แผ่นดินบก


คนรุ่นเก่าๆในท้องถิ่นมักเรียกบริเวณที่เคยเป็น เกาะสทิงพระ นี้ว่า “แผ่นดินบก”

แคว้นสทิงพระบนแผ่นดินบก

                   ครูไพฑูรย์  ศิริรักษ์

คว้นสทิงพระ เกิดขึ้นในบริเวณรอบๆทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่อำเภอหัวไทรลงมาคลุมพื้นที่ทั้งหมดในเขตจังหวัดสงขลาและพัทลุง บริเวณที่เป็นศูนย์กลางของแคว้น คือบริเวณที่เรียกว่า“แผ่นดินบก” เริ่มตั้งแต่เขตอำเภอระโนด ผ่านสทิงพระ มายังหัวเขาแดงในเขตอำเภอสิงหนครแคว้นนี้เป็นเมืองท่าที่สำคัญ เพราะเรือจากต่างประเทศสามารถแล่นเรือผ่านเข้าไปจอดตามเมืองต่างๆที่อยู่รอบทะเลสาบได้ บริเวณชุมชนที่สำคัญในระยะแรกๆคงอยู่ตามสันทรายแถวปากคลองจะทิ้งหม้อทางด้านทะเลสาบ มากกว่าด้านตะวันออกที่ติดกับอ่าวไทย ร่องรอยของโบราณวัตถุและโบราณสถานชี้ให้เห็นว่า แคว้นนี้ในระยะแรกๆนับถือศาสนาฮินดูเป็นส่วนใหญ่ ในสมัยหลังๆลงมามีการนับถือศาสนาพุทธ พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่หัวเขาแดงผ่านอำเภอสทิงพระไปจนถึงอำเภอระโนด ตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไปจนถึงทวารวดีเป็น “เกาะ” ในสมัยศรีวิชัยเกิดเป็นท่าเรือหลายแห่ง ทำให้ต่อมามีการสร้างบ้านแปลงเมืองเกิดขึ้น โดยมี “เมืองสทิงพระ” เป็นเมืองท่าและเป็นศูนย์กลางของบ้านและเมืองในท้องถิ่น โดยมีศาสนสถานทั้งพราหมณ์และพุทธอยู่มากมาย

ในสมัยอยุธยาประมาณรัชสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ได้มีการจัดระเบียบการปกครองท้องถิ่นที่อาศัยวัดเป็นกลไกในการปกครอง โดยการสถาปนาวัดใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางทั้งด้านการปกครอง และพิธีกรรมทางศาสนาให้ดูแลบรรดาวัดน้อยใหญ่ ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนในระดับหมู่บ้านและเมืองเล็กๆ (ดังแสดงในแผนที่แสดงเขตกัลปนาวัดบนเกาะสทิงพระในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ว่าเป็นเรื่องที่พระมหากษัตริย์ทางกรุงศรีอยุธยาทรงสถาปนา “วัดพะโคะ” ให้เป็นศูนย์กลาง แล้วพระราชทานที่ดินกัลปนาให้แก่บรรดาวัดทั้งเก่าและใหม่ ที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนให้อยู่ภายใต้การดูแลของ วัดพะโคะ และเลื่อนบรรดาศักดิ์ของเจ้าอาวาส วัดพะโคะ จากการเป็น พระครู ของพระสงฆ์ฝ่ายลังกาชาด ให้เป็น สมเด็จพระราชมุนี ดังมีตัวอย่างให้เห็นว่า หลวงปู่ทวด นับเป็น พระราชมุนีองค์หนึ่งที่ปกครองวัดและบ้านเมือง บน “เกาะสทิงพระ” นี้

ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง เกาะสทิงพระ มีความสำคัญขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คือมีพ่อค้าชาวอาหรับสร้างเมืองขึ้น ณ บริเวณหัวเขาแดง เป็นเมืองท่าที่เรียกกันว่า เมืองสงขลา แล้วตั้งตัวเป็นอิสระ แต่ถูกปราบปรามได้ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับแต่นั้นมาบรรดาบ้านเมืองบนเกาะนี้ แผ่นดินบกบนแคว้นก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองและดูแลของ เมืองพัทลุง ที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ขณะเดียวกันการทับถมของโคลนตะกอนและทราย โดยการกระทำของคลื่นลม ทำให้แผ่นดินงอกเพิ่มออกไป เปลี่ยนสภาพเกาะให้กลายเป็น คาบสมุทร ที่เรียกกันว่า “คาบสมุทรสทิง”

          คนรุ่นเก่าๆในท้องถิ่นมักเรียกบริเวณที่เคยเป็น เกาะสทิงพระ นี้ว่า “แผ่นดินบก”

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนบนแผ่นดินบกหรือคาบ“สมุทรสทิงพระ”จะมีความผูกพันกับ โหนด นา เล  ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาหลายชั่วคนนานนับพันปี จวบจนถึงปัจจุบัน

วิถี โหนด

ตาลเอ๋ยตาลโตนด                  มากประโยชน์สุดอธิบายมีหลายสิ่ง

คน’ทิ้งพระลึกซึ้งได้พึ่งพิง                   เป็นความจริงพิสูจน์ได้หลายประเด็น

ตอนนี้’โหนดยังอยู่อย่างไร้ค่า               หลายคนพามองข้ามไม่แลเห็น

ช่วยกันคิดเพิ่มค่าไม่ยากเย็น               สร้าง’โหนดเด่นอีกคราน่าภูมิใจ

 

สงขลา เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวสืบต่อกันตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบหลักฐาน ได้แก่ ขวานหิน ซึ่งเป็นเครื่องมือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อำเภอสทิงพระ ประวัติ ความเป็นมา และวัฒนธรรมสมัยที่เมืองสทิงพระเจริญ เค บูรล์เบท ได้ให้ทัศนะว่า สทิงพระ คือศูนย์กลางของอาณาจักร เซี้ยะโท้ หรือ เซ็กโท เป็นแหล่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียโดยตรงในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ ศตวรรษ เพราะมีร่องรอยทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ที่แสดงให้เห็นว่าเมือง “สทิงพระ” เป็นศูนย์กลางการปกครองดินแดนรอบๆทะเลสาบสงขลาในสมัยนั้น

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ชื่อ เมืองสทิงพระ เริ่มเลือนหายไป และเกิดชุมชนแห่งใหม่ใกล้เคียงขึ้นแทน เรียกว่า "เมืองพัทลุง" ที่พะโคะ ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ต่อมาระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒ พวกโจรสลัดมลายูได้เข้าคุกคามบ่อยๆ ทำให้เมืองพัทลุงที่พะโคะค่อยๆเสื่อม หลังจากนั้นเกิดชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น ๒ แห่ง บริเวณรอบทะเลสาบสงขลา คือ บริเวณเขาแดงปากทะเลสาบสงขลา และได้กลายเป็นเมืองสงขลาริมเขาแดง และอีกแห่งที่บางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และกลายเป็นเมืองพัทลุงระหว่างปี พ.ศ.๒๑๒๖-๒๒๒๓

เมืองสงขลาริมเขาแดงมีความเจริญด้านการค้าขายกับต่างประเทศ โดยมีเจ้าเมืองเชื้อสายมลายูอพยพมาจากอินโดนีเซีย พวกมลายูเหล่านี้ได้หลบหนีการค้าแบบผูกขาด ของพวกดัทช์มาเป็นการค้าแบบเสรีที่สงขลา โดยมีอังกฤษเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ในระยะแรกระหว่าง ปี พ.ศ.๒๑๖๒-๒๑๘๕ เจ้าเมืองสงขลาเป็นมุสลิม หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ.๒๑๘๕-๒๒๒๓ เจ้าเมืองสงขลาเป็นกบฎไม่ยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ในที่สุดจึงถูกสมเด็จพระนารายณ์มหาราชปราบปรามจนราบคาบ และถูกปล่อยให้ทรุดโทรม และตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองพัทลุง จนถึงช่วงปี พ.ศ.๒๒๔๒-๒๓๑๙ เมืองสงขลาไปตั้งขึ้นใหม่ที่บริเวณบ้านแหลมสน เรียกว่า เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ตั้งตัวเมืองสงขลาปัจจุบันเมืองสงขลาได้พัฒนาเป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ ในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ประเทศสยามเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ได้เกิดก๊กต่างๆขึ้น เจ้าพระยานคร(หนู) ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ได้ตั้ง นายวิเถีย ญาติมาเป็นเจ้าเมือง เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบก๊กเจ้านครได้แต่งตั้งให้ จีนเหยี่ยง แซ่เฮ่า ซึ่งเป็นนายอากรรังนก เป็นเจ้าเมืองในปี ๒๓๑๘ ได้รับพระราชทินนามเป็น "หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ" (ต้นตระกูล ณ สงขลา)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แผ่นดินบก

หรือเกาะบก

หรือเกาะสทิงพระ

หรือเกาะแทนทาลั่ม

หรือเกาะใหญ่

หรือเกาะปาการัง

คือคาบสมุทรสทิงพระปัจจุบัน

 แผนที่แผ่นดินบก บนคาบสมุทรภาคใต้ ของราชอาณาจักรสยาม เขียนโดย Henry  Burney’s เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๓

ภาพจากอู่อารยธรรมแหลมทอง คาบสมุทรไทย ,ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๔๖

 

 

 

แผนที่ทางดาวเทียม คาบสมุทรสทิงพระ

โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องการมหาชน) ๒๕๔๖

หมายเลขบันทึก: 372863เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2010 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท