หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

กลับสู่ต้นน้ำ


         โบกี้รถไฟชั้นสาม “รถไฟฟรีเพื่อประชาชน” ที่จะมุ่งหน้าขึ้นเหนือสู่ จ.เชียงใหม่ ขบวนนี้วันนี้ดูแปลกตาไปกว่าที่ผ่าน ๆ มา

         ผู้คนในโบกี้นั้นส่วนใหญ่ยังเป็นหนุ่มสาววัยใส ดูอากัปกริยาท่าทางและการพูดการจาแล้ว ไม่น่าจะเป็นคนที่ลำบากยากจน ที่เป็นคนส่วนใหญ่ซึ่งมาใช้บริการรถไฟฟรีสวัสดิการที่รัฐบาลจัดให้

         พวกเขาเหล่านี้ล้วนมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี บางคนเข้าขั้นคุณหนูด้วยซ้ำ แน่นอนว่าเขามีกำลังจ่ายที่จะเลือกการเดินทางที่สะดวกสบายกว่านี้ได้อย่างสบาย กระนั้นก็ตามการเดินทางในคราวนี้เขาก็มิมีเจตนาจะมาเบียดบังโอกาสของคนยากจนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการเดินทางด้วยยานยนต์นี้ แต่ที่ต้องเลือกการเดินทางไกลจากกรุงเทพฯ ขึ้นสู่เชียงใหม่ด้วยวิธีนี้เพราะเขาต้องการเรียนรู้ความยากลำบาก ความอดทน และที่สำคัญคือความเข้าใจหัวอกหัวใจและความทุกข์ยากของคนระดับล่าง คนยากคนจน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม

         ความแปลกมิได้มีเฉพาะเพียงนั้น แต่ใครหลายคนในนั้นมีลักษณะบ่งชัดจากการแต่งกายว่าเป็นเยาวชนมุสลิม และหากถามไถ่ให้ลึกลงไปก็จะพบว่าเพื่อน ๆ ที่ร่วมโบกี้รถไฟนั้นมีเยาวชนจากคริสตศาสนาและพุทธศาสนาอีกจำนวนเท่า ๆ กันร่วมเดินทางในครั้งนี้อีกด้วย

         การเดินทางของกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในการดูแลของผู้ใหญ่ใจดี “กลุ่มสานสามศาสน์” ซึ่งเป็นการรวมกันของคณะบุคคลจากสามศาสนา ที่พบปะเจอะเจอ ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยเน้นหนักทำงานกับเยาวชนในศาสนาตนเอง นอกจากมุ่งหวังให้เยาวชนได้เข้าถึงเนื้อหาที่แท้ของศาสนาแล้ว ยังช่วยเชื่อมประสานกับเยาวชนต่างศาสนา เพื่อการเรียนรู้เข้าใจซึ่งกันและกัน อันจะนำมาซึ่งความเข้าใจอันดีและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

         ปลายทางในการเดินทางไกลคราวนี้อยู่ที่ หมู่บ้านแม่นิงนอก ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หมู่บ้านชาวปกาเกอะญอ อยู่ห่างจากสถานีรถไฟเชียงใหม่ไปอีกกว่าร้อยกิโลเมตร ซึ่งหลังจากลงรถไฟพวกเขาต้องโดยสารด้วยรถยนต์ไปจนถึงปากทางเข้าหมู่บ้านและเดินเท้าต่อเข้าไปอีกหลายกิโลเมตร

         กิจกรรมเหล่านี้เป็นการ “เดินสู่ต้นน้ำ” เป็นการจาริกแสวงหาสัจธรรมของศาสนิกจากศาสนา พุทธ คริสต์และอิสลาม กลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนซึ่งเป็นศาสนิกจากศาสนาพุทธ คริสต์และอิสลาม จำนวน ๓๗ คน กระจายอยู่ตามสถานศึกษาต่างๆ เช่น โรงเรียนท่าอิฐศึกษา โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี โรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ฯลฯ หนึ่งในโครงการกลับสู่ต้นน้ำ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพุทธิกา และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้ชุดโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา

         วนิดา  ลอยชื่น หนึ่งในแกนนำจากกลุ่มสานสามศาสน์ กล่าวถึงที่มาว่า

         “...เรามาใช้ชีวิตอยู่ได้กันไม่ดีกว่าเหรอ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน อยู่กันแบบเอื้ออาทร อยู่ด้วยกันแบบมีความสุข และในขณะเดียวกันเราไปอยู่ร่วมกับคนที่เขาพูดตัวเองไม่มีศาสนา ไม่มีอารยธรรมแต่ชีวิตเขามีความสุขอย่างปกาเกอะญอ ลองมาอยู่ดูไหม...
        ...เราอหังการมากในเรื่องศาสนา คริสศาสนาคนครึ่งโลกนับถือ อิสลามและพุทธลองลงมา เรารู้สึกว่าศาสนาเรายิ่งใหญ่มากแต่เรายังไม่มีความสุขเท่ากับคนไม่มีศาสนา คนปกาเกอะญอเขามีความสุขมาก ไม่เคยทะเลาะกัน อยู่กับธรรมชาติอย่างกลมกลืน เราทั้งสามศาสนาลองมาดูวิถีชีวิตที่ไม่มีศาสนาแต่มีความสุขดูไหม ก็เลยเลือกที่จะพาเด็กทั้งสามศาสนามาดูคนที่คิดว่าไม่มีศาสนาดูบ้าง ว่าเขามีความสุขอย่างไร...
       ...นอกจากนั้นกระบวนการกลับสู่ต้นน้ำก็คือ การกลับสู่คำสอนดั่งเดิมของศาสดาที่มันยังไม่มีอะไรเติมแต่ง เพราะว่าศาสนาที่ผ่านมามันถูกปรุงแต่งมาเยอะ ถูกปรับปรุงดัดแปลงพิธีกรรมดัดแปลงคำสอนมาเยอะ... ศาสดาทุกท่านคิดถึงคนอื่นก่อนจะคิดถึงตนเอง อยากจะให้เด็กได้คิดถึงคนอื่นก่อนที่จะคิดตัวเอง...”

         กิจกรรมหลักเป็นการใช้ชีวิตร่วมกับชาวบ้านชาวปกาเกอะญอ ที่หมู่บ้านแม่นิงนอก ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ โดยให้เยาวชนเข้าพักตามบ้านชาวบ้าน หลังละ ๒-๓ คน คละศาสนา พุทธ คริสต์และอิสลาม

 

         ในช่วงนั้นตรงกับช่วงที่ชาวบ้านเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวไร่ และการเก็บเกี่ยวข้าวโพด เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจึงได้สัมผัสวิถีชีวิตชาวบ้านผ่านประสบการณ์ตรง เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิมที่ไม่พึ่งพาเทคโนโลยีเครื่องทุ่นแรง การพึ่งพาธรรมชาติ การพึ่งพาตนเอง รวมทั้งการพึ่งพากันและกัน วนิดา เล่าถึงบรรยากาศนั้นว่า

        “...เด็ก ๆ ได้แบ่งปันเรื่องราวของตนเองอย่างตื่นเต้น บางคนเหน็ดเหนื่อย สนุกสนาน กับประสบการณ์แปลกใหม่เปี่ยมคุณค่าที่ได้รับ ได้เห็นวิถีชีวิตที่พึ่งพิงธรรมชาติ พึ่งพิงกันและกัน โดยเฉพาะการอยู่อย่างพอเพียงไม่พึ่งพิงวัตถุ ความสุขที่หามาได้ด้วยวิธีง่าย ๆ ไม่ต้องใช้เงินทอง...”

         กิจกรรมสำคัญอีกประการหนึ่งของโครงการในหมู่บ้าน คือ การเดินจาริกไปสู่ต้นน้ำ เยาวชนจะแยกกลุ่มเป็น ๓ กลุ่มตามศาสนา ในแต่ละศาสนามีกิจกรรมเพื่อให้ศาสนิกได้เข้าใจ มีความลึกซึ้งในคำสอน เกิดความศรัทธา เข้าถึงหัวใจของศาสดาแห่งตนมากยิ่งขึ้น

         เยาวชนจะเดินเท้าจากหมู่บ้านไปสู่ต้นน้ำ ซึ่งในระหว่างทางจะเดินผ่านฐานต่าง ๆ มีวิทยากรจากแต่ละศาสนาให้ความรู้และทบทวนหลักคำสอนในศาสนา แล้วให้เยาวชนได้พิจารณาไตร่ตรองตนเองโดยใช้หลักการศาสนาข้อนั้นๆ ในระหว่างเดินทางไปสู่ฐานต่อไป จนกระทั่งถึงต้นน้ำ

         น.ส.อทิตยา อรุณสวัสดิ์ นักเรียนชั้น ม.๖ โรงเรียนท่าอิฐศึกษา หนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า

        “...การเดินกลับสู่ต้นน้ำ ทำให้หนูรู้สึกว่านี่แหละมาเพื่อสิ่งนี้ จุดมุ่งหมายของเราคือสิ่งนี้ ทำให้รู้สึกว่าในเรื่องของศาสนาเนี่ยทำให้หนูเข้มแข็งขึ้น ศรัทธาแรงขึ้น...”

         การดำเนินงานโครงการฯ ส่งผลให้เยาวชนจากศาสนาต่าง ๆ ได้เรียนรู้ระหว่างกันมีความเข้าใจกันมากขึ้น น.ส.วนัสนันท์ หมัดมณี เยาวชนมุสลิมผู้เข้าร่วมโครงการสะท้อนว่า

        “...เราก็คุยกันง่ายขึ้น รู้กฎของศาสนาแต่ละศาสนาว่า อย่างเขาก็รู้ข้อเด่นของเราว่า ผู้หญิงผู้ชายไม่สามารถถูกเนื้อต้องตัวกันได้ ผู้ชายก็ให้เกียรติ เพี่อนผู้ชายก็จะไม่มาถูกเนื้อต้องตัว แต่ว่าไม่ใช่หนีออกห่าง ก็ร่วมกิจกรรมกันได้...”

         เช่นเดียวกับ น.ส.ชนัดดา แซ่จึง กล่าวถึงผลที่ตนเองได้รับว่า

        “...เรียนรู้ที่จะให้อภัยคนอื่น เพราะว่าไปอยู่ที่นั่นมีทุกอารมณ์เลย บางทีโมโห บางทีหงุดหงิด แต่จะทำอย่างไรให้เราสามคนจากต่างศาสนาอยู่ร่วมกันในบ้านเดียวกัน ซึ่งเราก็ทำได้ เราอยู่ร่วมกันได้...
        ...ที่สำคัญที่สุดเลยที่หนูได้ก็คือ หนูได้เรียนรู้ชีวิตแบบพอเพียง ตอนเราอยู่บ้านในเมืองมีทุกอย่างครบ มีคอมพิวเตอร์ มีโทรศัพท์ มีอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิด พอเข้าไปในหมู่บ้าน ไฟฟ้าก็ไม่มี มันทำให้หนูคิดว่าเขาก็ยังอยู่ได้แบบมีความสุข กลับมามันช่วยให้เราประหยัดมากขึ้น ใช้จ่ายเงินน้อยลง ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย...”

หมายเลขบันทึก: 370329เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2010 08:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

 พวกเขาเหล่านี้ล้วนมาจากครอบครัวที่มีฐานะดี บางคนเข้าขั้นคุณหนูด้วยซ้ำ แน่นอนว่าเขามีกำลังจ่ายที่จะเลือกการเดินทางที่สะดวกสบายกว่านี้ได้อย่างสบาย กระนั้นก็ตามการเดินทางในคราวนี้เขาก็มิมีเจตนาจะมาเบียดบังโอกาสของคนยากจนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการเดินทางด้วยยานยนต์นี้ แต่ที่ต้องเลือกการเดินทางไกลจากกรุงเทพฯ ขึ้นสู่เชียงใหม่ด้วยวิธีนี้เพราะเขาต้องการเรียนรู้ความยากลำบาก ความอดทน และที่สำคัญคือความเข้าใจหัวอกหัวใจและความทุกข์ยากของคนระดับล่าง คนยากคนจน ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของสังคม

ชอบมากค่ะประโยคนี้ เคยเดินทางรถไฟเหมือนกัน เห็นการเรียนรู้หลยๆอย่างบนรถไฟค่ะ เช่น เด็กนักเรียน คนชรา มารอรถไฟตั้งแต่เช้า เพื่อมุ่งสู้การเดินทางไปยังเป้าหมาย แล้วที่สำคัญตอนนี้รถไฟสะอาดขึ้นค่ะ

ขอบคุณบันทึกดีๆ กิจกรรมของ “กลุ่มสานสามศาสน์” จุดเริ่มของภราดรภาพ และสันติภาพ อย่างแท้จริง ยอดเยี่ยมจังค่ะ

คิดถึงน้องเฌวา สบายดีนะคะ เปิดเทอมใหม่ปีนี้เป็นไงบ้างเอยคะ รออ่านเรื่องราวสาวน้อยอีกนะคะท่านหนานฯ

สวัสดีค่ะ

กลุ่มสานสามศาสน์ เป็นกลุ่มเยาวชนที่เป็นกำลังของชาติ เป็นแบบอย่างให้ผู้ใหญ่ได้ตระหนักว่าเด็ก ๆ ก็คิดเป็น ทำสิ่งดี ๆ ที่สร้างสรรค์และไม่ทำลาย  คงจะได้เห็นกลุ่มเยาวชนทำแบบนี้อีกมากมายนะคะ

พรุ่งนี้จะอยู่ที่กทม.ถึงวันจันทร์ค่ะ  ขอเป็นกำลังใจให้กับกลุ่มหนุ่มสาวสร้างฝายกั้นน้ำนะคะ

ช่างเป็นโลกที่สุดสวยงามเสียนี่กระไร

อยากให้สังคมโลกทั้งมวลมีรักและสันติสุขเช่นนี้คะ

พี่ใหญ่ขอชื่นชมโครงการดีๆเช่นนี้ค่ะ...ช่วยให้เยาวชนเห็นแบบอย่างของชีวิตที่พอเพียงอย่างมีความสุขนะคะ..

สวัสดีครับ คุณ berger0123 

เด็กกลุ่มนี้ได้เรียนรู้ชีวิตจากการนั่งรถไฟมากเลยครับ เรียนรู้ความทุกข์ยากคนคนจน เรียนรู้ความอดทน ความเสียสละแบ่งปัน รวมทั้งการประพฤติกิจวัตรในศาสนาในสถานการณ์ที่ต่างออกไปของเยาวชนมุสลิม
ครั้งล่าสุดที่ขึ้นรถไฟ คือการเดินทางไปเชียงใหม่ครับ พาเฌวาไปด้วย
จริง ๆ แล้ว ผมชอบเดินทางด้วยรถไฟครับ

 

สวัสดีครับ คุณ poo 

เฌวาสบายดีครับ ตอนนี้ไปโรงเรียน อีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเกิดเฌวาแล้วครับ

 

สวัสดีครับ พี่ครูคิม 

ตอนนี้คงอยู่กรุงเทพฯ แล้วใช่ไหมครับ
ผมจะต้องเดินทางไปตากค่ำวันนี้เพื่อเตรียมการเรื่องฝายแม้วครับ
กลับมาจะเล่าให้ฟังครับพี่...

 

สวัสดีครับ คุณ วราภรณ์ 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ

 

สวัสดีครับ พี่ใหญ่ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ 

ขอบคุณพี่ใหญ่ที่แวะมาเยี่ยมนะครับ

 

อีกไม่กี่วัน นี่กี่วันล่ะคะท่านหนานฯ ดีใจจัง หลานเกิดเดือนเดียวกับอาปู เลยค่ะ ๕ ๕ อย่าลืมมาเฉลยนะคะ เอ วันไหนนะ

อยากเห็นโรงเรียนด้วย ว่าน้องไปเรียนที่ไหน อย่างไร จะรออ่านบันทึกนะคะ คุณพ่อยังหนุ่ม ขอบคุณค่ะ

การเดินทางด้วยรถไฟเป็นอีกประสบการณ์หนึ่งที่สนุกสนาน   ยิ่งเดินทางเป็นกลุ่มจะยิ่งสนุกมากขึ้น   พี่เคยพาเด็กไปแหล่งเรียนรู้โดยการพาขึ้นรถไฟฟรี   เจ้าพนักงานเขาก็ดีนะเพราะจัดให้ทั้งตู้เลย.....

เอาใจช่วยและขอให้มีความสุขกับการทำงานนะคะ

เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากเลยครับ กลับถึงบ้านหรือยังครับพี่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท