ประโยชน์ของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์


การบริหารทรัพยากรมนุษย์

ประโยชน์ของการวางแผนทรัพยากรมนุษย์

ชลลดา พึงรำพรรณ

                      การวางแผนทรัพยากรมนุษย์มีประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านทรัพยากรมนุษย์หลายประการ    หากสามารถวางแผนได้อย่างมีระบบชัดเจนและทันสมัยจะช่วยให้องค์การใช้ประโยชน์จากแผนทรัพยากรมนุษย์ได้ดังนี้

                      1.ช่วยให้การวางแผนการสรรหาคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานสามารถดำเนินการได้ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง   โดยพิจารณาข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์งานอันได้แก่ คำบรรยายลักษณะงานและคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง    เพื่อให้ได้คนที่มีความรู้ความสามารถในปริมาณที่เหมาะสมและในช่วงเวลาที่ต้องการ

                      2.    ช่วยให้การวางแผนจัดฝึกอบรมและพัฒนาบุคคลสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ และเป้าหมายหลักขององค์การ  โดยการศึกษานโยบายขององค์การ ลักษณะงาน และศักยภาพของบุคคลที่มีอยู่ว่ามีความสอดคล้องกันมากน้อยเพียงใด    หากพบว่ามีสิ่งที่ต้องพัฒนาหรือสนับสนุนให้มีการเพิ่มพูนความรู้ในรูปแบบใดก็ตาม  องค์การสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                      3.    ช่วยให้การจัดวางตัวบุคคลให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามความรู้ความสามารถได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะทำให้บุคคลได้มีโอกาสทำงานตามบทบาทหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ  เป็นการใช้คนให้เหมาะกับงานสร้างแรงจูงใจให้แก่บุคคลได้วิธีหนึ่ง

                      4.    ช่วยให้การประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นไปอย่างโปร่งใส  และเป็นธรรม เนื่องจากการวางแผนทรัพยากรมนุษย์ต้องมี การกำหนดคุณสมบัติและความสามารถในการทำงาน    ซึ่งถือเป็นเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดตัวบุคคลและผลงานที่ต้องทำได้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้เอง สามารถใช้เป็นปัจจัยในการประเมินผลการปฏิบัติงานได้ ทั้งยังเป็นข้อมูลให้แก่ผู้บังคับบัญชา     ในการประเมินผู้ใต้บังคับบัญชาและเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานว่าตนเองต้องมีคุณสมบัติ  และมีผลงานอย่างไรจึงจะได้มาตรฐานตามที่องค์การต้องการ

                      5.    ช่วยให้การพิจารณาเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง การโยกย้ายหรือการหมุนเวียนงานเป็นไปด้วยความเหมาะสมจากการประเมินผลที่เป็นธรรมทำให้ผู้ที่มีผลงานดีได้เลื่อนตำแหน่ง     มีการโยกย้ายบุคคลให้ตรงตามความถนัด    หรือมีการหมุนเวียนงานเพื่อให้บุคคลมีการเรียนรู้งานในฝ่ายต่าง ๆ ขององค์การได้ทั่วถึงและสามารถเข้าใจระบบการทำงานโดยรวมได้ดีขึ้น

                      6.    ช่วยให้การบริหารค่าจ้างเงินเดือนและสวัสดิการมีความเหมาะสม เนื่องจากการวางแผนควบคุมจำนวนบุคลากรให้อยู่สัดส่วนที่เหมาะสมกับปริมาณงาน  ถือเป็นการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่องค์การ   ไม่ทำให้องค์การต้องแบกรับภาระเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่บุคลากรที่มีมากเกินความต้องการ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนที่จะนำมาจ่ายค่าจ้างให้หรืออาจต้องประหยัดเงินจนต้องลดเงินเดือนของพนักงานลง

                    7.  ช่วยให้การจ้างพนักงานใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  การวางแผนทรัพยากรมนุษย์เป็นงานที่มีความสำคัญในองค์การทุกประเภท  เป็นการเตรียมการให้ได้พนักงานใหม่เป็นไปตามความต้องการของแผนกหรือฝ่ายต่าง ๆ การที่องค์การจะกำหนดการรับพนักงานใหม่  แต่ละครั้ง จะต้องยึดแผนงานด้านทรัพยากรมนุษย์ที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ทันต่อความต้องการของหน่วยงาน   และเป็นการทำให้การจ่ายเงินขององค์การเพื่อพนักงานใหม่เหล่านั้นมีความคุ้มค่า   ทั้งนี้เพราะทันทีที่องค์การตัดสินใจจ้างพนักงาน  นั่นแสดงว่าต้นทุนขององค์การเพิ่มขึ้น  ประเด็นนี้องค์การธุรกิจให้ความสนใจมาก  เพราะต้องการให้การจ้างพนักงานใหม่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  คือ  ประหยัด  ทันเวลา  ตรงตามความต้องการอย่างแท้จริง

                8.  ส่งเสริมและพัฒนาโอกาสความเท่าเทียมกันของพนักงานในหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์การ  ในการวางแผนทรัพยากรมนุษย์นั้นไม่จำเป็นจะต้องออกมาในรูปการจ้างพนักงานใหม่ทั้งหมด  พนักงานที่องค์การต้องการใหม่นั้น    บางครั้งองค์การจะใช้วิธีการเคลื่อนย้ายพนักงานจากตำแหน่งเดิมมาตำแหน่งใหม่  โดยใช้วิธีการพัฒนาและฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้สามารถทำงานในตำแหน่งใหม่ได้  การวางแผนทรัพยากรมนุษย์เป็นการพิจารณาภาพรวมทั้งหมด  จึงทำให้พนักงานในแต่ละฝ่ายขององค์การได้รับการพิจารณาอย่างทั่วถึง    ซึ่งสิ่งนี้นับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เกิด ความเท่าเทียมกันของพนักงานในหน่วยงานต่าง ๆ ที่จะได้รับการส่งเสริมและพัฒนาตามแผนงาน ด้านทรัพยากรมนุษย์ขององค์การ

                9.  เป็นแนวทางสำหรับองค์การที่มีหน้าที่ผลิตจะได้ผลิตกำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงาน  องค์การที่มีหน้าที่ผลิตก็คือสถาบันการศึกษา   ในยุคปัจจุบันสถาบันการศึกษาสนใจการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดแรงงาน   ฉะนั้นถ้าองค์การได้ดำเนินการวางแผนด้านทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบ  ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์และช่วยสนับสนุนให้การผลิตนักศึกษาออกไปสอดคล้องกับความต้องการของหน่วยงานและ ช่วยพัฒนาความมั่นคงให้แก่ประเทศ  ไม่เกิดปัญหาการว่างงาน  หรือได้ทำงานที่ไม่ตรงกับความรู้ ความสามารถตามที่สำเร็จการศึกษามา

                จากแนวความคิดดังกล่าวจะเห็นว่า  การวางแผนทรัพยากรมนุษย์มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือให้กิจกรรมหรือหน้าที่ทั้งหลายในองค์การประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย  ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีทรัพยากรบุคคลที่มีคุณวุฒิและความสามารถในการปฏิบัติงานทุกระดับทั้งในปัจจุบันและอนาคต    ตลอดจนสามารถหาแหล่งของทรัพยากรบุคคลดังกล่าว   เพื่อวางแผนสรรหาทรัพยากรมนุษย์เหล่านั้นได้         การวางแผนทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ จะต้องเน้นความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  มิใช่งานของผู้หนึ่งผู้ใดแต่ผู้เดียว  หรือเป็นงานของนักวางแผน 2-3 คนเท่านั้น  แต่ทุกฝ่ายในองค์การจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นและนำแผนไปปฏิบัติด้วย  เพราะการวางแผนทรัพยากรมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของแผนกลยุทธ์ขององค์การ

 

หมายเลขบันทึก: 362833เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2010 09:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

อาจารย์ครับ

    ประโยชน์ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์   ก็น่าจะตรงกับคำกล่าวที่ว่า Put the right   man  on the   right  job  นะครับ

at the right time,in the right place ด้วยค่ะ

สวัสดีครับ

มาเยี่ยม มาเรียนรู้ ครับ

คือว่าอยากทราบข้อดีของการจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างง่ายและได้ใจความค่ะ เพราะว่าจะเอาไปประกอบการตัดสินใจในการเรียนต่อปริญญาโท กำลังมองสาขาการจัดการทรัพยากรบุคคลอยู่ค่ะ ขอคำชี้แนะด้วยนะคะ ขอบพระคุณค่ะ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท