"ชื่อเด็ก" เรื่องไม่เล็กสำหรับครู (๒)


หลังจากที่ลงบันทึกเรื่อง "ชื่อเด็ก" เรื่องไม่เล็กสำหรับครู จากประสบการณ์ของครูสาว - วราภรณ์ ไปได้ไม่ถึงชั่วโมง  ครูนิจ - เนาวนิจ สิริผาติวิรัตน์ ครูรุ่นแรกๆ ของเพลินพัฒนาก็มีบันทึกจากประสบการณ์ส่งเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดังนี้

 

"เรื่องจำชื่อเด็กนักเรียน จริงๆ แล้วก็ทั้งง่ายและยาก  และอันที่จริงเป็นเรื่องสนุกนะคะ เพราะชื่อเด็กแต่ละคน (โดยเฉพาะสมัยนี้) มักจะสะท้อนความคิด ความหวัง หรือจินตนาการบางอย่างของพ่อแม่หรือคนที่ตั้งชื่อให้ และอาจช่วยให้ครูเข้าใจพื้นฐานครอบครัวเด็กดีขึ้น (โดยไม่ต้อง “กระชับวงล้อม” ค่ะ) เช่น ชื่อ นะโม มายน์ หนูดี ต้นน้ำ ต้นข้าว เดียว สอง กล้า เด่น แบงค์ เป็นต้น

 

พยายามนึกว่าเมื่อตอนสอนอยู่ที่โรงเรียนไทยซิกข์นานาชาติ  นิจไม่ได้เป็นครูประจำชั้น แต่ต้องสอนวิชาภาษาไทยเด็กตั้งแต่ชั้น อ.๓ - ป.๒  แต่ละชั้นมี ๒ ห้อง  ห้องหนึ่งมีนักเรียน ๒๕ - ๓๐ คน แถมเป็นชื่อแขกแปลกหูสุดชีวิต เช่น ปราบซิมรัน กูนีต อาเจ๊ะดีป ซันดีป ฮาราชดีป กูรปรีต มันปรีตกอร์ กีร์ตี (ชื่อนี้คือ คุณหญิงกีรติ แห่ง ข้างหลังภาพ และแปลว่า เกียรติ) ฮาร์มัน อากาช ซาฮิฟ อาซิส  แถมเวลาออกเสียงไม่ตรงกับสำเนียงอินเดีย  เด็กๆ ก็มักจะขำที่ครูออกเสียงไม่ถูก เช่น Prabsimran เขียนไทยว่า ปราบซิมรัน  แต่เขาออกเสียงกันว่า “ปร้าบซิมรั้น” (โอ ชีวิต)

 

เด็กเล็กๆ เขาจะดีใจทุกครั้งที่ครูจำชื่อเขาได้  (ครูเองก็แสนดีใจเช่นกัน)

 

จำได้ว่าทุกครั้งที่คุยกับเด็กจะต้องคอยสังเกตที่อกเสื้อหรือปกสมุดหนังสือเพื่อดูชื่อของเด็กไปด้วย แต่จะเน้นจำพวกเขาด้วยการ “มองตา” เมื่อรู้ชื่อ หมายความว่า เด็กๆ อาจใส่เครื่องแบบจนดูเหมือนๆ กันไปหมด แต่แววตาพวกเขาไม่เหมือนกันเลย รวมทั้งสีหน้า รอยยิ้ม น้ำเสียง  รายละเอียดเฉพาะตัวพวกนี้จะช่วยให้เราโยงความสัมพันธ์ระหว่างชื่อกับตัวเด็กได้อีกทางหนึ่งค่ะ

 

เทคนิคอีกอย่างก็คือ  เวลาที่ตรวจงาน จะพยายามนึกไปด้วยว่างานที่ตรวจอยู่นั้นเจ้าของงาน (เด็ก) หน้าตาเป็นอย่างไร  งานที่ดีจะดึงขึ้นมาสามสี่เล่ม แล้วเรียกชื่อเจ้าของสมุดทั้งสามสี่เล่มนั้นลุกขึ้นเพื่อชมเชย  คราวต่อไปก็เลือกชื่ออื่นๆ ที่งานอยู่ในเกณฑ์ดี หรือมีพัฒนาการดีกว่าเดิม  ส่วนเล่มที่ดูมีปัญหาก็จะพยายามจำชื่อเด็กไว้ แล้วแอบมองหา (จากเด็กที่เหลือในห้อง  บางทีจะพยายามเดาว่าเป็นเด็กคนไหนหนอ แล้ววันหนึ่งอาจจะนึกขำทีเดียวเมื่อพบความจริงว่า  เด็กบางคนเรียบร้อยพูดน้อย ดูสุภาพอ่อนหวาน  แต่ลายมือไม่เข้ากับบุคลิกเลย – แต่ต้องไม่ประณามเด็กให้เสียใจหรืออายนะคะ และยิ่งต้องหาโอกาสชมเมื่อเห็นว่ามีพัฒนาการดีขึ้นแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม)  นอกจากนั้น จะพยายามแจกสมุดงานคืนเด็กด้วยตัวเองบ่อยๆ ช่วยได้เช่นกัน

 

แต่มีบางครั้งที่จำชื่อเด็กไม่ได้จริงๆ หรือเรียกชื่อผิดไป ก็จะขอโทษเด็กก่อนเลยว่า “ขอโทษค่ะ ครูจำชื่อหนูไม่ได้จริงๆ/ครูจำผิด”  จากประสบการณ์ที่เคยเจอ เด็กๆ จะไม่โกรธเพราะครูแสดงความจริงใจ  และเมื่อถามชื่อเด็กซ้ำอีกครั้งก็มักพ่วงคำถามไปด้วยว่า “ชื่อหนูแปลว่าอะไรคะ?” หรือ “ชื่อเพราะมากค่ะ ” เด็กก็จะยิ้มเพราะเริ่มรู้สึกว่าครูให้ความสนใจ และยังเป็นการเปิดบทสนทนาให้ครูได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็กต่อไป  บางครั้งเด็กไม่รู้ว่าชื่อของตนเองแปลว่าอะไร ก็จะไปถามพ่อแม่มา  วันรุ่งขึ้นเด็กๆ มักจะพยายามเข้ามาหาเพื่อบอกข้อมูลนี้ ครูก็จะจำเด็กได้มากขึ้นทุกทีๆ

 

ตอนสอนอยู่ที่เพลินพัฒนา จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง ครูคนหนึ่งกำลังระดมความคิดนักเรียนชั้น ๗ ทำกิจกรรมอย่างหนึ่งและมีการแบ่งกลุ่มกัน  ด้วยความเร่งรีบ ครูคนนั้นสะกดชื่อเด็กคนหนึ่งผิดไป เด็กคนนั้นเป็นเด็กอ่อนไหว จึงหน้างอและบ่นงึมงำกับเพื่อนที่หลังห้อง  บังเอิญวันนั้นนั่งอยู่หลังห้องด้วย ก็เลยอธิบายสั้นๆ ไปว่าครูต้องเร่งจัดกลุ่ม จึงอาจเขียนผิดได้  จากนั้นก็หาจังหวะยกมือบอกครูหน้าชั้นว่าขอแก้ตัวสะกดชื่อให้ถูกต้อง  ครูหน้าชั้นก็บอกขอโทษเด็กเช่นกัน

 

ที่เล่ามา (เท่าที่จะจำได้นี้) อยากจะบอกเพียงแค่ว่า ครูทุกคนคงพยายามอย่างที่สุด และคิดหาวิธีต่างๆ เพื่อจำชื่อเด็กให้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญแน่นอน  แต่ความจริงใจและพร้อมแก้ไขสถานการณ์ความสัมพันธ์ก็ละเลยไม่ได้เหมือนกันค่ะ"

 

 

หมายเลขบันทึก: 367461เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2010 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 17:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท