การนำเสนอกระบวนการผลิตบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง ส่วนประกอบของพืช


           การผลิตบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง ส่วนประกอบของพืชนี้ประกอบไปด้วยหลักการและเหตุผลเนื่องมาจากในชีวิตประจำวันของนักเรียนมีความจำเป็นต้องบริโภคอาหารหลัก 5 หมู่อยู่แล้ว แต่นักเรียนเองยังมีความเข้าใจที่ผิดว่า พืชผักที่จัดอยู่ในอาหารหลัก 5 หมู่นั้น จัดเป็นส่วนประกอบใดของพืช โดยเฉพาะจะเกิดความสับสนมากที่สุดว่า พืชผักที่บริโภคอยู่นั้นเป็นราก หรือลำต้นใต้ดินที่มีหน้าที่สะสมอาหาร เช่น หัวผักกาด แครอท กระชาย มันสำปะหลัง มันเทศ มันฝรั่ง หัวหอม ขิง ข่า และรากบางชนิดอาจไม่ได้อยู่ใต้ดินเท่านั้น แต่ยังมีรากอากาศอีกด้วย เช่น รากไทร รากของกล้วยไม้ เป็นต้น และในส่วนของใบพืชนั้นนักเรียนยังแยกความแตกต่างระหว่างพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และพืชใบเลี้ยงคู่ไม่ค่อยได้

            บทเรียนสำเร็จรูปชุดนี้ จึงประกอบไปด้วยสาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ คำชี้แจงในการใช้บทเรียนสำเร็จรูป เนื้อหา และรายละเอียดของเนื้อหา ที่ได้เสนอแนวคิด และเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกความแตกต่าง หรือรายละเอียดปลีกย่อยของส่วนประกอบของพืชให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเนื้อหาแต่ละส่วนจะมีความสัมพันธ์กันที่เสนอเรื่องราวของส่วนประกอบของพืช มีภาพประกอบอย่างชัดเจน สื่อความหมายและสวยงาม ตลอดจนใช้ถ้อยคำอธิบายที่เข้าใจง่าย นักเรียนสามารถตอบคำถาม และตรวจคำตอบด้วยตนเอง

 

วัตถุประสงค์

                1.เพื่อให้ผู้เรียนจำแนกความแตกต่างระหว่างรากหรือลำต้นใต้ดินที่มีหน้าที่สะสมอาหารได้

                2.เพื่อให้ผู้เรียนแยกความแตกต่างระหว่างพืชใบเลี้ยงเดี่ยว และพืชใบเลี้ยงคู่ได้

                3.เพื่อให้ผู้เรียนบอกส่วนประกอบของพืชได้อย่างถูกต้อง

ขั้นตอนการผลิตสื่อนวัตกรรม

     กระบวนการจัดทำ/การผลิต

               ขั้นตอนการทำโครงการผลิตสื่อนวัตกรรมการศึกษา

1.กำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย

2.ศึกษาเนื้อหาเกี่ยวกับส่วนประกอบของพืช และรูปภาพต่างๆที่จะนำมาเป็นตัวอย่าง

3.ศึกษาเทคนิคการสร้างจากหนังสือ จากเว็บไซต์ และปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

4.ลำดับขั้นตอนก่อนหลังในการดำเนินเรื่อง

5.สร้างบทเรียนสำเร็จรูป

6.นำบทเรียนสำเร็จรูปไปให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบแล้วนำไปปรับแก้

7.นำไปทดลองใช้กับเด็กนักเรียน

8.ประเมินผลบทเรียนสำเร็จรูปก่อนส่งอาจารย์ประจำวิชา

 

                     กระบวนการเรียนในบทเรียนสำเร็จรูป

        1.แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้แก่ผู้เรียน

        2.แสดงคำแนะนำสำหรับครู

        3.แสดงคำแนะนำสำหรับนักเรียน

        4.ผู้เรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน  และตรวจคำตอบในหน้าถัดไป (กล่าวชมเชย/ให้กำลังใจผู้เรียน)

        5.เนื้อหาและภาพประกอบตามจุดประสงค์การเรียนรู้

        6.ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเรียน  และตรวจคำตอบในหน้าถัดไป (กล่าวชมเชย/ให้กำลังใจผู้เรียน)

        7.ชี้แจงกับผู้เรียนว่าถ้าไม่พอใจกับผลการทดสอบสามารถเปิดกลับย้อนไปศึกษาใหม่ได้

        8.ทำขั้นตอนที่ 4-7 จนครบจุดประสงค์การเรียนรู้

        9.สรุปทบทวนทั้งหมด

        10.ทำแบบฝึกหัดประมวลผลหลังเรียนและตรวจคำตอบในหน้าถัดไป

        (กล่าวชมเชย/ให้กำลังใจผู้เรียน)

ระยะเวลาในการจัดทำ  :          ประมาณ 2 สัปดาห์

งบประมาณที่ใช้จริง  :                ประมาณ 100 บาท

ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิต และการแก้ไขปัญหา

  1. ช่วงเวลาในการจัดทำกระชั้นชิด ทำให้ผู้เชี่ยวชาญบางท่านตรวจยังไม่ละเอียด

  2. การหาผู้เชี่ยวชาญเป็นไปอย่างยากลำบาก แก้ไขโดยไปพบผู้เชี่ยวชาญในช่วงพักเที่ยง

  3. เด็กนักเรียนบางคนบอกว่าตัวหนังสือมากเกินไปไม่น่าอ่าน แก้ไขโดยใช้รูปภาพมาแทนที่การบรรยายเป็นตัวอักษร

 

  การตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ 3 คน

  การนำผลจากผู้เชี่ยวชาญไปปรับปรุง/แก้ไขสื่อนวัตกรรมการศึกษา

  1. มีผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งแนะนำว่าตัวหนังสือที่ใช้ต้องเป็นรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น Angsana New และ Browallia  New  เป็นต้น  แต่มีผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งกล่าว่าการใช้ตัวหนังสือควรเป็นแบบที่นักเรียนดูแล้วน่าอ่าน เช่นตัวหนังสือวัยรุ่น เป็นต้น เพื่อให้เหมาะกับช่วงวัย

  2. การปรับแก้ในส่วนของการใช้ภาษาเขียนที่ถูกต้องในส่วนของหน้าที่แสดงคำแนะนำสำหรับครู

ค่าดัชนีความสอดคล้อง (IOC) ที่เกิดขึ้น

              การตรวจสอบเบื้องต้น เป็นการนำบทเรียนที่สร้างขึ้นไปให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องที่ทำบทเรียนโดยตรง อย่างน้อย 3 คน ตรวจสอบถ้าผู้เชี่ยวชาญ 3 ท่าน มีความเห็นสอดคล้องกัน 2 ใน 3 ท่าน แสดงว่าเนื้อหาและรูปแบบมีความถูกต้อง เที่ยงตรง และคลอบคลุมจุดมุ่งหมายที่กำหนด ซึ่งการตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้อง โดยผู้เชี่ยวชาญก่อนที่จะนำไปทดลองใช้นั้น มักจะใช้คำว่า IOC ในการพัฒนาคุณภาพ

 ซึ่งการนำบทเรียนสำเร็จรูปเรื่องนี้ไปใช้ ได้ค่า ICO   =    8/3  =  2.67

 

การทดลองใช้แบบ 1 : 1 จำนวน 3 คน

การทดลองแบบ 1 : 1 เป็นการนำบทเรียนที่สร้างขึ้นไปทดลองกับนักเรียน 3 คน ซึ่งมีระดับความสามารถแตกต่างกัน คือ เก่ง ปานกลาง อ่อน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบการใช้งานและความสอดคล้องเหมาะสมในด้านต่างๆ อย่างละเอียดจากการสังเกตพฤติกรรมการใช้ของนักเรียนและนำมาแก้ไขข้อบกพร่องให้สมบูรณ์

-   การนำผลจากการทดลองใช้ไปปรับปรุง/แก้ไขสื่อนวัตกรรมการศึกษา

มีนักเรียนบางคนกล่าวว่าเนื้อหามากเกินไปอยากดูเป็นรูปภาพมากกว่า ส่วนตัวหนังสือให้ใช้ตัวหนังสือวัยรุ่น เพราะน่าอ่าน จึงปรับแก้ตามที่ผู้เรียนแนะนำ

-   ค่าเกณฑ์ประสิทธิภาพของสื่อนวัตกรรมการศึกษา (E1/E2)

เกณฑ์ที่ยอมรับว่าบทเรียนสำเร็จรูปมีประสิทธิภาพ นั่นคือ ความรู้ความจำ E1/E2 จะต้องมีค่า 80/80 ขึ้นไป ส่วนในด้านทักษะปฏิบัติ E1/E2  จะต้องมีค่า 70/70 ขึ้นไป โดยที่ค่า  E1/E2 ต้องไม่แตกต่างกันร้อยละ 5

การหาเกณฑ์ประสิทธิภาพของบทเรียนสำเร็จรูปเรื่องนี้ มีค่าเกณฑ์ประสิทธิภาพของบทเรียน E1/E2 = 67/83

-   หาค่าดัชนีประสิทธิผลของบทเรียน โดยการวิเคราะห์จากคะแนนเฉลี่ยที่นักเรียนทำได้กับคะแนนเต็ม ทั้งก่อนเรียนและหลังเรียน ซึ่งเกณฑ์ยอมรับว่าบทเรียนมีประสิทธิผลช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้จริง จะต้องมีค่าตั้งแต่ 0.50 ขึ้นไป

ดัชนีค่าประสิทธิผลของบทเรียนสำเร็จรูปนี้  =     0.498   (ประมาณ 0.5)

                                          

ดังนั้นบทเรียนสำเร็จรูป เรื่อง ส่วนประกอบของพืชนี้มีประสิทธิผลช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้

ได้จริง

 ผู้จัดทำหวังว่าในการผลิตสื่อนวัตกรรมครั้งนี้จะช่วยเป็นพื้นฐานหรือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการผลิตนวัตกรรมอื่นๆในภายหน้าต่อไป

หมายเลขบันทึก: 363005เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2010 21:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท