Suicide and Attempted Suicide : Its Effect on Life Insurance ผลกระทบของการฆ่าตัวตายและการพยายามฆ่าตัวตายในธุรกิจประกันชีวิต


ผลกระทบของการฆ่าตัวตายและการพยายามฆ่าตัวตายในธุรกิจประกันชีวิต

 

 

 

Suicide and Attempted Suicide: Its effect on life insurance industry

 

ปัญหาการทำร้ายตัวเองและการฆ่าตัวตายยังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยและมีผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวและคนใกล้ชิดโดยพบว่าการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและความรู้สึกของบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 6 คน ได้แก่ พ่อ แม่ พี่น้อง สามีหรือภรรยา บุตรและเพื่อนสนิท นอกจากนี้การฆ่าตัวตายยังก่อความสูญเสียแก่ประเทศในเชิงเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะหากผู้เสียชีวิตอยู่ในวัยแรงงานซึ่งเป็นวัยหลักที่ก่อผลผลิตของประเทศ นอกจากนี้หากผู้ที่ฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายนั้นเป็นหัวหน้าครอบครัวที่เป็นหลักสำคัญในการดูแลและหาเลี้ยงครอบครัว ก็จะยิ่งส่งผลกระทบกับสมาชิกที่เหลือของครอบครัวอีกด้วย เพราะจะทำให้ครอบครัวขาดที่พึ่งคนสำคัญและขาดรายได้

 

สาเหตุของการทำร้ายตัวเองหรือการฆ่าตัวตายนั้นอาจมีปัจจัยกระตุ้นมากมาย เช่น ปัญหาสุขภาพ (ซึมเศร้า  เจ็บป่วย พิการ) ปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาเรื่องความรัก ปัญหาเรื่องงาน ปัญหาเรื่องการเรียนปัญหาเรื่องครอบครัว นอกจากนี้ยังมาจากการถูกกดดันด้วเหตุผลบางประการ เป็นต้น

 

การฆ่าตัวตาย หรือ Suicide ในวิกิพีเดียได้ให้ความหมายไว้ว่าคือการกระทำที่ทำให้ตนเองเสียชีวิตโดยเจตนาส่วน การพยายามฆ่าตัวตาย (Attempted Suicide) หมายถึง พฤติกรรมการพยายามปลิดชีวิตตนเอง

ดร. A.J.F.M. Kerkhof  กล่าวว่า การฆ่าตัวตาย หมายถึง การกระทำโดยเจตนาที่จะจบชีวิตของตนเพื่อหนีสภาวะ บางอย่างที่บุคคลนั้นทนทุกข์ทรมานอยู่ เช่น ความเจ็บปวด เหงา สำนึกผิด สูญเสีย โรคภัย เศร้าซึม ความรุนแรง และความยากจน ส่วนใหญ่จะมีสภาพจิตใจที่ห่อเหี่ยว ผิดหวังกับคุณภาพชีวิตของตน และประมาณ 60% เป็นคนที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน

ส่วนการพยายามฆ่าตัวตาย หมายถึง การกระทำโดยเจตนาจะจบชีวิตเพื่อหนี หรือ เปลี่ยนสภาพการดำเนินชีวิตที่ทุกข์ทรมานของตนแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ คนที่พยายามจะฆ่าตัวตายนั้นเขา ต้องการจะจบชีวิต และต้องการความช่วยเหลือด้วย ฉะนั้นความหมายที่ชัดเจนด้านสังคมของการ พยายามฆ่าตัวตาย คือ "การร้องขอความช่วยเหลือเพราะไม่สามารถที่จะรับสภาพที่ทุกข์ทรมานต่อไปได้ อีกแล้ว" คนที่พยายามฆ่าตัวตายนั้น ประมาณ 40% จะพยายามกระทำอีก และ 10% จะตายจากการพยายามฆ่าตัวตาย

 

 

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันมีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายปีละประมาณ 1 ล้านคน หรือวันละ 2,739 คนเฉลี่ยชั่วโมงละ 114 คน หรือนาทีละ 2 คน และในปี 2563 จะมีคนเลือกที่จะ “ฆ่าตัวตาย” สูงถึง 1.5 ล้านคน สำหรับสถิติการฆ่าตัวตายในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่า1อยู่ในอันดับที่ 71 ของโลก

ในช่วง พ.ศ.2541-2550 ข้อมูลจำนวนการฆ่าตัวตายที่ได้จากมรณบัตรของกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ชี้ว่าจำนวนการฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 4,442 รายต่อปี โดยในปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้รับแรงกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจนั้น การฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ด้วยตัวเลขมากกว่า 5,200 ราย ต่อปี คิดเป็นอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในรอบ 1 ปี คือ 8.6 ต่อประชากรแสนคนแต่ในปี 2550 มีจำนวนลดลงเหลือ 3,458 ราย คิดเป็นอัตรา

การฆ่าตัวตาย 5.5 ต่อประชากรแสนคน

ผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง โดยอัตราส่วนหญิงต่อชายเท่ากับ 4 ต่อ 1 ในขณะที่หากเป็นการฆ่าตัวตายสำเร็จเพศชายจะมากกว่าเพศหญิง 3 เท่า โดยทั่วไป จะพบการพยายามฆ่าตัวตายสูงกว่ากว่าการฆ่าตัวตายสำเร็จ 10-20 เท่า

การฆ่าตัวตายและการพยายามฆ่าตัวตายไม่เพียงมีผลกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวและผู้ใกล้ชิดกับผู้ที่ฆ่าตัวตายหรือการพยายามฆ่าตัวตายเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอื่นๆอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านแรงงาน ด้านการผลิตรวมไปถึงด้านสาธารธารสุขเพราะบางครั้งการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายยังไม่บรรลุผลในทันที แต่บางรายจะถูกส่งตัวไปเพื่อรับการช่วยเหลือและรักษาซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการรักษาเป็นจำนวนเงินไม่น้อย เพราะส่วนใญ่มักเป็นกรณีคนไข้ฉุกเฉินและบางรายมีอาการหนัก

 

ธุรกิจประกันชีวิตเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการนอกจากการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย หากผู้ที่ฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายเป็นผู้ที่เอาประกันหรือผู้ชำระเบี้ยให้แก่ผู้ถูกเอาประกัน ก็จะส่งผลต่อความยั่งยืนของกรมธรรม์ (Persistency) ที่ซื้อไว้

การฆ่าตัวตายเป็นภาวะภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) อย่างหนึ่งเพราะเป็นการกระทำที่เกิดจากเจตนาของผู้เอาประกัน ซึ่งทำให้บริษัทผู้รับประกันเสียหายเพราะต้องจ่ายสินไหมเร็วกว่าที่ควร และทำให้ความเสี่ยงของระบบการรับประกันสูงขึ้นด้วย

ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาผลกระทบของการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายต่อธุรกิจประกันชีวิต จึงไม่มีตัวเลขรายงานว่าในแต่ละปีบริษัทประกันชีวิตต้องจ่ายสินไหมทดแทนที่เกิดจากการฆ่าตัวตายเป็นจำนวนเงินเท่าไร

จากสถิติพบว่ามีการเรียกร้องสินไหมมรณะกรรมที่ผู้เอาประกันเสียชีวิตเนื่องจากการฆ่าตัวคิดเป็นร้อยละ 1 ของจำนวนการเรียกร้องสินไหมมรณะกรรมทั้งหมดในแต่ละปี

ผู้เขียนประมาณการณ์ว่าทั้งอุตสาหกรรมประกันชีวิตซึ่งมีทั้งหมด 25 บริษัทน่าจะมีการเรียกร้องสินไหมมรณะกรรมที่ผู้เอาประกันฆ่าตัวตายประมาณปีละ 100 ราย ซึ่งคิดเป็นเงินสินไหมมรณะกรรมไม่น้อยกว่าปีละ 30 ล้านบาทเลยทีเดียว

ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมสินไหมทดแทนที่บริษัทประกันต้องจ่ายในกรณีที่ผู้เอาประกันทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ และพยายามบิดเบือนให้เป็นการเกิดจากอุบัติเหตุ เพื่อเรียกร้องสินไหมอื่นๆ เช่น สินไหมอุบัติเหตุ สินไหมคุ้มครองสุขภาพ เป็นต้น เพราะหากเป็นการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยจากการทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย บริษัทประกันจะไม่คุ้มครอง

 

อย่างไรก็ตามการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายนั้นเป็นข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันชีวิต ตาม ประมวลกฏหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 895 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

            เมื่อใดจะต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลคนหนึ่งคนใดท่านว่าผู้รับประกันภัย จำต้องใช้เงินนั้นในเมื่อมรณภัยอันนั้นเกิดขึ้น เว้นแต่
                    (๑) บุคคลผู้นั้นได้กระทำอัตวินิบาตด้วยใจสมัครภายในปีหนึ่งนับแต่วันทำสัญญา หรือ
                    (๒) บุคคลผู้นั้นถูกผู้รับประโยชน์
ฆ่าตายโดยเจตนา
            ในกรณีที่ ๒นี้ ท่านว่าผู้รับประกันภัยจำต้องใช้เงินค่าไถ่ถอนกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย หรือให้แก่ทายาทของผู้นั้น

 

จากบัญญัติกฏหมายมาตราดังกล่าว จึงมีการกำหนดเงื่อนไขในการจ่ายผลประโยชน์ของผู้รับประกันแก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับประโยชน์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขเกี่ยวกับการกระทำอัตวินิบาตกรรม (Suicide Provision) คือ หากผู้เอาประกันภัยได้ฆ่าตัวตายด้วยใจสมัครภายใน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา ผู้รับประกันภัยจะไม่ต้องใช้จำนวนเงินในเหตุมรณะของบุคคลนั้น ซึ่งในบางประเทศถ้าผู้เอาประกันภัยฆ่าตัวตายภายใน 2 ปี นับจากวันที่ออกกรมธรรม์ ผู้รับประกันภัยจะรับผิดเพียงคืนเบี้ยประกันภัยที่ชำระแล้วให้

 

สาเหตุที่ต้องระบุว่าข้อยกเว้นของการจ่ายสินไหมต้องเป็นการฆ่าตัวตายด้วยความสมัครใจของผู้เอาประกันนั้นก็เพราะว่าบางครั้งการฆ่าตัวตายของผู้เอาประกันอาจมาจากการถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายโดยที่ผู้เอาประกันไม่ได้สมัครใจก็ได้

 

เงื่อนไขการไม่ต้องจ่ายสินไหมมรณะกรรมกำหนดไว้เพียงแค่ 1 ปีแรกของการทำสัญญาเท่านั้น หากผู้เอาประกันฆ่าตัวตายเกินช่วงเวลา 1 ปีหลังจากวันทำสัญญา บริษัทผู้รับประกันก็ต้องจ่ายเงินสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับผลประโยชน์

ที่ผ่านมาพบว่าผู้เอาประกันที่ฆ่าตัวตายภายใน 1 ปีนั้นมีประมาณ 1 ใน 10 ของผู้เอาประกันที่ฆ่าตัวตายในแต่ละปีหรือเฉลี่ยปีละ 1- 2 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่ผู้เอาประกันมักจะฆ่าตัวตายหลังกรมธรรม์มีผลบังคับเกิน 1 ปี ซึ่งเกินเงื่อนไขเวลาในการยกเว้นความคุ้มครองเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายไปแล้ว ทำให้บริษัทรับประกันต้องจ่ายสินไหมมรณะกรรมให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ ซึ่งจะว่าไปแล้วถือว่าไม่เป็นธรรมต่อผู้รับประกันและผู้เอาประกันรายอื่นๆ เพราะการฆ่าตัวตายเป็นการเสียชีวิตที่บิดเบือนจากอัตรามรณะปกติ บริษัทประกันภัยต้องจ่ายสินไหมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งทำให้ความเสี่ยงของกลุ่มผู้เอาประกัน (Risk Pooling) สูงขึ้นด้วย บริษัทที่มีอัตราผู้เอาประกันฆ่าตัวตายสูงทำให้มีการจ่ายสินไหมมรณะกรรมเร็วกว่าปกติสูง อาจมีความเสี่ยงต่อการประกอบธุรกิจของบริษัทได้

พฤติกรรมการฆ่าตัวตายของผู้เอาประกันบางรายพบว่าเป็นการเตรียมการณ์ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนทำประกันคือผู้เอาประกันตั้งใจสมัครทำประกันเข้ามา แล้วฆ่าตัวตายหลังจากเกินเงื่อนไขข้อยกเว้นการจ่ายสินไหมจากการฆ่าตัวตายภายใน 1 ปี ไปไม่นาน เคยมีบางรายที่ตั้งใจฆ่าตัวตายหลังจากเกินเงื่อนไข 1 ปีไปเพียงแค่ 1 วันเท่านั้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้เอาประกันเข้าใจเงื่อนไขข้อยกเว้นของการรับประกันเป็นอย่างดีอย่างดีและผู้เอาประกันมีเจตนาอย่างแน่วแน่ที่จะฆ่าตัวตายเพราะแม้เวลาจะผ่านไป 1 ปีหลังจากการเตรียมการตั้งแต่ก่อนทำประกัน ผู้เอาประกันก็ยังไม่เปลี่ยนความคิดในการฆ่าตัวตาย โดยต้องการให้บรัทจ่ายเงินสินไหมมรณะกรรมให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ไป ซึ่งนับเป็น Moral Hazard ที่น่ากลัวมากสำหรับผู้รับประกัน

 

นอกจากสัญญาประกันชีวิตแล้ว ยังมีเงื่อนไขความคุ้มครองเกี่ยวกับสัญญาเพิ่มเติมอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ได้แก่ สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองอุบัติเหตุ สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ (ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน) ซึ่งกำหนดไว้ว่า บริษัทจะไม่จ่ายผลประโยชน์ใดๆในกรณีที่อุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยนั้นมีสาเหตุจากการที่ผู้เอาประกันฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งในสัญญาเพิ่มเติมจะไม่มีเงื่อนไขข้อยกเว้น 1 ปีเหมือนสัญญาประกันชีวิต ดังนั้นไม่ว่าผู้เอาประกันได้รับภัยจากการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายเมื่อไหร่ ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามสัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองอุบัติเหตุ สัญญาเพิ่มเติมคุ้มครองสุขภาพ (ผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน

 ถึงแม้ว่าการฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายจะมีสาเหตุจากหลากหลายปัจจัย บางครั้งอาจเกิดจากอารมณ์ชั่ววูบหรือบางครั้งอาจเกิดจากการเตรียมการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งก็ตาม หน้าที่ของผู้รับประกันคือต้องพยายามลดความเสี่ยงในการรับประกันผู้ที่มีแนวโน้มในการฆ่าตัวตายหรือการพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่งการพิจารณารับประกัน (Underwriting) สามารถพิจารณาจากประวัติผู้เอาประกันก่อนหน้านี้ว่าเคยทำร้ายตัวเอง หรือเคยพยายามฆ่าตัวตายมาก่อนหรือไม่ รวมทั้งดูเหตุจูงใจที่อาจเกี่ยวข้องกับการทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย เช่น มีภาวะซึมเศร้า หดหู่ เป็นต้น หากมีประวัติดังกล่าวมาก่อนต้องดูด้วยว่าผ่านมานานหรือยังและเคยกระทำมากี่ครั้ง หากผู้สมัครเอาประกันมีการพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองด้วยรูปแบบใดๆมากว่า1 ครั้ง ก็ไม่ควรรับประกันเข้ามาเพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จส่วนใหญ่มักมีประวัติว่ามีภาวะหดหู่ และมีการพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง

แต่หากผู้สมัครเอาประกันเคยทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายเพียงครั้งเดียวหรือเคยมีภาวะหดหู่ซึมเศร้า และผ่านมาเป็นระยะเวลานานแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีโดยที่ผ่านมาไม่ปรากฏการกระทำดังกล่าวอีก ก็อาจพิจารณารับประกันได้ เป็นต้น

ส่วนการพิจารณาสินไหมทดแทน (Claim Assessment) ต้องพิจารณาถึงสาเหตุของการจ่ายสินไหม เพราะหากพิสูจน์แล้วว่าสาเหตุของการเรียกร้องสินไหมนั้นเกิดจากการการทำร้ายตัวเอง การฆ่าตัวตายหรือพยายามฆ่าตัวตายก็สามารถปฏิเสธการจ่ายสินไหมได้ตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์

 

 

 References 

1.http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%86%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2

2. Dr. A.J.F.M. Kerkhof "Suicide and attempted suicide" World Health, 47th Year, No.2, March - April 1994 p.18 – 20

3.สำนักงานพัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ “4วิกฤตรุมเร้า...คนไทย

เสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย” หน้า 46-49

4.นายแพทย์อภิชัย  มงคลและคณะ “รายงานการศึกษาพฤติกรรมการทำร้ายตัวเองที่เสียชีวิต (การฆ่าตัวตาย) โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์

5.มาโนช หล่อตระกูล “ฆ่าตัวตายในสังคมไทย: ปัญหาและการป้องกัน”

6.พจนานุกรมศัพท์ประกันภัย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พิมพ์ครั้งที่ 5) พ.ศ. 2549

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 370174เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2010 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท