Cancer is The Major Cause of Death in Life Insurance : มะเร็งเป็นสาเหตุหลัีกของการเสียชีวิตของผู้เอาประกัน


มะเร็ง : สาเหตุหลัีกของการเสียชีวิตของผู้เอาประกัน

Cancer is The Major Cause in Death Indemnity

 

ในธุรกิจประกันชีวิตคือการให้ความคุ้มครองครองแก่ผู้เอาประกัน (Insured) ไว้กับบริษัทผู้รับประกัน (Insurer) เมื่อผู้เอาประกันประสบกับภัยตามที่ระบุไว้ว่าเป็นภัยที่บริษัทให้ความคุ้มครอง หน้าที่ของบริษัทประกันคือการจ่ายสินไหมทดแทน (Claim Payment หรือ Indemnity Payment)ให้กับผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ (Beneficiaries) แล้วแต่กรณี ในการจัดองค์กรของบริษัทประกันชีวิตและประกันภัย จะมีฝ่ายที่ทำหน้าที่ในการประเมิน (Assessment) เพื่อพิจารณาจ่ายสินไหมให้แก่ผู้เอาประกัน หรือผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งเรียกฝ่ายนี้ว่าฝ่ายสินไหมทดแทนหรือฝ่ายสินไหมประกันชีวิต (Claim Department)

ผลประโยชน์ที่จ่ายให้แก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเรียกร้องสินไหม (Cause of Claim) หากการเรียกร้องสินไหมของผู้เอาประกันเข้ากับเงื่อนไขความคุ้มครองของบริษัทผู้รับประกัน ฝ่านสินไหมทดแทนก็จะพิจารณาจ่ายสินไหมทดแทนตามผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งการจ่ายสินไหมทดแทนนั้นจะมี 2 กรณีคือ

กรณีที่ผู้เอาประกันยังมีชีวิตอยู่จะจ่ายเงินสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันโดยตรง สินไหมดังกล่าว ได้แก่ สินไหมที่จ่ายให้จากความคุ้มครองโรคร้ายแรง (Critical Illness) โรคมะเร็ง  (Cancer Benefit) ความคุ้มครองด้านสุขภาพทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน (OPD, IPD) ค่าชดเชยรายวัน (Hospital Benefit) การสูญเสียอวัยวะ (Dismemberment) ทุพลภาพ (Disability Benefit) และอุบัติเหตุ (Accidental Benefit)  เป็นต้น

ส่วนอีกกรณีคือผู้เอาประกันเสียชีวิต ซึ่งเงินค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวจะจ่ายให้กับผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์หรือจ่ายให้กับกองมรดกของผู้เอาประกันหรือกองมรดกผู้รับผลประโยชน์กรณีผู้รับผลประโยชน์เสียชีวิตหลังผู้เอประกันและก่อนบริษัทประกันจ่ายสินไหมทดแทนให้ผู้รับผลประโยชน์ การจ่ายสินไหมทดแทนกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตส่วนใหญ่คือสินไหมมรณะกรรม (Death Benefit)

การจ่ายสินไหมมรณะกรรมเนื่องจากการเสียชีวิตของผู้เอาประกันในแต่ละปีพบว่าสาเหตุหลักมาจากการเสียชีวิตจากมะเร็งซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆของสาเหตุการตายของผู้เอาประกันเลยทีเดียว

จากการวิเคราะห์สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เอาประกันในปี 2550 มีจำแนกตามสาเหตุการเสียชีวิตของผู้เอาประกัน 5 อันดับแรกได้แก่

การเรียกร้องสินไหมมรณะกรรมจากสาเหตุที่ผู้เอาประกันสาเหตุการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง (มะเร็งทุกชนิด) ร้อยละ 22.8 ของสาเหตุการเรียกร้องสินไหมมรณะกรรม

รองลงมาได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจร้อยละ 20.8

ส่วนอุบัติเหตุเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 3 มีร้อยละ 14.8 โรคชราเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 4  ด้วยร้อยละ 6.5

และการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 5 คิดเป็นร้อยละ 6.4

ในปี 2551 มีการเรียกร้องผลประโยชน์กรณีผู้เอาประกันเสียชีวิตโดยโรคมะเร็ง (มะเร็งทุกชนิด) ยังเป็นอันดับหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 27.6 ของสาเหตุการเรียกร้องสินไหมมรณะกรรม

รองลงมาได้แก่โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คิดเป็นร้อยละ 16.6

ส่วนอุบัติเหตุเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับที่ 3 คิดเป็นร้อยละ 13.9 การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 4  ร้อยละ 6.9 และโรคชราเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับที่ 5 คิดเป็นร้อยละ 5.4

เมื่อเปรียบเทียบสาเหตุการเสียชีวิตของผู้เอาประกันกับสาเหตุการเสียชีวิตรวบรวมและวิเคราะห์โดยกลุ่มภารกิจด้านข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข โดยข้อมูลในปี 2550 มีจำนวนผู้เสียชีวิต 393,255 ราย ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิต 5 อันดับแรกที่รวบรวมโดยหน่วยงานดังกล่าวนั้น

ยังคงเป็นมะเร็งและเนื้องอกซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับแรกมีจำนวน 53,434 ราย คิดเป็นร้อยละ 13.6 รองลงมาได้แก่สาเหตุจากอุบัติเหตุและการเป็นพิษมีจำนวน 35,661 ราย คิดเป็นร้อยละ 9.1 อันดับสามได้แก่ โรคหัวใจมีจำนวน 18,452 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.7 อันดับสี่ได้แก่โรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือดสมองมีจำนวน 15,286 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.9 และอันดับที่ห้าคือปอดอักเสบและโรคอื่นๆของปอดมีจำนวน 14,179 คิดเป็นร้อยละ 3.6

 

สาเหตุการเสียชีวิต 5 อันดับแรกในปี 2550

ข้อมูลประกันชีวิต

ร้อยละ

ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์

ร้อยละ

1.โรคมะเร็ง

22.8

1.มะเร็งและเนื้องอก

13.6

2.โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ

20.8

2.จากอุบัติเหตุและการเป็นพิษ

9.1

3.อุบัติเหตุ

14.8

3.โรคหัวใจ

4.7

4.โรคชรา

6.5

4.โรคความดันโลหิตสูงและหลอดเลือด สมอง

3.9

5.การติดเชื้อในกระแสเลือด

6.4

5.ปอดอักเสบและโรคอื่นๆของปอด

3.6

เมื่อพิจารณาจากการเปรียบเทียบข้อมูลของประกันชีวิตกับข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงสาธารณสุขจะพบว่าสาเหตุของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของทั้งสองแหล่งโดยสาเหตุสามอันดับแรกของข้อมูลทั้งสองแหล่งมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตามข้อมูลสาเหตุการตายของประเทศไทย  พบว่ามีปัญหาเนื่องมาจากการระบุสาเหตุการตายยังไม่ได้มาตรฐาน  โดยพบว่ามีการเขียนรูปแบบการตาย (Mode of Death) อยู่เป็นจำนวนมาก โดยร้อยละ 30-40 ของการตายเป็นรายงานที่สาเหตุไม่ชัดแจ้งหรือไม่ทราบสาเหตุ ส่วนสาเหตุการตายของผู้สูงอายุในชนบทที่ตายที่บ้านมักระบุว่าตายโดยชราภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าบ่อยครั้งที่มีการระบุรูปแบบการตายมากกว่าสาเหตุการตายนำ ในกรณีที่ผู้เอาประกันเสียชีวิต การระบุสาเหตุการเสียชีวิตจะยึดตามที่ระบุในใบมรณะบัตร (Death Certificate) ทั้งนี้หากเป็นกรณีที่ผู้ตายเสียชีวิตในโรงพยาบาล ข้อมูลการตายจะถูกระบุสาเหตุการตายไว้ในใบรายงานแพทย์ โดยกระทรวงสาธารณสุขใช้บัญชีจำแนกโรคระหว่างประเทศ ฉบับแก้ไข ครั้งที่ 10 หรือที่เรียกกันว่า รหัส ICD-10 ในการกำหนดสาเหตุการตาย ทำให้ทราบสาเหตุการตายที่ถูกต้อง

ที่น่าสนใจคือเมื่อเปรียบเทียบ ร้อยละของสาเหตุการเสียชีวิตแล้วจะเห็นได้ว่าในธุรกิจประกันชีวิตมีร้อยละของผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจและอุบัติเหตุสูงกว่าข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขอยู่มาก โดยสาเหตุการเสียชีวิตจากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุขในปี 2550 มีเพียงร้องละ 13.6 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมด ในขณะที่สาเหตุการเสียชีวิตของผู้เอาประกันจากมะเร็งสูงถึงร้อยละ 22.8 ของสาเหตุการเรียกร้องสินไหมมรณะกรรม นอกจากนี้ร้อยละของผู้เสียชีวิตจากสาเหตุโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจของกลุ่มผู้เอาประกันยังสูงกว่าข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์คือร้อยละ 20.8 เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ซึ่งมีเพียงร้อยละ 9.1 เท่านั้น ในส่วนของอุบัติเหตุก็ยังพบว่าร้อยละของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในกลุ่มผู้เอาประกันสูงกว่าข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์เช่นกันคือผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุในกลุ่มผู้เอาประกันมีร้อยละ 14.8 ส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์มีเพียงร้อยละ 9.1 เท่านั้น

ตัวเลขร้อยละของสาเหตุการเสียชีวิตของกลุ่มผู้เอาประกันทั้งสามสาเหตุที่สูงกว่าข้อมูลของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่ากลุ่มของผู้เอาประกันมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากมะเร็ง โรคหัวใจและอุบัติเหตุสูงกว่า นั่นสะท้อนให้เห็นว่าการคัดเลือกภัย (Risk Selection) หรือการพิจารณาประกัน (Underwriting) ไม่สามารถคัดกรองความเสี่ยงของผู้เอาประกันได้อย่างถูกต้องตรงตามอัตรามรณะทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าผู้เอาประกันอาจปกปิดข้อมูลของตนเองเกี่ยวกับภาวะสุขภาพและประวัติครอบครัวเกี่ยวกับมะเร็งอีกทั้งผู้เอาประกันรู้ตัวดีว่าตัวเองมีความเสี่ยงต่อมะเร็งจึงพยายามทำประกันโดยไม่ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงให้ผู้รับประกันทราบ จึงทำให้การคัดเลือกกลุ่มผู้เอาประกันดังกล่าวเป็นผลเสียต่อผู้รับประกัน (Adverse Selection) เนื่องจากได้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าอัตรามรณะ นอกจากนี้ตัวเลขร้องละของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุของกลุ่มผู้เอาประกันที่สูงกว่าข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ยังสามารถแสดงให้เห็นว่ากลุ่มผู้เอาประกันอาจมีความระมัดระวังตนในเรื่องอุบัติเหตุน้อยกว่าปกติ ขาดความรอบคอบและใส่ใจการป้องกันอุบัติเหตุน้อยลง เพราะมีความสบายใจว่าตนเองมีประกันอยู่แล้ว จึงสามารถมีวิถีชีวิต (Life Style) ที่เสี่ยงขึ้นได้ เพราะมีความกังวลน้อยลง หรืออีกนัยหนึ่งกลุ่มผู้เอาประกันอาจนำตัวเองไปเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูงกว่าทั่วไป เพราะหวังผลประโยชน์จากการทำประกัน (Moral Hazard) ก็เป็นได้

การศึกษาในครั้งนี้นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงสาเหตุของการเสียชีวิตที่สำคัญของกลุ่มผู้เอาประกันแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ทั้ง Adverse Selection และ Moral Hazard ยังคงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิความเสี่ยงสูงของธุรกิจประกันชีวิตอีกด้วย

 

References

  1. http://www.dopa.go.th/xstat/tran/death51_1.html
  2. http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8A%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%A8%E0%B8%9E
  3. จำนวนและอัตราตายต่อประชากร 100,000 คน จำแนกตามสาเหตุที่สำคัญ พ.ศ. 2546- 2550 รวบรวมและวิเคราะห์โดย : กลุ่มภารกิจด้านข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศสุขภาพ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์
  4. ปราโมทย์ ประสาทกุลและปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ “ภาวะการตายและความยืนยาวของชีวิตประชากรไทย”

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 370521เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2010 18:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 11:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท