ซ.ซวง
นาย นพรัตน์ รัตนพงศ์ผาสุข

วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม – หนังสือเล่มนี้ดี...อ่านแล้วฉลาด...อ่านแล้วรวย


หนังสือเล่มนี้ดี...อ่านแล้วฉลาด...อ่านแล้วรวย (ปัญญา)

“วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม”

เขียนโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (พระอาจารย์ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ศยาม ราคา 70 บาท

 

ผมได้หนังสือเล่มนี้มาจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์สิริกิติ์

เมื่อเดือน เม.ย. 53 ที่ผ่านมา

เล่มที่อยู่ในความครอบครองของผมนี้เป็นฉบับที่พิมพ์ครั้งที่ 10 เข้าไปแล้ว

เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติการพิมพ์ก็พบว่า เริ่มพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ ตุลาคม 2533

นับเป็นเวลาเกือบ 20 ปี หลังจากตีพิมพ์ครั้งแรก

แต่เนื้อหาภายในนั้นยังคงทันสมัย

ซึ่งก็น่าจะเป็นเพราะ ธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นอกาลิโก

ไม่ขึ้นกับกาล ทนทานต่อการพิสูจน์เสมอ

 

ชีวิตผมก่อนหน้านี้ ต้องขอออกตัวว่าเป็นพวกใกล้เกลือกินด่าง

อาจเป็นเพราะหลงไหลไปกับกระแสการนิยมในวัฒนธรรม

และภูมิปัญญาตะวันตก จนหลงลืมรากเหง้าของชาวตะวันออกเราไปเสียสิ้น

 

ผมเคยได้ยินคำว่า “โยนิโสมนสิการ”  มาหลายครั้งหลายครา

ครูบาอาจารย์หลายท่านก็พูดตรงกันว่า

ถ้าอยากเป็นชาวพุทธที่แท้ต้องรู้จัก โยนิโสมนสิการ

ที่สำนวนส่วนใหญ่มักจะแปลว่า “การพิจารณาโดยแยบคาย”

ซึ่งแม้ฟังแล้วผมก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมว่า

การคิดพิจารณาของชาวพุทธแบบที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการนั้นเป็นอย่างไรกันแน่

 

แต่ในหนังสือเล่มนี้ พระอาจารย์ประยุทธ์ ปยุตโต ท่านได้กรุณาให้อรรถาธิบาย

ถึงความหมาย และแจกแจงวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการไว้ถึง 10 แบบ

ซึ่งแต่ละแบบนั้น ท่านก็ได้อธิบายแจกแจง โดยละเอียด เป็นระบบ

เป็นขั้นเป็นตอน พร้อมทั้งยกพุทธพจน์จากพระไตรปิฎกมาอ้างอิงทั้งสิ้น

 

หลังจากที่ได้ติดตามอ่านวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการทั้ง 10 แบบ

ในแบบเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง เหตุเพราะปัญญาอาจจะยังต่ำต้อย

อีกทั้งยังไม่ค่อยมีทักษะในการคิดแบบโยนิโสมนสิการมาก่อน

แต่ประกายบางอย่างในความคิดก็แว็บออกมาว่า

นี่แหละคือขุมทรัพย์อันล้ำค่าที่พระบรมศาสดา

ได้ทรงพระกรุณามอบไว้ให้สรรพสัตว์ผู้เบาปัญญาทั้งหลาย

เอาไว้ใช้พัฒนาฝึกฝนพัฒนาปัญญาให้สูงขึ้นตามลำดับ

 

และบัดนี้ภูมิปัญญาแห่งองค์พระศาสดา ก็ได้รับการถ่ายทอด

ไว้อย่างหมดจดงดงาม โดยพระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว

ก็เหลือแต่เพียงว่า  ผลึกแห่งภูมิปัญญาของพระศาสดา และความพยายามของพระสาวกของพระองค์นั้น

จะมีสาธุชนคนใดเก็บเอาไปใช้ฝึกฝนให้เกิดประโยชน์แก่ตนทั้งทางโลกและทางธรรมได้บ้าง

 

สำหรับทางธรรมนั้นคงไม่ต้องสาธยายอะไรให้มากความ

เพราะคุณค่า และอานิสงส์แห่งโยนิโสมนสิการนั้นเอง

ได้ทำให้เกิดทั้งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอนุพุทธะ อีกมากมายหลายองค์

อีกทั้งโยนิโสมนสิการแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านี่เอง

ที่ทำให้ท่านได้ทรงค้นพบซึ่งหลักธรรม ปฏิจจสมุปบาท และอริยสัจ 4

อันเป็นแก่นแท้แห่งพุทธศาสนา

และเป็นมรรคานำสรรพสัตว์ออกจากกองทุกข์ในวัฏฏะสงสารอันไม่รู้จบ

 

ส่วนอานิสงส์ในทางโลกของวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการเองนั้น

ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อยทีเดียว

จำได้ว่าครั้งหนึ่ง ที่ผมเคยสนใจศึกษาว่า

Systems Thinking - การคิดเชิงระบบ

อันเป็นวินัยประการที่ 5

ในวินัย 5 ประการ (Five Disciplines)

ที่นำไปสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

(Learning Organization – LO)

ที่ปรมาจารย์ Peter Senge บอกกล่าวไว้นั้น

มันเป็นอย่างไรกันแน่

 

แต่ก็อาจเป็นเพราะยังไม่ได้ออกแรงขวนขวายให้มากพอหรือเปล่าก็ไม่ทราบได้

จึงทำให้ในที่สุดก็ยังจับอะไรเป็นรูปธรรมไม่ได้ว่า

แล้วไอ้เจ้า Systems Thinking นั้นมันคือวิธีการคิดอย่างไร

 

แต่ถึงเวลานี้ หลังได้รู้จักกับ โยนิโสมนสิการ อันเป็นวิธีคิดตามหลักพุทธธรรม

ผมก็บอกกับตัวเองว่า

คงไม่ต้องไปเสียเวลาค้นหาแล้วล่ะว่า

Systems Thinking ที่ Peter Senge หมายถึงนั้นมันคืออะไร และอย่างไร

เพราะผมเชื่อว่า

วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการของทางพุทธเรานั้น

มันสุดยอดกว่าวิธีการคิดแบบใดๆ ในไตรภูมิเป็นแน่

 

และผมก็เชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า ถ้าปัจเจกชนคนใด

สามารถฝึกฝนวิธีการคิดแบบโยนิโสมนสิการทั้ง 10 แบบจนชำนาญได้แล้วล่ะก็

เขาผู้นั้นจะเป็นผู้ฉลาดปราดเปรื่องในทางโลก อีกทั้งยังเปี่ยมไปด้วยปัญญาในทางธรรมอีกด้วย

 

และหากวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการนั้นสามารถขยายขอบเขตขึ้นมาสู่ระดับของชุมชน

หรือองค์กรแล้วละก็

องค์กรนั้น หรือชุมชนนั้น ก็น่าจะขยับเข้าใกล้สู่นิยามความหมาย

ของการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้อย่างแน่นอนที่สุด

 

และหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ

ก็เกิดความคิดวูบไหวเป็นประกายไอเดียเล็กๆ ขึ้นมาอีกว่า

หากเราสามารถผนวกรวมเอาวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ

เข้ากับกระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue)

มันก็น่าจะทำให้เกิดรูปแบบ หรือกระบวนการ

อันเป็นรูปธรรมที่จะน้อมนำให้เกิดคุณสมบัติของการเป็น

องค์กรแห่งการเรียนรู้  ได้อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

ซึ่งตรงนี้ก็ยังไม่ทราบว่า มีชุมชนใด

หรือหน่วยงานใด ที่ได้ทดลองทำไปแล้วบ้าง

แต่สำหรับผม ก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า

หากในอนาคตได้มีส่วนร่วมในการจัดวงสุนทรียสนทนา

อีกเมื่อใดก็คิดว่าจะเสนอให้ทีมงานลองนำรูปแบบวิธิการคิดแบบโยนิโสมนสิการ

เข้าไปผสมผสานในกระบวนการสุนทรียสนทนา

ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นกระบวนการกลุ่มที่สามารถ

ทำให้คนหลายๆคน สามารถฝึกฝนกระบวนการคิดแบบ

โยนิโสมนสิการไปพร้อมๆ กันได้

ซึ่งน่าจะทำให้เกิดผลลัพธ์อันทรงพลังที่คาดไม่ถึงเลยทีเดียว

 

คิดๆ ฝันๆ ไปเล่นๆ แล้วก็น่าเพลิดเพลินใจ และน่าค้นหาว่า

ผลลัพธ์จากกระบวนการเช่นนี้มันจะออกมาเป็นยังไงหนอ

ถ้าโชคดีมีบุญพอ อาจจะได้เห็น

กระบวนการสุนทรียสนทนาภายใต้วิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ เป็นบุญตา

แล้วคงได้กลับมาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่ง

ขอให้วันนั้นมาถึงเร็วๆ ด้วยเถิด

 

สุดท้ายนี้ก็ไม่รู้จะกล่าวอะไรอีกแล้วครับ

นอกจากอยากบอกไปยังเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ชาวพุทธตามทะเบียนบ้าน ทุกท่านว่า

ไหนๆ ก็ไหนแล้ว จะไม่ลองศึกษาและฝึกฝนวิธีคิดแบบโยนิโสมนสิการ

เพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็น “ชาวพุทธ” ได้อย่างเต็มภาคภูมิซักหน่อยหรือครับ

 

ขอนอบน้อมแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า บรมศาสดา ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบรมครูของโลกทั้งสาม

ขอนอบน้อมแด่พระธรรม คำสั่งสอนอันเปี่ยมด้วยคุณค่า ช่วยปลดเปลื้องทุกข์เวทนาของเหล่าสรรพสัตว์

ขอนอบน้อมแด่พระสงฆ์ พระสาวกผู้อุทิศตนเพื่อรักษา สืบทอด และเผยแผ่หลักธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์พระศาสดา ให้คงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน

 

ท่านรู้สึกเหมือนผมมั๊ยครับว่า...โชคดีแค่ไหนที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา

ได้เป็นพสกนิกรอยู่ในพุทธเกษตรเขตแดนสุวรรณภูมิแห่งองค์มหาธรรมราชา

 

หากเกิดชาติหน้าฉันใด ขอให้ข้าพเจ้าทั้งหลายจงมีโชคดีเฉกเช่นนี้ตลอดไปด้วยเทอญ

 

 

^_/|\_^_/|\_^_/|\_^

หมายเลขบันทึก: 370055เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2010 00:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ครับ  เล่มนี้  ผมหยิบมาอ่านบ่อยๆ ครับ  ไม่ล้าสมัยเลย

สวัสดีครับ ท่านรอง Small man

อ่านบ่อยๆ แบบนี้ก็ยิ่งรวยสิครับ

ต่อไปผมก็ตั้งจะว่าจะอ่านบ่อยๆ ฝึกฝนบ่อยๆ เช่นกัน

ขอบคุณท่านรองที่แวะมาทักทายนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท