จัดการความรู้เพื่อพัฒนาชุมชน


ถ้าเราไม่รักษาสิ่งแวดล้อมชุมชนของเราเอง แล้วใครที่ไหนจะมาดูแล รักษาให้เรา

    

      เป็นประโยคที่น่าสนใจ  และเป็นหัวข้อของการประชุมปฏิบัติการ ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา  ซึ่งจัดขึ้นที่ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม   และผู้เข้าร่วมประชุมมีความหลากหลาย ทั้งหน่วยงาน และพื้นที่ ได้แก่ คณาจารย์ โปรแกรมพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์, นักศึกษาที่เป็นผู้นำชุมชนในโปรแกรมฯ, ผู้นำชุมชนในจังหวัดนครปฐม, ราชบุรี, สมุทรสาคร จำนวน 67 คน  เราได้เจอเรื่องเล่าตัวอย่างดีๆ  จากการแลกเปลี่ยนภายในกลุ่ม ของการประชุมครั้งนี้

     การสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญที่นำการจัดการความรู้ไปใช้ในชุมชน ซึ่งเป้าหมายที่แท้จริงคือการจัดความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่นั้น มุ่งไปสู่ผลสำเร็จของงาน โดยใช้การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือนั่นเอง ซึ่งทาง สคส. ได้นำกระบวนการต่างๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ได้แก่ โมเดลปลาทู, เรื่องเล่าเร้าพลัง, การสร้างบรรยากาศเชิงบวก ชื่นชม, การฟังอย่างลึกซึ้ง, ความรู้เด่นชัด ความรู้ซ่อนเร้น, AAR ในระยะเวลาที่จำกัดเพียง 1 วัน แต่ยังมีเครื่องมืออีกบางส่วนที่เราไม่ได้นำมาแลกเปลี่ยนกันได้แก่  ธารปัญญา ตารางแห่งอิสรภาพ บันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นต้น

     และถึงแม้ว่าจะมีระยะเวลาอันจำกัด และกลุ่มคนเล็กลง แต่เราก็มีความรู้สึกว่า ไม่ได้บั่นทอนจิตใจที่ใฝ่เรียนรู้ของคนในชุมชนเลย  จากการให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันภายในกลุ่มที่มีความหลากหลายของพื้นที่ ในหัวข้อ การรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเล่าเร้าที่พลังผู้ฟังภายในกลุ่มได้เป็นอย่างดี จนกระทั่งถึงช่วงเวลาการนำเสนอของตัวแทนของแต่ละกลุ่ม  (จากเดิมช่วงเช้า มี 8 กลุ่ม ลดเหลือ 4 กลุ่ม) คือ

  1. การคัดแยกขยะ   จากกลุ่ม ต. ท่าพระยา อ. นครชัยศรี
  2. การสร้างเมรุปลอดมลภาวะ จาก จ. สมุทรสาคร
  3. การสร้างจิตสำนึกเรื่องการลดใช้สารเคมีในครัวเรือน  จากกลุ่ม อ. สามพรานและ อ. บางเลน
  4. การเพาะเห็ดด้วยต้นปาล์มที่เหลือทิ้ง จาก จ. ราชบุรี

     แต่ละเรื่องเล่ามีความน่าสนใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงว่าทุกคนให้ความสำคัญในชุมชนได้เป็นอย่างดี ดังเช่น กลุ่มคัดแยกขยะ เน้นการให้ความสำคัญตั้งแต่ครอบครัว การปลูกฝังให้คนในครอบครัวรู้จักดูแลและรักษาสภาวะแวดล้อมในบ้าน จนถึงชุมชนที่ตนอาศัย   ทำให้ทุกคนมีความรักในชุมชนและสร้างระเบียบวินัยในชุมชน  บางคนในที่ประชุมแห่งนี้พูดว่า ถ้าเราไม่รักษาสิ่งแวดล้อมชุมชนของเราเอง  แล้วใครที่ไหนจะมาดูแล  รักษาให้เรา

    และกิจกรรมช่วงสุดท้ายคือ หลังจากผ่านมา 1 วันทุกคนรู้สึกอย่างไร โดยจ๊ะจ๋าได้ให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่ม ช่วยสะท้อนออกมาว่า รู้สึกดีใจที่เข้าร่วมและ ดีใจที่ได้รู้จักเพื่อนจากพื้นที่อื่นๆ และจะนำกระบวนการดังกล่าวกลับไปใช้ในชุมชนของตน   และบางคนจะนำความรู้จากเรื่องเล่าไปใช้กับครอบครัวและชุมชนของตน

        ดังคำพูดที่ว่า การปลูกฝังสิ่งดีๆ ควรเริ่มที่เด็กและคนในครอบครัวก่อนเป็นอันดับแรก

 
หมายเลขบันทึก: 37265เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2006 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท