วัดและชุมชน : ส่วนผสมของสังคมไทย


เพราะความหวาดกลัวสัตว์ร้าย ภัยธรรมชาติ รวมถึงความไม่รู้แจ้งตามจริงในสิ่งที่เป็นไปตามสภาวะธรรมชาตินั้น จึงทำให้มนุษย์ละทิ้งอิสระ-เสรีภาพที่มนุษย์มีอยู่แต่เดิมตามสภาวะธรรมชาตินั้น มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมและวัฒนธรรมซึ่งแยกจากกันมิได้ ศาสนานับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ศาสนาจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับการควบคุมศีลธรรมและจริยธรรม ด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของสังคม

  

 

ในสมัยบรรพกาลนั้น มนุษย์ดำรงอยู่ในสภาวะธรรมชาติเพียงลำพัง มิได้อยู่ร่วมกันเป็นชุมชน  แต่เพราะความหวาดกลัวสัตว์ร้าย ภัยธรรมชาติ รวมถึงความไม่รู้แจ้งตามจริงในสิ่งที่เป็นไปตามสภาวะธรรมชาตินั้น จึงทำให้มนุษย์ละทิ้งอิสระ-เสรีภาพที่มนุษย์มีอยู่แต่เดิมตามสภาวะธรรมชาตินั้น มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน  ซึ่งการมาอยู่รวมกันเป็นชุมชนของมนุษย์ในสมัยบรรพกาลนี้เอง ทำให้สามารถอธิบายได้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมและไม่สามารถดำรงอยู่ได้ตามลำพังในสภาวะธรรมชาติ  เมื่อมนุษย์อยู่รวมกันเป็นชุมชน นอกจากต้องการผู้นำชุมชนแล้ว มนุษย์ยังต้องการสิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ  ในยุคเริ่มต้นของการเป็นสังคม ผู้นำชุมชนจึงจำเป็นต้องควบตำแหน่งผู้นำจิตวิญญาณของชุมชน ซึ่งอาจเรียกได้ว่า เป็นทั้ง “หัวหน้าเผ่า” และ “หมอผี”   จวบจนกาลปัจจุบัน อาจเป็นเพราะความเจริญทางวัตถุที่เกิดมีขึ้นอย่างเพียงพอแล้ว ผู้นำชุมชนและผู้นำจิตวิญญาณแยกออกจากกัน  อย่างไรก็ตามสิ่งที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ในยุคปัจจุบันนี้ เรียกว่า “ศาสนา (Religion)” 

ทินพันธุ์ (๒๕๒๙) จากหนังสือพระพุทธศาสนากับสังคมไทย  กล่าวว่า ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมและวัฒนธรรมซึ่งแยกจากกันมิได้ ศาสนานับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งในชีวิตมนุษย์ ศาสนาจะมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดกับการควบคุมศีลธรรมและจริยธรรม ด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์การประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมของสังคม บุคคลย่อมได้รับอิทธิพลจากบทบัญญัติของศาสนา ระบบความเชื่อทางศาสนาจึงมีอิทธิพลในพฤติกรรมของมนุษย์อยู่มาก ศาสนามีหน้าที่สำคัญ ๆ ต่อสังคมอยู่หลายประการ ได้แก่ การก่อให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในสังคม การดำรงรักษาความสืบเนื่องของสังคม การเสริมสร้างต่อกระบวนการปลูกฝังวัฒนธรรมในเรื่องบทบาทและความสัมพันธ์ของสมาชิกแห่งชุมชน และค่านิยมรากฐานของสังคม บทบัญญัติของศาสนาย่อมจะก่อให้เกิดความเป็นระเบียบในสังคม ทำให้เกิดค่านิยมในการบังคับตัวเอง ลดการบังคับในทางการเมือง และลดการละเมิดกฎเกณฑ์ทางสังคม เป็นต้น นอกจากนั้นศาสนายังช่วยผ่อนคลายความรุนแรงหรือความตึงเครียดของมนุษย์ ทำให้คนเราสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์บางอย่างได้ รวมทั้งยังเป็นสิ่งที่ให้ความหวัง ให้ความเชื่อมั่น และให้การบำรุงขวัญแก่มนุษย์ด้วย

สมเด็จพระญาณสังวร (๒๕๑๖ อ้างใน ทินพันธุ์, ๒๕๒๙) จากหนังสือพระพุทธศาสนากับสังคมไทย  แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนากับสังคมไทยได้คลุกเคล้ากันมาตลอดเวลาช้านาน ตั้งแต่พระพุทธศาสนาแผ่เข้ามาถึงถิ่นคนไทยและคนไทยก็รับนับถือ ตั้งแต่ก่อนที่จะมาตั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สังคมไทยส่วนใหญ่เกิด แก่ ตาย อยู่   

กับพระพุทธศาสนา ตายแล้วก็ยังเกี่ยวข้องกับอยู่กับพระพุทธศาสนา ประกอบพิธีกรรมต่างๆ อยู่กับพระพุทธศาสนา ความเป็นอารยะ คือ ความเป็นหมู่คนเจริญด้านต่างๆ ความวัฒนะ คือ ความขุด บุกเบิก ปลูกสร้าง เสพ รักษา ตั้งความเจริญในด้านต่างๆ ขึ้น ของสังคมไทยเพื่อให้บรรลุถึงความเป็นอารยะขึ้นโดยลำดับ ส่วนใหญ่หรือส่วนมากเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา กล่าวได้ว่า “สังคมไทยได้สร้างพระพุทธศาสนาขึ้นในสังคมไทย และพระพุทธศาสนาก็สร้างสังคมไทยขึ้นในพระพุทธศาสนา” เหมือนอย่างว่าเราสร้างวัดขึ้น และวัดก็สร้างเราขึ้นด้วย ฉะนั้น เรื่องที่จะพูดเรื่องพระพุทธศาสนากับสังคมไทยหรือสังคมไทยกับพระพุทธศาสนาจึงมีมาก และก็เป็นเรื่องที่ควรจะพูดกันให้รู้กันเข้าใจกันในฐานที่เป็นพื้นฐานแห่งอารยธรรมไทย

นอกจากพระพุทธศาสนาแล้ว ศาสนาอื่น ๆ อาทิ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์ฮินดู ศาสนาซิกข์ ฯลฯ  ก็มีส่วนช่วยในกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม (Socialization) ผ่าน ศาสนพิธี พิธีกรรม และกิจกรรมต่าง ๆ ที่ผูกพัน---สอดประสาน “วัด (โบสถ์, มัสยิด)” และ “ชุมชน” ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ทำให้ศาสนิกชนในฐานะสมาชิกของชุมชน---สังคม เป็นพลเมืองดี มีศีลธรรม และจริยธรรม  สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยและดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม (Multicultural Society) ได้อย่างสงบสุข เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ดังที่กล่าวมานั้นจึงเป็นที่มาของคำถามต่อไปนี้   

  • ความสัมพันธ์ของ “คนในชุมชน” ต่อ “วัด (โบสถ์, มัสยิด)” และ ความสัมพันธ์ของ “คนในสังคม” ต่อ “สถาบันศาสนา” ในบริบทปัจจุบันเป็นเช่นไร   
  • กระแสความเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ (Globalization) และการไหลบ่าทางวัฒนธรรมจากต่างชาติ ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อความสัมพันธ์ระหว่าง “วัด (โบสถ์, มัสยิด)” และ “ชุมชน” หรือไม่ อย่างไร  
  • ภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และกองทัพ ควรมีส่วนร่วมอย่างไรในการส่งเสริมความความสัมพันธ์ระหว่าง “วัด (โบสถ์, มัสยิด)” และ “ชุมชน”  ให้เข้มแข็งได้อย่างไร

 

ดร.จักษวัชร  ศิริวรรณ

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 364340เขียนเมื่อ 6 มิถุนายน 2010 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท