Maslow's hierarchy of needs กับการเข้าใจมนุษย์


Maslow's hierarchy of needs กับการเข้าใจมนุษย์


ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Maslow%27s_hierarchy_of_needs

Maslow's hierarchy of needs ที่เราร่ำเรียนกัน ท่องกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย (เอาไว้สอบ) มีความหมายที่ลึกซึ้งมาก หากทำความเข้าใจกันดีๆ จะพบว่า มันเป็นสัจธรรมของชีวิต ลองมาพิจารณากันดูนะครับ

ทฤษฎีความต้องการ 5 ขั้นของอับบราฮัม มาสโลว์ ถูกตีพิมพ์ในปี 1943 ในหัวข้อ ทฤษฎีการจูงใจมนุษย์ "A Theory of Human Motivation" กล่าวไว้ว่า มนุษย์ มีความต้องการ 5 ขั้น เมื่อความต้องการในแต่ละขึ้นได้รับการตอบสนองแล้วจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการในลำดับต่อๆ ไป ความต้องการ 5 ขั้นประกอบด้วย

  1. Physiological : เป็นความต้องการพื้นฐานทางด้านร่างกาย คือ ต้องการปัจจัย 4 ต้องการดำรงชีวิตอยู่ ต้องการสิ่งของ ทรัพย์สิน เงินทอง
  2. Safety : ต้องการความปลอดภัย ต่อร่างกาย ต่อ ทรัพย์สิน ที่ได้มาตามข้อ 1
  3. Love/belonging : มนุษย์อยู่โดยลำพังไม่ได้ จึงต้องการความรัก สังคม การพบปะพูดคุยกัน
  4. Esteem : เมื่ออยู่ในสังคมยอมเกิดการแข่งขัน การชิงดีชิงเด่น มนุษย์ย่อมต้องการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น ทั้งจากเพื่อนร่วมงาน คนรัก ครอบครัว
  5. Self-Actualization : การรู้จักตัวตนที่แท้จริงของตนเอง และ การยอมรับนับถือตนเอง

ถ้านำทั้ง 5 ข้อมาร้อยเรียงด้วยหลักและเหตุผล จะกล่าวได้ว่า เมื่อมนุษย์เกิดมา มีแต่ร่างกาย เช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ ย่อมมีความต้องการเพียงแค่ทำอย่างไรให้ตัวเองอิ่ม และดำรงชีวิตอยู่ได้ (ข้อ1) นอกจากนี้ยังต้องการให้ตัวเองปลอดภัยจากภัยต่าง ๆ (ข้อ2) จึงพยายามสร้างให้ร่างกายปลอดภัย โดยการใส่เสื้อผ้า ใส่รองเท้า เมื่อตัวเองสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย ก็ต้องการสร้างความมั่นใจว่า สิ่งมีชีวิตแบบเดียวกับเรา จะไม่ทำร้ายเรา โดยการสร้างมิตร โดยการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน เกิดเป็นความต้องการทางสังคม (ข้อ3) เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันมากขึ้น เกิดการแย่งชิง เอารัดเอาเปรียบ เกิดการแข่งขันทำให้เกิดความต้องการในการพัฒนาตนเองเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ (ข้อ4) แต่เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งของชีวิต ทุกคนจะประจักษ์ถึงสัจธรรมแห่งชีวิต นั่นคือ สังขาร(การปรุงแต่ง) นั้นไม่เที่ยง ก็จะเกิดความต้องการในการที่จะอยู่กับความชอบของแต่ละคน (ข้อ5) บางคนชอบกล้วยไม้ บางคนชอบความเงียบสงบ แต่จะให้ความสำคัญกับคนอื่นน้อยลง

ลองมาดูตัวอย่างการทำความเข้าใจกับความต้องการขอมมนุษย์ ผ่านทฤษฎีของ Maslow อีกสักตัวอย่าง (เป็นข้อๆ) ดังนี้

  • อยากได้รถ..... ถือเป็นความต้องการพื้นฐาน
  • เมื่อได้รถแล้ว ก็ไม่อยากให้รถหาย ไม่อยากให้รถเป็นรอยหรือเสียหาย ก็ไปติดสัญญาณกันขโมย หรือ ทำประกันอุบัติเหตุ
  • ได้รถแล้ว ติดกันขโมยเรียบร้อย ก็ต้องโชว์กันหน่อย ..... คงไม่มึใครซื้อรถมาเก็บไว้ในบ้าน หรือ ไม่ยอมให้เพื่อนนั่งเลยใช่ไหมครับ บางรายก็เอาไปเปรียบเทียบกับเพื่อนคนอื่น ที่ซื้อรถมาก่อนหรือหลังเรา เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน
  • เฮ้ยไม่ได้แล้ว คันนั้นไปติดล้อแมกใหม่ .... อีกคันไปแต่งเครื่องมา ยอมไม่ได้ ก็ต้องทำบ้างเพื่อให้เกิดการยอมรับ (เด๋วสาวไม่สนใจ อิอิ)
  • แต่พอแต่งรถไปสักพัก ก็จะพบว่า แต่งเท่าไรก็ไม่จบ ก็จะกลับไปค้นพบว่า รถก็คือรถ แค่บำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ดี ปลอดภัย ก็ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปแต่งอะไรให้ล่อตาขโมย (ค้นพบสัจธรรม อิอิ)

อีกสักตัวอย่าง เกี่ยวกับการเลือกซื้อคอมพิวเตอร์

  • ตอนแรกอยากได้คอมพิวเตอร์ ที่ร้านก็ถามว่า อยากได้สเปคแบบไหน 80% จะตอบว่าใช้งานทั่วไป ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเน็ต พิมพ์งาน คือ ขอให้มีเครื่องคอมพิวเตอร์ใช้ก่อนแหละ (ขอให้ถูกตังไว้ก่อนด้วย)
  • พอได้เครื่องคอมพ์มาใหม่ ก็เห่อ ไม่อยากให้เป็นรอย เลย คลุมผ้าทุกวัน เช็ดถู อย่างดี ลงโปรแกรม Anti Virus รักษาอย่างดี ไม่อยากให้มันเสียหาย บางคนซื้อประกันอุบัติเหตุไว้ด้วยซ้ำ
  • เล่นโปรแกรมโน้น โปรแกรมนี้ เล่นไปคุยกับเพื่อนไป แลกเปลี่ยนกันไปมา
  • ทำไมเพื่อนเล่นโปรแกรมนั้นได้ ทำไมเราเล่นไม่ได้ล่ะ ต้องอัพเกรดให้เท่า หรือดีกว่าเพื่อน ไม่งั้นตกเทรน (เดี๋ยวเพื่อนไม่คบ)
  • สุดท้ายทุกคนก็ต้องยอมรับว่า "คนที่วิ่งตามเทคโนโลยี จะตามหลังเทคโนโลยีตลอดไป" คนที่ยอมรับเทคโนโลยีแล้วตั้งใจหาประโยชน์จากเทคโนโลยี ถึงจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างแท้จริง"

หรือ แม้กระทั่งเรื่องการเรียน

  • เด็กทุกคนอยากเข้าโรงเรียน เพื่อให้ได้ความรู้
  • ต้องการความมั่นใจว่า จะได้เรียนจบครบหลักสูตร
  • ระหว่างเรียนเกิดสังคมการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อน กับครู
  • เกิดการแข่งขัน และแย่งชิง กันทุกวิถีทางที่จะเข้าเรียนต่อในโรงเรียนดี ๆ
  • แต่พอจบออกมา ทุกคนก็ต้องยอมรับว่า เส้นสายไม่ดี ต่อให้เรียนดีแค่ไหน ก็เสมอกัน

บทสรุปแห่งทฤษฎีนี้คือ การยอมรับตัวตน การยอมรับสิ่งที่เรามีอยู่ เราเป็นอยู่ แล้วอยู่กับมันอย่างมีคุณภาพ ไม่ต้องแสวงหาในสิ่งที่เกินตัว แต่ไม่หยุดนิ่งรอโชคชะตา

ถามว่า "เราก็สอนให้เด็กยอมรับตัวตนตั้งแต่แรกเลยจะได้ไหม ... คือให้เข้าใจ ข้อที่ 5 เลยไม่ต้องสนใจข้ออื่น"

คำตอบคือ "มาสโลว์ กล่าวว่า ความต้องการแต่ละขึ้นจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ความต้องการขั้นก่อนหน้าได้รับการตอบสนองแล้ว" นั่นคือ อยู่ที่ใจเราครับ ถ้าเราทำใจให้ยอมรับได้ตั้งแต่แรกว่า รถก็คือรถ หรือ ยอมรับว่าเราจะซื้อคอมพิวเตอร์เพื่ออะไร หรือ เราจะเรียนเพื่อเป็นอะไร ตั้งแต่แรก แล้วมุ่งมั่นโดยไม่ใส่ใจกับ กิเลศ รอบข้าง ก็ทำได้ครับ แต่จะมีกี่คนที่ทำได้

หนึ่งในนั้นคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ของพวกเรานี่แหละ ท่านได้นำ ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงมาสู่ผสกนิกรชาวไทย และท่านทรงเป็นแบบอย่างที่ดีตลอดมา ทุกปี ในวันปีใหม่ พระองค์ทรงพระราชทาน ส.ค.ส. ที่เรียบง่าย แต่แฝงไว้ด้วยคติ ความคิด ข้อเตือนใจสำหรับคนไทยตลอดมา ผมเชื่อว่า พระองค์ทรงคอมพิวเตอร์ธรรมดา ไม่ได้เป็นเครื่องที่พิเศษมาจากไหน หรือ ไม่ได้ดีกว่าเครื่องใดๆ ในโลก พระราชยานพาหนะ ก็สุดธรรมดา พระองค์ทรงเป็นที่สุดของชาวไทยและขาวโลกจริง ๆ ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ....

หมายเลขบันทึก: 372205เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2010 14:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เขียนได้ดีมากๆๆนะครับ ^^

ขอบคุณนะคะ เข้าใจขึ้นเยอะเลย หวังว่าพรุ่งนี้จะสอบได้นะ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท