LAPAROSCOPICSURGERY


LAPARO ผ่าตัดผ่านกล้อง

     โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ นว. ของเรา  ก็ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เหมือนกันนะ  มีผ่าตัดแบบ MIS ด้วยนะ  MIS ย่อมาจาก Minimal Invasive Surgery มันก็คือการผ่าตัดผ่านกล้องนั่นเอง  ทางห้องผ่าตัดจึงจัดทำใบให้ข้อมูลแก่ผู้รับบริการ  และขอนำเสนอรายละเอียด ให้ทุกท่านที่สนใจ  และเสนอแนะเพิ่มเติม

การผ่าตัดทานรีเวชผ่านกล้อง

1. การผ่าตัดทางนรีเวชคืออะไร?

            ผู้ป่วยที่เป็นทางนรีเวชที่ต้องใช้วิธีการรักษาโดยการผ่าตัด  แพทย์จะทำผ่าตัดโดยกรีดแผลที่ผนังหน้าท้องเป็นเส้นตรงตามแนวกลางหรือแนวขวางขนาดยาวประมาณ 10 เซนติเมตรขึ้นไป  เพื่อเปิดผนังหน้าท้องออกให้เห็นอวัยวะภายในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน แล้วจึงทำการผ่าตัดเอามดลูกหรือรังไข่ส่วนที่เป็นโรคออก  แต่ในปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีช่วยให้นรีแพทย์ทำการผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้องหรือการผ่าตัดส่องกล้อง โดยอาศัยเทคโนโลยีด้านกล้องถ่ายภาพและจอรับภาพร่วมกับการพัฒนาเครื่องมือผ่าตัดที่สะดวก ทันสมัย และมีประสิทธิภาพขึ้นมา ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กที่ท้องน้อยและเจ็บปวดน้อยลง 

วิธีใหม่นี้แพทย์จะทำการผ่าตัดอวัยวะในอุ้งเชิงกรานสตรี ด้วยการใช้เครื่องมือผ่าตัดชนิดพิเศษร่วมกับกล้องขยายและจอรับภาพโดยไม่ต้องเปิดหน้าท้องให้เป็นแผลกว้าง โดยเจาะช่องที่ผนังหน้าท้อง ส่วนมากเจาะตรงบริเวณสะดือให้เป็นช่องกว้างประมาณ 0.5 - 1 เซนติเมตร เพื่อสอดกล้องขยายเข้าไปในช่องท้อง กล้องจะทำหน้าที่นำภาพอวัยวะในช่องท้องถ่ายทอดออกมาให้แพทย์ได้เห็นทางจอโทรทัศน์ จากนั้นแพทย์จะเจาะช่องที่ผนังหน้าท้องขนาดช่องละ 0.5 เซนติเมตร อีก 2 - 3 ช่อง เพื่อสอดใส่เครื่องมือผ่าตัดชนิดพิเศษเข้าไปในช่องท้อง ทำให้สามารถมองภาพที่จอโทรทัศน์และทำการผ่าตัดได้ดีเทียบเท่ากับ หรือดีกว่าการผ่าตัดแบบเดิม
         หลังผ่าตัดเมื่อรู้สึกตัวดีและไม่คลื่นไส้อาเจียน สามารถรับประทานอาหารอ่อนและยาแก้ปวดธรรมดาได้ตามต้องการ  เมื่อผู้ป่วยไม่เวียนศีรษะสามารถลุกเดินได้  ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายใน 1-2 วันหลังการผ่าตัด
2. ข้อดีของการผ่าตัดผ่านกล้อง
          1. ผู้ป่วยมีแผลผ่าตัดขนาดเล็กแตกต่างจากการผ่าตัดด้วยวิธีเดิม ขนาดแผลที่เกิดขึ้นประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร รวม 3-4 แผล ที่ผนังหน้าท้องน้อย
          2. เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ความเจ็บปวดหลังผ่าตัดจะมีน้อยกว่าวิธีเดิม ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดชนิดแรง
          3. ผู้ป่วยสามารถสามารถปฏิบัติกิจวัตรส่วนตัวได้ด้วยตนเอง มีความสะดวกสบายมากขึ้นและสามารถออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่บ้านได้เร็วขึ้นกว่าเดิม ส่วนใหญ่พักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน หลังจากผ่าตัด
          4. ไม่ต้องหยุดงานนานเหมือนวิธีเดิม ผู้ป่วยพักฟื้นที่บ้านเพียง 1 - 2 สัปดาห์ สามารถกลับไปทำงานได้ตามปกติ
          5. การเกิดพังผืดและภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดพบน้อยกว่าวิธีเดิม
3. ข้อด้อยของการผ่าตัดผ่านกล้อง
          1. ไม่สามารถใช้การผ่าตัดชนิดนี้ได้กับผู้ป่วยทุกราย เช่น ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกขนาดใหญ่มากเกิน 15 เซนติเมตรขึ้นไป อาจจะไม่สามารถใช้วิธีการผ่าตัดผ่านกล้องได้
          2. ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น กระบังลมรั่ว โรคปอดหรือโรคหัวใจไม่สามารถใช้การผ่าตัดผ่านกล้องได้
          3. ผู้ป่วยที่มีพังผืดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานมากเกินไป เช่นผู้ป่วยที่เคยเป็นโรคติดเชื้อในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกรานมาก่อน ผู้ป่วยที่เคยรับการผ่าตัดช่องท้องมาหลายครั้ง เป็นต้น
          4. ประการสำคัญที่สุดคือ แพทย์ที่ทำผ่าตัดผ่านกล้องต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผ่าตัดผ่านกล้องที่ได้รับการอบรมและฝึกฝนมาอย่างดีเท่านั้น จึงสามารถทำผ่าตัดผ่านกล้องได้
4. โรคที่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง
          1. โรคที่ทำให้เกิดการปวดท้องเรื้อรัง
          2. โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
          3. โรคเนื้องอกที่รังไข่และมดลูก
          4. ท้องนอกมดลูก
          5. การทำหมันแห้ง
          6. การรักษาโรคที่มีบุตรยาก เช่น การตัดท่อนำไข่ที่ตันออกและต่อใหม่
          7. การรักษาโรคของโพรงมดลูก เป็นต้น
5.  การปฏิบัติตนหลังผ่าตัด
          1. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์โดยเคร่งครัด
          2. เมื่อแพทย์อนุญาตให้รับประทานอาหารได้ ให้ดื่มน้ำมากๆ และห้ามกลั้นปัสสาวะ
          3. ลุกเดินบ่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้มีพังผืดในช่องท้อง
          4. เมื่อมีปัญหา หรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นให้ปรึกษาแพทย์หรือพยาบาล
          5. มาตรวจร่างกายและตรวจภายในหลังการผ่าตัดตามวันและเวลาที่แพทย์นัด
6. ผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
          ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดผ่านกล้องโดยเฉพาะ มักจะไม่เกิดผลแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ผลแทรกซ้อนเล็กๆ น้อยๆ ที่อาจพบ คือมีอาการปวดหัวไหล่หน่วงๆ คล้ายปวดเมื่อย เนื่องจากลมในช่องท้องไปดันกะบังลม อาการเหล่านี้สามารถบรรเทาได้ด้วยการรับประทานยาแก้ปวดและจะหายกลับเป็นปกติภายใน 1 วัน หลังผ่าตัด
7. การผ่าตัดทางนรีเวชผ่านกล้องกับคุณภาพชีวิต

         การผ่าตัดผ่านกล้องเป็นทางเลือกใหม่อีกทางหนึ่งที่สามารถทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วหลังจากการผ่าตัด เพราะผู้ป่วยสามารถพึ่งตัวเองได้เต็มที่เหมือนเดิม

หมายเลขบันทึก: 368745เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2010 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ที่โรงพยาบาลมีการผ่าตัดมดลูกบ้างมั๊ย ถ้ามีรบกวนลงขั้นตอนการส่งเครื่องมือผ่าตัดมดลูก การจัดเตรียมเครื่องในการผ่าตัด ให้พร้อมในการผ่าตัด ขอบคุณคะ ส่งเมลล์มาที่ [email protected] ก็ได้นะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท