รพ.หนองม่วง
รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง รพ.หนองม่วง

โรงพยาบาล...อบอุ่นเหมือนบ้าน เพื่อการเยียวยา


การจัดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา

จากการที่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมวิชาการ HA National Forum และได้เข้าฟังในหัวข้อ                   โรงพยาบาล....อบอุ่นเหมือนบ้าน เพื่อการเยียวยา  โดย

อาจารย์โกศล  จึงเสถียรทรัพย์          สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ

ดร.นพ.สกล   สิงหะ                          คณะแพทย์ศาสตร์  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อาจารย์โกเมธ  นาควรรณกิจ            สถาบันรับรองสถานพยาบาล         

ลองนำแนวคิดมาปรับใช้ในการทำงานนะค่ะ

 

โรงพยาบาล....อบอุ่นเหมือนบ้าน เพื่อการเยียวยา

                หากจะตั้งคำถามว่าสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปไม่อยากไปมากที่สุดคือที่ใด คำตอบคงหนีไม่พ้นโรงพักและโรงพยาบาล การที่ผู้คนไม่อยากไปโรงพัก คงไม่ต้องอธิบายอะไรมาก เพราะเป็นที่รู้กันว่าไปโรงพักก็จะต้องมีเรื่องมีความกัน ไปแจ้งความหรือถูกจับ อย่างเบาที่สุดก็ไปแจ้งกระเป๋าเงินหายเพื่อนำหลักฐานแจ้งความไปขอทำบัตรใหม่ อะไรทำนองนั้น ก็เลยไม่มีใครอยากที่จะเกี่ยวข้องกับโรงพัก ส่วนโรงพยาบาลนั้น ในทัศนคติเดิมๆของผู้คนทั่วไปที่จะต้องไปโรงพยาบาล ก็คงหนีไม่พ้นความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ โรคร้าย ฯลฯ หรือเรื่องดีหน่อยก็ไปคลอดลูก ส่วนที่เหลือก็คือผู้ที่เป็นครอบครัว ญาติ เพื่อน ของผู้ป่วยที่แวะเวียนเข้าไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย ซึ่งรูปแบบการให้บริการในสถานพยาบาลในแบบดั้งเดิมก็เป็นไปเพียงเพื่อนการบำบัดรักษาเท่านั้น

                การจัดสภาพแวดล้อมในสถานพยาบาลเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่อบอุ่นเหมือนบ้านและเพื่อการเยียวยานั้น จะต้องจัดให้ผู้ใช้สอยอาคารได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่สบาย ผ่อนคลายและมีบรรยากาศที่อบอุ่นคุ้นเคยเหมือนอยู่บ้านของตัวเอง ซึ่ง jain Malkin สถาปนิกผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบสถานพยาบาลเคยกล่าวไว้ว่า “คุณภาพของสภาพแวดล้อมมีอิทธิพลต่อการเร่งหรือหน่วงเหนี่ยวการเยียวยาได้อย่างไม่ต้องสงสัย” “there is no doubt that the quality of the environment can enhance or retard healing” ดังนั้น การจัดการกับสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลที่มีคุณภาพจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องพิจารณา

                การเยียวยา (healing) หมายถึงการจัดการสุขภาพแบบองค์รวม โดยการสร้างความกลมกลืนของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ ซึ่งแตกต่างจากคำว่า การบำบัด (therapy) ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกับคำว่า การรักษา (curing) คือความพยายามแก้ไข (remediation) ปัญหาสุขภาพตามการวินิจฉัย (diagnosis) ดังนั้น การเยียวยาจึงมีมิติที่ลึกซึงกว่าการบำบัดรักษา และผลของการเยียวยาที่เห็นได้ชัดคือการลดความเครียดและผ่อนคลายความวิตกกังวลของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

               การจะทำให้โรงพยาบาลอบอุ่นเหมือนบ้านนั้น น่าจะมีอยู่วิธีเดียวคือ การเอาผู้คนและบรรยากาศของบ้านผู้ป่วยมาจำลองไว้ที่โรงยาบาล ซึ่งหากจะจัดให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ก็จะเกิดความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัว ดังนี้

                                                                                               

Facilities

Patient

Medicine

People

                                                                                   Patient: ผู้ป่วย

Facilities: ข้าวของเครื่องใช้ เฟอร์นิเจอร์ บรรยากาศรอบข้า

People: ผู้คนที่เกี่ยวข้อง ญาติ เพื่อน แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่

Medicine: การบวนการรักษา วิธีการและยา

 

                งานวิจัยของ Samueli Institute มีการจำลองรูปแบบปัจจัยที่มีผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายในจิตใจออกไปสู่ปัจจัยที่มีผลกระทบจากสภาพแวดล้อมภายนอก โดยแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของมิติจิตใจที่หากถูกปรับสภาพแวดล้อมจากภายในจิตใจแล้ว การแสดงออกต่อผู้ป่วยที่มีความรัก ความเอื้อเฟื้อ เอื้ออาทรต่อกัน ก็จะดูเป็นธรรมชาติที่กระทำออกมาจากความรู้สึกส่วนลึกภายในใจ ซึ่งก็จะทำให้เกิดความอบอุ่นเหมือนผู้ป่วยได้พักอยู่ที่บ้านของตัวเอง ผู้ป่วยสามารถเลือก-กำหนด-ควบคุมกิจกรรมรอบตัวเองได้เหมือนอยู่ที่บ้านตัวเอง ญาติหรือเพื่อนสนิทก็สามารถมาเยี่ยมและพักค้างบ้านผู้ป่วยได้ ความกังวล ความเครียดก็จะลดลง การฟื้นฟูจากสภาวะผู้ป่วยก็จะเร็วขึ้นด้วย

 

สุชาดา  กรอบมุข

ประชุม HA National Forum ครั้งที่ 11

9-12 มีนาคม 2553

หมายเลขบันทึก: 364645เขียนเมื่อ 7 มิถุนายน 2010 10:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท