บทความภาวะผู้นำ (Leadership)


ภาวะผู้นำการบริหารจัดการ
บทความ
ภาวะผู้นำ (Leadership)
โดย อ.สิทธิชัย  ฝรั่งทอง   วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก 
 คอลัมน์ คลื่นความคิด หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน  วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 9841
          การเป็นผู้นำนั้นเป็นได้ไม่ยาก แต่การที่จะเป็นผู้นำที่ดีให้ได้นั้นต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ของการบังคับบัญชา   ภาวะผู้นำ(Leadership) ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือภาครัฐต้องมีความรู้บางอย่างในทุกอย่าง หรือรู้ทุกอย่างในบางอย่าง "Know Something in Everything" หรือ "Know Everything in Something" สามารถนำไปใช้ได้ในทุกวิชาชีพ ซึ่งมีการกล่าวกันว่าในชีวิตของคนๆ หนึ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ทำอะไรได้สำเร็จ 80% เกิดจากภาวะผู้นำ อีก 20% เกิดจากวิชาการ หรือเรียกว่ากฎ 80 : 20 ของ Pareto"s Law   
          กว่า 2 ทศวรรษที่ธุรกิจให้ความสนใจกับภาวะผู้นำและการพัฒนาภาวะผู้นำ ซึ่งใครที่มีภาวะผู้นำไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง จะพูดอะไร คิดอะไร ทำอะไรแล้ว มีคนเชื่อฟัง ในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องการสอนบริหารธุรกิจก็ไม่ได้กางตำราสอน เพราะว่าตำราใครๆ ก็อ่านได้ แต่จะสอนจากประสบการณ์ เช่น ถ้าบริษัทไหนล้มเหลว ก็จะนำความล้มเหลวนั้นมาพูดคุยกันว่าทำไมถึงล้มเหลว แล้วถ้าคุณเป็นผู้บริหารจะทำอย่างไร และถ้าเกิดความสำเร็จก็จะประเมินกันว่าสำเร็จเพราะอะไร แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ความเป็นผู้นำแหลมคมขึ้น
          บางตำราบอกว่าไม่มีใครสอนใครได้ในเรื่องภาวะผู้นำ แต่สามารถช่วยเขาให้เรียนรู้ได้(No one can teach anybody in Leadership but we can help them to learn) ซึ่งภาวะผู้นำในด้านใดด้านหนึ่งอาจจะทำได้ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องทำได้ดีหมดทุกเรื่อง
          ภาวะผู้นำมีอยู่หลากหลายแบบ อาทิ ภาวะผู้นำในยามวิกฤต ภาวะผู้นำในภาวะปกติ ภาวะผู้นำทางการเมือง ภาวะผู้นำในเศรษฐกิจ ภาวะผู้นำในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ฯลฯ ดังนั้น ภาวะผู้นำจึงไม่อยากจะกล่าวว่าสอนกันได้ ต้องมีการหล่อหลอมสะสม ต้องผ่านกระบวนการของการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มิใช่อ่านหนังสือจบแล้วจะเป็นคนที่มีภาวะผู้นำ
          หากจะถามว่าผู้นำคืออะไร ถ้าจะให้ง่ายต่อการจดจำ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความหมายของผู้นำไว้ว่า "ผู้นำคือ คนที่คิด คนที่พูด คนที่ทำอะไรแล้วคนอื่นเชื่อถือ อยากทำตาม อยากช่วยเหลือ อยากสนับสนุน"
          ในตำราเมื่อก่อนนี้ ภาวะผู้นำมักจะเน้นเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์กับเลือดเนื้อเชื้อไข   แต่  "อับราฮัม         ลินคอร์น" ได้ทำให้แนวคิดนี้เปลี่ยนไป เพราะ "อับราฮัม" ไม่ได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวไว้ คือไม่ได้เป็นลูกผู้ดีมีเงิน ไม่ได้เป็นลูกของผู้ปกครองบ้านเมือง แต่เป็นคนจนธรรมดาๆ สมัครเป็นผู้แทนหลายครั้งก็ไม่ได้ แต่พอสมัครเป็นประธานาธิบดีครั้งเดียวได้ ดังสนั่นโลกเลย ทำให้ตำราภาวะผู้นำต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่มาจากสายเลือด แต่มาจากอิทธิพลของสิ่งแวดล้อม
          หลายคนยังมีความสับสนระหว่างคำว่า "ผู้บริหาร" กับ "ผู้นำ" ผู้บริหารคือความสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาเป็นแบบทางการที่องค์การได้กำหนดไว้ ส่วนผู้นำเป็นผู้แสดงบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงกับบรรดาสมาชิกในองค์กรเข้าด้วยกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหาร
          ดังนั้น ภาวะผู้นำที่สำคัญต้องมีคุณลักษณะของผู้นำมี 2 ประการคือ
          1. To Lead is to Serve การจะเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ขึ้นอยู่กับการบริการ การให้ การช่วยคนอื่น เพราะถ้าใครคิดช่วยเหลือคนอื่นก่อน โดยเฉพาะเกิดมาต่ำต้อยด้อยโอกาส ยิ่งต้องช่วยเหลือเขา และใครที่เกิดมามีน้อยในชีวิต ควรจะได้มากๆ โดยกฎหมาย ซึ่งศิลปะของการเป็นผู้นำต้องเป็นผู้ให้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเงินหรือสิ่งของเสมอไป
          2. To Lead is to Follow การที่จะนำต้องรู้จักตาม คำว่า Follow ก็คือในเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิต จิตใจ ความรู้สึก อารมณ์ และเหตุผลของเขา สุภาษิตจีนได้สอนคนจีนมาหลายร้อยปีแล้ว ได้บอกว่า "ผู้นำที่ดีเยี่ยมนั้น คือคนที่ทำงานสำเร็จแล้วจะหายตัวไป หากเกิดปัญหาขึ้นอีกเมื่อใด เขาจะปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง" แต่คนไทยถ้ามีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นจะซัดทอดคนอื่นไปเรื่อยๆ เวลาทำสำเร็จแล้วจะอยู่รอเพื่อรับการชื่นชมสรรเสริญเยินยอ แสดงว่าไม่ได้ถูกฝึกภาวะผู้นำ แต่ถ้าถูกฝึกให้มีจิตวิญญาณของภาวะผู้นำแบบจีน ก็จะเป็นคนที่ยิ่งใหญ่
          ภาวะผู้นำ(Leadership )ไม่ใช่อยู่ที่ป้ายตำแหน่งหน้าห้อง แต่ผู้นำคือคนที่พูดอะไร คิดอะไร ทำอะไรแล้วมีคนอยากร่วมทำงานและสนับสนุน ซึ่งภาวะผู้นำนี้ จะมีการผสมผสานกันอยู่หลายอย่าง บางอย่างเกิดจากการมีฐานะดี ดูแลคนอื่นได้ เกิดจากการมีความรู้ดีสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ หรืออาจเกิดจากการปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างสม่ำเสมอ แล้วเกิดการยอมรับ บางทีเกิดอุบัติเหตุสถานการณ์วิกฤตก็สร้างวีรบุรุษ ประการที่สำคัญคือ ผู้นำที่คิดช้า ตอบช้าในบางกรณี แสดงว่ากำลังปฏิเสธ ซึ่งภาษานักกฎหมายหมายความว่า การให้ความยุติธรรมช้าเท่ากับปฏิเสธความยุติธรรม ดังนั้น ผู้นำถ้าต้องการให้กำลังใจใครต้องทำอย่างรวดเร็ว แต่ถ้าจะทำให้เสียกำลังใจช้าหน่อยก็ได้
          อย่างไรก็ตาม ในโลกสมัยใหม่ ผู้นำต้องเป็นผู้สร้างแรงจูงใจให้สมาชิกในองค์กรมีขวัญและกำลังใจในการทำงานแบบทุ่มเท หมดสมัยแล้วที่จะควบคุมสั่งการบังคับบัญชาให้ทำตามแบบพิมพ์เขียว ซึ่งจะทำให้คุณภาพงานออกมาไม่ดีรวมทั้งจะไม่มีใครทำตามในสิ่งที่ไม่เชื่อ ไม่ศรัทธา และไม่ได้มีส่วนร่วมอีกต่อไป
แหล่งข้อมูล  :    http://nidambe11.net/ekonomiz/2005q1/article2005february18p7.htm
คำสำคัญ (Tags): #ภาวะผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 372576เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2010 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 11:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีครับครูชวน
  • แวะมาชมบันทึก เป็นบทความที่ดีทีเดียว ผมกำลังเรียนบริหารอยู่ครับ
  • ผู้บริหารที่ดีนั้น ต้องมีภาวะของผู้นำด้วยจึงจะเป็นผู้บริหารในทศวรรษใหม่ จริงไหมครับ...แต่ทุกวันนี้ ผู้บริหารส่วนมากขาดภาวะของผู้นำ
  • ขอบคุณครับ

เป็นความรู้ที่เติมเต็มให้ผู้บริหารได้ยอดเยี่ยมมาก

"สุดยอดของการบริหาร คือการไม่บริหาร"ครับ

: สวัสดีครับคุณครูประจักษ์

: ขอบคุณที่แวะเข้ามาเยี่ยมชมบันทึก ขอบคุณที่ให้ความเห็น

: เพิ่งเป็นสมาชิกใหม่ ขอคำแนะนำ และขอเป็นมิตรไมตรี กับคุณครูแดนไกลด้วย ขอบคุณครับ

สวัสดีครับท่านผอ.พรชัย

ขอบคุณที่แวะเข้ามาทักทาย เยี่ยมชมบันทึก

ขอบคุณที่แสดงความเห็นและเป็นกำลังใจ

เพิ่งเป็นสมาชิกใหม่ ขอคำแนะนำ เสนอแนะ และขอเป็นมิตรไมตรี กับท่านผู้บริหารแดนไกลด้วยครับ ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท