กระบวนการทางปัญญา


กระบวนการทางปัญญา 10 ทักษะ
                   
   

กระบวนการทางปัญญา

1.   ฝึกสังเกต

      สังเกตในสิ่งที่เราเห็น หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ไปดูนก ดูผีเสื้อ หรือในการทำงาน การฝึกสังเกตจะทำให้เกิดปัญญามาก โลกทรรศ์และวิธีคิด สติและสมาธิ จะเข้าไปมีผลต่อการสังเกต และสิ่งที่สังเกต

2.   ฝึกบันทึก

       เมื่อสังเกตอะไรแล้วควรจดบันทึก โดยจะวาดรูปหรือบันทึกข้อความ ถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอ ละเอียดมากน้อยตามวัยและตามสถานการณ์ การบันทึกเป็นการพัฒนาปัญญา

 

3.   ฝึกการนำเสนอต่อที่ประชุมกลุ่ม

      เมื่อมีการทำงานกลุ่ม เราเรียนรู้และบันทึกอะไรมา จะนำเสนอให้เพื่อนหรือครูรู้เรื่องได้อย่างไร ก็ต้องฝึกการนำเสนอ การนำเสนอได้ดีจึงเป็นการพัฒนาปัญญา ทั้งของผู้นำเสนอและของกลุ่ม

 

4.   ฝึกการฟัง

      ถ้ารู้จักฟังผู้อื่นก็จะทำให้ฉลาดขึ้น โบราณเรียกว่า พหูสูต บางคนไม่ได้ยินคนอื่นพูด เพราะหมกมุ่นอยู่ในความคิดของตัวเอง หรือมีความฝังใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเรื่องอื่นเข้าไม่ได้ ฉันทะ สติ และสมาธิ จะช่วยให้ฟังได้ดีขึ้น

 

5.   ฝึกปุจฉา-วิสัชนา

      เมื่อมีการนำเสนอและการฟังแล้วฝึกปุจฉา-วิสัชนา หรือถาม-ตอบ ซึ่งเป็นการฝึกใช้เหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำให้เกิดความแจ่มแจ้ง ในเรื่องนั้นๆ ถ้าเราฟังครูโดยไม่ถาม-ตอบ ก็จะไม่แจ่มแจ้ง

6.   ฝึกตั้งสมมติฐานและตั้งคำตอบ

      เวลาเรียนรู้อะไรไปแล้ว เราต้องสามารถตั้งคำถามได้ว่า สิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นเกิดจากอะไร อะไรมีประโยชน์ ทำอะไรจะสำเร็จประโยชน์อันนั้น และมีการฝึกการตั้งคำถาม ถ้ากลุ่มช่วยกันคิดคำถามที่มีคุณค่าและมีความสำคัญ ก็จะอยากได้คำตอบ

 

7.   ฝึกการค้นหาคำตอบ

      เมื่อมีคำถามแล้วก็ควรไปค้นหาคำตอบจากหนังสือ จากตำรา จากอินเทอร์เน็ต หรือไปคุยกับคนเฒ่าแก่ แล้วแต่ธรรมชาติของคำถามที่สำคัญจะสนุก และทำให้ได้ความรู้มาก ต่างจากการท่องหนังสือโดยไม่มีคำถาม บางคำถามเมื่อค้นหาคำตอบทุกวิธีทางจนหมดแล้วไม่พบ แต่คำถามยังอยู่ และมีความสำคัญ ต้องหาคำตอบต่อไปด้วยการวิจัย

 

8.   การวิจัย

      การวิจัยเพื่อหาคำตอบเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ทุกระดับ การวิจัยจะทำให้ค้นพบความรู้ใหม่ ซึ่งจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ สนุกและมีประโยชน์มาก

9.   เชื่อมโยงบูรณาการ

      เชื่อมโยงบูรณาการให้เห็น ‘ความเป็นทั้งหมด’ และเห็นตัวเอง ธรรมชาติของสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง เมื่อเรียนรู้อะไรมา ควรเชื่อมโยงเป็นบูรณาการให้เห็นความเป็นทั้งหมด ในความเป็นทั้งหมดจะมีความงามและมีมติอื่นผุดขึ้นบังเกิดออกมาเหนือความเป็นส่วนๆ และในความเป็นทั้งหมดนั้นมองให้เห็นตัวเอง เกิดการรู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่า สัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร จริยธรรมอยู่ที่ตรงนี้ คือการเรียนรู้ตัวเองตามความเป็นจริง ว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร ดั้งนั้น ไม่ว่าการเรียนรู้อะไรๆ ก็มีมิติทางจริยธรรมอยู่ในนั้นเสมอ มิติทางจริยธรรมอยู่ในความเป็นทั้งหมดนั่นเอง ต่างจากการเอาจริยธรรมไปเป็นวิชาๆหนึ่งแบบแยกส่วนแล้วก็ไม่ค่อยได้ผล

   ในการบูรณาการความรู้ที่เรียนรู้มาให้รู้ความเป็นทั้งหมดและเห็นตัวเองนี้ จะนำไปสู่อิสริภาพและความสุขอันล้นเหลือ เพราะหลุดพ้นจากความบีบคั้นของความไม่รู้ การไตร่ตรองนี้ จะโยงกลับไปสู่วัตถุประสงค์ดังกล่าว มิใช่เป็นไปเพื่อความกำเริบแห่งอหังการ-มมังการ และรบกวนการอยู่ร่วมกันด้วยสันติ

10.   ฝึกการเขียนเรียบเรียงทางวิชาการถึงกระบวนการเรียนรู้และความรู้ใหม่ที่ได้มา

        การเรียบเรียงทางวิชาการเป็นการเรียบเรียงให้ประณีตขึ้น ทำให้ค้นคว้าหาหลักฐานที่มาที่อ้างอิงของความรู้ให้ถี่ถ้วนแม่นยำขึ้น

       การเรียบเรียงทางวิชาการจึงเป็นการพัฒนาตนเองอย่างสำคัญ และเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นในวงกว้างออกไป

 

ที่มา : จากแผ่นพับจัดทำเผยแพร่โดยมูลนิธิสดศรี-สวัสดิ์วงศ์และสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาแห่งชาติ

 www.tamdee.net/ note/view2.php?No=84   http://www.budpage.com/wisdom01.shtml
                    



 



 



 



 



 



 



 

หมายเลขบันทึก: 36961เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2006 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ยังไม่ใครเข้ามาดูสักอันเลยนะ ก็เลยมาดูให้
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท