การยืมภาษา


ภาษาไทยมีการยืมจากภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนเป็นเวลานานแล้ว

การยืมภาษา  

           การยืมเป็นลักษณะของทุกภาษา ไม่ว่าภาษาใดที่ไม่มีภาษาอื่นเข้ามาปะปน เมื่อแต่ละชาติต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กันมาตั้งแต่อดีตกาลจนเกิดการนำคำหรือลักษณะทางภาษาของอีกภาษาเข้าไปใช้ในภาษาของตน

ประเภทของการยืม 

           1. ยืมเนื่องจากวัฒนธรรม กลุ่มที่มีลักษณะทางวัฒนธรรมด้อยกว่าจะรับเอาวัฒนธรรมจากกลุ่มที่มีความเจริญมากกว่า

           2. ยืมเนื่องจากความใกล้ชิด การที่สองกลุ่มใช้ภาษาต่างกันร่วมสังคมเดียวกันหรือมีอาณาเขตใกล้ชิดกัน มีความสัมพันธ์กันในชีวิตประจำวันทำให้เกิดการยืมภาษาซึ่งกันและกัน

           3. ยืมจากคนต่างกลุ่ม การยืมภาษาเดียวกันแต่เป็นภาษาของผู้ใช้ที่อยู่ในสภาพที่ต่างกัน

อิทธิพลของการยืม

           การยืมทำให้ภาษาเกิดการเปลี่ยนแปลงมากมาย มีอิทธพลต่อวงศัพท์ซึ่งการยืมทำให้จำนวนศัพท์ในภาษามีการเพิ่มพูน เกิดวาระการใช้ศัพท์ต่างๆ กันเป็นคำไวพจน์ คือ คำที่มีความหมายเดียวกัน แต่เราเลือกใช้ตามโอกาสและตามความเหมาะสมทั้งยังมีประโยชน์ในการแต่งบทร้องกรองเพราะมีหลากคำ

ประวัติศาสตร์การยืมของประเทศไทย

           ภาษาไทยมีการยืมจากภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนเป็นเวลานานแล้ว แม้ในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงเมื่อปี พ.ศ. 1826 ก็ยังปรากฏคำยืมมาจากภาษาบาลีสันสกฤต และเขมรเข้ามาปะปนมากมายประเทศไทยมีการติดต่อกับต่างชาติมาช้านานย่อมทำให้มีภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก เช่น เขมร จีน ชวา มลายู ญวน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย โปรตุเกส ฝรั่งเศส พม่า มอญ อังกฤษ

สาเหตุการยืมของภาษาไทย

           1. ความสัมพันธ์ทางถิ่นฐาน การมีอาณาเขตติดต่อหรือใกล้เคียงกันกับมิตรประเทศ

           2. ความสัมพันธ์ทางการค้า การติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างประเทศ

           3. ความสัมพันธ์ทางศาสนาและวัฒนธรรม การเผยแพร่ ศิลปะ วรรณคดี ของต่างประเทศสู่ประเทศไทย

           4. การศึกษาและการกีฬา การที่นักเรียนไทยไปศึกษาที่ต่างประเทศทำให้รับวิชาความรู้ และวิทยาการมากมาย

           5. ความสัมพันธ์ทางการทูต การเจริญสัมพันธไมตรีซึ่งกันและกัน ระหว่างไทยกับต่างประเทศ

       สาเหตุที่ทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย  ไดแก่  สภาพทางภูมิศาสตร์  คือการมีอาณาเขตใกล้เคียงกัน  ทำให้มีการติดต่อสื่อสารกัน โดยการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ การติดต่อค้าขายระหว่างกัน และการรับเอาวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ และความคิดความเชื่อทางศาสนา จึงมีการยืมคำในภาษาต่าง ๆ  มาใช้มากมาย เช่น  ภาษาเขมร จีน พม่า ชวา มลายู อังกฤษ เป็นต้น

คำยืมจากภาษาเขมร    ไทยกับเขมรมีความสัมพันธ์กันมานับพันปี ต่างถ่ายทอดวัฒนธรรมและอารยธรรมซึ่งกันและกัน ในสมัยโบราณ  ไทยรับเอา “อักษรขอมบรรจงและขอมหวัด” มาใช้ ไทยถือว่าศักดิ์สิทธิ์ จึงมักบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนาลงบนแผ่นหิน ใบลาน ใช้ตัวอักษรขอมเขียนคาถาอาคมต่าง ๆ ปรากฏตามพระพิมพ์ เหรียญพระเครื่อง  ตะกรุด  ผ้ายันต์ต่าง ๆ 

 

คำยืมจากภาษาจีน   ไทยกับจีนมีความสัมพันธ์กันทางการทูตและการค้าขายมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชาวไทยมาทำมาหากินในประเทศไทย  แต่งงานกับคนไทยจนกลายเป็นพลเมืองไทย เชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก  มีการผสมทางด้านวัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ตลอดมา  คำยืมในภาษาจีนส่วนใหญ่เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว   มักเป็นคำเรียกสิ่งของเครื่องใช้ อาหาร พืช ผัก ผลไม้ รวมทั้งคำที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมจีน ไทยนิยมนำคำจากภาษาจีนมาใช้ในภาษาพูด ไม่นิยมใช้ในภาษาเขียน

คำยืมจากภาษาอังกฤษ  คนในโลกยอมรับภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางและนิยมใช้กันมากที่สุด ไทยเริ่มติดต่อกับชาติตะวันตกที่พูดภาษาอังกฤษมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาโดยทางการค้า เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕ ในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีทูตจากประเทศทางตะวันตกมาเจรจาเรื่องการค้ากับรัฐบาลไทย  พ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ  Hunter เข้ามาค้าขายเป็นคนแรกในกรุงเทพฯ   ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เริ่มมีคณะทูตสอนศาสนาเข้ามา และได้นำวิทยาการใหม่ ๆ เช่น  การพิมพ์ การแพทย์ เข้ามาเผยแพร่  คำภาษาอังกฤษจึงเริ่มปรากฏในเอกสารภาษาไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ มากมาย  เช่น ชื่อชนชาติ ชื่อบุคคล ชื่อยศ, บรรดาศักดิ์ ชื่อประเทศ ชื่อเมือง ชื่อศาสนา เป็นต้น   ในสมัยรัชกาลที่ ๔ มีคำยืมภาษาอังกฤษปรากฏมากขึ้นในเอกสารประเภทจดหมายเหตุ พระราชหัตถเลขา  พงศาวดาร และคำสามัญ  คำเรียกเครื่องมือเครื่องใช้ เรียกทะเลมหาสมุทรก็มากขึ้นด้วย    สมัยรัชกาลที่ ๕ ภาษาอังกฤษขยายวงกว้างออกไปสู่ประชาชน เพราะมีโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษและวิชาการต่าง ๆ มีศัพท์ทางวิทยาศาสตร์ พฤกษศาตร์ สัตวศาสตร์เกิดขึ้นมากมาย  หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒  คำยืมภาษาอังกฤษหลั่งไหลเข้ามาในภาไทยอย่างกว้างขวาง  เพราะมีนักเรียนไทยไปเรียนศึกษาในประเทศแถบยุโรป และอเมริกา การเดินทางระหว่างประเทศ  การสื่อสาร การติดต่อค้าขาย และการขยายตัวของอุตสาหกรรมการค้าในโลก  ตลอดทั้งการรับเอาวัฒนธรรมตะวันตกด้านต่าง ๆ เช่น ด้านบันเทิง กีฬา  แฟชั่น การแต่งกาย เป็นไปอย่างรวดเร็ว ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ภาษาอังกฤษเข้ามามีอิทธิพลต่อภาษาไทยเป็นอย่างมาก  เรานำมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น เรามีคำยืมภาษาอังกฤษทุกรูปแบบ  ทั้งคำทับศัพท์  คำแปลศัพท์ และศัพท์บัญญัติ  การยืมคำภาษอังกฤษมาใช้ในภาษาไทยช่วยเปิดและขยายโลกทัศน์ด้านวิชาการ  เศรษฐกิจ  เทคโนโลยี และวัตถุนิยมแก่คนไทย ทำให้เกิดค่านิยมใหม่ว่า  “ภาษาอังกฤษเป็นภาษาของผู้มีการศึกษา มีความทันสมัย และอยู่ในสงคมชั้นสูง”

คำยืมจากภาษาชวา – มลายู   ภาษาชวา – มลายู ที่ยืมมาใช้ส่วนใหญ่เป็นคำ ๒ พยางค์หรือมากกว่า ส่วนมากเป็นคำหมายถึงพืช สัตว์ สิ่งของ สถานที่ และศิลปวัฒนธรรม หรือคำกริยาที่มีความหมายเฉพาะ เช่น กระดังงา ทุเรียน มังคุด น้อยหน่า งูกะปะ หอกกะพง ปลากุเลา โลมา ลิงอุรังอุตัง กอและ กริช กำยาน ปาเต๊ะ สลัก ว่าว จับปิ้ง ฆ้อง บุหงารำไป  ประทัด   โสร่ง โกดัง มัสยิด เบตง ภูเก็ต ตะเบ๊ะ

คำยืมจากภาษาโปรตุเกส  ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษาโปรตุเกส ได้แก่คำว่า กระดาษ (สันนิษฐานว่าเพี้ยนมากจาก  “กราตัส”) กะละแม กะละมัง (ขนม)ปัง  ปั้นเหน่ง หลา เหรียญ  บาทหลวง  เลหลัง  สบู่

คำยืมจากภาษาเปอร์เชีย  ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษาเปอร์เชีย เช่น คำว่า กุหลาบ (มาจากคำว่า Gul Gol แปลว่า กุหลาบ,  ดอกไม้ทั่วไปสีแดง  เติม suffix - ab เป็น กุลลาพ  แปลว่า น้ำกุหลาบหรือน้ำดอกไม้เทศ  ไทยนำมาใช้แทนดอกไม้ขนาดย่อม มีกลิ่นหอม  นอกจากนี้ยังมีคำอื่น ๆ  เช่น เกด คาราวาน ชุกชี ตาด เยียรบับ ตรา ตราชู  ฝรั่ง ราชาวดี  ศาลา  สนม  สักหลาด สุหร่าย  องุ่น  

คำยืมจากภาษาอาหรับ  ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษาอาหรับได้แก่  กะลาสี  โกหร่าน (พระคัมภีร์กุรอาน)  ระยำ (การลงโทษโดยใช้ก้อนหินขว้างให้ตายเพราะทำผิดประเพณี  ไทยนำมาใช้ในความหมายว่า  ชั่วช้าเลวทราม)

คำยืมจากภาษาทมิฬ – มลายู ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษาทมิฬได้แก่คำว่า กะไหล่  กุลี  กานพลู  กำมะหยี่ จงกลนี ตรียัมปวาย ปะวะหล่ำ   อาจาด   กะละออม   กะหรี่ (แกงแขกชนิดหนึ่ง)   ตัวอย่างคำที่ยืมมาจากภาษามลายู  ได้แก่คำว่า กว้าน พลาย เพลาะ   ฝาละมี   กำมะลอ   สะบ้า   สมิง   กระแจะ   ตวัก  

อิทธิพลของภาษาต่างประเทศในภาษาไทย

1.   ทำให้คำในภาษาไทยมีหลายพยางค์เนื่องจากการยืมคำภาษาต่างประเทศมาใช้  เช่น ภาษาเขมร เช่น เผด็จ  เสวย  กังวล บำเพ็ญ  ถนน  ภาษาจีน  เช่น  ตะหลิว  ก๋วยเตี๋ยว เล่าเตง เอี้ยมจุ๊น  ภาษาอังกฤษ เช่น  คลินิก สนุกเกอร์  เนกไท  แคชเชียร์  ภาษาบาลี-สันสกฤต    เช่น ปรัชญา  กรีฑา   อัคนี  วิทยา   พร  ประเสริฐ

2.   ทำให้คนไทยมีเสียงควบกล้ำมากขึ้น  เช่น  จันทรา  นิทรา  ทรานซิสเตอร์  เอนทรานซ์  และเพิ่มเสียงควบกล้ำซึ่งไม่มีในภาษาไทย  เช่น  ดรัมเมเยอร์   ดร๊าฟ  เบรก  บรอนซ์  บล็อก ฟรี แฟลช  ฟลอโชว์  ฟลูออรีน

3.    ทำให้คำไทยมีตัวสะกดมากขึ้น ปกติคำไทยแท้ ตัวสะกดจะตรงตามมาตรา ซึ่งมีเพียง  8  แม่  แต่คำยืมจากภาษาต่างประเทศจะสะกดไม่ตรงตามมาตรา  ดังตัวอย่าง  แม่กก เช่น  สุข  เมฆ  เช็ค  สมัคร แม่กด  เช่น  กฎ  รัฐ  กอล์ฟ  ฤทธิ์  พุทธ แม่กน เช่น  เพ็ญ   เพียร  สูญ  บอล   คุณ  กุศล  แม่กบ   เช่น   รูป  โลภ กราฟ  กอล์ฟ  

4.   ทำให้คำในภาษาไทยมีคำศัพท์มากขึ้น สามารถเลือกใช้ได้ตามความเหมาะสม   เช่น น้ำ    -    อุทก  วารี  คงคา  สาคร  ธาร  ชล  ชโลธร    ผู้หญิง   -  นงเยาว์  นงคราญ  อิตถี  สตรี  กัลยา  สุดา  สมร  วนิดา   พระอาทิตย์   - สุริยา  รพี  รวิ  ภากร  ดอกไม้  -    มาลี   บุปผา   บุหงา  โกสุมคำแจกความหมายละเอียดขึ้น  เช่น  อาคาร  คฤหาสน์  ปราสาท  วิมาน  กระท่อม  กระต๊อบ   มีคำแสดงฐานะหรือระดับของบุคคลมากขึ้น  เช่น  ผัว   -   สวามี  สามี  ภราดา       เมีย   -   ภรรยา  ภริยา  ชายา  มเหสีนำภาษาต่างประเทศบางคำไปใช้เป็นคำราชศัพท์   เช่น  เสด็จ  เสวย  โปรดเกล้า ฯ  กระหม่อม

ประมวลคำยืมจากภาษาเขมรที่ใช้บ่อย

กฏ                                                   จดไว้เป็นหลักฐาน; ข้อบังคับ
กรง(กฺรง)                                           สิ่งที่ทำเป็นซี่ๆ สำหรับขังนก เป็นต้น

กรม(กฺรม)                                          ลำดับ, หมวด, หมู่, กอง
  กรรไตร(กันไตร)                                   เครื่องมือสำหรับตัดโดยใช้หนีบ
กรวด(กฺรวด)                                        หลั่งน้ำอุทิศส่วนกุศล
กระ                                                   ชื่อเต่าทะเลหลังเป็นเกร็ดแผ่นโตๆ สีน้ำลายเหลืองปากงุ้ม ขาเป็นพาย
กระฉูด                                               อาการที่ของเหลวพุ่งออกไป
  กระชับ                                                แนบแน่น
กระเชอ                                               ภาชนะสานคล้ายกระจาดขนาดเล็ก
กระเดียด                                             เอาเข้าสะเอว
  กระโดง                                               ใบเรือ 
 กระโถน                                              ภาชนะบ้วนน้ำหรือทิ้งของที่ไม่ต้องภารลงไป
กระทรวง(กระ-ซวง)                                ส่วนราชการเหนือทบวง, กรม
กระท่อม                                              เรือนเล็กทำด้วยไม้หลังคามุงจาก ทำพออยู่ได้
กระบอง                                               ไม้สั้นสำหรับใช้ตีกระบือ  ควาย
กระเพาะ                                               อวัยวะภายในรูปเป็นถุง มีหน้าที่ย่อยอาหาร
 กระแส                                                  น้ำหรือลมที่ไหล-พัดเรื่อยเป็นแนวไม่ขาดสาย
กังวล                                                    มีใจพะวงอยู่
กัน                                                       โกนให้เสมอกัน
 กำจัด                                                    ขับไล่, ปราบปราม
  กำเดา                                                    เลือดที่ออกทางจมูก
 กำธร                                                     สนั่น, หวั่นไหว
 กำแพง                                                  เครื่องกั้น,  เครื่องล้อมที่ก่อด้วยอิฐ
กำลัง                                                     แรง ; สิ่งที่ทำให้เกิดอำนาจความเข้มแข็ง
ขจร(ขะจอน)                                           ฟุ้งไปในอากาศ

 

ประมวลคำยืมจากภาษาจีนที่ใช้บ่อย

ก๊ก                                  พวก, หมู่, เหล่า
กงเต๊ก                             การทำบุญให้ผู้ตายพิธีจีนโดยสวดและเผากระดาษรูปต่างๆ มี บ้าน, รถ, คนใช้
ก๋ง                                  ปู่
กวยจั๊บ                            ชื่อของกินทำด้วยแป้งข้าวเจ้าหั่นเป็นชิ้นใหญ่
ก๋วยเตี๋ยว                          ชื่อของกินทำด้วยแป้งข้าวเจ้าเป็นเส้นๆ
กอเอี๊ยะ                           ขี้ผึ้งปิดแผลชนิดหนึ่งแบบจีน
กะหล่ำ                             ชื่อไม้ล้มลุก มีหลายพันธุ์
กังฟู                                ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวแบบจีนเน้นสมาธิ
กุ๊น                                  ขลิบเย็บหุ้มริมผ้าหรือของอื่นๆ
กุยช่าย                            ชื่อไม้ล้มลุกคล้ายต้นหอม ใบแบน กลิ่นฉุน กินได้
ขิม                                  ชื่อเครื่องดนตรีจีนรูปคล้ายพระจันทร์ครึ่งซีกใช้ตี
ฉำฉา                               ต้นก้ามปู
ซวย                                เคราะห์ร้าย, อับโชค
ซาลาเปา                          ชื่อขนมของจีนทำด้วยแป้งสาลีเป็นลูกกลมมีไส้ข้างในทั้งหวานและเค็ม
ตังเก                                ชื่อเรือต่อใช้จับปลาตามชายฝั่งทะเล มีเสากระโดง มีเก๋ง 2 ชั้น

คำภาษาอังกฤษที่กลายเป็นคำยืมในภาษาไทยมักเกิดการเปลี่ยนแปลงตามระบบเสียงที่แตกต่างกันโดย
           1. การตัดเสียงพยัญชนะต้นคำและท้ายคำ
           2. การเพิ่มเสียง มีทั้งเสียงสระและเสียงพยัญชนะ โดยเฉพาะสระระหว่างพยัญชนะควบ เช่น copy - ก๊อปปี้, meeting - มี้ตติ้ง เพิ่มเสียงพยัญชนะslang - สแลง, screw - สกรู เพิ่มเสียงสระ
           3. การเปลี่ยนแปลงเสียงพยัญชนะทั้งต้นคำและพยัญชนะท้ายคำ เช่น g = k-golf = กอล์ฟ, g หรือ j = y-jam = แยม gypsy = ยิปซี sh = ch-shirt = เชิ้ต, v = w-vote = โหวต เปลี่ยนเสียงพยัญชนะต้นคำ  jazz = แจ๊ส, bugalow = บังกาโล เปลี่ยนเสียงพยัญชนะท้ายคำ

 

 

หมายเลขบันทึก: 371148เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2010 16:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2012 12:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับภาษาทมิฬอย่างละเอียดค่ะ

ถ้าช่วยได้ช่วยหน่อยนะคะ ขอบคุรค่ะ

ภาษาทมิฬ เป็นหนึ่งใน ภาษากลุ่มดราวิเดียน เป็นหนึ่งในภาษาคลาสสิกของโลก วรรณกรรมภาษาทมิฬได้มีมาเป็นเวลา ๒๕๐๐ ปีแล้ว และเป็นภาษาคลาสสิกภาษาแรกที่มีพัฒนาการเขียนแบบเฉพาะสำหรับบทกวี

ภาษาทมิฬ เป็นภาษารูปคำติคต่อ ประกอบด้วยรากศัพท์และหน่วยคำเติมเข้ามาตั้งแต่หนึ่งหน่วยหรือมากกว่า หน่วยคำเติมส่วนมากเป็นปัจจัย มีทั้งปัจจัยแปลงคำซึ่งเปลี่ยนรูปแบบของคำและความหมาย กับปัจจัยผันคำ ซึ่งเป็นการบ่งบอกจำนวน บุคคล รูปแบบของกริยา กาล เป็นต้น ไม่มีข้อกำหนดที่ตายตัวสำหรับความยาวหรือจำนวนของปัจจัยที่เติมทำให้สามารถสร้างคำขนาดยาวที่มีปัจจัยมากมายที่อาจแทนได้ด้วยคำหลายคำหรือเป็นประโยคในภาษาอังกฤษ

อยากได้คำยืมจากภาษาโรตุเกตุค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ภาษาโปรตุเกส (português) เป็นภาษากลุ่มโรมานซ์ที่พูดในประเทศต่าง ๆ เช่น ประเทศโปรตุเกส ประเทศบราซิล ประเทศแองโกลา ประเทศโมซัมบิก และประเทศติมอร์ตะวันออก ภาษาโปรตุเกสมีคนพูดเป็นภาษาแม่มากกว่า 200 ล้านคน ทำให้เป็นหนึ่งในไม่กี่ภาษาที่พูดทั่วโลก และเป็นภาษาที่มีคนพูดเป็นภาษาแม่มากเป็นอันดับ 5 หรือ 6 ของโลก

ตัวอย่างคำยืมภาษาโปรตุเกสในภาษาไทย

คำโปรตุเกส คำแปล

กะละแม ขนมชนิดหนึ่ง

กัมประโด ผู้ซื้อ

กะละมัง ภาชนะใส่ของ

กระจับปิ้ง เครื่องปิดบังอวัยวะเพศ

จับปิ้ง กระจับปิ้ง

บาทหลวง นักบวชในศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาธอลิก

ปัง ขนมชนิดหนึ่ง

เลหลัง ขายทอดตลาด

ปั้นเหน่ง เข็มขัด

สบู่ ครีมฟอกตัว

ปิ่นโต ภาชนะใส่ของ

เหรียญ โลหะกลมแบน

หลา มาตราส่วนความยาว

กระดาษ (มาจาก กราตัส)

ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมได้จากหนังสือคำยืมในภาษาไทย(คำภาษาต่างประเทศในภาษาไทย)นะครับ...

ขอบคุณข้อมูลมากครับ

อยากได้คำที่มาจากภาษาญวนและฮินดี ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

ขอข้อมูลที่เกี่ยวกับ สิ่งของเครื่อง-การศึกษา-ผักผลไม้-ดอกไม้่-ชื่อสถานที่-ยานพาหนะแฟชั่นเครื่องเเต่งกายเเละเทคโนโลยีการสื่อสาร

ค่ะ

พอดีว่าคุณครูให้ทำรายงานเรื่องนี้ก็เลยต้องหาให้ได้เเต่ที่ไหน ๆ ก็ไม่มีก็เลยลำบากยุเนี่ยอ่ะค่ะ

ภาษาชวา-มลายูในภาษาไทย

            ประเทศมาเลเซียซึ่งใช้ภาษาชวา-มลายู  มีอาณาเขตติดต่อกับภาคใต้ของประเทศไทย  มีความสัมพันธ์กันทางด้านประวัติสาสตร์มาเป็นเวลาช้านาน  และติดต่อกันฉันมิตรมากกว่าศัตรู  ประวัติการติดต่อมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  กล่าวคือ  ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเคยขยายอาณาเขตออกไปสุดแหลมมลายู  และจังหวัดในเขตชายแดนภาคใต้ของไทยก็มีคนเชื้อสายมลายูอยู่จำนวนมาก  ซึ่งถือเป็นเหตุอันสำคัญที่ทำให้ไทยรับภาษาของมลายูเข้ามาใช้  ส่วนหนึ่งใช้เฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้  แต่อีกส่วนหนึ่งเป็นคำที่ใช้โดยทั่วไปในภาษาไทยไม่ว่าจะเป็นภูมิภาคใด  การที่ไทยติดต่อกับมลายูนอกจากจะทำให้มีภาษามลายูเข้ามาปะปนในภาษาไทยแล้ว  ยังปรากฏว่ามีภาษาของชนชาติอื่นอีกหลายภาที่เข้ามาปะปนในภาษาไทยโดยผ่านทางมลายู  ได้แก่  ภาษาชวา  ภาษาอาหรับ  ภาษาเปอร์เซีย  โดยเฉพาะภาษาชวาซึ่งอยู่ในตระกูลเดียวกับภาษามลายู  คำภาษาชวาส่วนใหญ่จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยเนื่องจากไทยรับเอาวรรณคดีเรื่องอิเหนา  และใช้คำภาษาชวาจำนวนมากในวรรณคดีเรื่องนี้  (รื่นฤทัย  สัจจพันธ์  2524 : 175-177)

ลักษณะของภาษาชวา-มลายู

            ภาษาชวา-มลายู  เป็นภาษาที่จัดอยู่ในตระกูลมาลาโยโพเนเซียน  หรือ  ออสโตรเนเซียน    มีลักษณะเป็นภาษาคำติดต่อ  แต่การติดต่อคำมีลักษณะที่ไม่ซับซ้อนมากนัก  การสร้างคำใหม่จะเอาพยางค์มาต่อเติมให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม  การเติมหน่วยคำมี  2  ลักษณะคือ  การเติมหน้า  และเติมหลังแต่ไม่มีการเติมกลางเหมือนในภาษาเขมรคำในภาษามลายูส่วนมากเป็นคำสองพยางค์  ส่วนคำพยางค์เดียวหรือคำหลายพยางค์ก็มีบ้างแต่มักเป็นคำที่รับมาจากภาษาอื่น  ซึ่งภาษามลายูก็มีภาษาอื่นมาปะปนเช่นเดียวกันเพราะมลายูมีการติดต่อเกี่ยวกับการค้าขายและการเมืองกับชาติอื่นๆ  จึงรับเอาภาษาและวัฒนธรรมของชาติอื่นเข้ามา  ภาษาที่เข้ามาปะปนอยู่ในภาษามลายูได้แก่  ภาษาบาลีและสันสกฤต  ภาษาทมิฬ  ภาษาอากรับ  ภาษาเปอร์เซีย  ภาษาจีน  ภาษาไทย  ภาโปรตุเกส  ภาษาฮอลันดา  ภาษาอังกฤษ  และภาษาญี่ปุ่น  เป็นต้น (วิจิตรา  แสงพลสิทธิ์  2524 : 41)  

ลักษณะการยืมคำภาษาชวา – มลายูมาใช้ในภาษาไทย

            คำภาษาชวา – มลายูก็เช่นเดียวกับคำภาษาอื่นๆ เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงในทางเสียง ความหมาย ตัวสะกด เพราะคนไทยถือเอาความสะดวกแก่ลิ้น คือการออกเสียงและความไพเราะหูเป็นประมาณ จึงทำให้ไม่สามารถสืบสาวไปถึงคำเดิมได้ เพียงแต่ใช้วิธีการสันนิษฐานอาจถูกต้องตามความเป็นจริง อาจใกล้เคียง หรืออาจผิดไปเลยก็ได้ คำบางคำอาจกร่อนเสียง เสียงเพี้ยนไปจนไม่อาจหาความหมายได้ก็มี (ประสิทธิ์ ธ.บุญปถัมภ์, 2526 : 59) อย่างไรก็ตามจากการรวบรวมคำที่สันนิษฐานว่าไทยรับมาจากภาษาชวา – มลายูนั้น พบว่ามีทั้งที่ยังคงเสียงและความหมายของคำตามภาษาเดิม และมีที่เปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติของการหยิบยืมภาษา และการเปลี่ยนแปลงนั้นในคำเดียวอาจจะเปลี่ยนแปลงหลายประการ 

ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ http://www.baanjomyut.com/library/2552/javanese_malaysia/index.html

อยากได้คำที่มาจากภาษาฝรั่งเศสค้าบบบ

ขอคำโปรตุเกสที่นอกจากคำที่คุณให้นิสราได้ไม

ค่ะ  ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท