แผงหนังตะลุงแบบโบราณ


ภูมิปัญญางานหัตถกรรมด้านจักสานในการทำแผงหนังตะลุงแบบโบราณ ตามแบบของช่างขัด หมวดเอียด ซึ่งนับวันหายากเต็มทีโดยเฉพาะช่างภูมิปัญญาเหล่านี้มีเหลือน้อยเพราะขาดคนสนใจที่จะสืบสาน และให้การสนับสนุน งานภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและของชาติไทย

การทำแผงหนังตะลุงแบบโบราณ

          แผงหนังตะลุง เป็นแผงสานทำด้วยไม้ไผ่สีสุกใช้สำหรับเก็บรูปหนังตะลุงเพื่อไม่ให้รูปหนัง หัก พับ ยับ เสียหาย เวลาใช้แสดงหรือเล่น หรือที่ภาษาสมัยใหม่เรียกว่าบรรจุภัณฑ์(Package) ทำด้วยไม้ไผ่สีสุกสานเป็นลวดลายต่างๆที่สวยงาม เช่น ลายลูกแก้ว ลายดาวล้อมเดือน ลายสาม ฯลฯ หนังตะลุงคณะต่างๆจะสร้างแผงหนังสำหรับเก็บรูปหนังแผงละเรื่อง บางคณะมีการตัดรูปหนังเพื่อการแสดงของคณะหลายชุดจึงมีแผงหนังหลายแผงสำหรับเก็บรูปหนังตะลุง ปัจจุบันแผงเก็บหนังตะลุงโดยทั่วไปจะเป็นแผงไม้หรือแผงเหล็ก ส่วนแผงหนังตะลุงแบบโบราณ หาคนที่ทำเป็นหรือช่างที่มีฝีมือในการทำยากมาก

          ช่างขัด  หมวดเอียด อายุ ๗๗ ปี อยู่ที่บ้านหน้าควนหินแท่น ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถในงานหัตถกรรมด้านจักสานของใช้ต่างๆ เช่น กระด้ง กระดัง กะชะ เจ้ย และแผงหนังตะลุงแบบโบราณ โดยเฉพาะแผงหนังตะลุงทำมานานกว่า ๕๐ ปี มีนายหนังคณะต่างๆมาสั่งไปใช้กว่า ๖๐ คณะ บางคณะติดใจในฝีมือ ลวดลายที่ประณีตและสวยงามตามแบบฉบับโบราณ และหาช่างทำแบบนี้ได้ยาก เสียดายจึงสั่งแผงเก็บเอาไว้ใช้คณะละ ๔-๕ แผง

ช่างขัด แรกๆทำงานจักสานด้วยใจรักเพราะไม่ได้เรียนหนังสืออย่างกับคนอื่นเขา เรียนหนังสือที่ในวัดควนโส ตำบลควนโส อำเภอรัตตภูมิ(เดิม) พออ่านออกเขียนได้ พออายุได้ ๑๐ กว่าขวบ พ่ออพยพย้ายครอบครัวมาอยู่ที่อยู่ปัจจุบัน คือบ้านหน้าควนหินแท่น ไม่ได้เรียนหนังสือ ก็ช่วยพ่อแม่ทำนาเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ใช้เวลาว่างหัดงานจักสาน ตามที่ได้เห็นผู้หลักผู้ใหญ่เขาทำแบบครูพักลักจำ จนทำของใช้ต่างๆได้ เช่น กระดัง กะชะ เจ้ย ตั้งแต่อายุประมาณ ๑๗-๑๘ ปี ต่อมาเห็นแผงหนังตะลุงของคณะหนังต่างๆที่มีลวดลายสวยงามเกิดความสนใจชอบใจจึงลองมาหัดทำและก็ทำได้ดี มีนายหนังเห็นแล้วติดใจในฝีมือสั่งทำ และทำเป็นอาชีพมาจนกระทั่งบัดนี้

วัสดุที่ใช้ในการทำแผงหนังตะลุงแบบโบราณของช่างขัด ใช้วัสดุที่มีอยู่และหาได้ในท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่ เช่น

ไม้ไผ่สีสุก เลือกใช้ลำที่มีขนาดลำปล้องตรงยาว และแก่จัด จำนวน ๓ ลำ โดยเลือกคัดเอาเฉพาะส่วนกลางของลำ นำมาจักเป็นตอกแบนความยาวเส้นตอกประมาณ ๑ เมตร จักเป็นตอกเสร็จนำไปแช่น้ำประมาณ ๑ เดือนเพื่อป้องกันการเป็นมอด ตอกที่ใช้ ทำเป็น ๒ สี คือสีขาว และสีดำ เพื่อความสะดวกและความสวยงามในการจักสานตอกสีดำย้อมโดยการนำไปแช่หมักในน้ำใบกุระ หรือสมอทะเล (พืชพื้นถิ่น ซึ่งเป็น ไม้ต้นขนาดกลาง ชอบขึ้นตามที่ลุ่มน้ำขังและริมคลองน้ำกร่อย ทุกส่วนมียางขาว ผลกลมเมื่อแก่จัดจะแยกออกเป็น ๓ ซีก)

หวาย เป็นหวายเส้นเล็กหรือหวายหิน ใช้ในการถักผูกมัดไม้ไผ่คาดทับแผงภายนอกเพื่อความแข็งแรง การถักหวายจะถักเป็นลายสองทับกัน ๓ ชั้นเพื่อความสวยงามและแข็งแรงของแผงหนังหวายที่ใช้ประมาณ ๑.๕ กิโลกรัมต่อแผง

หนังบางคณะไม่ชอบแผงรูปหนังที่มีสีสันเป็นธรรมชาติก็จะใช้สีน้ำมันทาตามดอกลวดลาย ส่วนใหญ่จะใช้สี ขาว แดง น้ำเงินหรือเขียว ทาสลับตามลวดลายตอกบนแผงหนัง แล้วจึงทาทับด้วย

ชะแลค หรือแลคเคอร์อีกครั้งหนึ่ง และที่มุมของแผงหนังแบบโบราณนิยมใช้กระจกเงาแผ่นเล็กๆประดับเพื่อความสวยงามทั้ง ๔ มุม

การทำแผงรูปหนังตะลุงแบบโบราณของช่างขัดเท่าที่ทำมา ๕๐ กว่าปีได้รับความสนใจและได้รับความนิยมจากนายหนังดังคณะต่างๆทั่วภาคใต้กว่า ๖๐ คณะ อาทิ หนังนครินทร์ ชาทอง สงขลา  หนังณรงค์ ตะลุงบัณฑิต ตรัง หนังเอียดน้อย นครศรีธรรมราช มีทั้งสั่งทำเพื่อใช้และสั่งทำเก็บเอาไว้ด้วยความเสียดายในฝีมือของช่างแบบโบราณอันประณีตที่หาได้ยากยิ่งในยุคนี้

สนนราคาค่าฝีมือของช่างขัด ในการทำแผงหนังตะลุงแบบโบราณ ขณะนี้ แผงขนาดใหญ่ แผงละ ๔,๐๐๐ บาท  แผงขนาดกลางแผงละ ๓,๕๐๐ บาท  และแผงขนาดเล็ก แผงละ ๓,๐๐๐ บาท  ระยะเวลาในการทำแต่ละแผงใช้เวลานับตั้งแต่เริ่มต้น จักเหลาตอก สานลวดลาย ถักหวาย ทาสีตกแต่ง ประมาณ ๒๐ วันหรือ ๓ สัปดาห์ ส่วนที่ใช้เวลามากที่สุดคือการสานถักหวายตามจุดต่างๆ

ท่านที่สนใจภูมิปัญญางานหัตถกรรมด้านจักสานในการทำแผงหนังตะลุงแบบโบราณ ของช่างขัด  หมวดเอียด ซึ่งนับวันหายากเต็มทีโดยเฉพาะช่างภูมิปัญญาเหล่านี้มีเหลือน้อยเพราะขาดคนสนใจที่จะสืบสาน และให้การสนับสนุน งานภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและของชาติไทย  สนใจเชิญแวะชมได้ที่ บ้านหน้าควนหินแท่น ตำบลโคกทราย อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง หรือโทรศัพท์ติดต่อได้ที่ โทรศัพท์มือถือ ๐๘๖-๖๙๕-๕๗๓๐

ครูไพฑูรย์  ศิริรักษ์       หัวหน้าอาศรมภูมิปัญญาศิลปการ วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ

หมายเลขบันทึก: 370676เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2010 09:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท