พิธีทำขวัญนาค ตอนที่ 7 พิธีกรรมที่ต้องกระทำพิธี เป็นหน้าที่ของใครมาแต่โบราณ (ต่อ)


จุดเน้นของการทำขวัญนาคได้เปลี่ยนไป จนบางครั้งสังเกตดูเหมือนว่า เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของการจัดงานบวชไปเสียแล้ว

พิธีทำขวัญนาค

ตอนที่ 7 พิธีกรรมที่ต้องกระพิธี

เป็นหน้าที่ของใคร มาแต่โบราณ (ต่อ)

ชำเลือง มณีวงษ์ (เล่าเรื่อง)

        เมื่อสมัย 100 กว่าปีที่ผ่านมา หมอทำขวัญจะต้องเป็นผู้ชาย อาจจะมีหมอเพียงคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ แต่สำหรับคนที่นั่งอยู่ต้นหลักบายศรีนั้นเรียกว่า “โหราจารย์” และหมอทำขวัญจะต้องเป็นผู้เฒ่าที่ถือศีลกินเพล มีจริยวัตรที่งดงาม ได้รับการยอมรับนับถือจากปวงชนในละแวกบ้านนั้นให้เป็นผู้ประกอบพิธี และได้ยึดถือเป็นแบบอย่างกันต่อมา ดังนั้นผู้ที่กระทำขวัญนาคจึงมักเป็นพราหมณ์
        ในราวปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา เป็นยุคเริ่มต้นถือเป็นธรรมเนียมประเพณีว่า ผู้ชายที่มีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ต้องบวช และอยู่ต่อไปจนทนไม่ไหวต้องสึกเรียกว่า ลาสิกขา ประเพณีพิธีทำขวัญนาคได้ถูกต่อเติมให้เกิดความสนุกสนานด้วยการใช้ถ้อยคำสำนวนตลกสอดแทรกลูกเล่นทำให้ถึงใจพระเดชพระคุณ ตามความต้องการของเจ้าภาพมากยิ่งขี้น ทิ้งแบบแผนประเพณีเก่า ๆ ที่เคยมีมาแต๋โบราณแทบจะไม่หลงเหลือ และที่สำคัญคือผู้ประกอบพิธีทำขวัญนาคในยุคนี้ไม่ใช่ท่านผู้เฒ่า ผู้ทรงศีลที่มีจริยวัตรอันงดงาม แต่กลับกลายเป็นศิลปินนักแสดงหรือคนธรรมดาที่อยากร้องทำขวัญนาคก็ไปซื้อตำรา ซื้อเทป ซื้อแผ่นซีดีที่นักร้องเขาบันทึกเอาไว้มาฝึกหัดร้องเพราะเป็นเพลงเกี่ยวกับการทำขวัญนาค หรือเพียงแค่ไปจดจำเนื้อร้องมาจากหมอทำขวัญที่ตนชอบใจมาเป็นแบบอย่าง โดยมิได้เริ่มต้นมาจากบรมครูของตน (ไม่มีครู) จึงทำให้ขาดการครอบงำ (ไม่ได้ผ่านการครอบครู) ขาดระเบียบประเพณี ขาดความขลัง มองข้ามความศักดิ์สิทธิ์ (ไม่มีคาถาอาคม) อย่างที่เคยมีมาก่อนจึงลดน้อยถอยลงจนเกือบจะกลายเป็นการละเล่น (มหรสพ) อย่างหนึ่งไปเสียแล้ว
        สิ่งสำคัญในการทำขวัญนาค คือ หลักบายศรีซึ่งหมอทำขวัญจะห่อหุ้มเอาไว้ด้วยโขมพัตรและจะเปิดออกมาในตอนท้ายของพิธีทำขวัญนาค ส่วนบทกลอนที่นำมาร้องในพิธีทำขวัญนาคนั้น ตามแบบฉบับครูโดยทั่วไปมักจะจัดลำดับเนื้อหาเรื่องราวของการทำขวัญนาคเอาไว้  7  เรื่อง  ได้แก่
  1. ชุมนุมเทวดา (เป็นการขอพรให้เจ้านาคและเจ้าภาพ) จะร้องชุมนุมเทวดาแปลด้วยก็ได้ เป็นการอันเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งปวงให้ลงมาประสิทธิประสาทพร
  2. บทเคารพคุณพระศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์
  3. บทร้องเชิญ เชิญครูบาอาจารย์มาคุ้มครอง ช่วยเหลือ ร้องเป็นเพลงไทยเดิม
  4. บทปฏิสนธิ เป็นคำกล่าวถึงบุญคุณของบิดา-มารดาที่ได้ให้กำเนิดเจ้านาคมาและให้การเลี้ยงดูมาโดยตลอด
  5. บทนามนาค กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของคำว่า “นาค”
  6. บทสอนนาค เป็นการแนะนำให้เจ้านาคทราบว่า เมื่อบวชแล้วจะต้องปฏิบัติอย่างไร
  7. บทเชิญขวัญ เป็นการรวบรวมสติให้เจ้านาคมีความสงบ มีใจแน่วแน่มั่นคง

      

       

       มาถึงยุคปัจจุบัน ประเพณีทำขวัญนาคได้แปรผันไปจากความศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อถือ ความศรัทธา มาเป็นความนิยมชมชอบ ความสนุกสนานและเป็นการแสดงอย่างหนึ่งเสียมากกว่าที่จะเรียกว่า “พิธี” เพราะการลำดับขั้นตอนแทบจะไม่มีเหลือให้เห็น บทที่ร้องทำนองธรรมวัตรเหลือน้อยมาหรือแทบจะไม่มี ทั้งที่เป็นเอกลักษณ์ของพิธีทำขวัญนาค มีแต่แหล่ ร้องลิเกและเหลงไทยสากลเป็นหลัก
       ถึงแม้ว่า การบวชพระในยุคนี้ จะยังมีการทำขวัญนาคอยู่ก็ตาม แต่จุดเน้นของการทำขวัญนาคได้เปลี่ยนแปลงไป จนบางครั้งสังเกตดูเหมือนว่า เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่งของการจัดงานบวชหรือเพื่อรอเวลากินเลี้ยงโต๊ะจีน

                          

ติดตาม ตอนที่ 8 พิธีกรรมที่ต้องกระทำพิธี เป็นหน้าที่ของใครมาแต่โบราณ (ต่อ)

 

หมายเลขบันทึก: 364448เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2010 13:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท