์ : เพิ่มพูนบุญกรรมบำเพ็ญประโยชน์ อุทิศแด่พระรัตนตรัย มารดา บิดา ครูอาจารย์ และท่านผู้เป็นบุพการีของสังคมแต่อดีตสืบมา อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง

๘. ได้ปราโมทย์ด้วยไปวัด : ไปวัดชมอารามที่รื่นรมย์ และไปร่วมกิจกรรม ทุกวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และวันสำคัญของครอบครัว

       ค)  ทำชีวิตให้งามประณีต

                         ๙. กินอยู่พอดี : ฝึกความรู้จักประมาณในการบริโภคด้วยปัญญา ให้กินอยู่พอดี

                        ๑๐. มีชีวิตงดงาม : ปฏิบัติกิจส่วนตน ดูแลของใช้ของตนเอง และทำงานของชีวิต    

                      ด้วยตนเอง  ทำได้  ทำเป็น  อย่างงดงามน่าภูมิใจ

๑๑. ไม่ตามใจจนหลง : ชมรายการบันเทิงวันละไม่เกินกำหนดที่ตกลงกันในบ้าน ไม่มัวสำเริงสำราญปล่อยตัวให้เหลิงหลงใหลไปตามกระแสสิ่งล่อเร้าชวนละเลิง และมีวันปลอดการบันเทิงอย่างน้อยเดือนละ ๑ วัน

๑๒. มีองค์พระครองใจ : มีสิ่งบูชาไว้สักการะประจำตัว เป็นเครื่องเตือนใจให้ระลึกถึงพระคุณของพระรัตนตรัย และตั้งมั่นอยู่ในหลักชาวพุทธ

                บุคคลที่ถือปฏิบัติตาม  “หลักชาวพุทธ” ดังกล่าวมานี้ เป็นผู้มีภูมิธรรมพื้นฐานของชาวพุทธ จึงเป็นชาวพุทธที่แท้จริง สมกับชื่อที่เรียกขาน

                แรกที่สุด  พอเด็กเกิดมา  ลืมตาดูโลก  การศึกษาก็เริ่ม  ลูกจะเห็นโลกและมองโลกอย่างไร  ก็อยู่ที่     พระพรหมคือพ่อแม่จะชี้แสดงชักนำให้การศึกษาเดินหน้าไป  ดังนั้นถ้าจะให้แน่จริงและมั่นใจที่สุด  การปฏิบัติตามหลักชาวพุทธจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่ที่บ้านโดยการนำของบูรพาจารย์  คือคุณพ่อคุณแม่  ที่แน่แท้ว่าเป็นครูคนแรกของลูก

                เมื่อเด็กมาเข้าโรงเรียน  คือเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษา  ถือว่าเป็นจุดกำหนดในการแสดงความเป็นผู้ศึกษาให้ปรากฏชัดเจนออกมา  เท่ากับบอกแจ้งว่าจะตั้งต้นเล่าเรียนศึกษาอย่างจริงจัง  ให้สมนามที่เรียกว่าเป็น  “นักเรียน”

                ในขณะที่เริ่มแสดงความเป็นนักเรียนนั้น  เด็กก็ควรได้โอกาสที่จะเริ่มแสดงความเป็นชาวพุทธของตนให้ปรากฏชัดออกมาด้วยเช่นเดียวกัน  เพื่อให้กระบวนการของการศึกษาทุกส่วนประสานเกื้อกูลและกลมกลืนกัน  ดำเนินไปอย่างครบองค์สมที่จะเรียกว่าเป็นไตรสิกขา

                จากสิ่งที่ได้อ่านศึกษาข้างต้น ดิฉันรู้สึกว่าตนเองก็เป็นชาวพุทธที่ห่างเหินการประพฤติ ปฏิบัติตามหลักของชาวพุทธเช่นกัน รู้สึกสะท้อนตัวเองมากๆ  อ่านแล้วเตือนสติเราได้เหมือนกัน รู้สึกว่าตัวเองนั้นพูดคุยกับบุพการีน้อยไปตั้งแต่เริ่มมีภาระด้านการเรียน ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์นานจนเกินไป  อยากปรับปรุงตัวเองใหม่ค่ะ จะลองจัดสรรเวลาในชีวิตใหม่นะคะ

 

คำสำคัญ (Tags): #entry journal week 2
หมายเลขบันทึก: 373332เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2010 16:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 เมษายน 2012 03:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับเป็นกำลังใจให้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท