รำลึกถึงน้องผู้จากไป ( memorial service 30 th June )


สารทุกข์สุกดิบของผู้สูญเสีย มาช่วยกันให้กำลังใจ

       วันนี้เป็นวันสุดท้ายของเดือน และเป็นวันที่ได้ทำงานเป็นวันสุดท้ายก่อนที่จะเดินทางไปศึกษาดูงาน Palliative Care ที่ National Cancer Centre ประเทศสิงคโปร์ เป็นเวลา 4 สัปดาห์ และวันนี้ก็มีสิ่งดีดีเกิดขึ้นในงานนั่นก็คือ กิจกรรม รำลึกถึงน้องผู้จากไป ที่จัดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 10 นับรวมทั้งที่อยู่ที่หอผู้ป่วยเด็กมะเร็ง แต่นับเป็นครั้งที่ 2 ในบทบาทพยาบาลทีม Palliative Care service เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ถือว่าเป็น Bereavement support  ที่ได้ริเริ่มขึ้นสำหรับผู้ป่วยเด็กมะเร็ง และplan ต่อไปคงจะ service ในผู้ป่วย newborn และ Non-cancer

       กิจกรรมเราเริ่มประมาณ 9 โมง วันนี้จริงๆแล้วนัดหมายครอบครัวสูญเสีย 2 ครอบครัวและเชิญหลายครอบครัวและทุกคนอยากมา แต่ด้วยภารกิจที่ช่วงนี้เป็นฤดูกาลทำนาจึงไม่สามารถมาได้ สุดท้ายเหลือ 1 ครอบครัวซึ่งคิดว่า1 ครอบครัวเราก็จัด เพราะคุณค่าคงไม่ได้อยู่ที่มามากมาน้อย แต่อยู่ที่การได้เยียวยาครอบครัวสูญเสียครอบครัวหนึ่ง และทีมเองก็ได้ร่วมเรียนรู้ ได้เวลา 9 โมงฉันรีบมาที่จุดนัดหมายคือหอผู้ป่วยเด็ก 3ง (เด็กมะเร็ง)และเมื่อมาถึงฉันก็ได้พบกับครอบครัวน้อง หากจะย้อนกลับไปพี่เกดบันทึกเรื่องราวการเผชิญความยากลำบากของครอบครัวก่อนที่น้องจะจากไปไว้ในบันทึกนี้  เเละวันนี้เขากลับมาเยี่ยมเราเเละมาให้กำลังใจคนไข้คนอื่นๆ นำทีมโดยคุณพ่อและพี่สาว พี่ชาย  วันนี้นอกจากมาร่วมกิจกรรมแล้วครอบครัวยังเตรียมผลไม้ และขนมมาทำบุญกับเด็กป่วยที่ ward ด้วย ใบหน้าที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม ทำให้ฉันคิดในใจว่า ช่วงนี้คุณพ่อน่าจะดีขึ้นแล้ว เวลาผ่านไป 7 เดือน รอยบาดแผลที่เกิดจากการสูญเสียลูกชายคนสุดท้องที่พ่อบอกเสมอว่าพ่อรักที่สุด คงจะค่อยๆ สมานให้ดีขึ้น

           และเมื่อแจกขนมให้เด็กๆทุกเตียงแล้ว เราจึงเชิญทุกคนมาล้อมวงสนทนามีพี่เขียวหัวหน้าหอผุ้ป่วยเด็ก 3ง อาร์ม (นักสังคมฯ) น้องกิ๊ฟ Project manager โครงการ  Best holistic care for children with Cancer  เเละน้องหนุ่ย โดยวันนี้ฉันได้เชิญครอบครัวที่กำลังเผชิญกับภาวะยากลำบาก นั่นคือครอบครัวที่กำลังจะสูญเสียลูกชายที่มีอยู่เพียงคนเดียว(น้องป่วยเป็นไตวายระยะสุดท้าย รักษากันมานาน ทีมการพยาบาลหอผู้ป่วย 3งก็เต็มที่ รอบนี้นอนโรงพยาบาลครบ 1 ปีตอนปีใหม่    ในวันที่เขียนบันทึกน้องได้จากไปอย่างสงบที่บ้านเกิดของน้องเเล้ว ครอบครัวพากลับไปเสียชีวิตที่บ้านเเละทางหน่วย Palliative Care ได้ช่วยเหลือในการให้ยืม o2 tank ) ฉันและทีม(ท่านอาจารย์ ศรีเวียง)พยายามในการให้การช่วยเหลือครอบครัวนี้นับตั้งแต่ได้รับ consult ให้ไปร่วมดูแล ทั้งในด้านกำลังใจ พลังใจ ด้านจิตวิญญาณฉันได้นิมนต์พระมาสวดมนต์ข้างเตียง พาครอบครัวถวายสังฆทานเพื่อเป็นกุศล วันนี้ ฉันเชิญคุณพ่อมาร่วมวงสนทนาด้วย คุณพ่อไม่ปฏิเสธที่จะมาร่วมวง เพราะเชื่อว่าอยากให้เขาได้มาเรียนรู้

บรรยากาศการพูดคุย

ฉันเปิดประเด็นการพูดคุยเป็นคนแรก บรรยากาศการพูดคุย ค่อยๆเป็นค่อยไป เริ่มจากแนะนำถึงความเป็นมาของการจัดกิจกรรม และค่อยๆเขยิบเข้าไปซักถามถึงความเป็นไป นับจากที่ลูกจากไป พ่อเป็นอย่างไร แม่เป็นอย่างไร ผลกระทบเกิดกับครอบครัวมีอะไรบ้าง จบคำถามของฉัน ความรู้สึกของพ่อผู้สูญเสียก็พรั่งพรู “นับจากที่น้องจากไป ผมแทบจะเป็นบ้า เพราะลูกคนนี้ผมรักที่สุด ไม่คิดว่ามันจะเกิดขึ้นกับครอบครัวเรา ช่วงใหม่ๆ มีอยู่วันหนึ่งผมคิดถึงลูก ผมขับรถมุ่งหน้ามาที่ขอนแก่น กลางดึก บอกตัวเองว่าจะมาหาลูก ใจคือวันนั้นต้องมาให้ได้ ขับมาตอน 6 ทุ่มเมื่อมาถึงมหาสารคาม ผมจอดรถนอนหลับ หลับจนกระทั่งตี 3 ตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองนอนอยู่ในรถ ตกใจว่านี่เราเหรอ  มาอยู่ตรงนี้ได้ไง ตั้งสติได้รีบหันหัวรถกลับบ้านทันที ช่วงแรกยอมรับว่าทำอะไรไม่ค่อยได้ แม่เขายิ่งหนักนอนร้องไห้ทุกวัน บางครั้งเกิดหงุดหงิดใส่ลูก 2คน แต่ผมก็เข้าใจเขา เราเป็นผู้รับฟังเวลาเขาบ่นคิดถึงลูก ฟังจบผมจะเดินหนี แล้วเราก็เอาไปเททิ้ง เราจะไม่เก็บไม่อัดไว้กับตัวเองทำอะไรเรื่อยเปื่อย ก่อนหน้านี้ไม่เคยเลี้ยงวัว ทุกวันนี้ต้องซื้อวัวมาเลี้ยงเพื่อให้มีอะไรทำ ปลูกผัก ปลูกต้นไม้เพื่อให้ตัวเองๆไม่คิดฟุ้งซ่าน"

       ระหว่างอยู่ในวงสนทนานอกจากจะได้เห็นเเละเข้าใจความทุกข์ของคนที่สูญเสียลูกอันเป็นที่รักเเล้ว เราเองก็ได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมเเบ่งปัน ร่วมรับฟัง ได้เรียนรู้วิธีการที่จะอยู่ให้ได้กับความสูญเสีย เเละประโยคหนึ่งที่เราฟังเเล้วรู้สึกอึ้ง "ลูก 2 คนตายผมยังไม่เสียดายเท่ากับเสียลูกคนนี้ เเต่ถ้าเเลกกันได้ผมขอลูกผมกลับคืนมา

        เขาให้เหตุผลว่าทำไมถึงรักลูกคนนี้มาก ด้วยความที่มีลูกห่างกันมาก ถึง8 ปีกับพีสาวพี่ชาย ที่สำคัญเป็นลูกคนสุดท้องของเขา พร้อมกับให้ข้อเสนอเเนะว่าควรมีลูกไม่ห่างกันมาก เพราะผมเจอกับตัวเเล้ว คนสุดท้องถ้าห่างจากพี่มาก จะรักมาก พอเขาไม่อยู่กับเราก็ปล่อยยาก วางยาก "

         นี่คือส่วนเสี้ยวหนึ่งของการช่วยเยียวยาจิตใจของคนที่อยู่ข้างหลัง เเต่เหนือสิ่งอื่นใด ครอบครัวมีส่วนสำคัญในการประคับประคอง เเละเวลาผ่านไปจะทำให้หัวใจที่เต็มไปด้วยบาดเเผลเเห่งการพลัดพรากนั้นค่อยๆ ทุเลาเบาบางเเละพ่อก้ได้ทิ้งประโยคสุดท้ายให้เราได้คิด  

" ผมว่าผ่านได้เเล้วนะ ถ้าเป็นบันไดก็หนึ่งขั้นเเล้วผมว่าอย่างนั้น ขั้นที่สองต้องดูต่อไปลูกเสียมันหนักครับ เขาเกิดมาทำให้เราดีใจ ดีใจได้ไม่นานเขาก็ทำให้เราเสียใจชนิดที่เรียกว่า " เหมิ๊ดความสิเว้า" ( ภาษาอิสานหมายถึงพูดไม่ออก จบเห่)ฉันปิดการสนทนาด้วยประโยคให้กำลังใจที่ฉันมักจะพุดเสมอ '' เป็นกำลังใจให้เด้อ '' ขอบคุณที่มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ จากนั้นจึงยกขบวนไปทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้น้องที่หอผู้ป่วยสงฆ์อาพาธ เเละรับประทานอาหารเที่ยงกัน

  ฉันส่งครอบครัวกลับบ้านด้วยรอยยิ้มเเละวันนี้ฉันก็ได้เห็นรอยยิ้มของผู้สูญเสีย เเละเชื่อมั่นว่าเขาผ่านเเล้วอย่างที่เขาพูด

 

หมายเลขบันทึก: 372564เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2010 20:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ

ทุกครั้งที่รับรู้เรื่องราวความทุกข์ร้อนของผู้อื่น

จะนึกถึงคำพูดของนางงามจักรวาลคนนึง

พี่ปุ๋ย(พรทิพย์ค่ะ)

คำถามก่อนเข้ารอบของพี่ปุ๋ย(เขาเล่ามา)

ถามว่า...

ถ้าคุณเจอพระเจ้า แล้วให้คุณถามคำถามกับพระเจ้า

คุณจะถามอะไรกับพระเจ้า???

คำตอบพี่ปุ๋ย

"ฉันจะถามพระเจ้าว่า "ทำไมต้องมีคนสวย คนไม่สวย คนหล่อ คนไม่หล่อ ทำไมต้องมีคนรวย คนจน????"

ฟังแล้วโดนมากเลยค่ะ

ขอบคุณสำหรับบันทึกดีดีนะคะ

ขอบคุณค่ะ

น้องกุ้ง

อยู่สิงคโปร์เป็นไงบ้าง

ขอบคุณคุณนัทชา ที่มาเป็นกำลังใจ ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ

สบายดีค่ะพี่เเก้วตอนนี้เริ่มลงตัวเเล้วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท