Entry Journal Week 1


Entry Journal Week 1

ข้าพเจ้า  นางทัศนีย์  จันติยะ  รหัสประจำตัวนักศึกษา 53254901 สาขา หลักสูตรและการสอน(การสอนภาษาอังกฤษ)  หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต  ภาคพิเศษ  ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชาครุศึกษา คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  วิทยาเขตกำแพงแสน  ก่อนที่ข้าพเจ้าจะเข้ามาศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ข้าพเจ้ารู้สึกท้อแท้และไม่มีความต้องการที่จะศึกษาต่อในขณะนั้น  เนื่องจากจำนวนภาระงานสอนและงานด้านบริหารที่ค่อนข้างมาก  ข้าพเจ้าจึงเกรงว่าจะไม่สามารถทุ่มเทเวลาให้กับการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตได้อย่างเต็มที่   แต่หลังจากได้มาศึกษาในสถาบันแห่งนี้เป็นเวลา 1 สัปดาห์  ข้าพเจ้ารู้สึกมีกำลังใจและรู้สึกว่าตนเองนั้นโชคดีที่ได้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับนี้  เนื่องจากว่าเพื่อนของข้าพเจ้าในรุ่นเดียวกันเป็นบุคคลที่อยู่ห่างไกลจากมหาวิทยาลัย  เช่น จังหวัดระนอง , ศรีสะเกษ , นครพนม  เป็นต้น  ทำให้ต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นระยะเวลานาน  อีกทั้งเพื่อนทุกคนก็ยังมีภาระหน้าที่การสอนที่มากอีกเช่นกัน  จึงทำให้ข้าพเจ้าเกิดแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อ  ข้าพเจ้ามีความตั้งใจและตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า “จะทุ่มเทพลังกายและพลังสมองและพลังใจให้แก่การศึกษา  เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองซึ่งจะส่งผลถึงการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนของตนที่จะไปพัฒนาผู้เรียนที่เป็นกำลังของชาติสืบไป”  (วันนี้วันที่ 10 มิถุนายน 2553 ข้าพเจ้าไม่มีภาระงานสอนจึงได้ฤกษ์หยิบหนังสือ เรื่อง “รูปแบบและกลยุทธ์การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิด” ของอาจารย์ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร.วัชรา  เล่าเรียนดี)  มาอ่านศึกษาในหัวข้อเรื่อง  การสอนและการพัฒนาความคิด  โดยได้สาระดังนี้

มีนักการศึกษากล่าวถึงความสำคัญของทักษะการคิดในยุคศตวรรษที่ 21 ว่าทักษะที่สำคัญที่สุด คือ ทักษะการคิดของบุคคลและทักษะชีวิต (Life skills) เพื่อจะได้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างสันติสุขในสังคมโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆด้าน นอกจากนั้นนักการศึกษาทั้งหลายเริ่มจะเชื่อกันว่า ความรู้เฉพาะด้านไม่มีความสำคัญเท่ากับการที่บุคคลมีความสามารถในการเรียนรู้และสร้างความหมายและประโยชน์จากความรู้และข้อมูลใหม่ๆ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดในการจัดการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนในยุคปัจจุบันคือ การส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้เรียนมีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณและคิดสร้างสรรค์ (Critical  and  Creative  Thinking)  เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะต้องได้รับการเตรียมพร้อมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life  Long  Learning) มีทักษะการคิด (Thinking Skills) มีวิธีการแสวงหาความรู้และสร้างความรู้ได้ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์

ดังนั้นตอลดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัยเกี่ยวกับการคิดมากมาย รวมทั้งการทำงานของสมองในด้านการคิดและการเรียนรู้ จากผลการวิจัยปัจจุบันจึงมีการเรียกร้องเสมอให้มีการปรับปรุงการเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาการคิดและทักษะการคิด นักการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศต่างเห็นด้วยกันว่า ควรมีการส่งเสริมและพัฒนาความสามารถในด้านการคิดอย่างจริงจัง นอกจากนั้นยังมีการยืนยันว่าสามารถที่จะส่งเสริมพัฒนาความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เรียนได้ด้วยการจัดการเรียนการสอนและการปฏิบัติ

การจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความสามารถและทักษะในการคิดเป็นเรื่องสำคัญยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆด้านอย่างรวดเร็ว ความสามารถในการคิดมีผลโดยตรงต่อการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขในการจัดการศึกษาหรือการจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนนั้น  ควรจะมุ่งเสริมพัฒนาให้ผู้เยนได้ใช้สมองทั้ง 2 ซีกอย่างเท่าเทียมกันการมุ่งพัฒนาผู้เรียนโดยการส่งเสริมให้ใช้เฉพาะสมองซีกใดซีกหนึ่งจะไม่สามารถพัฒนาผู้เรียนได้ครบถ้วน เพราะการทำงานของสมองมนุษย์ซีกซ้ายและซีกขวามีความสำคัญต่อการเรียนรู้และการจัดการกับองค์ความรู้ของมนุษย์เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการมีทักษะชีวิตจะต้องอาศัยการทำงานของสมองทั้ง 2 ซีก ดั้งนั้นถ้าต้องการให้เด็กและเยาว์ชนเจริญเติบโต และสามารถดำรงชีวิตอย่างสันติสุขในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้และเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว พวกเขาจะได้รับการเตรียมพร้อมสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life Long Learning) มีทักษะและกระบวนการคิดสำหรับการแสวงหาความรู้  และสามารถคิดตัดสินใจที่ดีและถูกต้อง

ทักษะการคิด (Thinking Skills) สามารถสอนได้และเรียนรู้พัฒนาให้มีคุณภาพยิ่งๆขึ้นได้ ทักษะการคิดจะต้องได้รับการสอนและฝึกตั้งแต่ชั้นต้นๆและต่อเนื่อง ความสามารถในการคิดมีความสำคัญต่อสมรรถภาพของการเรียนรู้ ดังนั้นจึงได้มีการศึกษาวิจัย เกี่ยวกับทักษะการคิดและเทคนิควิธีการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาการคิดอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่นแนวคิดของ  บลูม  (Bloom’s Taxonomy)  นอกจากนั้นต่อมาได้มีนักการศึกษาหลายท่านได้ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการคิด ได้แนวทางและวิธีส่งเสริมพัฒนาทักษะประเภทต่างๆแพร่หลายมากขึ้น เช่น วิธีสอนหรือวิธีจัดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหา (Problem Solving Method ) การจักการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning) การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะ (Inquiry Based Learning) การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน (Project Based  Learning) การจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างความรู้ (Constructivist Learning Theory) จัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิค KWL, KWI-Plus และ KWDL การเรียนรู้จากประสบการณ์ของ คอล์บ (Kolb’s Experiential Learning Model) การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน (Cooperative  Learning) รวมถึงการใช้คำถามในการสอนคิด (Question for Thinking Skills) เป็นต้น ซึ่งการใช้เทคนิควิธีจัดการเรียนรู้ต่างๆ ดังกล่าวต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในวิธีการดำเนินการและเงื่อนไขก่อนใช้  รวมทั้งความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทักษะการคิด และลักษณะสำคัญของทักษะการคิดแต่ละประเภทการคิดแบบต่างๆ หลักการ แนวคิด วิธีดำเนินการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะการคิด  แต่การได้รู้จักกับวิธีการและขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ไม่เพียงพอสำหรับการจัดการเรียนรู้ในเพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะการคิดให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่นครูผู้สอนจะต้องศึกษาทำความเข้าใจกับองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนรู้และเทคนิควิธีในการสอนคิดให้ชำนาญมีความรู้ มีทักษะในการคิดเพื่อที่จะสามารถจัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีศักยภาพทั้งทางด้านความรู้และความคิดต่อไป

หลังจากที่ข้าพเจ้าได้อ่านแล้วข้าพเจ้ามีความเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับเนื้อหาในหนังสือของอาจารย์ การจัดการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาทักษะกระบวนการคิดจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง พัฒนาผู้เรียนให้เกิดองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งมีรูปแบบของการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ทำให้ข้าพเจ้ามีความสนใจที่จะทราบรายละเอียดของรูปแบบต่างๆ ในสัปดาห์หน้าข้าพเจ้าจะอ่านศึกษารายละเอียดดังกล่าวแล้วจะนำมาถ่ายทอดให้อาจารย์ทราบอีกครั้งหนึ่งนะคะ

คำสำคัญ (Tags): #entry journal week 1
หมายเลขบันทึก: 373263เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2010 12:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มีนาคม 2012 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท