Doctoral Dissertation Review


       หลังจากที่อาจารย์ให้ไปศึกษาค้นคว้าผลงานวิจัยระดับปริญญาเอก  ก็ค่อนข้างจะสนใจในผลงานวิจัยของ  คุณเทพนคร   ทาคง  ซึ่งได้ทำวิจัยในแนวของการพัฒนาหลักสูตร  วิจัยฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อปี  2546  ซึ่งดูค่อนข้างจะนาน  แต่เมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว  ยังเห็นว่ามีความทันสมัย  และสอดคล้องกับปัจจุบัน  ในความพยายามที่จะพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษของนักเรียนไทย  ซึ่งคุณเทพนคร  ทาคง  ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษว่า  ถ้าครูเก่ง  นักเรียนก็จะเก่งตามไปด้วย  ในอีกด้านหนึ่ง  ดิฉันเห็นว่างานวิจัยของคุณเทพนคร  มีการเขียนรายงานที่ค่อนข้างชัดเจนและละเอียด  เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปศึกษาขั้นตอนการทำปริญญานิพนธ์ของตัวเองต่อไป

 

รายงานการศึกษาผลงานวิจัย / วิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต

 

หัวข้อวิทยานิพนธ์                 การพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดที่อิงมาตรฐานในราย

                                        วิชาเสริมสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษสำหรับ

                                        นักศึกษาครู

ชื่อผู้วิจัย                             นายเทพนคร   ทาคง

สาขาวิชา                            หลักสูตรและการสอน

สถาบันการศึกษา                  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

                ผู้วิจัยได้กล่าวถึงความสำคัญของภาษาอังกฤษที่มีบทบาทและอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตของประชากรโลก  โดยกล่าวว่าภาษาอังกฤษจะเป็นภาษากลางในการสื่อสารของมวลมนุษย์  ผู้ที่มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษจะเป็นผู้ที่ได้เปรียบในการแสวงหาองค์ความรู้ต่าง ๆ บนโลกใบนี้  แต่การจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในประเทศไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร  กล่าวคือ  ผู้เรียนในทุกระดับการศึกษายังไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ตามจุดมุ่งหมายของการเรียนการสอน  ผู้เรียนมีความสามารถทางภาษาทั้งทักษะการฟัง  พูด  อ่าน  และเขียนอยู่ในระดับต่ำ  (สุพัฒน์  สุกุมลสันต์, 2535)  และจากรายงานการประเมินผลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  และภาษาอังกฤษ  ของสมหวัง  พิธิยานุวัฒน์  และคณะ  (2543)  สรุปได้ว่า  ในระดับประเทศนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลายมีความสามารถทางภาษาอังกฤษอยู่ในระดับปรับปรุง  กล่าวคือ  ผู้เรียนมีคะแนนเฉลี่ยไม่ถึงร้อยละ 50

                จากการศึกษาของผู้วิจัย  มีความเห็นว่า  การจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษจะบรรลุจุดมุ่งหมายได้ขึ้นอยู่กับครูผู้สอนเป็นสำคัญ  เพราะครูเป็นผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดในการจัดการเรียนการสอน  ผู้วิจัยจึงได้พัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดที่อิงมาตรฐานในรายวิชาเสริมสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาครู  เพื่อเตรียมนักศึกษาครูวิชาเอกภาษาอังกฤษ  ผู้ซึ่งจะประกอบอาชีพครูในอนาคตให้พร้อมด้วยทักษะและความสามารถตามมาตรฐานที่กำหนดไว้

 

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

                1. เพื่อพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดที่อิงมาตรฐานในรายวิชาเสริมสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาครู

                2.  เพื่อประเมินคุณภาพของหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นทั้งในด้านความสอดคล้องภายในของรายละเอียดหลักสูตรและด้านการนำหลักสูตรไปใช้

 

สมมติฐานของการวิจัย

                1.  คะแนนที่ได้จากการทำแบบทดสอบสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษของนักศึกษากลุ่มที่ผ่านการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นหลังการทดลองใช้หลักสูตรสูงกว่าก่อนการทดลองใช้หลักสูตรอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

                2.  คะแนนเฉลี่ยที่ได้จากการทำแบบทดสอบสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษของนักศึกษากลุ่มที่ผ่านการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น  หลังการทดลองใช้สูงกว่าก่อนการทดลองใช้หลักสูตรหลักสูตรอย่างน้อยร้อยละ  10  ของคะแนนเต็ม

 

ขอบเขตของการวิจัย

                1.  ประชากร

                     ประชากรที่ใช้ในการทดลองหลักสูตรครั้งนี้  คือ  นักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษ  คณะครุศาสตร์  สถาบันราชภัฏ  สังกัดสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ

                2.  ตัวแปรที่ศึกษา  ประกอบด้วย

                     2.1  ตัวแปรอิสระ  ได้แก่  การจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น

                     2.2  ตัวแปรตาม  ได้แก่

                            2.2.1  ความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ  ความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  ความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่

                            2.2.2  คุณลักษณะของครูภาษาอังกฤษ

 

วิธีดำเนินการวิจัย

                การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพัฒนาโดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงบรรยายและกึ่งทดลองเพื่อพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดที่อิงมาตรฐานในรายวิชาเสริมสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาครู  มีขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย  ดังนี้

                1.  การพัฒนาหลักสูตร  มีการดำเนินการ  ดังนี้

                     1.1.  การศึกษาข้อมูลพื้นฐาน  เพื่อกำหนดมาตรฐานครูภาษาอังกฤษ  ประกอบด้วย

                            1.1.1  การศึกษาเอกสาร  ประกอบด้วย  หลักสูตรการฝึกหัดครูของสถาบันราชภัฏ  บทความและงานวิจัยที่เกี่ยวกับสมรรถภาพในการสอนของครูภาษาอังกฤษ  การจัดการศึกษาที่อิงมาตรฐาน  มาตรฐานครูภาษาอังกฤษ  และการพัฒนาหลักสูตรที่อิงมาตรฐาน

                            1.1.2  การสัมภาษณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นครูภาษาอังกฤษ  เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการสร้างแบบสอบถาม  กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์  ประกอบด้วย  ผู้สอนภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษา  จำนวน  5  คน  ผู้สอนภาษาอังกฤษในระดับมัธยมศึกษา  จำนวน  10  คน  และนักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษสายครุศาสตร์  ชั้นปีที่  4  สถาบันราชภัฏ  ซึ่งกำลังฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู  จำนวน  10  คน  รวมทั้งสิ้น  25  คน  โดยผู้วิจัยเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง  (Purposive Sampling) 

                            1.1.3  การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นครูภาษาอังกฤษด้วยแบบสอบถาม  เครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจความคิดเห็น  คือ  แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานครูภาษาอังกฤษ  ซึ่งเป็นแบบตรวจสอบรายการและแบบมาตราส่วนประมาณค่า  แบบสอบถามได้รับการประเมินความเหมาะสมจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน  5  ท่าน 

                            กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการสำรวจความคิดเห็น  ประกอบด้วย  ผู้สอนภาษาอังกฤษในระดับอุดมศึกษา  จำนวน  132  คน  ผู้สอนภาษาอังกฤษในระดับมัธยมศึกษา  จำนวน  392  คน  และนักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษสายครุศาสตร์  ชั้นปีที่  4  สถาบันราชภัฏที่ผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูแล้ว  จำนวน  310  คน  โดยผู้วิจัยเลือกกลุ่มผู้ให้ข้อมูลแบบสุ่มหลายขั้นตอน  (Multi - stage Sampling)

                            การเก็บรวบรวมข้อมูล  ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้จดหมายทางไปรษณีย์  ได้แบบสอบถามกลับคืนมาคิดเป็นร้อยละ  71.58

                            การวิเคราะห์ข้อมูล  ผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นกลุ่มผู้ให้ข้อมูลมาหาค่าร้อยละ  สำหรับแบบสอบถามตอนที่เป็นแบบตรวจสอบรายการ  และหาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน  สำหรับแบบสอบถามตอนที่เป็นมาตราส่วนประมาณค่า

                            การกำหนดสัดส่วนความสำคัญของมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นครูภาษาอังกฤษ  ผู้วิจัยพิจารณามาตรฐานที่ผู้ให้ข้อมูลระบุว่าจำเป็นในระดับมากขึ้นไป  และให้ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  จำนวน  7  ท่าน  กำหนดสัดส่วนความสำคัญของมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นครูภาษาอังกฤษ  โดยกำหนดสัดส่วนเป็นร้อยละ  เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณากำหนดเนื้อหาของหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น

                      1.2  การจัดทำรายละเอียดหลักสูตร  มีการดำเนินการ  ดังนี้

                            1.2.1  การกำหนดมาตรฐานครูภาษาอังกฤษ  ตลอดจนการกำหนดสัดส่วนความสำคัญของมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นครูภาษาอังกฤษ  โดยมาตรฐานครูภาษาอังกฤษครอบคลุมทั้ง  ขอบข่ายสาระ  มาตรฐานด้านเนื้อหา  มาตรฐานด้านความสามารถ  หลังจากนั้นจึงกำหนดหลักการและเหตุผลของหลักสูตร  จุดมุ่งหมายของหลักสูตร  และโครงสร้างของหลักสูตร    

                            1.2.2  การออกแบบการเรียนการสอน  ผู้วิจัยได้กำหนดแนวทางของการให้ทำงานปฏิบัติหน้าที่บูรณาการความรู้จากมาตรฐานต่าง ๆ ที่กำหนดไว้  และการประเมินผลการเรียนรู้  ได้กำหนดแนวทางการประเมินทั้งก่อนและหลังการเรียนการสอนโดยใช้แบบทดสอบ  และการประเมินผลการเรียนรู้ระหว่างการเรียนการสอนโดยการประเมินจากงานปฏิบัติ

                            1.2.3  การจัดทำเอกสารหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตร  เอกสารหลักสูตรที่จัดทำขึ้น  ประกอบด้วย  หลักการและเหตุผล  กรอบแนวคิดในการพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดที่อิงมาตรฐาน  ซึ่งครอบคลุมทั้งขอบข่ายสาระ  มาตรฐานด้านเนื้อหา  มาตรฐานความสามารถ  จุดมุ่งหมายของหลักสูตร  โครงสร้างหลักสูตร  คำอธิบายรายวิชา  รายละเอียดเนื้อหา  การจัดหน่วยการเรียนรู้  การจัดการเรียนการสอน  และการประเมินผลการเรียนรู้  ส่วนเอกสารประกอบหลักสูตร  ประกอบด้วย  คู่มือการใช้หลักสูตร  ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้  และเอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้

                2.  การประเมินหลักสูตร  มีการดำเนินการ  2  ขั้นตอน  คือ

                     2.1  การประเมินหลักสูตรโดยผู้ทรงคุณวุฒิ  เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินหลักสูตร  ได้แก่  แบบประเมินที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น  โดยการประยุกต์แบบประเมินหลักสูตรของ  Pratt  (1994)  และของ  Wulf  และ  Schave  (1984)  เข้าด้วยกัน  แบบประเมินเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า  5  ระดับ  และคำถามปลายเปิด

                     ผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินหลักสูตร  ได้แก่  ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาหลักสูตร  3  ท่าน  และผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  2  ท่าน

                     การเก็บรวบรวมข้อมูล  ดำเนินการโดยส่งและรับแบบประเมินหลักสูตรคืนด้วยตนเอง

                     การวิเคราะห์ข้อมูล  ดำเนินการโดยวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยระดับคุณภาพของหลักสูตรในแต่ละรายการประเมิน  ส่วนข้อเสนอแนะได้นำมาแยกเป็นประเด็นต่าง ๆ  ตามรายการประเมินนั้น

                     การปรับปรุงรายละเอียดหลักสูตร  ดำเนินการโดยนำผลจากการประเมินหลักสูตร  พร้อมด้วยข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ  มาใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงรายละเอียดหลักสูตรให้เหมาะสมกับการนำไปทดลองใช้

                     2.2  การประเมินหลักสูตรโดยการนำไปทดลองใช้ 

                           2.2.1  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  ได้แก่ 

                                    (1)  แบบทดสอบความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ  ใช้ทดสอบก่อนและหลังการเรียนการสอน  แบ่งเป็น  2  ส่วน  คือ  ส่วนที่  1  เป็นแบบปรนัย  ครอบคลุมองค์ประกอบของภาษาอังกฤษ  ทักษะการฟัง  และทักษะการอ่านภาษาอังกฤษ  ได้รับการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ  ตลอดจนได้รับการวิเคราะห์หาคุณภาพด้านค่าความเที่ยง  ค่าความยาก  และค่าอำนาจจำแนก  โดยการนำไปทดลองใช้กับนักศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างในการทดลองหลักสูตร  2  ครั้ง 

                                     ส่วนที่  2  เป็นแบบทดสอบความรู้ความสามารถทางภาษาแบบอัตนัย  ได้แก่  แบบทดสอบทักษะการพูด  และแบบทดสอบการเขียนภาษาอังกฤษ  ได้รับการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ  ตลอดจนได้รับการวิเคราะห์หาคุณภาพด้านค่าความเที่ยง  ค่าความยาก  และค่าอำนาจจำแนก  โดยการนำไปทดลองใช้กับนักศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างในการทดลองหลักสูตร

                                     แบบทดสอบทักษะการพูดและการเขียนภาษาอังกฤษ  ได้รับการตรวจสอบคุณภาพด้านความสอดคล้องในการตรวจให้คะแนนระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิกับผู้วิจัย  ผู้ทรงคุณวุฒิกับผู้ช่วยวิจัย  และผู้วิจัยกับผู้ช่วยวิจัย  โดยการหาค่าความสัมพันธ์แบบ  Pearson Product Moment

                                     (2)  แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  ซึ่งใช้ทดสอบก่อนและหลังการเรียนการสอนได้รับการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ  ตลอดจนได้รับการวิเคราะห์หาคุณภาพด้านค่าความเที่ยง  ค่าความยาก  และค่าอำนาจจำแนก  โดยการนำไปทดลองใช้กับนักศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างในการทดลองหลักสูตร  2  ครั้ง

                                     (3)  แบบทดสอบความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่  ซึ่งใช้ทดสอบก่อนและหลังการเรียนการสอนได้รับการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ  ตลอดจนได้รับการวิเคราะห์หาคุณภาพด้านค่าความเที่ยง  ค่าความยาก  และค่าอำนาจจำแนก  โดยการนำไปทดลองใช้กับนักศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างในการทดลองหลักสูตร  2  ครั้ง

                                     (4)  แบบวัดคุณลักษณะของครูภาษาอังกฤษ  เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า  5  ระดับ  ซึ่งใช้วัดก่อนและหลังการเรียนการสอน  แบบวัดได้รับการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ  ตลอดจนได้รับการวิเคราะห์หาคุณภาพด้วยค่าความเที่ยงแบบสัมประสิทธิ์แอลฟา  โดยการนำไปทดลองใช้กับนักศึกษาที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างในการทดลองหลักสูตร

                                     (5)    แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของหลักสูตรรายวิชาเสริมสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษ  เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า  5  ระดับ  ใช้สอบถามความคิดเห็นของนักศึกษากลุ่มทดลองหลังการเรียนการสอนตามหลักสูตรสิ้นสุดลง 

                                     (6)  แบบสัมภาษณ์ความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรรายวิชาเสริมสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษ  ใช้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของกลุ่มทดลองหลังการเรียนการสอนตามหลักสูตรสิ้นสุดลง  โดยการจดบันทึกและบันทึกเสียงการสัมภาษณ์ 

                            2.2.2  เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองสอน  ประกอบด้วย  แผนการจัดการเรียนรู้และเอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้  ซึ่งกำหนดหน่วยการเรียนรู้ทั้งหมด  8  หน่วย  ใช้เวลาสอน  16  ครั้ง ๆ ละ  3  คาบ  ตลอดระยะเวลา  1  ภาคเรียน  แผนการจัดการเรียนรู้และเอกสารประกอบการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวได้รับการตรวจสอบจากผู้ทรงคุณวุฒิว่ามีความเหมาะสมสำหรับการนำไปใช้

                           การเก็บรวบรวมข้อมูล  ผู้วิจัยใช้รูปแบบการทดลองแบบกลุ่มเดียวมีการวัดก่อนและหลังการทดลอง 

 

การสุ่มตัวอย่างกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

                ในการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นครูภาษาอังกฤษซึ่งครอบคลุมทั้งขอบข่ายสาระมาตรฐาน  มาตรฐานด้านเนื้อหา  และมาตรฐานความสามารถ  เพื่อนำมากำหนดรายละเอียดของเนื้อหาในหลักสูตรนั้น  ผู้วิจัยได้พิจารณาถึงผู้ให้ข้อมูลที่เป็น  “หน่วยผลิตครู”  โดยเฉพาะสถาบันราชภัฏโดยเฉพาะสาขาวิชาภาษาอังกฤษสายครุศาสตร์  นอกจากนี้ยังคำนึงถึงสภาพการณ์ที่นักศึกษาต้องฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา  ซึ่งถือว่าเป็น  “หน่วยใช้ครู”  ดังนั้น  กลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นครูภาษาอังกฤษในการวิจัยครั้งนี้  ได้แก่  1.)  ผู้สอนภาษาอังกฤษในสถาบันราชภัฏ  2.)  ผู้สอนภาษาอังกฤษในระดับมัธยมศึกษา  สังกัดกรมสามัญศึกษา  3.)  นักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษ  ชั้นปีที่  4  ซึ่งผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเต็มรูปแล้ว  ซึ่งกลุ่มผู้ให้ข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน  (Multi-stage sampling)  ซึ่งมีขั้นตอนการสุ่มตัวอย่าง  ดังนี้

                1.  กลุ่มผู้สอนประจำโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ  และนักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษ  สายครุศาสตร์

                    1.1  สำรวจสถาบันราชภัฏที่มีโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ  ซึ่งมีทั้งหมด  41  สถาบัน  แล้วจำแนกสถาบันราชภัฏออกเป็น  8  ภาค  ตามการแบ่งของสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ  ได้แก่กรุงเทพมหานคร  ภาคเหนือตอนบน  ภาคเหนือตอนล่าง  ภาคกลาง  ภาคใต้  ภาคอีสานตอนเหนือ  ภาคอีสานตอนใต้  และภาคตะวันตก  แต่ในการวิจัยครั้งนี้  รวมภาคเหนือ  2  ตอน  เป็น  1  ภาค  และรวมภาคอีสาน  2  ตอน  เป็น  1  ภาค  จึงจำแนกสถาบันราชภัฏได้เป็น  6  ภาค

                    1.2  สุ่มสถาบันราชภัฏในแต่ละภาคในอัตราส่วนร้อยละ  30  ด้วยวิธีสุ่มอย่างง่าย  ได้จำนวนสถาบันราชภัฏ  13  สถาบัน

                    1.3  รวบรวมจำนวนอาจารย์สังกัดโปรแกรมวิชาภาษาอังกฤษ  จาก  13  สถาบันที่สุ่มได้  รวม  132  คน  และรวบรวมจำนวนนักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษสายครุศาสตร์ชั้นปีที่  4  สถาบันราชภัฏ  ซึ่งผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเต็มรูปแล้ว  จำนวน  310  คน

                2.  กลุ่มผู้สอนภาษาอังกฤษในระดับมัธยมศึกษา

                     2.1  สำรวจจำนวนอาจารย์ผู้สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยมศึกษา  สังกัดกรมสามัญศึกษา  พบว่ามีจำนวน  16,874  คน

                     2.2  หาขนาดกลุ่มตัวอย่าง  โดยเปิดตารางขนาดกลุ่มตัวอย่างที่เหมาะสมของ  Yamane  (1973)  เมื่อกำหนดระดับความเชื่อมั่น  95%  จากจำนวนประชากรจำนวน  16,874  คน  ได้กลุ่มตัวอย่าง  392  คน

                     2.3  จำแนกโรงเรียนมัธยมศึกษา  สังกัดกรมสามัญศึกษา  ออกเป็น  7  ภาค  ตามการแบ่งของกรมสามัญศึกษา  ได้แก่  กรุงเทพมหานครและปริมณฑล  ภาคเหนือ  ภาคกลาง  ภาคใต้  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ภาคตะวันตก  และภาคตะวันออก

                     2.4  สุ่มเขตการศึกษาในแต่ละภาคในอัตราส่วนร้อยละ  30  ด้วยวิธีสุ่มอย่างง่าย  ได้ทั้งหมด  8  เขตการศึกษา

                     2.5  สุ่มจังหวัดในแต่ละเขตการศึกษา  เขตการศึกษาละ  1  จังหวัด  ด้วยวิธีสุ่มอย่างง่าย  ได้ทั้งหมด  8  จังหวัด

                     2.6  สุ่มโรงเรียนมัธยมศึกษา  สังกัดกรมสามัญศึกษาในแต่ละจังหวัด  ในอัตรส่วนร้อยละ  30  ด้วยวิธีสุ่มอย่างง่าย  ได้ทั้งหมด  28  โรง

                     2.7  สุ่มผู้สอนภาษาอังกฤษโรงเรียนมัธยมศึกษา  สังกัดกรมสามัญศึกษา  ในจังหวัดที่สุ่มได้ตามสัดส่วนด้วยวิธีสุ่มอย่างง่าย  ได้ทั้งหมด  392  คน

 

การวิเคราะห์ข้อมูล

                1.  นำข้อมูลจากการทดสอบกลุ่มทดลองก่อนและหลังการเรียนการสอนมาวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ย  โดยการทดสอบค่าที  (t-test)  โดยใช้ค่าเฉลี่ยของคะแนนต่อไปนี้  1)  คะแนนความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ  ความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  และความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่  และคะแนนคุณลักษณะของครูภาษาอังกฤษ  2)  คะแนนความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ  3)  คะแนนความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  4)  คะแนนความรู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมของประเทศที่ใช้ภาษาแม่เป็นภาษาอังกฤษ  และ  5)  คะแนนคุณลักษณะของครูภาษาอังกฤษ

                2.  นำข้อมูลจากการทดสอบกลุ่มทดลองก่อนและหลังการเรียนการสอนมาวิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของคะแนน  โดยพิจารณาเทียบกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ว่าคะแนนหลังการเรียนสูงกว่าคะแนนก่อนการเรียนอย่างน้อยร้อยละ  10

                3.  นำข้อมูลที่รวบรวมได้จากแบบสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษากลุ่มทดลองเกี่ยวกับความเหมาะสมของหลักสูตรรายวิชาเสริมสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษมาวิเคราะห์หาค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

                4.  นำข้อมูลที่รวบรวมได้จากการสัมภาษณ์นักศึกษากลุ่มทดลองเกี่ยวกับความเหมาะสมของหลักสูตรรายวิชาเสริมสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษ  มาสรุปประเด็นสำคัญและแจกแจงความถี่

 

สรุปผลการวิจัย

                จากการวิจัย  เรื่อง  การพัฒนาหลักสูตรตามแนวคิดที่อิงมาตรฐานในรายวิชาเสริมสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษสำหรับนักศึกษาครู  สรุปผลการวิจัยได้  ดังนี้

                1.  การพัฒนาหลักสูตร  ได้เอกสารหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรสำหรับรายวิชาเสริมสมรรถภาพในการสอนภาษาอังกฤษ  ในกลุ่มวิชาเลือก  หมวดวิชาเฉพาะด้านของหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต  วิชาเอกภาษาอังกฤษ  สถาบันราชภัฏ  โดยมีการกำหนดมาตรฐานครูภาษาอังกฤษ  ซึ่งครอบคลุมขอบข่ายสาระมาตรฐาน  4  ขอบข่าย  มาตรฐานด้านเนื้อหา  13  มาตรฐาน  และมาตรฐานด้านความสามารถ  88  มาตรฐาน  เพื่อใช้เป็นเป้าหมายในการพัฒนานักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ  มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  มีความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่  และมีคุณลักษณะของครูภาษาอังกฤษที่พึงประสงค์

                2.  การประเมินหลักสูตร  ในการประเมินคุณภาพของหลักสูตรโดยใช้ผู้ทรงคุณวุฒิ  ได้รับการประเมินในระดับดี  และในการประเมินโดยการทดลองใช้หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นกับนักศึกษาวิชาเอกภาษาอังกฤษ  สายครุศาสตร์  สถาบันราชภัฏ  ปรากฏว่า  กลุ่มทดลองมีคะแนนความรู้ความสามารถทางภาษาอังกฤษ  คะแนนความรู้ความเข้าใจในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ  คะแนนความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมของประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่  และคะแนนคุณลักษณะของครูภาษาอังกฤษ  หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง  ร้อยละ  23.46,  14.28,  22.95  และ  5.56  ตามลำดับ  และสูงกว่าการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05  กลุ่มทดลองมีความคิดเห็นว่าเนื้อหาที่เรียนตามหลักสูตรสอดคล้องกับความจำเป็นในการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูมากที่สุด  และมีความคิดเห็นว่าตนเองมีความรู้ความเข้าใจเนื้อหา  ทักษะ  หรือการปฏิบัติเพิ่มขึ้นมากจากการเรียนตามหลักสูตรนี้  ยกเว้นมีทักษะการพูดเพิ่มขึ้นปานกลาง  กลุ่มทดลองให้สัมภาษณ์ว่า  หลักสูตรนี้เป็นการทบทวนความรู้เดิม  และเป็นการเตรียมตัวสำหรับการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

 

                                                       

                                               

 

หมายเลขบันทึก: 373300เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2010 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 20:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นงานวิจัยที่ดีนะ

หลักสูตรอิงมาตรฐาน จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องเนื้อหาที่อาจไม่เหมือนกันระหว่างโรงเรียน

ถ้ามาตรฐานเดียวกันเนื้อหาไม่เหมือนกันระหว่างโรงเรียนไม่เป็นไร

เห็นกระบวนการวิจัย R & D แล้วเข้าใจได้เลย ทำแบบนี้ ไม่ยากใช่ไหม

ขอให้มีกำลังใจนะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท