สรุป พรบ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา


พรบ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา 2546

สรุปสาระสำคัญ  พรบ.สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546

นางจีระพร   สุทธเขตต์

หมวด 1  สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา

ส่วนที่ 1  บททั่วไป             

ส่วนที่ 2  คณะกรรมการคุรุสภา

ส่วนที่ 3  คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ        

ส่วนที่ 4  การดำเนินงานของคุรุสภา

ส่วนที่ 5  การประกอบวิชาชีพควบคุม              

ส่วนที่ 6  สมาชิกคุรุสภา

หมวด 2  คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและ

บุคลากรทางการศึกษา

ส่วนที่ 1  บททั่วไป

ส่วนที่ 2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

หมวด 3  การกำกับดูแล

หมวด 4 บทกำหนดโทษ

.....................................................................................

กฎหมายฉบับนี้มีหลักการสำคัญ     คือแก้ไขพระราชบัญญัติครู พุทธศักราช 2488 ให้เป็นกฎหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา และกำหนดให้มีองค์กรเกี่ยวกับวิชาชีพครู 2 องค์กร ได้แก่ (1) สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกว่า คุรุสภา มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับศึกษา ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และ(2) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมสวัสดิการ สวัสดิภาพ และส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของกระทรวง รวมทั้งบริหารจัดการองค์การค้าของคุรุสภา

สภาครูและบุคลากรทางการศึกษา เรียกว่า “คุรุสภา” มีวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ มีฐานะเป็นนิติบุคคลในกำกับของกระทรวง

คุรุสภา มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
            (๑) กำหนดมาตรฐานวิชาชีพ ออกและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ กำกับ ดูแลการปฏิบัติ ตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งการพัฒนาวิชาชีพ

    (๒) กำหนดนโยบายและแผนพัฒนาวิชาชีพ

    (๓) ประสาน ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ

 อำนาจหน้าที่ของคุรุสภา (มาตรา9)
คุรุสภามีหน้าที่
1.   กำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ
2.   ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
3.   ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอประกอบวิชาชีพ
4.   พักใช้ใบอนุญาตหรือเพิกถอนใบอนุญาต
5.   สนับสนุนและพัฒนาวิชาชีพ
6.   ยกย่อง และผดุงเกียรติผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
7.   รับรองปริญญา ประกาศนียบัตร หรือวุฒิบัตรของสถาบันต่าง ๆ ตามมาตรฐานวิชาชีพ
8.   รับรองความรู้ประสบการณ์ ในการประกอบวิชาชีพ
9.   ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ
10.   เป็นตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาของประเทศไทย
11.   ออกข้อบังคับคุรุสภาว่าด้วย
(ก) การกำหนดลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 13
(ข) การออกใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การพักใช้ใบอนุญาต การเพิกถอนใบอนุญาต และการรับรองความรู้ ประสบการณ์ทางวิชาชีพ
(ค) หลักเกณฑ์และวิธีการในการขอรับใบอนุญาต
(ง) คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต
(จ) จรรยาบรรณของวิชาชีพ และการประพฤติผิดจรรยาบรรณ
(ฉ) มาตรฐานวิชาชีพ
(ช) วิธีการสรรหา การเลือก การเลือกตั้ง และการแต่งตั้งคณะกรรมการคุรุสภาและคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
(ซ) องค์ประกอบ หลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา
(ฌ) หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาเลขาธิการคุรุสภา
(ญ) การใด ๆ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้
12.   ให้คำปรึกษาหรือเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาวิชาชีพ
13.   ให้คำแนะนำหรือเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพ หรือ การออกกฎกระทรวง ระเบียบ
14.   กำหนดให้มีคณะกรรมการเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคุรุสภา
15.   ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคุรุสภา

การเสนอร่างข้อบังคับคุรุสภา

จะกระทำได้เมื่อคณะกรรมการคุรุสภามีมติเห็นชอบกับร่างข้อบังคับดังกล่าว และให้ประธานกรรมการคุรุสภาเสนอร่างข้อบังคับนั้นต่อรัฐมนตรีโดยไม่ชักช้า รัฐมนตรีอาจยับยั้งร่างข้อบังคับนั้นได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลโดยแจ้งชัด นอกจากอำนาจหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้คุรุสภามีอำนาจกระทำกิจการ ดัง ต่อไปนี้ด้วย
1.   ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สิน ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้
2.   ทำนิติกรรมสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ
3.   ฉัน้ยืมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ คุรุสภา
4.   สนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง 2-3 รายได้ของคุรุสภา (มาตรา 10) ได้แก่
(1) ค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้
(2) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน
(3) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของคุรุสภา
(4) เงินและทรัพย์สินซึ่งมีผู้อุทิศให้แก่คุรุสภา
(5) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (1) (2) (3) และ (4) รายได้ของคุรุสภา ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ รวมทั้งไม่อยู่ในข่ายการบังคับตามกฎหมายภาษีอากร

คณะกรรมการคุรุสภา

                เป็นองค์กรบริหาร มีอำนาจหน้าที่บริหารอำนาจหน้าที่ของคุรุสภา องค์ประกอบของคณะกรรมการคุรุสภา มีจำนวน 39 คน (มาตรา 12) ประกอบด้วย
1.   ประธานกรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ
2.   กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภา การศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น
3.   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก ผู้ที่ประสบการณ์สูง ด้านละ 1 คน รวม 7 คน
4.   กรรมการจากผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งเลือกตั้งกันเอง 4 คน จากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 3 คน และเอกชน 1 คน
5.   กรรมการจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาซึ่งเลือกตั้งจากผู้ที่ดำรงตำแหน่งครู ผู้บริหารทางการศึกษา และมาจากสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา สถาบันอาชีวศึกษา สถานศึกษาเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามสัดส่วนจำนวน ผู้ประกอบวิชาชีพ19 คน และ(6)เลขาธิการคุรุสภา เป็นเลขานุการ
การได้มาซึ่งคณะกรรมการคุรุสภา (มาตรา 12 วรรคท้าย และมาตรา 18)
ตามวิวิธีการดังนี้
1.   ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใช้วิธีการสรรหา
2.   กรรมการจากผู้แทนผู้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะ หรือศึกษาศาสตร์ ใช้วิธีการเลือกกันเอง
3.   กรรมการจาก ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา ใช้วิธีการเลือกตั้ง
วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการคุรุสภา (มาตรา 16)
ให้กรรมการตามข้อ (1) (3) (4) และ (5) อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีก แต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้

หน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา (มาตรา 20)
กรรมการคุรุสภามีหน้าที่
1.   บริหารตามอำนาจหน้าที่ของคุรุสภา
2.   ให้คำปรึกษาแก่คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
3.   พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพตามมาตรา 54
4.   เร่งรัดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนราชการ หรือคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด
5.   แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา
6.   ควบคุมดูแลการบริหารงานทั่วไป ตลอดจนออกระเบียบข้อบังคับ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในเรื่องดังต่อไปนี้
(ก) การจัดแบ่งส่วนงานและหน้าที่ของสำนักงานคุรุสภา
(ข) การหนดตำแหน่ง คุณสมบัติเฉพาะ อัตราเงินเดือน ค่าจ้าง และค่าตอบแทนอื่นของเจ้าหน้าที่ของคุรุสภา
(ค) การคัดเลือก การบรรจุ การแต่งตั้ง การถอดถอน วินัยและการลงโทษทางวินัย การออกจากตำแหน่ง การร้องทุกข์
      และการอุทธรณ์การลงโทษของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งวิธีการเงื่อนไขในการจ้างพนักงานเจ้าหน้าที่ของคุรุสภา
(ง) การจัดการการเงิน การพัสดุ และทรัพย์สินของคุรุสภา
(จ) กำหนดอำนาจหน้าที่และระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจสอบภายใน
7.   กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา
8.   ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา
9.   พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ

                คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ มีหน้าที่ควบคุมและรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพ โดยมี องค์ประกอบของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ มีจำนวน 17 คน (มาตรา 21) ประกอบด้วย
1.   ประธานกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุรุสภา
2.   กรรมการโดยตำแหน่ง 3 คน ได้แก่ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
3.   กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการคุรุสภาสรรหา จากผู้ทรงคุณวุฒิสูงด้านการศึกษา การบริหารและกฎหมาย4 คน
4.   กรรมการจากคณาจารย์ในคณะศึกษาศาสตร์ ทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งเลือกกันเอง 2 คน
5.   กรรมการจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาซึ่งเลือกตั้งจาก ผู้ที่ดำรงตำแหน่งครูที่มีประสบการณ์ด้านการสอนไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือดำรงตำแหน่งอาจารย์ 3 หรือ มีวิทยฐานะเป็นครูชำนาญการขึ้นไป 6 คน ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาและ มีประสบการณ์ในตำแหน่งไม่น้อยกว่า 10 ปี ผู้ที่ดำรงตำแหน่งผู้บริหารการศึกษาที่มีประสบการณ์ในตำแหน่งไม่น้อยกว่า 10 ปี และ บุคลากรทางการศึกษาอื่นที่มีประสบการณ์ ในตำแหน่งไม่น้อยกว่า 10 ปี
6.   เลขาธิการคุรุสภา เป็นกรรมการและเลขานุการ

การได้มาซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (มาตรา 22)

                ใช้วิธีการสรรหา การเลือกและการเลือกตั้ง ตามที่กำหนดในข้อบังคับคุรุสภา วาระดำรงตำแหน่งของกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (มาตรา 24) ให้กรรมการตามข้อ 2.5.1 (3) (4) และ (5) อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับการแต่งตั้งอีกแต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้

อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมีหน้าที่
1.   พิจารณาการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา และการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต
2.   กำกับดูแลการปฏิบัติตามมาตรฐานและจรรยาบรรณ
3.   พัฒนา และเสนอแนะคณะกรรมการคุรุสภากำหนดมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ
4.   ส่งเสริม และพัฒนาวิชาชีพไปสู่ความเป็นเลิศ
5.   แต่งตั้งที่ปรึกษา คณะอนุกรรมการ หรือมอบหมายกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ เพื่อกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
6.   ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ
7.   พิจารณาหรือดำเนินการในเรื่องอื่นตามที่รัฐมนตรีหรือคณะกรรมการคุรุสภามอบหมาย ให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพเสนอรายงานการดำเนินงานประจำปีต่อคณะกรรมการคุรุสภาตามระเบียบที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนดให้มีสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภา (มาตรา 34) โดยมีเลขาธิการคุรุสภาบริหารกิจการของสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน (มาตรา 35-42)

ให้วิชาชีพครู ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารการศึกษา เป็นวิชาชีพควบคุม

ตามพระราชบัญญัตินี้ การกำหนดวิชาชีพให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงห้ามมิให้ผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุม โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (มาตรา 43)
1.   วิทยากรพิเศษทางการศึกษา
2.   ผู้ที่ไม่ได้ประกอบวิชาชีพหลักทางด้านการสอนแต่ในบางครั้งต้องทำหน้าที่สอนด้วย
3.   นักศึกษา หรือผู้ได้รับใบอนุญาตปฏิบัติการสอน ซึ่งฝึกหัดในความควบคุมของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา
4.   ผู้ที่จัดการศึกษาตามอัธยาศัย
5.   ผู้สอนในศูนย์การเรียนตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ หรือสถานที่เรียนที่หน่วยงานจัดการศึกษานอกระบบและตามอัธยาศัย บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ โรงพยาบาล สถาบันทางการแพทย์ สถานสงเคราะห์ และสถาบันสังคมอื่นเป็นผู้จัด
6.   คณาจารย์ ผู้บริหารในระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาทั้งของรัฐและเอกชน
7.   ผู้บริหารการศึกษาระดับเหนือเขตพื้นที่การศึกษา
8.   บุคคลอื่นตามที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ
คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ขอรับใบอนุญาต (มาตรา 44)

 คุณสมบัติ
1.   มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
2.   มีวุฒิปริญญาทางการศึกษาหรือเทียบเท่า
3.   ผ่านการปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษา เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอน
ลักษณะต้องห้าม
1.   เป็นผู้มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
2.   เป็นคนไร้ความสามารถ
3.   เคยต้องโทษจำคุกในคดีที่คุรุสภาเห็นว่าอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

การขอรับใบอนุญาต

                การออกใบอนุญาต การกำหนดอายุใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การขอรับใบแทนใบอนุญาต และการออกใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ที่กำหนดในข้อบังคับของคุรุสภา (มาตรา 45) ผู้ขอรับใบอนุญาต ขอต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพพิจารณาวินิจฉัยไม่ออกใบอนุญาต ไม่ต่ออายุใบอนุญาต ตามวรรคหนึ่ง อาจอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการ คุรุสภาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับการแจ้ง

การประกอบวิชาชีพ

                มีข้อกำหนด 1. ห้ามมิให้ผู้ใดแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิหรือพร้อมจะประกอบวิชาชีพ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากคุรุสภา และห้ามมิให้สถานศึกษารับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาต เข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคุรุสภา 2. ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตต้องประกอบวิชาชีพภายใต้ข้อบังคับของคุรุสภา (มาตรา 47) 3. ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตต้องประพฤติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพตามข้อบังคับของคุรุสภา (มาตรา 48) 4. ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งอยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตผู้ใดประกอบวิชาชีพควบคุมหรือแสดงด้วยวิธีใด ๆ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนมีสิทธิหรือพร้อมจะประกอบวิชาชีพควบคุมนับแต่วันที่ทราบคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้น (มาตรา 56)

มาตรฐานวิชาชีพ (มาตรา 49)

       ประกอบด้วย       (1) มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ  (2) มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ     (3) มาตรฐานการปฏิบัติตน การกำหนดระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ ให้เป็นไปตามข้อบังคับของคุรุสภาจรรยาบรรณของวิชาชีพ (มาตรา 50) ประกอบด้วย        (1) จรรยาบรรณต่อตนเอง (2) จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ (3) จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ (4) จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ และ (5)จรรยาบรรณต่อสังคม

 

 

อำนาจการวินิจฉัยชี้ขาด (มาตรา 54)

      ให้คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ยกข้อกล่าว หา (2) ตักเตือน (3) ภาคทัณฑ์ (4) พักใช้ใบอนุญาตมีกำหนดระยะเวลาตามที่เห็นสมควร แต่ไม่เกิน 5 ปี (5) เพิกถอนใบอนุญาต การอุทธรณ์คำวินิจฉัยชี้ขาด (มาตรา 55) ให้(1)        ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพชี้ขาดตาม  (2) (3) (4)หรือ (5) อาจอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อคณะกรรมการคุรุสภาภายใน 30 วัน นับแต่ วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย(2)คำวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการคุรุสภาให้ทำเป็นคำสั่งคุรุสภาพร้อมด้วยเหตุผลของการวินิจฉัยชี้ขาด การขอรับใบอนุญาตของผู้ถูกสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งถูกสั่งเพิกถอน จะยื่นขออีกไม่ได้จนกว่าจะพ้น 5 ปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอน (มาตรา 57)

สมาชิกของคุรุสภา

         ประเภทสมาชิกของคุรุสภา (มาตรา 58) มี 2 ประเภทดังนี้ (1) สมาชิกสามัญ   (2) สมาชิกกิตติมศักดิ์   คุณสมบัติของสมาชิก (มาตรา 59)) สมาชิกสามัญ ต้องเป็นผู้มีใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ (2) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะกรรมการคุรุสภาแต่งตั้งโดยมติเป็นเอกฉันท์

 สาระสำคัญเกี่ยวกับคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

                วัตถุประสงค์เพื่อ       (1) ส่งเสริมสวัสดิการ สวัสดิภาพ สิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่นของ             ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา    (2) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา (3) ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษาของกระทรวงในเรื่องสื่อการเรียนการสอน และเรื่องอื่นที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา (4) ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนา การดำเนินงานด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพ และผดุงเกียรติของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา

อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

(มาตรา 63) ได้แก่ (1) ดำเนินงานด้านสวัสดิการ สวัสดิภาพ สิทธิประโยชน์เกื้อกูลอื่นของผู้ประกอบ    วิชาชีพทางการศึกษา (2) ผดุงเกียรติของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา        (3) ส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้รับสวัสดิการต่างๆ   (4) ให้คำแนะนำในเรื่องการส่งเสริมสวัสดิการ สิทธิประโยชน์และความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง     (5) ดำเนินงานและบริหารจัดการองค์การจัดหาผลประโยชน์ของสำนักงานฯ (6) ออกข้อบังคับและหลักเกณฑ์ในการดำเนินกิจการ (7)   แต่งตั้งคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการ หรือมอบหมายให้กรรมการส่งเสริมสวัสดิการฯเพื่อกระทำการใด ๆ แทน    (8) สรรหาและแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา(9) ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการบริหารงานสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา เป็นองค์กรบริหาร มีจำนวน 23 คน (มาตรา 64) ประกอบด้วย (1) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธาน       (2) กรรมการ        โดยตำแหน่ง6 คน  เลขาธิการสภาการศึกษา  เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  เลขาธิการคุรุสภา  เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา       (3)กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจาก  ผู้เชี่ยวชาญด้านละ 1 คน  รวม 3  คน  ด้านสวัสดิการสังคม ด้านบริหารธุรกิจและ ด้านกฎหมาย       (4) กรรมการที่ได้รับเลือกตั้งจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาที่มาจากสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา สถาบัน   อาชีวศึกษา  สถานศึกษาเอกชน         และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 คน (5) เลขาธิการคณะกรรมการ    ส่งเสริมสวัสดิการและ  สวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา   เป็นกรรมการและเลขานุการ  การได้มาซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการฯ (มาตรา 64 วรรคท้าย) (1) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ -ใช้วิธีการสรรหา (2) กรรมการผู้แทนจากผู้ประกอบวิชาชีพ -ใช้วิธีการเลือกตั้ง  วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการ       ส่งเสริมสวัสดิการฯ (มาตรา 65 วรรค 2) ให้กรรมการตามข้อ 3.3.1 (3) และ (4) อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกแต่จะดำรงตำแหน่งเกิน 2 วาระติดต่อกันไม่ได้  

ให้มีสำนักสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา

        มีฐานะเป็นนิติบุคคล ในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่.1 รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการฯ .2 ประสานและดำเนินการเกี่ยวกับกิจการอื่นที่คณะกรรมการมอบหมาย .3 จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับการดำเนินงาน       นอกจากอำนาจและหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการมีอำนาจกระทำกิจการตามวัตถุประสงค์ในการบริหารงานสำนักงาน ดังต่อไปนี้ด้วย(1) ถือกรรมสิทธิ์ หรือมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินหรือดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สิน ตลอดจนรับทรัพย์สินที่มีผู้อุทิศให้    (2) ทำนิติกรรมสัญญาหรือข้อตกลงใด ๆ (3) เข้าร่วมลงทุนกับนิติบุคคลอื่น ในกิจการที่เกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการบริหารงานสำนักงาน (4) กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการบริหารงานสำนักงาน (5) สนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ให้มีเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการฯบริหารกิจการของสำนักงาน และมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน (มาตรา 69-73)

รายได้ของสำนักงาน

     คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการฯ (มาตรา 68) มีรายได้จาก(1) เงินอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน (2) เงินค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ (3) เงินผลประโยชน์ต่าง ๆ จากการลงทุนและการจัดหาผลประโยชน์ (4) เงินอุดหนุนจากภาคเอกชน หรือองค์กรอื่นจากต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ  (5) ผลประโยชน์จากการจัดการทรัพย์สินและการดำเนินกิจการของสำนักงานฯ      (6) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินตาม (2) (3) (4) และ (5) รายได้ของสำนักงานฯไม่เป็นรายได้ที่จะต้องนำส่งกระทรวงการคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ  

การกำกับดูแลของรัฐมนตรี (มาตรา 74)

        รัฐมนตรีมีหน้าที่.1 กำกับดูแลการดำเนินงานและจัดสรรงบประมาณของรัฐอุดหนุน .2 สั่งเป็นหนังสือให้กรรมการชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกิจการ.3 สั่งเป็นหนังสือให้ระงับหรือแก้ไขการกระทำใด ๆ ที่ปรากฏว่าขัดต่อวัตถุประสงค์กฎหมาย หรือข้อบังคับ

บทกำหนดโทษ

มาตรา ๗๖ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๕     (การรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาตฯ)

 จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำ  ทั้งปรับ

 

มาตรา ๗๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๔๘     (ผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประพฤติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

คำสำคัญ (Tags): #กฎหมายการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 369512เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2010 10:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณที่นำความรู้ดีๆมาฝาก

ชื่นชมเป็นกำลังใจค่ะ

ขอบคุณสำหรับกำลังใจนะคะ เพิ่งเริ่มเรียนคะ มีคำแนะนำดีๆเชิญแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้นะคะ

เรียบร้อยแล้วคะ แต่เมื่อกี้มาไม่ทันอาจารย์เช็คงาน อิอิ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท