เลิศ
นาย บุญเลิศ เลิศ วีระพรกานต์

ความท้าทายใหม่ขององค์การ..และผู้นำ


ความท้าทายใหม่ขององค์การ..และผู้นำ

                        ความท้าทายใหม่….......ขององค์การและผู้นำ

                                                                                                                          บุญเลิศ  วีระพรกานต์

นักศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต

มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช                    

หลักสูตร การบริหารนวัตกรรมเพื่อการพัฒนา

-------------------------------------------------------------------

                    ยุคนี้แทบไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่าเรื่องของการพัฒนาบุคลากรนั้นมีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องไปคู่กับความเจริญเติบโตขององค์การ ใครที่ไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกจากจะทำให้บุคลากรล้าหลังเรื่องความรู้ความสามารถ และศักยภาพในการปฏิบัติงาน  แล้วที่สำคัญก็คือ จะส่งผลให้องค์การขาดความสามารถ ศักยภาพในการแข่งขันลงไปเรื่อยๆจนยากที่จะยืนหยัดอยู่ได้ในที่สุด

                  ดังนั้น ความท้าทายใหม่ของ..........องค์การและผู้นำจึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องได้รับการเอาใจใส่  เรียนรู้ และพัฒนาเพื่อให้องค์การมีความเจริญก้าวหน้า ยืนหยัดอยู่ได้ต่อไป

                ในเบื้องต้นให้ท่านผู้สนใจได้รู้จักกับองค์การ และภาวะผู้นำ พอสังเขป  กล่าวคือ

                 Barnard  (อ้างถึงใน ณัฐพันธ์  เขจรนันทน์ : 2551 ) กล่าวถึง  องค์การไว้ว่า  องค์การ  หมายถึง  ระบบของการทำกิจกรรมร่วมกันอย่างมีความรู้สำนึกของบุคคลตั้งแต่ 2  คนขึ้นไป

                 Hicks (อ้างถึงใน ณัฐพันธ์  เขจรนันทน์ : 2551 ) กล่าวว่า  องค์การ  หมายถึง  กระบวนการที่มีการจัดโครงสร้างให้บุคคลมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์

                 Max  Weber (อ้างถึงใน  สมคิด บางโม : 2552)  องค์การ คือ หน่วยสังคมหรือหน่วยงานซึ่งมีกลุ่มบุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง

                ณัฐพันธ์  เขจรนันทน์  (2551)  องค์การ  หมายถึง  ระบบที่เกิดจากการรวมตัวกันของบุคคลอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการ  เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน  โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนด

                สมคิด  บางโม (2552)  องค์การ คือ กลุ่มบุคคลหลายๆคนร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ การร่วมกันของกลุ่มต้องถาวร มีการจัดระเบียบภายในกลุ่มเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของแต่ละคน  ตลอดจนกำหนดระเบียบข้อบังคับต่างๆให้ยึดถือปฏิบัติ

                 จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียน มีแนวคิดว่า องค์การ หมายถึง  หน่วยงานที่เกิดขึ้นจากการมารวมตัวกันของบุคคลเพื่อกระทำภารกิจเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้  โดยมีโครงสร้างและกระบวนการในการบริหารจัดการตามลักษณะขององค์การนั้นๆ

                 ภาวะผู้นำ ในทัศนะของนักวิชาการได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้

                จอร์จ เทอร์รี (อ้างถึงใน สมคิดบางโม : 2552) ให้ความหมายว่า  ภาวะผู้นำเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างอิทธิพลต่อผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อก่อให้เกิดความพยายามในการดำเนินงานให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ร่วมกัน

               กิติมา ปรีดีดิลก (2529) ให้คำจำกัดความว่า ผู้นำ คือ บุคคลที่มีอำนาจหรืออิทธิพลที่จะดึงดูดและจูงใจให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติตามความคิดเห็นและคำสั่งของตนเองได้

               สมคิด  บางโม (2552) ภาวะผู้นำ คือ การที่ผู้นำขององค์การใช้อิทธิพลต่างๆเพื่อให้ผู้ใต้บังคับบัญชาร่วมมือกันปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุเป้าหมายขององค์การ อิทธิพลดังกล่าวนี้อาจเป็นทั้งทางบวกและทางลบ หรือทางใดทางหนึ่ง

              กรองแก้ว  อยู่สุข (อ้างถึงใน ณัฐพันธ์  เขจรนันทน์ : 2551) กล่าวว่า ภาวะผู้นำ  หมายถึง ความสามารถที่จะใช้อิทธิพลนำกลุ่มไปสู่วัตถุประสงค์ อิทธิพลนั้นอาจได้รับมาอย่างเป็นทางการ โดยมีการกำหนดขอบเขตของการใช้อำนาจหน้าที่นั้นๆ

             ณัฐพันธ์  เขจรนันทน์ (2551) ภาวะผู้นำ หมายถึง ความสามารถ (Ability) ที่ผู้นำใช้อำนาจที่มีในการชักจูงให้กลุ่มมุ่งไปสู่วัตถุประสงค์ตามที่ต้องการ

             จากที่ศึกษามาข้างต้น  สรุปว่า  ภาวะผู้นำ  หมายถึง   คุณลักษณะ บุคลิกภาพ  ศักยภาพของผู้นำองค์การ ที่มีหลักการ  กระบวนการ เทคนิควิธีในการสร้างความเชื่อมั่น  เชื่อถือให้บุคลากรในองค์การปฏิบัติตามเพื่อให้ภารกิจขององค์การสำเร็จตามเป้าหมาย

            เมื่อท่านได้รู้จักกับ องค์การ และ ภาวะผู้นำ  พอสังเขปแล้ว ความท้าทายใหม่ขององค์การและผู้นำที่แท้จริง คืออะไร

          ดังที่กล่าวไว้เป็นเบื้อต้น ว่า การพัฒนาบุคลากรนั้นมีความสำคัญอย่างมากที่จะต้องดำเนินการไปคู่กับความเจริญเติบโตขององค์การ สิ่งที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของการพัฒนาทั้งบุคคลและองค์การ คือการบริหารการเปลี่ยนแปลง และการนำนวัตกรรม มาใช้ในองค์การซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญของความท้าทายความสำเร็จขององค์การในยุคปัจจุบัน

         เจิง เสี่ยวเกอ (สุธิมา โพธิ์เงิน : 2551 แปล) ได้กล่าวไว้อย่างน่าคิดว่า No Change ,No  Opportunity ไม่กล้าเปลี่ยน ก็ไม่มีโอกาส

         ดังนั้นองค์การและบุคคล จะก้าวหน้าพัฒนาไปได้ จะต้องเกิดจากการเปลี่ยนแปลง  ผู้เขียนคิดว่า ในโลกนี้มีผู้คนที่คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายเพื่อให้ได้ตรงกับความรู้สึกและต้องการของตนเอง  แต่สิ่งหนึ่งที่คนจำนวนไม่น้อยไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย  คือ การเปลี่ยนแปลงตนเอง ให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ของการพัฒนาการทำงานของตนและองค์การ

        ผู้นำองค์การ จึงจำเป็นต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เพื่อนำบุคลากรและองค์การไปสู่เป้าหมายได้ทันต่อเงื่อนไขของเวลาและบริบทขององค์การ ซึ่งตรงกับที่ คณิต  กิจจาธร(2552) ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับองค์กร ผู้นำและบุคลากรว่า  สำหรับองค์กรใดก็ตามที่ดำเนินกิจการประสบความสำเร็จด้วยดีนั้น องค์ประกอบของบุคคลเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด  อันดับแรก คือ ความเป็นผู้นำที่ดีของผู้บริหารสูงสุดและเพื่อผลที่ดีที่สุดตลอดไปทั้งองค์กร  อันดับสอง  คือ ความต้องการจัดการที่ดี  อันดับสาม คือ  จะต้องมีทีมบุคลากรที่มีความรู้  ชำนิชำนาญความถนัดตามธรรมชาติและทัศนคติในการปฏิบัติงานให้ได้ผลผลิตในระดับสูงอย่างเพียงพอต่อการบรรลุผลสำเร็จตามภารกิจขององค์กรที่มอบหมายมาให้ 

             ในการเปลี่ยนแปลงทั้งคนและองค์การนั้น  จะต้องเตรียมความพร้อมทั้ง คน และองค์การที่จะรองรับการเปลี่ยนแปลง   ซึ่งตรงกับแนวคิดของ Mike Beer ที่นำเสนอไว้ใน  Manage Change and Transition (ภักดี  เมฆจำเริญ : 2551 แปล) โดยกล่าวไว้ว่า องค์การที่มีความพร้อมในการเปลี่ยนแปลงนั้นจำเป็นต้องมีเงื่อนไขครบ 3  ประการ ดังต่อไปนี้

  1. ผู้นำเป็นที่ยอมรับ และมีประสิทธิผล
  2. คนในองค์กรมีความรู้สึกและมีแรงจูงใจส่วนตัวที่จะเปลี่ยนแปลง
  3. องค์กรไม่มีระดับชั้น และคนในองค์กรมีความเคยชินกับงานที่ต้องทำร่วมกัน

            จากแนวคิดดังกล่าว พบว่า การเปลี่ยนแปลงไม่ว่า คน หรือ องค์การจะประสบความสำเร็จได้นั้น  ผู้นำต้องเป็นที่ยอมรับของบุคลากรในองค์กร และที่สำคัญคนในองค์กรจะต้องมีความรู้สึกที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงและพร้อมที่จะทำงานร่วมมือร่วมใจเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน

            สำหรับการเปลี่ยนแปลงในองค์กร จะต้องมีขั้นตอนที่จะดำเนินการเปลี่ยนแปลง อย่างเป็นระบบจึงจะประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งขั้นตอนในการเปลี่ยนแปลงประกอบด้วย

7 ขั้นตอน ดังนี้ (อ้างถึงใน ภักดี  เมฆจำเริญ : 2551)

             1.ระดมกำลังและความมุ่งมั่นด้วยการร่วมกันระบุปัญหาขององค์กรและแนวทางในการแก้ไข  เป็นขั้นตอนแรก ในการค้นหาปัญหาขององค์กรและแนวทางแก้ไขปัญหา

            2.สร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันว่าจะจัดการและบริหารองค์กรอย่างไรเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

               การสร้างวิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิผล สามารถให้บุคลากรยินดีที่จะเปลี่ยนแปลง  โดย ศาสตราจารย์จอห์น คอตเตอร์  เสนอแนะว่า วิสัยทัศน์ที่มีประสิทธิผลต้องมีคุณสมบัติ 6 ประการ คือ

               2.1 อธิบายถึงอนาคตที่ต้องการไปให้ถึง อนาคตที่ซึ่งผู้คนยินดีที่จะได้พบมันในทันที ถ้าพวกเขาทำได้

               2.2 ต้องมีพลัง คือ สถานะในอนาคตนั้นจะต้องดีกว่าสถานะที่อยู่ในปัจจุบันมากๆจนกระทั่งพวกเขายินดีที่จะทุ่มเทกำลังและเสียสละถ้าจำเป็น เพื่อที่จะไปให้ถึงสถานะนั้น

               2.3 ต้องมีความเป็นไปได้ วิสัยทัศน์ต้องถูกมองว่าสามารถไปให้ถึงได้ ด้วยการทำงานอย่างหนักร่วมกันของทุกๆคน

               2.4 ต้องมีจุดมุ่งเน้น เช่น มันต้องจำกัดตัวเองอยู่ในเป้าหมายที่สามารถจัดการได้ และมีความสอดคล้องกัน

               2.5 มีความยืดหยุ่น  นั่นคือ  มีความสามารถในการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

               2.6 มีความง่ายที่จะสื่อสารไปยังคนทุกๆระดับ

               มีข้อควรระวังอยู่ 2 ประการเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ สิ่งแรก คือ วิสัยทัศน์ที่มีพลังสามารถทำให้มีแรงบันดาลใจและมีแรงผลักดัน แต่วิสัยทัศน์จะต้องถูกแปลงเป็น การกระทำ  โดยบุคลากรและผู้บริหารให้กลายเป็น  ผลที่สามารถวัดได้  ดังนั้นเราควรจะถามอยู่เสมอว่า  อะไรคือสิ่งที่เป็นผลผลิตของวิสัยทัศน์นี้

            3.ระบุตัวผู้นำ  ผู้นำนั้นต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถสูงในการรวบรวมทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อโครงการ และรับผิดชอบความสำเร็จหรือล้มเหลว ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ General Electric เน้นย้ำว่า ต้องมีก่อนที่จะเริ่มการเปลี่ยนแปลง

           4.มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ไม่ใช่กิจกรรม  ให้คำนึงถึงผลลัพธ์เป็นสำคัญ ไม่ใช่กิจกรรมที่ปฏิบัติผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต้องเป็นไปตามป้าหมายและวิสัยทัศน์

           5.ขั้นเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกแล้วให้มันกระจายตัวไปยังหน่วยงานอื่นๆโดยไม่ต้องผลักดันจากระดับบน  การเปลี่ยนแปลงมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากขึ้น  เมื่อการเปลี่ยนแปลงนั้นถูกเริ่มต้นในหน่วยงานเล็กๆที่สามารถตัดตัดสินใจได้ด้วยตนเอง

           6.การสถาปนาความสำเร็จโดยใช้นโยบายที่เป็นทางการ  ระบบ  และโครงสร้าง การเปลี่ยนแปลงองค์การ เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการยอมรับความเสี่ยง และความพยายามจากคนมากมาย หลังจากที่ได้บรรลุเป้าหมายแล้ว  เราคงไม่ต้องการให้สิ่งที่ได้มาอย่างยากเย็นนี้ต้องสูญหายไปโดยง่าย  ซึ่งมันจะสลายไปแน่ ถ้าหากเราไม่ป้องกันมันไว้   ผลที่ได้รับจากการเปลี่ยนแปลงสามารถจะถูกรวบรวมและทำให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยการทำให้เป็นนโยบายว่า เราจะทำงานให้สำเร็จได้อย่างไร โดยอาศัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบความสัมพันธ์ของการรายงาน

          7.ติดตามและปรับกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนแปลง  ผู้นำการเปลี่ยนแปลงต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัว ได้  และแผนที่วางไว้ก็ต้องสามารถปรับตารางการดำเนินงาน  ขั้นตอน  และตัวบุคคลได้เช่นกัน

          จากที่กล่าวมาข้างต้น พบว่า  การเปลี่ยนแปลงในองค์การนั้นจะต้องกระทำอย่างเป็นระบบและขั้นตอนที่ชัดเจน พร้อมทั้งผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนแปลง  มีภาวะผู้นำที่จะนำบุคลากรไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้วยความตระหนัก เกิดการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลง และมีความเต็มใจที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ขององค์การ

         องค์ประกอบ หรือ ปัจจัยที่สำคัญอีกประการของการเปลี่ยนแปลงในองค์การ คือ นวัตกรรม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ในเบื้องต้นนี้ให้ท่านได้รู้จักกับ นวัตกรรมพอสังเขป  ซึ่งก่อนที่จะสร้างนวัตกรรมคิดว่าจะต้องมาทำความรู้จักกับนวัตกรรมในแง่มุมต่างๆกันก่อน เพราะในหลักของการเรียนรู้และการจัดการความรู้ นั้น การเรียนรู้ต่างๆไม่มีที่สิ้นสุด  ไม่มีถูกผิด เพราะสิ่งที่ถูก เหมาะสมในวันนี้  อาจจะไม่ถูก ไม่เหมาะสม ในวันข้างหน้าก็ได้ เรื่องราวของ นวัตกรรม มีมากมาย แต่แนวคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมในที่นี้ขอนำเสนอในส่วนของ  ความหมาย  ประเภท  และการสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรมเพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงองค์กรต่อไป

 ความหมายของนวัตกรรม

               การที่จะรู้จักนวัตกรรมก็จะต้องเข้าใจถึงความหมายของนวัตกรรม เป็นเบื้องต้น ก่อนซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้หลายประการ  ดังนี้

               โธมัส  ฮิวซ์   :  นวัตกรรม เป็นการนำวิธีการใหม่ๆมาปฏิบัติหลังจากได้ผ่านการทดลองหรือได้รับการพัฒนามาเป็นขั้นๆแล้ว โดยมีขั้นตอนตามลำดับ คือ การคิดค้น การพัฒนา และนำไปปฏิบัติจริง  ซึ่งมีความแตกต่างจากการปฏิบัติเดิมที่เคยปฏิบัติมา (กีรติ  ยศยิ่งยง : 2552)

               กีรติ  ยศยิ่งยง  :  นวัตกรรม เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ คิดค้น พัฒนา สามารถนำไปปฏิบัติจริง และมีการเผยแพร่ออกสู่ชุมชน ในลักษณะเป็นของใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน  หรือของเก่าที่มีอยู่แต่เดิมแต่ได้รับการปรับปรุงเสริมแต่งพัฒนาขึ้นใหม่ให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สามารถนำไปใช้ในเชิงพานิชย์ได้ (กีรติ  ยศยิ่งยง : 2552)

             วรภัทร์  ภู่เจริญ  :  นวัตกรรม คือ เครื่องมืออย่างหนึ่งในความเป็นนักประกอบการมืออาชีพ

                                       :   นวัตกรรม คือ การกระทำต่างๆที่นำเอาทรัพยากรต่างๆมาทำให้เกิดขีดความสามารถ ใหม่ๆในทางที่ดีขึ้น

                                       :  “ นวต” มาจากคำว่า ใหม่(new หรือ nuvo) เมื่อพ่วงคำว่า  “กรรม” ที่แปลว่า การกระทำลงไปจะกลายเป็น  การกระทำใหม่ๆ หรือ ผลงานใหม่ๆซึ่งถ้าแปล นวัตกรรม = การกระทำใหม่ๆดูออกจะแคบเกินไป เพราะนวัตกรรมมีความหมายที่กว้าง และยิ่งใหญ่กว่าแค่ทำอะไรใหม่ๆ

           จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนคิดว่า  นวัตกรรม  คือ  เครื่องมือ รูปแบบ  วิธีการ ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ หรือ ปรับปรุง ต่อยอดของเดิมเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา  พัฒนาองค์กรให้บรรลุตามเป้าหมาย

          เมื่อรู้แล้วว่านวัตกรรมคืออะไร  เพื่อความเข้าใจมากยิ่งขึ้นก็มาทำความรู้จักกับประเภทของนวัตกรรมต่อไป โดยมีนักวิชาการที่มีความสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรม ได้แบ่งประเภทของนวัตกรรมไว้ดังนี้

ประเภทของนวัตกรรม

          ในปัจจุบัน นวัตกรรม มีอยู่อย่างหลากหลายและจะพบเห็น ได้ยินได้ฟังอยู่เสมอ ดังนั้นจึงมีการแบ่งนวัตกรรมออกเป็นประเภทต่างๆ เพื่อให้เป็นหมวดหมู่ และเข้าใจง่าย  ซึ่งมีนักนวัตกรรมได้แบ่งประเภทไว้ ดังนี้ 

           สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ(อ้างใน กีรติ  ยศยิ่งยง : 2552 ) แบ่งประเภทของนวัตกรรมออกเป็น  2  ประเภท คือ

                 1.นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ (Product  Innovation) ที่ประกอบไปด้วยนวัตกรรมของผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ กับผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้

                 2.นวัตกรรมกระบวนการ (Process  Innovation) ที่ประกอบไปด้วยนวัตกรรมกระบวนการทางเทคโนโลยี และนวัตกรรมกระบวนการทางองค์กร

                เชลเวย์ เบคเกอร์ (อ้างใน กีรติ  ยศยิ่งยง : 2552 )  แบ่งนวัตกรรมออกเป็น 3 ประเภท คือ

                  1.นวัตกรรมทางสินค้า (Product  Innovation) ในเรื่องเกี่ยวกับการสร้างสินค้าใหม่  การปรับปรุงสินค้าที่มีอยู่ หรือ รวมสินค้าที่มีอยู่เข้าไปในสินค้าใหม่

                 2. นวัตกรรมทางกระบวนการ (Process  Innovation) ในเรื่องของการเปลี่ยนวิธีการผลิตสินค้า  รวมถึงรูปแบบการบริหาร หรือเกี่ยวข้องกับส่วนประกอบที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการ ที่มีผลต่อกระบวนการผลิตสินค้าใหม่หรือประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต

                 3.นวัตกรรมทางการตลาด (Marketing  Innovation)  ในเรื่องที่เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ช่องทางการจัดจำหน่าย หรือการประเมินและการทำนายความต้องการของผู้บริโภค

                 วรภัทร์   ภู่เจริญ  (การบริหารนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและพอเพียง : 2550)  ได้แบ่งประเภทของนวัตกรรมออกเป็นดังนี้

  1. นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์
  2. นวัตกรรมด้านกระบวนการ
  3. นวัตกรรมด้านการบริการ
  4. นวัตกรรมด้านการตลาด
  5. นวัตกรรมด้านการเงิน
  6. นวัตกรรมด้านภาษา ศิลปะ และวัฒนธรรม
  7. นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ และการปกครอง
  8. นวัตกรรมด้านความศรัทธา ความคิด และความเชื่อ

                 Ralph  Kate (การบริหารจัดการนวัตกรรม : 2550)  ได้แบ่งประเภทของนวัตกรรมไว้ดังนี้

                     1.นวัตกรรมส่วนเพิ่มและนวัตกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงจากเดิมโดยสิ้นเชิง

                     2.นวัตกรรมในกระบวนการ

                     3.นวัตกรรมในบริการ

            ประเภทของนวัตกรรมที่กล่าวมา  ในทัศนของผู้เขียนคิดว่าประเภทของนวัตกรรมน่าจะแบ่งออกเป็น  5  ประเภทดังนี้

                     1.นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการ  เป็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา หรือ เพื่อการพัฒนาองค์กรในการบริหารจัดการที่นำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย

                      2.นวัตกรรมด้านการศึกษา ตามศาสตร์สาขาต่างๆ  เป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมการจัดการศึกษาในศาสตร์สาขาต่างๆเพื่อให้ผู้เรียน ผู้ศึกษาในระดับต่างๆมีความรู้ ความเข้าใจ เกิดการเรียนรู้ที่ถูกต้องและเร็วขึ้น

                     3.นวัตกรรมด้านกระบวนการ เป็นการสร้างนวัตกรรมเพื่อให้มีกระบวนการในการดำเนินการเรื่องต่างๆให้ง่ายและรวดเร็วขึ้นและประสบความสำเร็จในการดำเนินการ

                   4.นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์  เป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมการผลิตที่สร้างสรรค์  แปลกใหม่  เหมาะกับบุคคลและยุคสมัยสะดวกในการใช้งาน

                   5.นวัตกรรมด้านการตลาดและการบริการ  เป็นนวัตกรรมในการนำเสนอการขาย  การจำหน่ายสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ  และการให้บริการที่เป็นที่พึงพอใจของผู้รับบริการ

 หลักการพื้นฐานขององค์กรแห่งนวัตกรรม

                 องค์กรแห่งนวัตกรรม เป็นองค์กรที่มีความเท่าทันในการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาไปตามยุคสมัยเพื่อสร้างความพึงพอใจทั้งบุคคลในองค์กรและผู้รับบริการจากองค์กร มีเป้าหมายมุ่งสู่ความสำเร็จและเจริญก้าวหน้าขององค์กร

องค์กร จะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมได้  จะต้องมีหลักการในการบริหารจัดการ  มีคุณลักษณะที่จะเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม  หลักการดังกล่าวนี้ได้มีนักวิชาการเสนอแนวคิดไว้อย่างหลากหลาย ดังนี้  

                กีรติ   ยศยิ่งยง (องค์กรแห่งนวัตกรรม แนวคิดและกระบวนการ : 2552) ได้แสดงแนวคิดว่า การสร้างองค์กรแห่งนวัตกรรม ผู้บริหารจำเป็นจะต้องเข้าใจหลักการพื้นฐานขององค์กรแห่งนวัตกรรม  8 ประการสำคัญ  คือ

                  1.ต้องรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจอย่างดี (Business Knowledge)

                  2.ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอิทธิพลของสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี (Environment  Knowledge)

                 3.ต้องมีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนยุทธศาสตร์ (Strategy  Knowledge)

                 4.ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับองค์การและ ธรรมาภิบาล (Organization and Good Governance knowledge)

                 5.ต้องมีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคลากร (People  Knowledge)

                  6.ต้องมีความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับการเป็นผู้นำองค์การ ( Leadership  Knowledge)

                  7.ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการสื่อสาร (Communication  Knowledge)

                  8.ต้องมีความยืดหยุ่น  และความสามารถในการเปลี่ยนแปลง (Flexibility  and  Capacity for  Change)

  เชลเวย์  เบคเกอร์ (องค์กรแห่งนวัตกรรม www.chicagogsb.edu/faculty/selectedpapers/sp14.pdf)  ได้เสนอหลักการพื้นฐาน 8 องค์ประกอบสำคัญ ขององค์กร แห่งนวัตกรรม ไว้ดังนี้

                   1.ต้องความรู้  ความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจอย่างดี (Business Knowledge)

                   2.ต้องนำคุณค่า และพันธกิจขององค์กรเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน

                   3.ผู้บริหารและการจัดการ (Leadership  and  Management)

                   4.การจูงใจพนักงานให้สร้างสรรค์นวัตกรรม (People  Motivation)

                    5.วัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงาน (Culture and Work climate)

                    6.ความสามารถในการเปลี่ยนแปลง (Capacity  for  Change)

                    7.องค์กร และธรรมาภิบาล (Organization and Good Governance)

                     8.สมรรถนะของพนักงานแต่ละคน (Individual  Capacity)

                   พสุ  เตชะรินทร์ (อ้างถึงใน องค์กรแห่งนวัตกรรม แนวคิดและกระบวนการ : 2552)  ได้อธิบายลักษณะขององค์กรแห่งนวัตกรรม ไว้ ดังนี้

                    1.มีทิศทางและกลยุทธ์ที่ชัดเจนที่จะพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม

                    2.สร้างวัฒนธรรมขององค์กรที่ให้ความสำคัญ และคุณค่ากับนวัตกรรมเป็นสำคัญ

                    3.ความมุ่งมั่นและทุ่มเทของผู้บริหาร

                    4.โครงสร้างองค์กร ที่มีความยืดหยุ่นในระดับที่เหมาะสมที่ก่อให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร

                   5.มีบุคลากรที่จะทำหน้าที่ตามบทบาทต่างๆภายใต้กระบวนการนวัตกรรม

                   6.การทำงานร่วมกันเป็นทีม   เนื่องจากนวัตกรรมจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้จากการทำงานร่วมกันของบุคคลที่มีพื้นฐานที่หลากหลายมากกว่า

                   7.มีการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้และทักษะที่เหมาะสม   เพื่อเอื้อต่อการเป็นผู้ที่สามารถคิดค้นสิ่งใหม่ๆ

                   8.ให้ความสำคัญกับบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมในการทำงาน

                  9.มีความเชื่อมโยงกับปัจจัยภายนอกองค์กร เนื่องจากหลายครั้งที่นวัตกรรมได้เกิดขึ้นจากภายใน แต่เป็นการสามารถเชื่อมโยงแนวคิดต่างๆจากภายนอกเข้ามารวมกัน

               จากแนวคิดของนักวิชาการด้านนวัตกรรม ที่ได้เสนอลักษณะขององค์กรแห่งนวัตกรรม ไว้อย่างหลากหลายนั้น ในทัศนของผู้เขียนคิดว่า องค์กรแห่งนวัตกรรม ต้องมีลักษณะ ดังนี้

                      1.โครงสร้างขององค์กร เอื้อต่อการบริหารจัดการที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม

                      2.องค์กรที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง

                      3.องค์กรที่มีการพัฒนาหรือส่งเสริมให้บุคลากรมีการพัฒนาอยู่เสมอ

                      4.ผู้นำองค์กรมีวิสัยทัศน์ด้านนวัตกรรม

                      5.บุคลากรในองค์กรเข้าใจและเห็นคุณค่า ความจำเป็นของนวัตกรรม

                      6.องค์กรมีปัจจัยเอื้อต่อการเกิดนวัตกรรม

                      7.สมรรถนะด้านความรู้  ทักษะของบุคลากรที่ก่อให้เกิดนวัตกรรม

                      นวัตกรรมเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อ  ความสำเร็จของการเปลี่ยนแปลงองค์กร  เป้าหมายขององค์กรประสบความสำเร็จได้ ส่วนสำคัญนอกจาก การเปลี่ยนแปลงของบุคลากร  ผู้นำองค์กร แล้ว นวัตกรรม เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งอีกส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงและประสบความสำเร็จในที่สุด

                     ความท้าทายใหม่ขององค์การ.......และผู้นำนั้น คือ  การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่จะเปลี่ยนแปลงองค์การไปสู่เป้าหมาย ที่เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้  เป็นองค์การสมัยใหม่ทั้งตัวผู้นำองค์การ  องค์การเอง และบุคลากรในองค์การ ตามทฤษฎี หลักการดังกล่าวข้างต้น ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง   ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย และทดสอบศักยภาพผู้นำองค์การอย่างยิ่ง    ความสำเร็จอยู่ข้างหน้า  ถ้ามีความมุ่งมั่น  ตั้งใจ  ใฝ่รู้  เรียนรู้ และจัดการความรู้เพื่อทุกคนในองค์การ ดังที่ Stendhal Marie Henri Boyle(ฝรั่งเศส)  กล่าวว่า “ ความมุ่งมั่นอันใหญ่หลวง สามารถเอาชนะได้ทุกสิ่ง จึงกล่าวได้ว่า ผู้ใดก็ตามหากเสาะแสวงด้วยความมุ่งมั่นและแน่วแน่เขาก็ย่อมจะไปถึงจุดหมายอย่างแน่นอน”

--------------------------------------------------------------

อ้างอิง

            กีรติ     ยศยิ่งยง. (2552). องค์กรแห่งนวัตกรรม แนวคิด และกระบวนการ. กรุงเทพมหานคร.โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

            แคทซ์,ราล์ฟ.(2550).การบริหารจัดการนวัตกรรม. (แปลจาก Managing  Creativity  and  Innovation โดย ณัฐญา  สินตระการผล).กรุงเทพมหานคร.ธรรกมลการพิมพ์

            เจิง  เสี่ยวเกอ.(2551).ไม่กล้าเปลี่ยนก็ไม่มีโอกาส.(แปลจาก No Change ,No  Opportunity โดย สุธิมา  โพธิ์เงิน).กรุงเทพมหานคร.สถาพรมีเดียรส์.

            ซี.เค.พราฮาลาด และ เอ็ม.เอช.คริชนาน. (2552).โลกใหม่แห่งนวัตกรรม( แปลจาก The new age of  innovation โดย นิสิต  มโนตั้งวรพันธุ์).กรุงเทพมหานคร.สำนักพิมพ์แมคกรอ-ฮิล.

             ณัฏฐพันธ์  เขจรนันทน์.(2551).พฤติกรรมองค์การ.กรุงเทพมหานคร.ซีเอ็ดยูเคชั่น.

             ไมค์กี่  เบียร์.(2551).การบริหารการเปลี่ยนแปลง.(แปลจาก Manage Change and Transition โดย ภักดี  เมฆจำเริญ.กรุงเทพมหานคร.ธรรกมลการพิพ์.

            โรเบอร์ต บี.ทัคเกอร์.(2552).องค์การแห่งการสร้างนวัตกรรม.(แปลจาก Driving growth through innovation โดย สมพงษ์  สุวรรณจิตกุล).กรุงเทพมหานคร.นำอักษรการพิมพ์.

             วรภัทร์   ภู่เจริญ.(2550).การบริหารนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและพอเพียง. กรุงเทพมหานคร.

หจก.สามลดา.

            สมคิด  บางโม.(2552).องค์การและการจัดการ.กรุงเทพมหานคร.วิทยพัฒน์จำกัด.

 

หมายเลขบันทึก: 363560เขียนเมื่อ 3 มิถุนายน 2010 21:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท