มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เรื่อง การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล


เรื่อง การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล
 
            คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2552 ต่อไปอีก 2 ปี โดยให้นับเวลาการขยายการดำเนินงานดังกล่าว ตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบ ตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ
 
สาระสำคัญของเรื่อง
 
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติรายงานว่า
 
1. ปัจจุบันปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมือง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในด้านต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง บางส่วนมีปัญหาในการส่งกลับและตกค้างอยู่ในประเทศไทย นำมาซึ่งปัญหาความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานภาพตามกฎหมายและสิทธิของบุคคล ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต และปัญหาความมั่นคงทางสังคมในระยะยาว โดยสถานการณ์ผู้หลบหนีเข้าเมือง สามารถแยกได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ ดังนี้
 
           1.1 กลุ่มที่ 1 กลุ่มที่อพยพเข้ามาและอาศัยอยู่ในประเทศไทยมานานจนผสมกลมกลืนนำไปสู่การมีนโยบายและมติคณะรัฐมนตรีรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ถาวร ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในอดีต จำนวน 14 ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ประมาณ 2 แสนคนเศษ ซึ่งจะได้รับสถานะเป็นบุคคลต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายและบุตรที่เกิดในประเทศไทยได้รับสัญชาติไทย
            1.2 กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีปัญหาเกี่ยวกับสถานะบุคคลอยู่ระหว่างการพิจารณาแก้ปัญหาโดยได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ชั่วคราว เป็นกลุ่มที่อพยพเข้ามาภายหลังกลุ่มที่ 1 ซึ่งไม่สามารถส่งกลับประเทศต้นทางและด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรมจึงตกค้างอยู่ในประเทศไทย ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ชั่วคราวเพื่อรอกระบวนการแก้ปัญหาจำนวนประมาณ 5 แสนคน ประกอบด้วย
                        1.2.1 กลุ่มที่มีปัญหาการส่งกลับได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติ บัตรสีและบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย (สำรวจในช่วงปี พ.ศ. 2519-2542)
                        1.2.2 กลุ่มที่มีปัญหาการส่งกลับได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน (สำรวจในช่วงปี พ.ศ. 2549-2551)
             1.3 กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีประเด็นปัญหาและผลกระทบด้านความมั่นคง ซึ่งมีนโยบายดูแลเป็นการเฉพาะ จำนวนประมาณ 1.5 ล้านคน ประกอบด้วย แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) ผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า ชาวม้งลาวอพยพที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงยา และผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวเกาหลีเหนือ
             1.4 กลุ่มที่ 4 กลุ่มผู้หลบหนีเข้าเมืองทั่วไป หมายถึง กลุ่มที่ลักลอบเข้าเมืองรายใหม่ และกลุ่มที่เข้าเมืองถูกต้องแต่อยู่อาศัยเกินกำหนด
 
2. นโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองในปัจจุบัน
 
            2.1 กลุ่มที่ 1 และ 2 ดำเนินการแก้ปัญหาภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 18 มกราคม 2548 ซึ่งมีหลักการสำคัญคือการสำรวจกลุ่มเป้าหมายเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติและเอกสารแสดงตนและการเร่งรัดกำหนดสถานะและสิทธิที่ชัดเจน มุ่งเน้นชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตกค้างอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ โดยมี สมช. รับผิดชอบอำนวยการและประสานงาน
            2.2 กลุ่มที่ 3 แยกเป็น 2 ส่วน คือ
                        2.2.1 แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ (พม่า ลาว และกัมพูชา) ดำเนินการแก้ปัญหาภายใต้ยุทธศาสตร์บริหารแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ (มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2547 และ 27 เมษายน 2547 ข้อ 3 และ 4) ภายใต้คณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง (กบร.) โดยมีกระทรวงแรงงานเป็นฝ่ายเลขานุการ รับผิดชอบดำเนินการ เป้าหมายคือการนำเข้าสู่ระบบจ้างงานที่ถูกต้อง
                        2.2.2 ผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า ชาวม้งลาวอพยพที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวโรฮิงยา และชาวเกาหลีเหนือ สมช.เป็นหน่วยรับผิดชอบเสนอมาตรการและแนวทางแก้ปัญหาเป็นการเฉพาะ เป้าหมายคือการส่งกลับหรือไปประเทศที่สามแล้วแต่กรณี
            2.3 กลุ่มที่ 4 ดำเนินการปราบปรามจับกุมและส่งกลับภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก
 
3. สมช. ได้ร่วมกับส่วนราชการที่รับผิดชอบประชุมประเมินผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งได้รับฟังข้อคิดเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องพบว่าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ซึ่งเดิมกำหนดกรอบดำเนินงานภายใน 2 ปี (18 มกราคม 2548-17 มกราคม 2550) แต่ต่อมาได้ขยายกรอบแผนปฏิบัติการต่อไปอีก 2 ปี ถึง 17 มกราคม 2552 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2550 นั้น ยังไม่บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ จำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขอย่าง ต่อเนื่อง โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสรุปได้ดังนี้
 
            3.1 การเร่งกำหนดสถานะบุคคลต่อกลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่ 1 เป้าหมาย 200,836 คน ได้สถานะแล้ว 115,402 คน ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการพิจารณาคำร้อง และ สมช.อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดสถานะให้เอื้อต่อการแก้ปัญหามากขึ้น
           3.2 การสำรวจกลุ่มเป้าหมายกลุ่มที่ 2 ที่มีปัญหาสถานะและสิทธิภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ เพิ่มเติม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 เห็นชอบโครงการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรแสดงตน (บัตรประจำตัวบุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน) มท. โดยกรมการปกครองได้ดำเนินการสำรวจในช่วงปี พ.ศ. 2549-2551 จำนวนรวม 195,202 คน
           3.3 การให้สิทธิขั้นพื้นฐาน ที่ผ่านมากลุ่มเป้าหมายภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเป็นระบบและชัดเจนมากขึ้น ได้แก่ การจดทะเบียนการเกิดให้แก่บุตรที่เกิดในประเทศไทยซึ่งจะเป็นเอกสารแสดงตนที่สำคัญ ด้านการศึกษาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2548 เห็นชอบให้ขยายโอกาสด้านการศึกษาแก่กลุ่ม เป้าหมายทุกกลุ่มพร้อมเงินอุดหนุนรายหัว ด้านการทำงาน สามารถทำงานได้ตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 สำหรับด้านสาธารณสุขเป็นไปตามหลักมนุษยธรรม
           3.4 ปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการที่สำคัญคือ ข้อจำกัดด้านงบประมาณการพิสูจน์ทราบตัวบุคคล กลุ่มเป้าหมายบางส่วนยังตกสำรวจ บางส่วนขาดความรู้ความเข้าใจ และไม่มายื่นคำร้องตามที่กำหนด ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐขาดความรู้ความเข้าใจและบางส่วนไม่กล้าตัดสินใจรับรองสถานะ
 
4. แนวทางการดำเนินการในระยะต่อไป
 
           4.1 ขยายกรอบระยะเวลาการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลต่อไปอีก 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อเร่งรัดดำเนินการให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการแก้ปัญหาตามยุทธศาสตร์ฯ ที่กำหนด โดยมีกรอบแผนปฏิบัติการประกอบด้วย 4 กิจกรรม คือ
                   1) การสำรวจกลุ่มเป้าหมายที่ตกสำรวจ
                   2) การเร่งรัดกำหนดสถานะบุคคล
                   3) การพิจารณาให้สิทธิในด้านต่าง ๆ ในระหว่างรอกระบวนการแก้ปัญหา
                   4) การสกัดกั้นป้องกันการอพยพเข้ามาใหม่ และมีเป้าหมาย ระยะเวลา รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ และเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับการคุ้มครองในระหว่างระยะเวลาที่ทำการสำรวจและหลังการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวเสร็จสิ้นแล้ว จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ให้บุคคลเหล่านี้ได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราวระหว่างรอการพิจารณากำหนดสถานะ
            4.2 ปรับปรุงกลไกบริหารจัดการยุทธศาสตร์ฯ ให้เหมาะสมมากขึ้น โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายและอำนวยการจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล (นอส.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นกรรมการและเลขานุการ (นายกรัฐมนตรีได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 199/2552 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2552 แต่งตั้ง นอส. และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธาน นอส.)
          4.3 เนื่องจากการแก้ไขปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองในกลุ่มที่ 1-4 มีลักษณะแยกส่วน ขาดประสิทธิภาพ ที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์แก้ปัญหาผู้หลบหนีเข้าเมืองทั้งระบบ โดยมอบ สมช.รับผิดชอบ เพื่อให้มีกรอบและแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจนสอดคล้องกับผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ ขณะนี้ สมช. อยู่ระหว่างการพิจารณายกร่างยุทธศาสตร์

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 367348เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2010 08:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท