ตำนานเมืองสงขลา


เมืองสงขลา มีประวัติความเป็นมากว่า ๓๐๐ ปี เดิมเป็นชุมชนเล็กๆ ที่แยกจากเมืองพัทลุง-พะโคะ ในพื้นที่อำเภอสทิงพระ เมื่อพ.ศ.๒๓๑๘ สมเด็จพระเจ้าตากสินได้โปรดเกล้าฯให้หลวงสุวรรณคีรี(เหยี่ยง แซ่เฮา)เป็นผู้ปกครองเมืองสงขลาแทนเจ้าเมืองสงขลา(โยม)

นามสกุล “ณ สงขลา” เป็นนามสกุลของตระกูลเก่าแก่ตระกูลหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งน้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก ทั้งนี้ก็เพราะทายาทหลายรุ่นเคยรับราชการในตำแหน่งสำคัญสนองพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาหลายรัชกาล จนกระทั่งปัจจุบันนี้ก็มีสมาชิกในสายตระกูลจำนวนมากประกอบกิจการงานต่างๆ และดำเนินชีวิตอย่างดงามสืบทอดบรรพบุรุษเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศชาติและสังคม

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าพระราชทานนามสกุล “ณ สงขลา” เป็นสกุลลำดับที่ ๑๐๘ ได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ลูกหลานสกุลนี้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษคนเดียวกันคือ ท่านเหยียง แซ่เฮา ได้ใช้เป็นนามสกุล

ท่านเหยียง แซ่เฮา ซึ่งได้เดินทางมาจากเมืองเอ้หมึง เป็นชาวฮกเกี้ยนของจีน มาตั้งรกรากอยู่ที่สงขลาในปี พ.ศ.๒๒๙๓ คือเมื่อ ๒๕๙ ปีมาแล้ว ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา และต่อมาเมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี จัดตั้งเมืองหลวงที่กรุงธนบุรีแล้ว ท่านเหยียงก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯให้เป็น พระยาสุวรรณคีรี ปกครองเมืองสงขลา”

  เมืองสงขลา มีประวัติความเป็นมากว่า ๓๐๐ ปี เดิมเป็นชุมชนเล็กๆ ที่แยกจากเมืองพัทลุง-พะโคะ ในพื้นที่อำเภอสทิงพระ เมื่อพ.ศ.๒๓๑๘ สมเด็จพระเจ้าตากสินได้โปรดเกล้าฯให้หลวงสุวรรณคีรี(เหยี่ยง แซ่เฮา)เป็นผู้ปกครองเมืองสงขลาแทนเจ้าเมืองสงขลา(โยม)ต่อมาบุตรและหลานของพระยาสุวรรณคีรีได้รับช่วงเป็นเจ้าเมืองสงขลาถึง ๘ คน ติดต่อกัน ๘ สมัย ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เป็นเวลา ๑๒๑ ปี จนเปลี่ยนการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๓๙ มี พระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นเทศาภิบาล และ พระยาวิเชียรคีรี (ชม) ทำหน้าที่เป็นปลัดเทศาภิบาลจนหมดวาระราชการใน พ.ศ.๒๔๔๔ การปกครองเมืองของตระกูล ณ สงขลา สิ้นสุดความต่อเนื่องที่นานนับ ๑๒๖ ปี

เจ้าเมืองในตระกูล “ณ สงขลา”  ทั้ง ๘ คน ระหว่างปี พ.ศ.๒๓๑๘-๒๔๔๔ คือ

๑.      พระยาสงขลา

๒.     เจ้าพระยาพิไชยคีรี (บุญฮุย)

๓.     พระยาวิเศษภักดี (เถี้ยนจ๋ง)

๔.     พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง)

๕.     เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์)

๖.      เจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น)

๗.     พระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม)

๘.     และ พระยาวิเชียรคีรี (ชม)

ล้วนเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการวางพื้นฐานความเจริญในตัวเมืองสงขลา และอีก ๗ เมืองภาคใต้ได้แก่ ปัตตานี ยะลา สายบุรี ระแงะ รามัญ ยะหริ่ง และหนองจิก

มาในสมัยรัชกาลที่ ๘ และรัชกาลปัจจุบัน เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา) และพระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) ได้ถวายการรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทในตำแหน่งที่สำคัญหลายประการนอกจากนั้น

ปัจจุบันยังมีเจ้าเมืองในตระกูล ณ สงขลา เป็นคนที่ ๙ คือ นายเจริญจิตต์ ณ สงขลา ในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๓ และเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยในเวลาต่อมา คุณเจริญจิตต์ ณ สงขลา เป็นบุตรหลวงจรูญบูรณกิจ (จรูญ ณ สงขลา) อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นราธิวาส รัฐไทรบุรี เปอร์ลิส เป็นหลานพระยาเพชราภิบาลนฤเบศร์ (พ่วง ณ สงขลา)เป็นเหลนพระยาวิเชียรคีรี (ชุ่ม ณ สงขลา ผู้ว่าราชการเมืองสงขลาคนที่ ๗)

ทั้งหมดที่กล่าวมาอย่างสรุป จะเห็นว่าต้นตระกูล ณ สงขลา ในอดีตได้สร้างความรุ่งเรืองให้แก่ท้องถิ่นเป็นอย่างมาก แม้ว่าในวันนี้บรรดาลูกหลาน ณ สงขลาจะอยู่กระจัดกระจายกันไป ไม่ได้รวมกันอยู่ ณ ถิ่นฐานอย่างแน่นเหนียวเหมือนสมัยต้นตระกูล แต่บ้านเก่าหลังนี้ที่ได้ถวายเป็นพิพิธภัณฑ์ก็สามารถบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของบรรพบุรุษได้มากมาย ทั้งยังเป็นจุดรวมศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ตอนล่างที่สำคัญด้วย เพราะทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง รวมทั้งศิลปะโบราณวัตถุเกี่ยวกับตระกูล ณ สงขลา ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าเมืองสงขลาในอดีตอีกด้วย

 แซ่เฮา หรือ โง้ว คือนามสกุลต้นตระกูล ณ สงขลา อักษรจีนตัวนี้ภาษาฮกเกี้ยนอ่านว่า เฮา ภาษาแต้จิ๋วอ่านว่า โฮ้ว หรือ โง้ว ภาษาจีนกลางอ่านว่า อู๋

ตามปทานุกรมภาษาจีนคำนี้หมายความว่าเป็นรัฐหนึ่งในสมัยราชวงศ์โจว และก็เป็นชื่อของก๊กหนึ่งในรัฐหนึ่งในสมัยสามก๊กที่ซุนกวนได้สถาปนาขึ้นในระหว่าง ค.ศ. ๒๒๒ – ๒๘๐ ความหมายที่แท้จริงคือเป็นนักเกษตรกร นักปกครองท้องถิ่น นักการทหาร และนักปราชญ์

“สงขลา” ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของประเทศไทยมาแต่สมัยโบราณ มีชุมชนโบราณและเมืองเก่าแก่ มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ ขนบธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นพื้นเมือง ศิลปะพื้นบ้านเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสงขลา เพิ่งปรากฏเป็นครั้งแรกในบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือชาวอาหรับ-เปอร์เซีย ระหว่าง ปี พ.ศ.๑๙๙๓-๒๐๙๓ ในนามของเมืองซิงกูอร์ หรือซิงกอร่า แต่ในหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม ของนายกิโลลาส แซร์แวส เรียกชื่อเมืองสงขลา ว่า "เมืองสิงขร" จึงมีการสันนิษฐานว่า คำว่า สงขลา เพี้ยนมาจากชื่อ "สิงหลา" (อ่าน สิง-หะ-ลา)หรือ สิงขร เหตุผลที่สงขลามีชื่อว่า สิงหลา แปลว่าเมืองสิงห์ โดยได้ชื่อนี้มาจากพ่อค้าชาวเปอร์เซีย อินเดีย แล่นเรือมาค้าขาย ได้เห็นเกาะหนู เกาะแมว เมื่อมองแต่ไกลจะเห็นเป็นรูปสิงห์สองตัวหมอบเฝ้าปากทางเข้าเมืองสงขลา ชาวอินเดียจึงเรียกเมืองนี้ว่า สิงหลา ส่วนไทยเรียกว่า เมืองสทิง เมื่อมลายูเข้ามาติดต่อค้าขายกับเมืองสทิง ก็เรียกว่า เมืองสิงหลา แต่ออกเสียงเพี้ยนเป็นสำเนียงฝรั่งคือ เป็นซิงกอร่า (Singora) ไทยเรียกตามเสียงมลายูและฝรั่งเสียงเพี้ยนเป็นสงขลา อีกเหตุผลหนึ่งอ้างว่า สงขลาเพี้ยนมาจาก "สิงขร" แปลว่า ภูเขา โดยอ้างว่าเมืองสงขลาตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาแดง ต่อมาได้มีการพระราชทานนามเจ้าเมืองสงขลาว่า "วิเชียรคีรี" ซึ่งมีความหมายสอดคล้องกับลักษณะภูมิประเทศพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยไว้ว่า "สงขลา"เดิมชื่อสิงหนคร (อ่านว่า สิง-หะ-นะ-คะ-ระ) เสียงสระอะอยู่ท้าย มลายูไม่ชอบ จึงเปลี่ยนเป็นอา และชาวมลายูพูดลิ้นรัวเร็ว ตัดหะ และ นะ ออก คงเหลือ สิง-คะ-รา แต่ออกเสียงเป็น ซิงคะรา หรือ สิงโครา จนมีการเรียกเป็น ซิงกอรา

 สงขลา เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีเรื่องราวสืบต่อกันตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบหลักฐาน ได้แก่ ขวานหิน ซึ่งเป็นเครื่องมือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่อำเภอสทิงพระ ประวัติ ความเป็นมา และวัฒนธรรมสมัยที่เมืองสทิงพระเจริญ เค บูรล์เบท ได้ให้ทัศนะว่า สทิงพระ คือศูนย์กลางของอาณาจักร เซี้ยะโท้ หรือ เซ็กโท เป็นแหล่งหนึ่งในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ได้รับวัฒนธรรมอินเดียโดยตรงในสมัยอาณาจักรศรีวิชัย เป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ ศตวรรษ เพราะมีร่องรอยทางสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ที่แสดงให้เห็นว่าเมือง “สทิงพระ” เป็นศูนย์กลางการปกครองดินแดนรอบๆทะเลสาบสงขลาในสมัยนั้น

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ชื่อ เมืองสทิงพระ เริ่มเลือนหายไป และเกิดชุมชนแห่งใหม่ใกล้เคียงขึ้นแทน เรียกว่า "เมืองพัทลุง" ที่พะโคะ ได้เจริญรุ่งเรืองเป็นศูนย์กลางทางพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ต่อมาระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๒ พวกโจรสลัดมลายูได้เข้าคุกคามบ่อยๆ ทำให้เมืองพัทลุงที่พะโคะค่อยๆเสื่อม หลังจากนั้นเกิดชุมชนขนาดใหญ่ขึ้น ๒ แห่ง บริเวณรอบทะเลสาบสงขลา คือ บริเวณเขาแดงปากทะเลสาบสงขลา และได้กลายเป็นเมืองสงขลาริมเขาแดง และอีกแห่งที่บางแก้ว อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง และกลายเป็นเมืองพัทลุงระหว่างปี พ.ศ.๒๑๒๖-๒๒๒๓

เมืองสงขลาริมเขาแดงมีความเจริญด้านการค้าขายกับต่างประเทศ โดยมีเจ้าเมืองเชื้อสายมลายูอพยพมาจากอินโดนีเซีย พวกมลายูเหล่านี้ได้หลบหนีการค้าแบบผูกขาด ของพวกดัทช์มาเป็นการค้าแบบเสรีที่สงขลา โดยมีอังกฤษเป็นผู้สนับสนุนอยู่เบื้องหลัง ในระยะแรกระหว่าง ปี พ.ศ.๒๑๖๒-๒๑๘๕ เจ้าเมืองสงขลาเป็นมุสลิม หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ.๒๑๘๕-๒๒๒๓ เจ้าเมืองสงขลาเป็นกบฎไม่ยอมขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา ในที่สุดจึงถูกสมเด็จพระนารายณ์มหาราชปราบปรามจนราบคาบ และถูกปล่อยให้ทรุดโทรม และตกเป็นเมืองขึ้นของเมืองพัทลุง จนถึงช่วงปี พ.ศ.๒๒๔๒-๒๓๑๙ เมืองสงขลาไปตั้งขึ้นใหม่ที่บริเวณบ้านแหลมสน เรียกว่า เมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ตั้งอยู่ตรงข้ามกับที่ตั้งตัวเมืองสงขลาปัจจุบันเมืองสงขลาได้พัฒนาเป็นหัวเมืองขนาดใหญ่ ในสมัยกรุงธนบุรี และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ประเทศสยามเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ได้เกิดก๊กต่างๆขึ้น เจ้าพระยานคร(หนู) ซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ได้ตั้ง นายวิเถีย ญาติมาเป็นเจ้าเมือง เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีปราบก๊กเจ้านครได้แต่งตั้งให้ จีนเหยี่ยง แซ่เฮ่า ซึ่งเป็นนายอากรรังนก เป็นเจ้าเมืองในปี ๒๓๑๘ ได้รับพระราชทินนามเป็น "หลวงสุวรรณคีรีสมบัติ" (ต้นตระกูล ณ สงขลา) เชื้อสายของตระกูลนี้ได้ปกครองเมืองสงขลาติดต่อกันมาไม่ขาดสายถึง ๘ คน (พ.ศ.๒๓๑๘-๒๔๔๔)จนกระทั่ง ปี พ.ศ.๒๓๗๙ สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) โปรดเกล้าให้พระยาวิเชียรคีรี (เถี้ยนเส้ง) ก่อสร้างป้อมกำแพงเมือง ระหว่างที่ก่อสร้าง ตวนกู อาหมัดสะอัด ชักชวนหัวเมืองไทรบุรี ปัตตานี และหัวเมืองทั้ง ๗ ยกมาตีสงขลา เมื่อปราบปรามขบถเรียบร้อยแล้ว จึงได้สร้างป้อม และกำแพงเมืองสงขลาจนเสร็จ และได้จัดให้มีการฝังหลักเมืองและได้ย้ายเมืองสงขลามายังฝั่งตะวันออกของแหลมสน มายังฝั่งสงขลาบ่อยาง คือ ในเขตเทศบาลนครสงขลา ปัจจุบัน ครั้นถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปการปกครอง ได้ทรงจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลขึ้น และได้ส่งพระวิจิตรวรสาสน์ (ปั้น สุขุม) ลงมาเป็นข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลา ในปี พ.ศ.๒๔๓๘ เป็นแห่งแรก และในปี พ.ศ.๒๔๓๙ จึงได้จัดตั้งมณฑลนครศรีธรรมราช (พ.ศ.๒๔๓๙-๒๔๕๘) และเป็นที่ตั้งศาลาว่าการภาคใต้ (พ.ศ.๒๔๕๘-๒๔๖๘) นอกจากนี้เมืองสงขลาเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง สมุหเทศาภิบาลและอุปราชภาคใต้ จนสิ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้มีการยุบมณฑลและภาค เปลี่ยนเป็นจังหวัด สงขลา จึงเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้จนถึงปัจจุบัน

ผู้ใดก็ตามที่เดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นชาวสงขลาอยู่ในจังหวัดสงขลาก็ตาม ย่อมรู้จักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลาเป็นอย่างดี และที่นี่เองเป็นอนุสรณ์แห่งกาลเวลาและอนุสรณ์แห่งคุณงามความดีของบรรพบุรุษสกุล ณ สงขลา ได้สร้างสมไว้เป็นมรดกตกทอดมาจนถึงรุ่นลูกหลาน เหลน จนตลอดไปถึงภายภาคหน้า

 พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลาอยู่ที่ถนนจะนะ ตำบลบ่อย่าง อำเภอเมือง มีอายุยาวนานถึง ๑๑๕ ปีแล้ว แต่เดิมนั้นเป็นบ้านส่วนตัวของ พระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา ลักษณะอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบจีน ต่อมาเปลี่ยนเป็นจวนข้าหลวงพิเศษตรวจราชการเมืองสงขลาแล้วปรบปรุงเป็นศาลาว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช และศาลากลางจังหวัดสงขลา จนกระทั่งถึง พ.ศ.๒๔๙๖ กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ บูรณะซ่อมแซมให้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา จากนั้นเป็นต้นมา

ภายในตัวอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุที่พบในประเทศไทยสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นวัตถุโบราณที่นำมาจากเมืองจีน มีเกี้ยว คานหามสำหรับเจ้าเมือง สิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงถึงความเป็นมาของต้นตระกูล ณ สงขลา ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากการค้าขาย เคยมีคนจีนที่เดินทางมาจากแผ่นดินใหญ่เอ่ยปากว่าอาคารแบบจีนฮกเกี้ยนนี้เก่าแก่เสียยิ่งกว่าอาคารในเมืองจีนเสียอีก

ในบริเวณพิพิธภัณฑ์ในเนื้อที่ ๑๑.๑๙ ไร่ มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ไพศาล สมัยก่อนลูกหลาน ณ สงขลา รวมทั้งบุคคลทั่วไป สามารถขี่ม้าได้ทั้งวันเนื่องด้วยที่ดินดังกล่าวเป็นที่พระราชทานของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

 ประวัติความเป็นมา

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองเก่าสงขลา ทิศเหนือจดถนนรองเมือง ทิศใต้จดถนนจะนะ ทิศตะวันออกจดถนนไทรบุรี ทิศตะวันตกจดถนนวิเชียรชม ห่างจากทะเลสาบสงขลา ประมาณ ๒๐๐ เมตร พื้นที่ ๑๑ ไร่ ๒๑.๗ ตารางวา อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา เดิมเป็นบ้านของพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๑ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ การสร้างบ้านสันนิษฐานว่าใช้เวลาหลายปี จากหลักฐานที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาภานุพันธุ์วงศ์วรเดช ได้บันทึกไว้ในเรื่อง ชีวิวัฒน์เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวที่ต่างๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ ความว่า “ที่มุมเมืองนอกกำแพงด้านเหนือตะวันตก มีตึกหมู่หนึ่งหันหน้าลงน้ำ ไกลน้ำประมาณ ๔-๕ เส้น เป็นตึก ๒ ชั้น วิธีช่างทำ ทำนองตึกฝรั่งยังทำไม่แล้วเสร็จ ข้างในเป็นตึก ๒ ชั้น ๓ หลัง วิธีช่างทำ ทำนองจีนแกมฝรั่ง ทำเสร็จแล้ว มีกำแพงบ้านก่ออิฐเป็นบริเวณ บ้านตึกหมู่นี้เป็นบ้านหลวงอนันตสมบัติ บุตรพระยาสุนทรา บิดาได้ทำไว้ยังค้างอยู่” ได้ใช้เป็นบ้านพักส่วนตัวของตระกูล ณ สงขลา และในปี พุทธศักราช ๒๔๔๗ (ร.ศ.๑๒๓) ทางรัฐบาลได้ซื้ออาคารดังกล่าวจาก พระอนันตสมบัติ ( เอม ณ สงขลา) บุตรพระยาสุนทรานุรักษ์ (เนตร ณ สงขลา) ในราคา ๒๘,๐๐๐ บาท เพื่อใช้เป็นศาลามณฑลนครศรีธรรมราช จากการปฏิรูปการปกครองเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล ในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ได้ตั้งเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช ศูนย์บัญชาการอยู่ที่สงขลา พระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นผู้บัญชาการมณฑล เจ้าเมืองสงขลาถูกเปลี่ยนตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการเมือง ขึ้นตรงต่อผู้บัญชาการมณฑล และได้ใช้อาคารนี้เป็นที่ว่าการมณฑลนครศรีธรรมราช จนถึงพุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้มีการเปลี่ยนระบบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ ให้ใช้คำว่า จังหวัด แทนชื่อเมือง เมืองสงขลาจึงเป็นจังหวัดสงขลา ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองเปลี่ยนเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ยังขึ้นกับมณฑลนครศรีธรรมราช ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๖ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบบประชาธิปไตย จังหวัดสงขลาจึงมีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในราชอาณาจักรไทย ยังคงใช้อาคารนี้เป็นที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลา ถึง พ.ศ. ๒๔๙๖ จึงย้ายที่ทำการศาลากลางจังหวัดสงขลาไปอยู่ ณ ถนนราชดำเนินปัจจุบัน ตัวอาคารหลังนี้จึงถูกทิ้งร้างอยู่หลายปี วันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๑๖ กรมศิลปากร จึงประกาศขึ้นทะเบียนอาคารแห่งนี้เป็นโบราณสถานและได้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามกุฏราชกุมาร เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิด พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๒๕

ลักษณะสถาปัตยกรรมของอาคาร

อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา เป็นสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมยุโรป สร้างเป็นตึกก่ออิฐสอปูน ๒ ชั้น บ้านหันหน้าไปทางทิศตะวันตก หันหน้าสู่ทะเลสาบสงขลา ลักษณะตัวบ้านยกสูงจากพื้นดินประมาณ ๑ เมตร ปลูกเป็นเรือนหมู่ ๔ หลัง เชื่อมติดกันด้วยระเบียงทางเดิน มีบันไดขึ้น ๒ ทาง คือด้านหน้าและตรงกลางลานด้านใน กลางบ้านเป็นลานเปิดโล่งสำหรับปลูกต้นไม้หรือการจัดกิจกรรมต่างๆ ด้านหน้าอาคารมีสนามและมีอาคารโถงขนาบสองข้าง ด้านหลังมีสนามเช่นเดียวกัน พื้นที่โดยรอบอาคารเป็นสนามหญ้าและสวนมีกำแพงโค้งแบบจีนล้อมรอบ อาคารชั้นบน ห้องยาวด้านหลัง มีบานประตูลักษณะเป็นบานเฟี้ยม แกะสลักโปร่งเป็นลวดลายเล่าเรื่องในวรรณคดีจีน สลับลายพันธุ์พฤกษา หรือลายมังกรดั้นเมฆ เชิงไข่มุกไฟ ส่วนหัวเสาชั้นบนของอาคารมีภาพเขียนสีเป็นภาพเทพเจ้าจีน หรือลายพฤกษา ภายในห้องตรงขื่อหลังคา จะมีเครื่องหมาย หยินหยาง โป้ยป้อ หรือ ปากั้ว เพื่อป้องกันภยันตรายต่าง ๆ ตามคตินิยมของชาวจีน หลังคามุงกระเบื้องสองชั้นฉาบปูนเป็นลอน สันหลังคาโค้ง ปลายทั้งสองด้านเชิดสูงคล้ายปั้นลมของเรือนไทย ภายนอกอาคาร บริเวณผนังใต้จั่วหลังคา มีภาพประติมากรรมนูนต่ำสลับลายภาพเขียนสี เป็นรูปเทพเจ้าจีนและลายพันธุ์พฤกษา

 

 

หมายเลขบันทึก: 372857เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2010 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะครูฑูรย์ พอดีประวัติเมืองสงขลามาเจอบันทึกนี้ใน GotoKnow จึงขออนุญาตมาเขียนบอกไว้นิดนึงนะคะ

ช่วงนี้อาจารย์พุทธพร ส่องศรี ท่านได้มาเขียนเล่าเรื่องประวัติสงขลาไว้ใน GotoKnow ด้วยค่ะ https://www.gotoknow.org/blog/songkhla-culture

ครูฑูรย์อย่าลืมแวะมาเยี่ยม GotoKnow เติมเต็มบันทึกให้ อ.พุทธพร บ้างนะคะ อยากให้ประวัติศาสตร์ของสงขลาที่สมบูรณ์ขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท