โสภณ เปียสนิท
นาย โสภณ เปียสนิท ตึ๋ง เปียสนิท

หลักธรรมคำคมข้อคิดชีวิตรักจากแดจังกึม8


เธอตั้งใจศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง แม้ไม่ได้เรียนในชั้น เรียนจากบันทึกของเพื่อนรักเท่านั้น ก็สามารถมีความรู้ได้ไม่แพ้ใคร

หลักธรรมคำคมข้อคิดจากแดจังกึม 8

โสภณ เปียสนิท

........................................

“เห็นบันทึกในมือเขียนไว้ด้วยอักษรตัวเล็กเท่าเมล็ดงาเต็มไปด้วยรูปภาพที่วาดไว้อย่างเร่งร้อน ราวกับเป็นใบหน้าของยอนเซ็ง จังกึมทั้งลูบคลำ ทั้งจูบลงปาก สุดท้ายถึงกับกอดไว้แนบอก” (แดจังกึม/หน้า277/เล่ม1)

                อ่านข้อความนี้แล้วคิดถึงคำคมที่ว่า คนโง่นั่งรอให้โอกาส ส่วนคนฉลาดไขว่คว้าโอกาส จังกึมแม้อยู่ห่างไกลสถานศึกษา แต่ได้อาศัยเพื่อนบันทึกคำบรรยายของครูมาให้ เธอตั้งใจศึกษาอย่างเอาจริงเอาจัง แม้ไม่ได้เรียนในชั้น เรียนจากบันทึกของเพื่อนรักเท่านั้น ก็สามารถมีความรู้ได้ไม่แพ้ใคร อ่านแล้วคิดถึงเด็กไทยที่ชอบใช้เงินพ่อแม่ไปเรียนพิเศษ ช่างต่างกันแบบตรงกันข้าม

“นับแต่วันนั้น ไม่ว่าเป็นที่ห้องที่แปลงสวน หรือที่หลังซาน จังกึมได้เริ่มท่องสิ่งที่อยู่ในบันทึก เวลานี้ต้นกล้า     แพ็กบนถึงกับสูงขึ้นประมาณฝ่ามือคน พื้นสวนโดยรวมจึงเปลี่ยนเป็นสีเขียวสดใส” (แดจังกึม/หน้า277/เล่ม1)

                เนื้อความนี้บ่งบอกสองเรื่อง คือเรื่องเริ่มต้น และเรื่องผลลัพธ์ เรื่องเริ่มต้นคือการศึกษาในวังของจังกึมกลับต้องมาเริ่มต้นในสวนผักนอกวัง โดยศึกษาจากตำราเพียงลำพังเท่านั้น มองเห็นความมุ่งมั่นของจังกึมเด่นชัด ส่วนผลลัพธ์คือต้นกล้าแพ็กบน ที่จังกึมใช้ความมานะพยายามปลูกอยู่นานเริ่มงอกงามจนได้ “ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น”

“เนื่องจากเป็นไม้ที่ขึ้นตามภูเขา หากปลูกในที่ราบหรือให้น้ำมากไป ต้นจะเน่าก่อนที่จะเติบโต ข้าน้อยได้บันทึกการปลูกไว้โดยละเอียดแล้ว” (แดจังกึม/หน้า285/เล่ม1)

                องค์ความรู้ที่จังกึมได้เพียรพยายามศึกษาถูกบันทึกไว้อย่างดี น่าจะนับได้ว่าเป็นงานวิจัยยุคแรก ๆ ของประเทศเกาหลี ที่ส่งผลประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่ประเทศชาติ

“ซุงเชจอน (อาหารเกาหลีประเภทกับแกล้มสุรา) นี่รสชาติประเสริฐมาก เช่นนี้ ต่อไปเจ้าคงมิถูกขับออกมา เพราะเรื่องฝีมือการปรุงอาหารเป็นแน่” น้ำเสียงฟังดูเหน็บแนม แต่กลับนุ่มนวลลงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ดูท่าคงอาลัยอาวรณ์ต่อการอำลาครั้งนี้ไม่น้อยเช่นกัน (แดจังกึม/หน้า15/เล่ม2)

                ความมุ่งมั่นทางการศึกษาเพื่อความก้าวหน้า โดยมีหลักแห่งคุณธรรมนำทาง ทำให้ดูเหมือนว่าจังกึมเป็นคนก้าวร้าว ก่อให้ผู้คนเข้าใจผิดอยู่บ้าง แต่ในที่สุดแล้ว ความจริงใจย่อมชนะใจคนดีได้โดยง่าย แม้อุนแพก ที่รู้สึกขวาง ๆ ต่อจังกึมยังรู้สึกอาลัยยามที่ต้องจากกัน

“แม้ไม่มีเสียงตอบใด แต่ตำราจำนวนมากที่เรียงไว้บนชั้นกลับค่อย ๆ ดึงดูดจังกึมให้สาวเท้าเข้าด้านในโดยไม่รู้ตัวแสงอาทิตย์สาดส่องลงมุมด้านใน หอตำรามุมนั้นดูขาวราวกับถูกดูดสีออกไปจนสิ้น” (แดจังกึม/หน้า15/เล่ม2)

                หนอนหนังสือคือคำเรียกขานผู้รักการอ่าน จังกึมเป็นนักการศึกษาที่เยาวชนไทยควรเอาเป็นแบบอย่าง เมื่อเธอย่างเท้าเข้าห้องสมุด หนังสือมากมายจึงเป็นเหมือนแม่เหล็กดึงดูดความสนใจทั้งหมดของเธอ ภาษาที่ใช้บรรยายแสงแดดสาดส่อง อ่านแล้วรู้สึกงดงามประทับใจ

“เชิญมาที่แห่งนี้ได้ตามที่โอกาสอำนวย จดหมายเขียนไว้ว่า หากมีโอกาสได้ศึกษาตำรา จักเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ต่อราษฏร กระทั่งมากกว่าขุนนางอื่นใด จึงขอความร่วมมือให้ยืมตำรา” (แดจังกึม/หน้า16/เล่ม2)

                อ่านเนื้อความแล้วประทับใจในคุณธรรมของอุนแพก ซึ่งถือว่าเป็นอาจารย์คนหนึ่งของจังกึม ที่เขียนหนังสือนำให้จังกึมถือมาที่ห้องสมุด (เคียวซอกัก) ด้วยความเมตตาและมีวิสัยทัศน์อันยอดเยี่ยมที่มองเห็นเหตุการณ์ในอนาคตอันยาวไกลว่า “จักเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ต่อราษฏร” นับเป็นคุณธรรมอันน่านับถือ

“เป็นผู้คนที่แบ่งแยกฐานะผู้อื่น ส่วนตำรานั้นมิเคยแบ่งแยกฐานะผู้ใด” (แดจังกึม/หน้า17/เล่ม2)

                คำกล่าวนี้เป็นคำจริงแท้ การศึกษาไม่แบ่งแยกไพรผู้ดี สมกับคำกวีที่ว่า “ฝูงชนกำเนิดคล้าย คลึงกัน ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด เว้นแต่ชั่วดีกระด้าง ห่อนแก้ ฤ ไหว” พุทธภาษิตสอนว่า “คนเราจะเลวหรือดี ไม่ใช่เพราะชาติตระกูล แต่คนเราจะเลวหรือดี เพราะการกระทำ” การศึกษาควรเปิดโอกาสให้แก่ทุกคน

“เหตุที่นางวังมิสามารถจ้องมองบุรุษอื่นใดได้ จึงจำต้องฝืนทนไม่มองใบหน้าของเขา เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง” (แดจังกึม/หน้า17/เล่ม2)

                ถือเป็นกฎเกณฑ์เก่าแก่ของเกาหลี ซึ่งมีส่วนคล้าย ๆ กับกฏเกณฑ์เกี่ยวกับนางวังของประเทศที่มีพระราชาปกครองทุกแห่ง นางวังทุกคนถือว่าเป็นคนของพระราชา

“ยามสอนสามี ก็คล่องแคล่วราวจับหนู แล้ววันนี้เป็นเพราะเหตุใด? ครั้งนี้หากสอบไม่ผ่านออซันเคียงยอน จังกึม ของเราก็ไม่ได้เป็นนางวัง” (แดจังกึม/หน้า18/เล่ม2)

                เหตุการณ์นี้มักเกิดขึ้นกับคนส่วนมาก เหมือนกันทุกประเทศ ภรรยาคังดึกคู (หรือคังตอกกุ) ปกติคุยเก่ง ยามต้องสอนจังกึมทำอาหารกลับพูดไม่ออกบอกไม่ถูก จึงถูกสามีว่ากล่าวเอาคืนเล็กน้อยพอเป็นพิธี ยามหน้าสิ่วหน้าขวาน

“ด้านยอนเซ็ง นางพยายามลอบสอนทุกครั้งเมื่อสบโอกาสอ้างเหตุท่องเพราะให้ตนจำ ขณะที่สามารถให้จังกึมได้รับฟังเช่นกัน” (แดจังกึม/หน้า19/เล่ม2)

                ความพยายามอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้คนเราประสบความสำเร็จได้ ต้องมีเพื่อนที่ดีด้วยจังกึมจึงก้าวสู่ความสำเร็จได้ ยอนเซ็งจึงเป็นยอดกัลยาณมิตรของจังกึม อยากให้เยาวชนไทยจำลักษณะของเพื่อนแท้เช่นนี้ไว้เปรียบเทียบกับเพื่อนที่เราคบหาว่า คนไหนควรหลีกหนี คนไหนควรเข้าใกล้

“ออซันเคียงยอนครานี้แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นการตีความบทกวีและทายชื่ออาหาร การสอบที่สองนั้นทดสอบจากการปรุงอาหารนั้น ๆ” (แดจังกึม/หน้า119/เล่ม2)

                การสอบเป็นนางวังนั้นเรียกว่า “ออซันเคียงยอน” ที่น่าสนใจคือว่ามีการตีความจากบทกวีด้วย บทกวีถือว่าเป็นรากฐานของวัฒนธรรมทางภาษา การตีความจากบทกวีจึงเป็นการวัดความสุขุมลุ่มลึก ไม่เชื่อลองตีความคำกวีต่อไปนี้ดูนะครับ “เสียงลือเสียงเล่าอ้าง  อันใด พี่เอย  เสียงย่อมยอยศใคร ทั่วหล้า  สองเขือพี่หลับใหล ลืมตื่น ฤ พี่  สองพี่คิดเองอ้า อย่าได้ถามเผือ”               

“มารดาที่ต้องการแย่งชามแป้ง และบุตรีที่ต้องการเก็บชามแป้งไว้ ทั้งสองพากันยื้อแย่งกันไปมา ก่อนจะผวาเข้าสวมกอด และระเบิดเสียงคร่ำครวญน่าเวทนา มินจองโฮที่ไม่อาจทนดูได้ จึงแสร้างหันหลังออก” (แดจังกึม/หน้า32/เล่ม2)

                เรื่องประหลาดเหนือความคาดหมายนี้ให้ความรู้สึกเศร้าสร้อยในชะตากรรมของมนุษย์ นางวังไม่อาจมีลูกกับใครนอกจากพระราชาได้ แต่นางวังคนนี้กลับมีลูกสาว เมื่อแม่เกษียณอายุ ลูกสาวต้องการตอบแทนบุญคุณบุพการีเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจากลา จึงขโมยแป้งทำขนมของจังกึม ส่วนแม่ต้องการให้ลูกสาวทำให้ถูกต้องโดยให้คืนแป้งแก่จังกึม ในที่สุดจังกึมทนเวทนาไม่ไหวจึงยอมสละแป้งทำอาหารให้สองแม่ลูกไป

“ดูท่าคงเป็นอาหารสมคำว่า “เพียงเพื่อให้เรารอด จะให้คร่าชีวิตผู้อื่นได้อย่างไรกัน” ไม่ผิดเป็นแน่” (แดจังกึม/หน้า33/เล่ม2)

                จึงกึมเสียสละแป้งทำอาหารให้แก่ลูกสาวผู้ต้องการแสดงความกตัญญูต่อแม่ไป ส่วนตัวเองหันกลับมาเผชิญชะตากรรมอันท้าทายอีกครั้ง หากเอาแป้งทำอาหารคืนก็เหมือนกับการเอาตัวรอด คนอื่นจะเดือดร้อนอย่างไรไม่สนใจ ซึ่งเป็นความเห็นแก่ตัว สำนึกแห่งคุณธรรมไม่อนุญาตให้จังกึมทำอย่างนั้นได้

หมายเลขบันทึก: 370515เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2010 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 12:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มีความรู้หลายเรื่องเลยครับ กลับมารายงานตัวครับ เอาภาพจากใต้มาฝากด้วยครับ

สังคมเราไม่เท่ากันนะครับ

อาจารย์ขจิตกลับมาแล้ว เฮ....

เห็นอาจารย์แทรกภาพสวยๆแล้ว ชอบจัง แต่...

ขอเรียนตามตรง ผมยังเอาภาพแทรกขึ้นไม่ได้เลย

ทำตามขั้นตอนแล้ว browse แล้ว พอบันทึก แจ้งกลับมาว่า name invalid

ทั้งที่เราทำแล้ว หรืออาจไม่ตรงตามระบบต้องการ?

ฮาเลยครับ ผมลืมบอกอาจารย์ว่า ต้องตั้งชื่อ ไฟล์เป็นภาษาอังกฤษครับ

เช่น sopon1 ลองดูนะครับ

ใช่ ฮา จริงๆ แหม ๆ ตอนนี้ทดสอบแล้ว ใช้ได้ดี

ขอบคุณอาภาวรรณ แปลเป็นไทยแบบนี้ถูกเปล่าไม่รู้

แต่ยังทำแบบสไลด์ไม่ได้ช่วยบอกหน่อยครับ อ.ขจิต

พักยกกับงานหน้าจอ ขออ่านเรื่องดีดีก่อน รู้ว่านักวิจัยที่มีความมุ่งมั่น อย่างแดจังกึมยอดจริงๆ

เรียนคุณอุ้มบุญ

อุ้มบุญมาถึงนี้แล้ว น่าดีใจจังเลย ติดตามมาได้ไกลมากเลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท