มหาวีโร
พระมหาสมชาย มหาวีโร มหาวีโร

จะเลือกถือพราหมณ์ในนามพุทธหรือว่าจะก้าวไปให้ถึงพุทธไม่หยุดแค่พรหม


ฐานความคิดของคนในสังคมไทยตั้งอยู่บนฐานของความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ในนามพุทธ เพราะคนส่วนมากยังเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ และเมื่อสมาทานความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์ก็ย่อมที่จะรอหวังผลดลบันดาลจากสิ่งลึกลับหรืออำนาจเร้นลับต่างๆ เหตุผลที่คนในสังคมยังติดอยู่ในแหหรือตาข่ายแห่งความคิดทางไสยศาสตร์เพราะผู้คนยังอ่อนแอในด้านความรู้รวมทั้งขาดการพัฒนาปัญญา อีกปัจจัยหนึ่งเกิดมาจากผู้คนในสังคมไม่ยอมเปิดประตูความคิดรับวัฒนธรรมแห่งการตื่นรู้ เปรียบเสมือนกับการปลูกดอกกุหลาบบนปูนซีเมนต์ ถึงแม้ว่าจะได้รับการดูแลรักษา รดน้ำ เป็นอย่างดี ดอกกุหลาบก็ไม่สามารถเจริญงอกงามได้ ฉันใด ก็ฉันนั้น ผู้คนในสังคมเมื่อไม่ยอมเปิดประตูรับการเรียนรู้โดยอาศัยสติปัญญาถึงแม้ว่ามีคนเอาความรู้โหลดลงในสมอง (Brain) ของเราก็ตาม เราก็ไม่เปิดประตูใจรับมัน

 

ความหมายของพุทธศาสตร์และไสยศาสตร์ 

พุทธศาสตร์ หมายถึง วิชาความรู้ของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน  ซึ่งเป็นหลักของเหตุและผล สามารถพิสูจน์ได้ตามหลักวิทยาศาสตร์

ไสยศาสตร์ หมายถึง ศาสตร์ที่ไม่สามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ เป็นเรื่องที่แปลก พิสดาร

ไสยศาสตร์ เกิดขึ้น 3 ประการคือ

1.เกิดจากศาสนาบางศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์

2. เกิดจากวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ

3.เกิดจากความเชื่อส่วนตัว เช่น บางคนเชื่อว่า ใส่เสื้อสีแดงจะทำให้คนทำมาค้าขายคล่องแคล่ว ไม่ติดขัด หรือเห็นจิ้งจกตกลงมาตาย จะทำให้เกิดอาเพศเหตุร้าย เป็นต้น

             พุทธศาสนาและไสยศาสตร์มีความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะพุทธศาสนาสอนให้คนใช้ปัญญา สอนให้คนใช้เหตุและผลตามหลักธรรมชาติ ธรรมมะก็คือธรรมชาติ ถามว่าพุทธศาสนาสอนให้คนเชื่อไสยศาสตร์หรือไม่ อย่างไร พุทธศาสนาไม่สอนให้คนเชื่อในสิ่งที่งมงาย หาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ สอนให้เชื่อตามเหตุและปัจจัยตามหลักปฏิจจสมุปบาท ไสยศาสตร์สามารถเป็นที่พึ่งทางใจได้ก็จริง แต่เป็นที่พึ่งได้เพียงแค่ระดับหนึ่งไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้ถาวรเหมือนกับพระพุทธศาสนา เพราะหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนาถ้าหากผู้ปฎิบัติรู้แจ้งแทงตลอดไปตามลำดับ แผ่นดินหัวใจก็จะมีผู้เช่าคือความสุขมาเป็นเจ้าของ แทนที่จะปล่อยให้ชีวิตนั้นมีความสุขบ้าง ความทุกข์บ้างมาอาศัยอยู่ ถ้าหากว่าเราสามารถปฏิบัติได้แท้จริงตามหลักพระพุทธศาสนาก็จะเกิดความสุขอย่างถาวร หรือที่เรียกว่า “พระนิพพาน”

เรื่องอัศจรรย์ในพุทธประวัติคือไสยศาสตร์หรือไม่?

        หลายคนอาจจะเคยอ่านชีวประวัติของพุทธเจ้าหรือเคยศึกษาพระไตรปิฎกจะพบความอัศจรรย์ต่างๆซึ่งเป็นเรื่องลึกลับ อัศจรรย์ อย่างเป็นปาฎิหารย์ ตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้าไปปราบชฎิลซึ่งเป็นจอมปาฎิหารย์ พระพุทธเจ้าได้ไปพักอาศัยอยู่ในโรงชฎิลที่พวกชฎิลรองรับไว้ ในโรงชฎิลนั้นมีพญานาคคอยพ่นไฟอยู่ พุทธเจ้าก็ใช้ปาฎิหารย์ปราบ รุ่งเช้ามา พญานาคก็ไปนอนขดอยู่ในบาตรของพระพุทธเจ้า เหตุการณ์เป็นเรื่องน่าพิศวงอย่างมากแก่ผู้อ่านและหลายคนอาจจะหาเหตุผลมาอธิบาย เมื่อหาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นไสยศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม คำตอบก็คือว่า ถ้าท่านอยากจะมีอิทธิปาฎิหารย์ มีตาทิพย์ หูทิพย์ ดักใจคน รู้ใจคน ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคของพระพุทธโฆษาจารย์ และในพระสูตรบางพระสูตร ได้เขียนไว้ว่า ใครอยากมีปาฎิหารย์ให้เพิ่มพลังจิต  ฝึกจิตให้ได้ฌาน สมาบัติ ได้รูปฌานถึงจตุตถฌานแล้วก็น้อมไปเพื่อกายทิพย์ หูทิพย์ ก็จะเกิดอำนาจเร้นลับ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆอย่างเป็นปาฎิหารย์  ท่านกล่าวไว้ว่า ไม่ใช่เรื่องลักลับ ท่านทำได้ ก็จะเห็นเอง ทำไม่ได้ก็แสดงว่าทำไม่ได้ ไม่ใช่ไสยศาสตร์อีกต่อไป แต่สิ่งที่พุทธศาสนาสอนแปลกออกไปอีกก็คือว่า ถึงจะสามารถหาเหตุผลมาอธิบายได้ แต่พุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญ ไม่ได้ทรงยกย่อง เพราะว่าอะไร เหตุผลก็คือว่า แม้ท่านจะมีปาฎิหารย์ แสดงฤทธิเดชได้ แต่ท่านยังไม่หมดทุกข์ ไม่ดับทุกข์  กิเลสยังขุ่นข้องหมองมัวอยู่ในใจ อยู่

ปาฎิหาริย์ในพระพุทธศาสนา

ในศาสนาพุทธมีปาฏิหาริย์ 3 ประเภท

1. อิทธิปาฏิหาริย์ คือการแสดงฤทธิ์

2.อาเทศนาปาฏิหาริย์ คือความสามารถในการทายใจบุคคลอื่น

3.อนุศาสนีปาฏิหาริย์ คือการสอนธรรมอย่างน่าอัศจรรย์

         ปาฎิหาริย์ทั้งสามอย่างนี้ พุทธเจ้าทรงรับรองว่ามีก็จริง แต่หาได้สรรเสริญเยินยอในปาฎิหาริยสองประเภทข้างต้นไม่ เช่นใน เกวัฏฏสูตร ทรงสรรเสริญอนุศาสนีปาฏิหาริย์ เพื่อชี้แจงให้ชายหนุ่มผู้ปรารถนาดี ซึ่งมาขอให้ทรงส่งพระสาวก ผู้เชี่ยวชาญทางฤทธิ์ไปสั่งสอนเพื่อดึงดูดให้มานับถือพระพุทธศาสนา ทรงชี้แจงว่าการสั่งสอนได้เป็นอัศจรรย์ สำคัญมากกว่าแสดงฤทธิ์ (อิทธิปาฏิหาริย์) เพราะคำสั่งสอนที่มีเหตุผล จะนำให้ประพฤติปฏิบัติได้เข้าถึงธรรมะ อีกอย่างหนึ่งถ้าไปเน้นเรื่องฤทธิ์ และการดักใจทายใจเป็นสำคัญ อาจจะมีผู้หลอกลวงเข้ามาทำความเสื่อมเสียแก่พระพุทธศาสนา มาถึงตรงนี้ก็คงจะสามารถเข้าใจว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงไม่กระต้นหรือว่าให้หันไปเอาดีทางอิทธิปาฎิหารย์ พอจะสรุปได้ว่า

  1. ถ้าเราไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ คนใช้ปาฎิหารย์อย่างน่าอัศจรรย์เขาทำได้อย่างไร  เราก็เชื่อแบบไสยศาสตร์
  2. ถ้าเราเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เราก็ต้องพึ่งท่านอยู่ร่ำไป โดยไม่ขวนขวาย รอแต่หวังผลดลบันดาล รอแต่จะให้ท่านช่วย โดยไม่พึ่งตนเอง ไม่ได้พึ่งมันสมอง สองมือของเราตามหลักพระพุทธศาสนา

แขวนพระต้องแขวนให้เป็นพุทธอย่าแขวนให้เป็นไสยศาสตร์

         ในสังคมไทยปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องของการแขวนพระ หลายคนเข้าใจว่าแขวนพระเพื่อให้ชีวิตรอดปลอดภัย เพื่อให้การงานดี เพื่อรอคอยสิ่งสักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในองค์พระออกมาช่วยเหลือ แต่แท้ที่จริงแล้วเราแขวนเพื่อเป็นสัญลักษณ์แล้วก็ระลึกเป็นนุสติอยู่เสมอว่า “พระช่วยแต่คนที่ช่วยตนเอง พระช่วยแต่คนดี” มีเรื่องกล่าวว่า มีโยมเศรษฐินีคนหนึ่งต้องปัดกวาดเช็ดถูบ้านเอง พยายามจ้างลูกจ้างมาทำงานเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถจ้างได้ หรือรับสมัครลูกจ้างมาแล้ว ลูกจ้างก็ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ก็เลยต้องมาลงมือทำงานบ้านเอง ทีนี้โยมเศรษฐินีคนนั้นก็มานั่งคิด ไตร่ตรองดูว่า เอ้!~ เราก็มีตังค์ มีทุกสิ่ง ที่พอจะไม่ต้องทำอะไรอีกเลยก็ได้ เงินที่มีใช้ในปัจจุบันนี้ทั้งชีวิตก็ไม่น่าจะหมด แต่ทำไมเราต้องมาทำงานเอง ปัดกวาดเช็ดถู เอง รับสมัครคนใช้ คนใช้ก็อยู่ได้ไม่นาน ทีนี้คิดไปคิดมา บังเอิญคิดได้ว่า เมื่อไม่นานมานี้ สามีเราเอาพระอะไรมาไว้ที่ห้องพระไม่รู้ ก็เลยรีบเร่งเดินไปที่ห้องพระ ไปเจอเหรียญของหลวงพ่อตั้งสี่องค์ จับเหรียญหลวงพ่อทั้งสี่ขึ้นมาดู ไปเจอเหรียญ “รุ่นกูทำเอง” ทีนี้โยมผู้หญิงคนนั้นก็คิดว่า อ๋อ ที่เราต้องมาทำงานเอง ก็เพราะเหรียญนี้แน่ๆ ก็เลยเอาไปแจกบ้านใกล้ๆเผื่อเขาจะได้ทำเองบ้าง  เรื่องนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่คนในสังคมไทยเรามองสัญลักษณ์ของพระเครื่องนั้นผิดไป แท้ที่จริงแล้ว โยมเศรษฐินีคนนั้นแทนที่จะคิดว่า ที่เราต้องมาทำเอง ปัดกวาดเช็ดถูด้วยตนเอง เพราะว่าเราไปด่าทอต่อว่าเขา ไม่ให้เงินเดือนแก่เขา หรือมีเหตุปัจจัยอะไรต่างๆที่ทำให้คนใช้คับเคืองใจหรือเปล่า กลับไปโทษเหรียญหลวงพ่อ “รุ่นกูทำเอง”

หลักการเสกคาถาในพระพุทธศาสนา

         การเสกคาถาในทางพระพุทธศาสนา มีคาถาต่างๆที่เรารู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี ตัวอย่างเช่น คาถาหัวใจเศรษฐี คือ อุ, อา, กะ,สะ คาถาเรียนเก่ง คือ สุ,จิ, ปุ, ลิ เป็นต้น ซึ่งหลายคนเอาคาถาพุทธศาสนาไปเสก แต่กลับเอาไปเสกอย่างไสยศาสตร์ เสกอย่างไสยศาสตร์ ก็คือเสกอย่างเดียว ไม่รู้จักความหมายของคาถา และไม่ทำตามความหมายของคาถานั้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่า เราเสกคาถาหัวใจเศรษฐี คือ อุ,อา,กะ,สะ สมมุติว่าคนเสกแล้วไม่ทำอะไรเลย ปรากฏว่า รวยเป็นเศรษฐี แบบนี้เรียกว่า เสกแบบไสยศาสตร์ แต่ทว่า เราเสกแบบพุทธคือเสกไปด้วย ทำตามความหมายของคาถานั้นไปด้วย แบบนี้เรียกว่า เสกแบบพุทธ การเสกแบบพุทธ มีนักปราชญ์ราชบัณฑิต กล่าวไว้ว่า

    เมื่อเข้าป่าเสกคาถากันช้างไล่

ขึ้นต้นไม้อีกด้วยช่วยคาถา

เห็นน้ำแกงลดรสโอชา

เติมน้ำปลาอีกด้วยช่วยน้ำแกง

             นี้คือวิธีเสกแบบพุทธ ทั้งพระเครื่อง ทั้งคาถาต่างๆของพระพุทธศาสนา ถ้าหากว่า เราปัฏิบัตตามหลักที่ถูกต้อง ก็จะเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริง และเราก็จะถือว่าเป็นชาวพุทธที่แท้จริงไม่ได้เป็นชาวพราหมณ์ในนามพุทธแต่อย่างใด

             ไสยศาสตร์กับพุทธศาสตร์มีความแตกต่างกันอย่างมากโดยสิ้นเชิง ไสยศาสตร์สอนให้คนใช้ความเชื่อ แต่พุทธศาสตร์สอนให้คนใช้ปัญญา ไตร่ตรองโดยเหตุและผล ไม่สอนให้คนงมงาย (blind faith) แต่ก็มีคนส่วนมากรู้อย่างนี้แล้ว ก็ยังคงหวังผลดลบันดาลจากอำนาจลึกลับต่างๆ ไม่เพียรพยายามขวนขวายตามหลักแนวพุทธ มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยเข้าไปอ่านในเวปบอร์ดพันทิป มีอยู่กระทู้หนึ่ง ตั้งว่า อยากเปลี่ยนศาสนาเป็นคนไม่มีศาสนา เขาให้เหตุผลว่าเพราะเขาไม่สามารถปัฎิบัติตามวิถีแห่งพุทธได้ เพราะเขายังเชื่อในไสยศาสตร์และยังใช้ไสยศาสตร์พึ่งพิง ผู้เขียนอ่านแล้วก็คิดว่า “ขับรถผิดทาง แทนที่จะเลือกเปลี่ยนเส้นทางให้ถูก กลับไปเลือกที่จะเปลี่ยนชื่อถนน” แล้วคุณล่ะ....จะเลือกเปลี่ยนชื่อถนน หรือขับรถไปในทางที่ถูก?

หมายเลขบันทึก: 371444เขียนเมื่อ 2 กรกฎาคม 2010 11:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท