ปอเนาะ สมานฉันท์ และ สันติวิธี : แรงขับของกระบวนการสร้างคุณธรรม


ปอเนาะ สมานฉันท์ และ สันติวิธี : แรงขับของกระบวนการสร้างคุณธรรม[1]

                                                        สุรชัย (ฟูอ๊าด)  ไวยวรรณจิตร[2]

 

        สถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นมากมายภายใต้วิถีคิดที่หลากหลายแตกต่างกันบนพื้นฐานมิติความอคติด้วยเหตุมูลฐานภายในจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ตลอดจนความมั่นคงของประเทศ แม้กระทั่ง ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็มิอาจปฏิเสธเหตุผลดังกล่าวข้างต้น[3]

        ในสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นจัดว่าเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม (Culture diversity) ซึ่งความหลากหลายนี้ครอบคลุมถึงเรื่องชาติพันธุ์ ภาษา ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต ศาสนา และความเชื่อ กล่าวคือ ไม่ได้มีเฉพาะพี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้นหากแต่ยังประกอบด้วยพี่น้องชาวไทยพุทธซึ่งแม้จะเป็นนกลุ่มน้อยในพื้นที่แต่ก็เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพทางการเงินและการลงทุนมากกว่า ดังนั้นจึงเป็นประเด็นน่าสนใจว่าจะพัฒนาสังคมที่มีลักษณะพหุวัฒนธรรมเช่นนี้ แบบไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความรู้สึกว่าเธอเป็นศัตรูกับฉัน ฉันเป็นศัตรูกับเธอแต่เราคือพี่น้องกันภายใต้ร่มธงไตรรงค์เดียวกันและการพัฒนาเชิงความรู้สึกนั้นจะต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างไร และหากจะมองในด้านสถาบันที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านความสมานฉันท์ท่ามกลางความหลากหลายสำหรับในด้านการศึกษาของพี่น้องชาวไทยมลายูมุสลิมในพื้นที่นั้น มีสถาบันการศึกษาอิสลามที่เก่าแก่ที่สุด[4] และมีบทบาทมากตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันเรียกว่า “ปอเนาะ” ปอเนาะเป็นศูนย์รวมทางอัตลักษณ์ของพี่น้องชาวมุสลิม เป็นสถาบันการศึกษาเรียนรู้ควบคู่กับสังคมไทยมากกว่า ๕๐๐ ปี ปอเนาะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของกระบวนการพัฒนาสังคมและความเปลี่ยนแปลงที่เปรียบเสมือนกับเกียรติและศักดิ์ศรีที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองของพี่น้องชาวมลายูมุสลิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม การเมือง การปกครองหรือเศรษฐกิจ แต่ปอเนาะก็ยังคงอยู่ในสังคมของพี่น้องชาวมลายูมุสลิมมาโดยตลอด  จนถึงปัจจุบันสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถาบันศึกษาปอเนาะ[5] จำนวน ๒๕๕ แห่ง (ณ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๗)[6]  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลวงของเราได้มีพระราชดำรัสเกี่ยว กับปอเนาะไว้ตอนหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อวันพุธที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๒ ว่า[7]

“ข้าพเจ้า ปรารถนาที่จะได้เห็นทุกคน มีความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะปรับ ปรุงหลักสูตรและวิชาการต่างๆที่สอนในปอเนาะ เพราะเยาวชนในแต่ละจังหวัดจะมีอนาคตแจ่มใสได้ก็โดยได้เข้าเรียนในโรงเรียน ที่ดี มีโอกาสได้รับความรู้พื้นฐานสำหรับนำไปสู่การศึกษาระดับสูงยิ่งขึ้นไป จนกระทั่งถึงขั้นอุดมศึกษา..."

         เป็นที่ทราบกันดีว่าเหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลต้องการจัดระบบโรงเรียนปอเนาะนั้นสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๔๗ จนขยายกลายเป็นกรณีความรุนแรงที่มัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายนปีเดียวกัน และสะสมจนกลายมาเป็นเหตุการณ์ประท้วงที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม

นอกจากนี้จากเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ในประวัติศาสตร์ซึ่งมักมีคำว่าปอเนาะเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา สถาบันศึกษาปอเนาะจึงถูกมองจากรัฐบาลและคนทั่วไปตลอดจนสังคมภายนอก (Emic View) ว่าเป็นสถานศึกษาที่บ่มเพาะความคิดบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ เป็นสถานศึกษาที่ขาดการควบคุมดูแล ขาดระเบียบกฎเกณฑ์ และขาดมาตรฐานทางการศึกษา

            หากจะมองอีกมุมผ่าผ่านการพยายามทำความเข้าใจเป็นที่ชัดเจนว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นปัญหาระดับชาติที่หน่วยงานภาครัฐในทุกรัฐบาลตลอดช่วงห้าปีที่ผ่านมาพยายามแก้ไขเยียวยาทั้งในภาคนโยบายและการปฏิบัติงาน คำว่า “สมานฉันท์” (Reconciliation) กลายเป็นคำพูดสวยงามที่มักได้ยินตามสโลแกนต่างๆ และใช้กันอย่างแพร่หลายกว้างขวางเสียจนบางครั้งสูญเสียความหมายที่แท้จริงไป

          สำหรับในแวดวงนักวิชาการ การขับเน้น “แนวทางสันติวิธี” (Non-violence) และ “การอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม” (Coexistence in a multicultural society) ซึ่งมีที่มาจากการพัฒนาการของปรัชญาสังคมในโลกตะวันตก กลายเป็นวาทกรรมหลักเมื่อกล่าวถึงปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ว่าในระดับประชนคนธรรมดาและชาวบ้านในพื้นที่ฯจะพบความอิหลักอิเหลื่อในการสนธิแนวคิดเหล่านี้ให้เข้ากับวิถีชีวิตในท้องถิ่นของตน พวกเขาไม่เห็นถึงความเข้ากันได้ (Compatibility) ระหว่างแนวคิดที่นำเข้าจากสังคมต่างบริบทกับวิถีชีวิตพื้นฐานของพวกเขาที่ผ่านการพัฒนาการด้วยปัจจัยแวดล้อมภายใน

          ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่าโลกทัศน์และวิธีคิดของคนในท้องถิ่นไม่ได้มีรากฐานมาจากแนวคิดตะวันตก ระบบคุณค่าทางจริยธรรมที่ปรากฎในพื้นที่ไม่ได้งอกเงยมาจากแนวคิดเสรีนิยม (Liberalism) ทว่า รากฐานของศาสนานิยมในแบบโลกตะวันออกยังคงเป็นสิ่งที่ประชาชนยึดถืออยู่เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การพยายามที่จะยัดเยียดแนวคิดที่แปลกแยกจากความเป็นท้องถิ่นและฐานรากของวัฒนธรรมจึงยังไม่เห็นหนทางที่จะบรรลุเป้าประสงค์ในอนาคตอันใกล้[8]

      สรุป แม้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งสายหมอก การผสมผสานความพยายามทำความเข้าใจในพื้นที่แห่งนี้ โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่สำคัญอันเก่าแก่ของนครทางวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ปอเนาะ” ยังคงต้องสร้างแรงขับที่ต้องเข้าใจอย่างเข้าใจผ่าผ่านประสบการณ์เรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องที่ควรตระหนักและเรียนรู้เพราะคุณธรรมที่บ่มเพาะจาก “ปอเนาะ” คือเรื่องของการสร้างความสมานฉันท์ สันติวิธี  และเรื่องราวทั้งหมดนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในหลักการสร้างคุณธรรม(ความดีทั้งปวง)อย่างแท้จริง หลักคุณธรรม ท่านศาสดามุหัมมัด (ศ็อลฯ) ได้ให้คำจำกัดความของคุณธรรมไว้อย่างชัดเจน ว่า

«الإحسان أن تعبد الله كأنك تراه، فإن لم تكن تراه فإنه يراك»  متفق عليه

คุณธรรม คือ การที่เจ้าทำการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ ประหนึ่งว่าเจ้ามองเห็นพระองค์ มาตรแม้นว่าเจ้ามองไม่เห็นพระองค์ แท้จริงแล้ว พระองค์ทรงเห็นเจ้า  (รายงานโดย อัลบุคอรีและมุสลิม)

      จะเห็นได้ว่า หลักคุณธรรมนี่เองที่เป็นบ่อเกิดของความยำเกรงต่อบาป (ตักวา) การมีความสำนึกในความรอบรู้ของพระเจ้าจะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ระมัดระวังและมีสติในการประพฤติปฏิบัติตนอยู่เสมอ เมื่อจิตสำนึกดังกล่าวเกิดขึ้นและงอกงามในจิตใจ หลังจากนั้น ความยุติธรรมและความดีงามก็จะปรากฏขึ้นในทุกการกระทำและทุกย่างก้าวของชีวิต เพราะพระผู้เป็นเจ้าเป็นแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของความดีงามทั้งปวง จึงกล่าวได้ว่า หลักคุณธรรมเป็นเครื่องขัดเกลาจิตใจให้ใสสะอาดผ่องแผ้ว ปราศจากความโลภ โกรธ หลง และมัวเมาในกิเลสตัณหา มีจรรยามารยาทงดงาม ไม่เบียดเบียนฉ้อฉลต่อเพื่อนมนุษย์

หากทว่าสังคม ณ ปัจจุบันหลงลืมเรื่องราวความเป็นจริงข้างต้น...?

วัลลอฮฺอะลัม

 

 


[1] บทความเรียบเรียงข้อแสดงความคิดเห็นของผู้เขียนจากการผสมผสานบทนำในรายงานการวิจัยที่กำลังขับเคลื่อนสองเรื่อง คือ การมีอยู่จริงขององค์ความรู้ที่บ่มเพาะท่ามกลางความหลากหลายต่อการสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ :  กรณีศึกษาสถาบันศึกษาปอเนาะภูมีวิทยา ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ของ สุรชัย ไวยวรรณจิตร นูรมาน จินตารา และรุ่งโรจน์ ชอบหวาน (ทุนสนับสนุนประจำปี ๒๕๕๓ จากสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า)  และ การปลูกฝังคำสอนของศาสนาอิสลามที่ส่งเสริมสันติสุขและความเข้าใจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษาชุมชนมุสลิมในตำบลบาโงยซิแน อำเภอยะหา จังหวัดยะลา ของ วรพงษ์  เจริญวงษ์ และ อิสยัส มะเก็ง (ทุนสนับสนุนประจำปี ๒๕๕๓ จากสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า) 

[2] อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์   มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา

[3] สุรชัย  ไวยวรรณจิตรและคณะ.  ๒๕๕๓.  การมีอยู่จริงขององค์ความรู้ที่บ่มเพาะท่ามกลางความหลากหลายต่อการสร้างความสมานฉันท์ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ :  กรณีศึกษาสถาบันศึกษาปอเนาะภูมีวิทยา ต.ยามู อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี.  บทนำของรายงานการวิจัย.  

[4]  อิบราเฮ็ม  ณรงค์รักษาเขต.๒๕๔๘. “ปอเนาะกับการสร้างอัตลักษณ์ชุมชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้”, ในปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้การจัดการศึกษาท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม.หน้าที่ ๓.

[5] เมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ กระทรวงศึกษาธิการได้ออกกฎระเบียบกระทรวงว่าด้วยสถาบันศึกษาปอเนาะ ๒๕๔๗ เพื่อเปิดโอกาสให้ปอเนาะต่างๆมาจดทะเบียนขึ้นเป็นสถาบันศึกษาปอเนาะที่ถูกกฎหมาย หลังจากจดทะเบียนแล้วให้เรียกว่า “สถาบันศึกษาปอเนาะ” ไม่ใช่ “ปอเนาะ” อย่างที่เรียกกันมาแต่ก่อน

[6] อิบราเฮ็ม  ณรงค์รักษาเขต.๒๕๔๘.  ความรู้กับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง กรณีวิกฤติการณ์ชายแดนใต้  .หน้า ๗๕

[7]มัสยิดกามาลุลอิสลาม.  ๒๕๕๒.  สร้างความสมานฉันท์(ออนไลน์) .   สืบค้นจากhttp://www.kamalulislam.com/main/content.php?page=sub&category=18&id=153 [เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๕๓].

[8] วรพงษ์  เจริญวงษ์ และ อิสยัส มะเก็ง.  ๒๕๕๓. การปลูกฝังคำสอนของศาสนาอิสลามที่ส่งเสริมสันติสุขและความเข้าใจในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษาชุมชนมุสลิมในตำบลบาโงยซิแน อำเภอยะหา จังหวัดยะลา.  บทนำของรายงานการวิจัย.  

 

หมายเลขบันทึก: 363909เขียนเมื่อ 5 มิถุนายน 2010 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 13:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เห็นด้วยครับว่า...

การศึกษาให้เข้าใจอย่างแท้จริงในพื้นที่น่าจะเป็นแนวทางแก้ปัญหาได้ดีกว่านะครับ...

ปัญหาในลักษณะเดียวกันในอีกพื้นที่อาจจะแก้ไขได้สำเร็จด้วยแนวทางหนึ่ง แต่แนวทางเดียวกันนั้นก็อาจใช้ไม่ได้ในอีกพื้นที่หนึ่งก็ได้ครับ...

สถานการณ์ที่เริ่มต้นจากความเปราะบางจนขยายเป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนานเช่นนี้ การศึกษาอย่างลึกซึ้งเท่านั้นนะครับ ที่จะสะท้อนให้เห็นแนวทางแก้ไขที่ถูกต้องเหมาะสมได้...

ที่สำคัญการปรับเปลี่ยนมุมมองที่มอง "ปอเนาะ" เป็นต้นเหตุแห่งปัญหา มาใช้ "ปอเนาะ" เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหาน่าจะได้ประโยชน์มากกว่านะครับ...

เพราะปอเนาะก็เป็นสถานที่ทางสังคมที่มีความสำคัญ ของคนในพื้นที่มาช้านานนะครับ...

 

ขอบคุณมากครับบังว่าที่ ดร.

P

Mr.Direct

คมเข้ม คมความคิด

ความเข้าใจเสมือนคนพื้นที่ขอให้สำเร็จการศึกษาเร็วๆแล้วมาช่วยเสริมสร้างสิ่งสร้างสรรค์บนพื้นที่แห่งนี้ในเร็ววันนะครับ อินชาอัลลอฮฺ

นับว่าพื้นที่แห่งนี้โชคดีที่จะมีคนอย่างบังมาอยู่ที่นี่ครับ อัลฮัมดุลิลละฮฺ

ขอเป็นกำลังใจในก้าวต่อๆไปครับ

 

 

อยากอ่านฉบับเต็มครับอาจารย์

สวัสดีค่ะ

ขอแสดงความดีใจด้วยนะคะ กับความภาคภูมิใจ  เป็นกำลังใจให้ต่อไปค่ะ

ขอบคุณมากครับอาจารย์

P

จารุวัจน์ شافعى

ตอนนี้กำลังดำเนินขับเคลื่อนงานวิจัยอยู่ครับ ฉบับเต็มของงานวิจัยจะเสร็จสิ้นภายในเดือนตุลาคมนี้ครับ อินชาอัลลอฮฺ ไว้เสร็จแล้วจะให้อ่านฉบับเต็มนะครับ อิอิ (เป็นกำลังใจให้ด้วยครับ เพราะผ่านปีนี้ไปได้ก็โล่งแล้วครับ เหลืองานวิจัยชิ้นใหญ่ของ ปปช. และ ศูนย์สิรินธรครับที่หนักเอาการ แต่จะพยายามครับด้วยความหวังและดุอาอฺ)

   ดูแลสุขภาพด้วยครับ

ขอบคุณทุกกำลังใจที่ส่งให้ตลอดเรื่อยมาครับพี่

P

ครูคิม

  เป็นกำลังใจให้เช่นกันครับ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท