เริ่มอย่างครูดี สู่ครูมืออาชีพ


ครูดีเป็นนักวิจัยได้ไม่ยาก

นึกทวนกลับไปถึงห้องอบรมครูทำวิจัย มาร่วม 10 ปี   ที่ชวนครูให้เริ่มที่การสอนอย่างมีคุณภาพก่อน เพราะมีความเชื่อว่าครูดีเป็นนักวิจัยไม่ยาก  ครูดีจะมีวัตถุดิบเพื่อการวิจัยค่อนข้างพร้อม และมีใจอย่างครูที่หวังให้ลูกศิษย์เรียนรู้ ได้ดี มีความภาคภูมิใจ มีความเชื่อมั่นในตนเอง   แต่ก็พบครูใจร้อนจำนวนไม่น้อยที่อยากได้ผลงานวิจัยไปประเมินเข้าแท่งก่อนทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าการสอนที่อยู่ตรงหน้าและเป็นหน้าที่จะทำให้ดีได้อย่างไร   ทุกครั้งที่ได้ประเมินผลงานครู  จะรู้สึกอยากบอกครู อยากแนะนำครู  เพราะเชื่อว่าทุกคนรักความก้าวหน้า และจะมีความสุขเมื่อประสบความสำเร็จ 

วันนี้  (15 พฤษภาคม 2553) ได้รับโอกาสจากท่านเจ้าคุณพระศรีญาณโสภณ  ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก  ท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ให้ร่วมประชุมกับคุณครูทั้งที่เป็นพระ และฆารวาส จำนวนประมาณ 15 ท่าน  สาระในการประชุมเป็นงานที่ทุกคนต้องเตรียมพร้อม และทบทวนการปฏิบัติเพื่อการสอนในปีการศึกษาใหม่ (2553)  ในวาระที่เกี่ยวกับวิชาการของครู  ผู้เขียนเห็นเป็นโอกาสที่จะช่วยคุณครูให้มีการปฏิบัติงานที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก้าวไปอย่างมั่นคงด้วยการเรียนรู้ มีกระบวนการทำงานพร้อมอย่างครูมืออาชีพ  จึงได้เรียนชี้แจงและขอนุญาตร่วมเรียนรู้ไปด้วยกับความคิดของครู  การทำงานของครู  และอยากช่วยให้ครูพัฒนาผลงานจริงของครูเพื่อสู่สังคมครูมืออาชีพในรูปของการวิจัยในชั้นเรียน

งานที่ฝากครูไว้ คือ ครูทำงานเต็มที่ ให้ปรากฏใน 2 แฟ้ม เป็นแฟ้มตามความรับผิดชอบที่รับเงินเดือนครู  ต่อจากนั้น ทำแฟ้มที่ 3 เป็นแฟ้มครูมืออาชีพ 

ผู้เขียนได้รับอนุญาตจากคุณครูให้อ่านแฟ้มและดูการสอนจริงในห้อง ในราวกลางเดือนกรกฎาคม 2553 (นัดหมายแน่นอนอีกครั้ง)   ผู้เขียนดีใจมาก เพราะนี่คือการเรียนรู้งานครูในมิติใหม่ของผู้เขียน เมื่อ นักเรียนเป็นเณรทั้งโรงเรียน

เรื่องราวของแฟ้ม ได้เขียนเป็นบันทึกช่วยจำส่งไปที่ รร. สธ.มมร ดังที่นำมาเสนอให้ผู้สนใจได้ร่วมวิจารณ์

เอกสารงานครู

 ครูเป็นงานระดับวิชาชีพ  มีมาตรฐานวิชาชีพกำกับ และต้องมีความพร้อมที่จะรับการตรวจสอบ  จึงขอให้ครูทำเอกสารประกอบการทำงาน  2-3 แฟ้ม  แบบฟอร์มของแฟ้มไม่ได้กำหนดตายตัว   ครูผู้เป็นเจ้าของแฟ้มออกแบบเอง  แต่ควรมีสาระสำคัญ พอสังเขปดังนี้

1.  แฟ้มผู้เรียน  เป็นเรื่องราวที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียน แสดงถึงความเข้าใจผู้เรียนก่อนจะออกแบบการสอน  ทุกเรื่องที่ครูคิดว่าจะเป็นประโยชน์ในการให้ความช่วยเหลือผู้เรียน  ( คล้ายช่างเสื้อวัดตัวลูกค้า ก่อนออกแบบตัดเย็บเสื้อ เป็นช่างเสื้อตามสั่ง ไม่ใช่ตัดเย็บเสื้อโหล)   ข้อมูลจะมีอยู่ 3 ลักษณะ

   (1.) ประวัติผู้เรียน  เป็นข้อมูลเฉพาะตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล อายุ  ความผิดปกติถ้ามี  มีลักษณะคงที่

   (2.) ความก้าวหน้าในด้านการเรียน  มีทั้งพฤติกรรม และผลงาน ที่ครูให้ความช่วยเหลือตามหน้าที่  เป็นข้อมูลที่มีการเคลื่อนไหว  การบันทึกต้องบันทึกวัน เวลา  และต้องมีข้อความบอกที่มาที่ไปของข้อมูล  ข้อมูลที่ดีจะสื่อถึงความปกติและไม่ปกติในการเรียน  ตลอดจนปัจจัยที่ส่งเสริมจุดเด่น และซ้ำเติมจุดด้อย

  (3.) บันทึกของครู เป็นความเห็นของครูต่อพัฒนาการของผู้เรียนรายบุคคล และมองภาพเป็นกลุ่มก็ได้  เป็นบันทึกข้อความสั้น ๆ ตามเหตุการณ์ที่ครูตั้งข้อสังเกตถึงสิ่งที่มีความเชื่อมโยงระหว่างการสอน กับการเรียนรู้ของผู้เรียน  หรือมีเหตุอื่นๆ ที่เกี่ยวกับพัฒนาการของผู้เรียนทั้งทางบวกและทางลบ  ครูจะใช้ข้อสังเกตเป็นข้อปรับซ่อม-เสริมให้ผู้เรียนมีพัฒนาการเต็มตามศักยภาพ

2.  แฟ้มการสอน  เป็นแฟ้มการปฏิบัติงานสอนในหน้าที่  ประกอบด้วย  เอกสารอย่างน้อย 3 ส่วน แต่ละส่วนมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้

  (1)  แผนการสอน  มี 2 ส่วน

       ก.   แผนระยะยาว  เป็นแผนการสอนรายวิชาตลอดปีการศึกษา ซึ่งมีแผนรายภาคเรียน ทั้งภาคต้นและภาคปลาย  ระบุปฏิทินกำหนดวันเวลาตามแผนปฏิบัติการสอนรายหน่วยหรือบท  มีรายการจุดระสงค์การเรียนรู้รายวิชานั้นตามมาตรฐานของหลักสูตร และเกณฑ์การประเมินรายหน่วย และรายวิชา  ปกติครูจะเตรียมงานส่วนนี้ให้เสร็จก่อนเปิดเทอม และเสนอต่อที่ประชุมระดับชั้น  เพื่อพิจารณาความสอดคล้องของปฏิบัติการทั้งระดับในปีการศึกษานั้นๆ

      ข.   แผนการสอนรายหน่วย  เป็นแผนการสอนที่ครูแสดงรายละเอียดของการปฏิบัติการสอนในรายหน่วย อาจแตกย่อยให้เห็นรายชั่วโมงเมื่อกิจกรรมแต่ละชั่วโมงมีความแตกต่างและต่อเนื่องกัน  ครูอาจศึกษาจากคู่มือที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ทำขึ้นได้ แต่ต้องปรับให้เหมาะกับผู้เรียนของตนเองที่มีความเฉพาะที่ครูได้ศึกษาแล้ว  บางครั้งครูที่ทำแผนไว้แล้วพบว่าต้องปรับแผนภายหลังเพื่อให้มีความเหมาะสม  ครูก็จะเขียนหมายเหตุ ชี้แจงส่วนที่ปรับ  ในรายละเอียดของแผนการสอนกล่าวถึงจุดประสงค์การเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการสอน รวม วิธีประเมินการเรียนรู้ 

   (2.)  เอกสารประกอบการสอน

      ก. เอกสารความรู้ ใบความรู้ที่สรุปย่อสำหรับผู้เรียน  (ควรตรวจสอบความถูกต้องและอ้างอิงแหล่งที่มาด้วย)

     ข. แบบฝึกหลากหลายรูปแบบ  

     ค. แบบประเมินรายหน่วย :

        -แบบทดสอบพร้อมเฉลย  

        -แบบประเมินผลงานพร้อมเกณฑ์ประเมิน

        - แบบบันทึกพฤติกรรมผู้เรียน

        - อื่น ๆ

     ง. แหล่งเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียน

  (3.) บันทึกหลังสอน  เป็นอนุทินที่ครูเขียนหลังสอน รายชั่วโมง  สั้นบ้างยาวบ้างตามแต่เหตุการณ์   เพื่อเป็นประเด็นเตือนครูให้กลับไปทบทวนการสอน  ทั้งในเรื่องวิธีสอน  เทคนิคที่ครูใช้  เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ หรือพัฒนาทักษะ ครูจะมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนว่าเป็นสิ่งที่ครูวางแผนนำผู้เรียนไปสู่การเรียนรู้หรือไม่  มีอะไรที่เข้ามาเป็นปัจจัยเอื้อช่วยเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้  หรือมีปัจจัยบั่นทอนเข้ามาขัดขวางเป็นอุปสรรคให้ผู้เรียนเกิดความยุ่งยาก  ครูจะใช้การสังเกตที่มีเหตุผลประกอบ แล้วจึงบันทึกลงไป  เพื่อนำกลับมาทบทวนสร้างโอกาส(ครูขอแก้ตัว)ช่วยเหลือผู้เรียนอีกครั้ง  ในกรณีที่เกิดความขัดข้องกับผู้เรียนบางคน  ครูอาจเข้าไปช่วยเฉพาะบุคคลตามโอกาสที่เหมาะสม  หากเหตุการณ์เกิดกับผู้เรียนกลุ่มใหญ่หรือทั้งห้อง  อาจจำเป็นต้องจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนใหม่ทั้งห้อง  บันทึกหลังสอนนี้เป็นประโยชน์กับครู ที่จะทำหน้าที่ได้อย่างมีคุณภาพ

ครูที่มีงานค้นคว้าแล้วนำมาสร้างกิจกรรมการสอน หรือสื่อ  จะรวบรวมงานไว้แฟ้มที่ 3 เรียกว่าแฟ้มพัฒนาวิชาการ  ถือว่าเป็นการทำงานของครูมืออาชีพ  สามารถเสริมสร้างศักยภาพของครู และก้าวต่อไปเป็นครูที่มีวิทยฐานะสูงขึ้น  ขอแนะนำให้ครูรวบรวมการค้นคว้า บันทึกแหล่งที่มา ระบุการอ้างอิงให้ชัดตามหลักการอ้างอิง  ความรู้ที่ได้ไม่จำเป็นต้องมาจากการอ่านเท่านั้น  จากการคุยกับผู้รู้ หรือ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็สามารถเขียนสรุปเอง โดยอ้างแหล่งที่มา ชื่อบุคคล สถานที่ วันเวลา ในกรณีที่มีภาพประกอบ ก็นำมาขยายให้เห็นความชัดเจนได้

 

 

หมายเลขบันทึก: 367901เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2010 02:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 01:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ตอนทำงานเป้นสื่อมวลชนผมพบท่านบ่อยครับ พระศรีญาณโสภณ แทบจะทุกเดือน เคยไปปัตตานี นราธิวาสมาด้วยกัน

ท่านเป็นพระนักพัฒนา เก่งทั้งด้านหลักธรรม สื่อสารมวลชน พึ่งมาทราบวันนี้ว่าท่านเก่งด้านการศึกษาด้วย

ชื่นชมครับ

ขอนำแนวคิดของอาจารย์ไปใช้ในชีวิตการทำงานนะคะ และจะได้เผยแพร่แก่ลูกศิษย์ต่อไปด้วยค่ะ

ได้ข้อคิดและเห็นแนวทางที่จะเป็นครูนักวิจัยในชั้นเรียนมากขึ้นค่ะอาจารย์ และรู้แล้วว่าถ้าทำแฟ้มงานตามที่อาจารย์แนะนำ เราจะเป็นครูนักวิจัยไปโดยปริยาย ถ้าจะส่ผลงาน ก็สามารถนำข้อมูลจากแฟ้มงานนั้นมาเขียนตามกระบวนการของงานวิจัยได้ทันทีค่ะ ขอบพระคุณที่จุดไฟในการทำงาน การจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียน อีกครั้งค่ะอาจารย์…จาก ศิษย์ ++(สุปราณี มาศวรรณา : นิสิต ป.โท การศึกษาพิเศษ โครงการพิเศษ รุ่น07 ค่ะ )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท