วันชำระประวัติศาสตร์ราชทัณฑ์


ผมโชคดีที่ได้มีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ KM กรมราชทัณฑ์เมื่อท้ายสัปดาห์ที่ผ่านมา     ผมกับคุณจิราวรรณ เศลารักษ์  ได้เข้าไปจับภาพ KM  ที่สำนักงานกรมราชทัณฑ์    โดยได้พูดคุยกับอธิบดีกรมราชทัณฑ์  นายนัทธี  จิตสว่าง    และผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาข้าราชการราชทัณฑ์    ได้ให้เกียรติสละเวลาที่มีค่าของท่านมาเล่าเรื่องราวการทำ KM ให้ผมกับคุณน้ำฟัง

ผมขอยกเรื่องการสนทนามาเพียงเรื่องเดียวนะครับ  พอเรียกน้ำย่อย   หากท่านใดต้องการฟังของดีแบบเต็มเวอร์ชั่น   อย่าลืมวันที่ 21  กรกฎาคม  2549  นี้ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์   พบกับทีมราชทัณฑ์ที่นั่นครับ    เรื่องที่ว่าก็คือ    "วันชำระประวัติศาสตร์ราชทัณฑ์"

วันที่ว่าไม่ได้เป็น "วันเวลา"  เพียงอย่างเดียว   แต่เป็น  "วันเวที"  ของคนราชทัณฑ์    คนในกรมราชทัณฑ์  3 รุ่น   ประกอบด้วย    1) อดีตราชการราชทัณฑ์เกษียณอายุ  2) ข้าราชการรุ่นกลาง  และ 3) ข้าราชการรุ่นใหม่      คนทั้ง 3 รุ่น  จะมาทำกิจกรรมชำระประวัติศาสตร์กรมราชทัณฑ์ร่วมกัน     เป็นการออกแบบเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่น่าสนุกมาก    เป็นการทำงานนะครับ  แต่หาวิธีการให้คนทำงานอย่างมีความสุข   แถมทำแล้วยังรักหน่วยงานตนเองขึ้นเป็นกองเลย   ผมเชื่ออย่างนั้น  ที่ไหนที่เอาคนมาเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ของตัวเองร่วมกันหละก้อ   มักจะเกิด  สิ่งดีๆ  มีกิจกรรมดีๆ  ตามมาเสมอ

วันชำระประวัติศาสตร์ราชทัณฑ์นั้น   ไม่ได้ทำวันเดียวนะครับ   แต่เป็นจัดกลุ่มของคน 3 รุ่นเข้าด้วยกัน   ทำในช่วงระยะหนึ่ง  เป็นกุศโลบายให้เกิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนทั้ง 3 รุ่นเข้าด้วยกัน   โดยเฉพาะความรู้ปฏิบัติที่แฝงฝังลึกอยู่ในประสบการณ์การทำงานที่ยาวนาน     คนรุ่นใหม่จะได้ไปสัมภาษณ์อดีตข้าราชการราชทัณฑ์ที่สะสมความรู้เชิงเทคนิค  เชิงจิตวิทยา  เคยแก้ปัญหาใหญ่ๆมาแล้วไม่ว่า   การควบคุมผู้ต้องขังเป็นพันคนให้อยู่อย่างสงบ   หรือแก้ปัญหาการแหกหักของนักโทษ   การควบคุมตัวนักโทษอุกฉกรรจ์   และประสบการณ์อื่นๆอีกมากมาย    ซึ่งเป็นความรู้จำเพาะสาขาอาชีพ  ที่ไม่เหมือนใคร   ไม่เคยเขียนบันทึกประสบการณ์เหล่านี้ออกมาเป็นตัวหนังสือ    และไม่มีตำราความรู้ประเภทนี้ให้สามารถซื้อหาอ่านได้ตามท้องตลาดครับ

จากนั้นบันทึกรวบรวมเป็นหมวดหมู่    นำมาให้คนรุ่นกลางได้ประมวลสังเคราะห์อีกรอบหนึ่ง     ก่อนจะส่งให้   คณะ Think Tank ของราชราชทัณฑ์   ตกผลึกเป็นความรู้ที่ผ่านการชำระล้าง    เอาไว้ให้คนในกรมราชทัณฑ์ได้เรียนรู้ต่อไป

กระบวนการ  วิธีการที่ดึงให้คนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น  มันมีมากมายจริงๆ   แล้วแต่ว่าใครจะคิดสร้างสรรค์อย่างไร    นี่แหละที่ผมเชื่อว่าเป็นความรู้หน้างาน   เป็นความรู้ปฏิบัติ   เป็นความรู้จำเพาะที่จะต้องสร้างขึ้นเอง    ใครก็บอกให้ไม่ได้หรอกครับ    ถือว่าเป็น tacit knowledge ในการทำ KM  ของกรมราชทัณฑ์   ตรงกับที่ Profi  Nonaka กล่าวไว้ที่กระทรวงศึกษาธิการว่า    "Tacit knowledge is a micro knowledge, it is a "right answer" in particular context." 

 

หมายเลขบันทึก: 36640เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2006 07:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท