เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

สวดถาคาปลาช่อนขอฝน


       ในตอนเช้าของวันนี้ วันที่ 15 มิถุนายน 2553 ได้ดูรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ก็ประหลาดใจกับพิธีขอฝน สวดคาถาปลาช่อน108 จบ ของชาวบ้านจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นพิธีขอฝนหลังแหล่งน้ำแห้งขอด โดยเป็นประเพณีโบราณ ชาวบ้านแปดอ้อม เมืองกำแพงเพชร พร้อมทั้งปั้นรูปปลาช่อนและสัตว์ต่างๆ เชื่อจะทำให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล...


       ซึ่งผู้สื่อข่าวได้รับการติดต่อจากชาวบ้านหมู่ 7 บ้านแปดอ้อม ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชรว่า ชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งนี้ กำลังจะมีการทำพิธีสวดคาถาปลาช่อน เพื่อทำการขอฟ้าขอฝน จากเทวดาฟ้าดิน โดยเป็นประเพณีเก่าแก่และหายาก จึงอยากที่จะเผยแผ่ให้กับผู้คนทั่วไปได้ดู จากการเดินทางไปสังเกต ที่หมู่บ้านดังกล่าวพบชาวบ้านกลุ่มใหญ่กำลังสาละวนอยู่กับการนำดินมาปั้น เป็นรูปสัตว์หลายชนิดรวมทั้งรูปปั้นคนด้วย เพื่อเตรียมการประกอบพิธีสวดคาถาปลาช่อนขอฝนอยู่กลางทุ่งนา

       นายมานพ สายพูน อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 131 หมู่ที่ 7 ตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเล อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมหมู่บ้าน แปดอ้อม กล่าวว่า สิ่งที่เห็นอยู่นี้ คือ การเตรียมการสวดคาถาปลาช่อนเพื่อขอฝน เนื่องจากภัยแล้งปีนี้มีความรุนแรงถึงขั้นวิกฤติ ฟ้าฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล คลองชลประทานที่ไหลผ่านตำบลนิคมทุ่งโพธิ์ทะเลแห้งขอด แหล่งน้ำตามห้วย หนอง คลอง บึงก็เหือดแห้งหมดเช่นกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่ จึงรื้อฟื้นการทำ พิธีขอฝนจากเทวดาขึ้นมา ทั้งนี้ก็มีอยู่หลายวิธี แต่จะไม่ใช้การแห่นางแมว เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่คิดว่าเป็นการทรมานสัตว์ จึงเลือกการสวดคาถาปลาช่อน 108 จบ มาทำพิธีขอฝน เพราะได้ทำกันมานานแต่แต่รุ่นปู่ย่าตายาย

       ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวัฒนธรรมหมู่บ้าน แปดอ้อม กล่าวต่อว่า การสวดคาถาปลาช่อนเพื่อขอฝนนั้น เล่ากันว่า ปีใดฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ต้องมีการทำบุญเพื่อขอฝน โดยเลือกสถานที่ที่เป็นศูนย์กลางของประชาชน ตั้งศาลเพียงตา และปักฉัตร นำดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปปลาช่อน ปู เต่า วัวควาย คน รวมทั้งกบ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในอากับกิริยาการสมสู่ในท่าทางต่างๆ บ้างก็ทำ รูปปั้นแบบตลกขบขัน เอาวางไว้ข้างแอ่งน้ำและในแอ่งเก็บน้ำที่ขุดขึ้น ทำตะแกงสำหรับวางเครื่องเซ่นไหว้สักการะ เพื่อแยกระหว่างมนุษย์โลกชั้นล่าง และสวรรค์ชั้นฟ้าด้านบน เพื่อให้รุกขเทวดาได้เห็นว่าโลกมนุษย์นั้นเดือดร้อนเรื่องฝนฟ้าไม่ตกต้อง ตามฤดูกาล จึงต้องทำพิธีร้องขอจากเทวดา ให้ช่วยเหลือบันดานฝนฟ้าให้ตกลงมา จากนั้นจะนิมนต์พระมาเจริญพระพุทธมนต์ แต่ต้องมีการสวดขอฝน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า คาถาปลาช่อน รุ่งเช้าชาวบ้านก็นำสำรับอาหารไปถวายพระ เมื่อฉันเสร็จให้พร และสวดคาถาขอฝนอีกครั้ง

       นายมานพ กล่าวด้วยว่า สำหรับการสวดคาถาปลาช่อนมีตำนาน กล่าวไว้ว่า ในอดีตกาลพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นปลาช่อน แต่พระองค์ไม่เคยกินปลาเล็ก สัตว์เล็ก เคย กินตะไคร้น้ำและสาหร่ายอย่างอื่นแทน ครั้นฝนแล้ง น้ำแห้งปลาอื่นกำลังจะตาย พระโพธิสัตว์จึงโผล่ขึ้นมาจากเปลือกตมแหงนมองดูฟ้า แล้วตั้งสัจจะวาจาว่า "ดูกรเมฆฝน แม้ข้าพเจ้าเป็นปลา ข้าพเจ้าก็ไม่ได้กินปลาและบังเบียดปลา บัดนี้เพื่อนร่วมชาติและตัวข้าพเจ้ากำลังทุกข์หนัก และกำลังจะตายเพราะขาดน้ำ ด้วยอานุภาพแห่งศีลบารมี และสัจจะบารมีขอฝนจงตกลงมาให้ชีวิตชีวาแก่เราด้วยเถิด" ครั้นจบสัจจะวาจาของโพธิสัตว์ ฝนก็ตกลงมาอย่างงดงาม ไม่มีฟ้าร้อง ฟ้าแลบ และฟ้าผ่าเลย

     และไม่น่าเชื่อเลยว่าพิธีกรรมแปลก ๆ แบบนี้ก็ทำให้ฝนตกแบบไม่ลืมหูลืมตาได้ในเมืองกล้วยไข่ โดยเฉพาะ อำเภอเมืองกำแพงเพชร ! 

 

ที่มา: http://www.thairath.co.th/content/region/89511

หมายเลขบันทึก: 366611เขียนเมื่อ 15 มิถุนายน 2010 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แปลกดีครับ เช่นกันที่เคยรับรู้แต่เรื่องแห่นางแมวขอฝน และเข้าใจเช่นกันถึงความรู้สึกว่าทรมานสัตว์

ปั้นปลาช่อนและสัตว์ รวมสวดคาถาขอฝน คงเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมานาน คงเป้นกุศโลบายบางแง่ของคนโบราณที่ซ่อนคมความคิดเอาไว้ แต่เราแกะกล่องความคิดนั้นไม่ออก

  • มาเรียน มารู้
  • ขอบคุณ ในสาระดี ที่นำมาแบ่งปัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท