โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (14.3) ชีวิตกับการเรียนรู้


...การปลูกด้วยข้าวกล้องได้ผลดีเหมือนกับการปลูกด้วยข้าวเปลือก...

     คุณมะนาวเลือกข้าวพันธุ์ปทุมธานีในการทดลองครั้งนี้ โดยเพาะเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘ แล้วดำไปตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๘

ภาพที่ ๗๗ คุณมะนาวกับแปลงข้าวทดลอง

     แปลงนานี้พื้นที่ไม่เกิน ๑ งาน ได้ปรับปรุงบำรุงด้วยการใส่ปุ๋ยหมักประมาณ ๓ กระสอบ เมื่อดำต้นกล้า ซึ่งเพาะจากข้าวกล้อง ได้ไปสักระยะหนึ่งก็ฉีดฮอร์โมนรกหมูผสมนมสด แล้วฉีดสมุนไพรไล่แมลง โดยมีส่วนผสม ได้แก่ สะเดา บอระเพ็ด หางไหล ฟ้าทลายโจร ยาสูบ และมะกรูด สมุนไพรพื้นบ้านหาได้ง่ายทั้งนั้น หลายอย่างก็เก็บเอาตามริมรั้ว หรือในสวน

ภาพที่ ๗๘ แปลงนาทดลองในบ้าน

     กอข้าวแต่ละกอมีความแตกต่างกันพอสมควร บ้างก็กอใหญ่มาก บ้างก็กอเล็ก จึงลองนับกอเล็กดู นับต้นข้าวได้ ๑๕ ต้น แล้วหันมานับกอใหญ่ นับได้ ๓๕ ต้น ส่วนกออื่นๆ ก็มีตัวเลขที่ต่างกันออกไป จะเป็นเพราะเหตุใดหนอ ขอให้นักเรียนชาวนาไปขบคิดกันต่อ

     ได้แนะนำนักเรียนชาวนามาหลายคนแล้ว ถึงตอนนี้จึงใคร่ขอแนะนำอีก ๑ ราย เป็นคนสุดท้ายแล้ว นั่นคือคุณคง ซึ่งเลือกปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี คุณลงเล่าให้ฟังอย่างสั้นๆว่า ได้นำเมล็ดข้าวกล้องจำนวน ๑๓๗ เมล็ด เพาะเป็นต้นกล้า

ภาพที่ ๗๙ คุณคงกับแปลงข้าวทดลอง

     ช่วงไร่เรี่ยกันก็มีการเตรียมแปลง นำผสมปุ๋ยหมักชีวภาพลงไปถึง ๔ กระสอบ กับพื้นที่ไม่เกิน ๑ งาน

     การบำรุงต้นข้าว ได้ใส่ฮอร์โมนไข่หอยผสมกับผลไม้สุก ซึ่งประกอบด้วยฟักทองสุกและข้าวโพดหวาน

ภาพที่ ๘๐ กอข้าวและแปลงทดลอง

     กอข้าวแต่ละกอสังเกตดูได้ชัดเจนว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร นับๆดู บางกอก็มีต้นข้าวถึง ๔๔ ต้น แต่บางกอก็มีน้อยกว่านี้ ประมาณ ๓๐ ต้น กอเล็กมีต้นข้าวเพียง ๑๕ ต้นก็มีมาก

     คุณคงได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริเวณพื้นที่แปลงทดลองปลูกข้าวด้วยข้าวกล้องนี้ แต่เดิมเป็นบริเวณที่เลี้ยงหมูมาก่อน จึงมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของต้นข้าวในครั้งนี้

     พาเราๆท่านๆแวะเยี่ยมชมแปลงข้าวทดลองกันไปแล้วถึง ๗ บ้าน แต่ละแปลงมีความเหมือนและความแตกต่างกันดังรายละเอียดทั้งหมดข้างต้น ข้าวที่เจริญเติบโตจนแตกกอเล็กใหญ่ เป็นข้าวที่ปลูกด้วยข้าวกล้องทั้งนั้น ซึ่งนักเรียนชาวนาทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เห็นประจักษ์แล้วว่าการปลูกด้วยข้าวกล้องได้ผลดีเหมือนกับการปลูกด้วยข้าวเปลือก หากแต่ว่า ข้าวกล้องจะเห็นสภาพเมล็ดข้าว จึงสามารถเลือกคัดเอาเฉพาะเมล็ดที่ดีๆสวยๆได้ หากเป็นข้าวเปลือกก็จะไม่ทราบ

     การเรียนรู้ของนักเรียนชาวนายังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้ เพราะนี่ยังถือเป็นฉากแรกๆ แต่เป็นจังหวะการเรียนรู้ต่อวิถีชีวิตที่สำคัญพอสมควร การพิสูจน์เชิงประจักษ์ทำให้นักเรียนชาวนาเกิดความรู้ความเข้าใจด้วยการทดลองด้วยตัวของนักเรียนชาวนาเอง

 

หมายเลขบันทึก: 36978เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2006 14:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
  • ตามมาอ่าน
  • ได้ความรู้มากเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท