โรงเรียนชาวนาระดับอุดมศึกษา (14.2) ชีวิตกับการเรียนรู้


โรงเรียนชาวนาบ้านโพธิ์ (ต่อ)

     โดยปกติ คุณบุญมาชอบทดลองอยู่แล้ว ยิ่งมาเป็นนักเรียนชาวนาก็ยิ่งทำให้การทดลองกลายเป็นวิถีชีวิตปกติไปเรียบร้อยแล้ว งานนี้ก็ทดลองอีก และบอกอีกว่า ทดลองทุกครั้งก็ได้ความรู้ทุกครั้ง นี่อายุเท่าไรแล้ว ความรู้ยิ่งเพิ่มขึ้น พูดแล้วก็ชวนให้หัวเราะออกมาดังๆ แม้...พูดถึงอายุกันเสียงดังจริงๆ

ภาพที่ ๗๑ คุณบุญมากับแปลงข้าวทดลอง

     การทดลองที่ปลูกด้วยข้าวกล้อง ทำให้คุณบุญมาตื่นเต้นเป็นอย่างมาก จากข้าวเปลือกจำนวน ๒ กิโลกรัม สีได้เป็นข้าวกล้องเพียงนิดเดียว แล้วก็คัดข้าว...ชนิดที่คัดแล้วคัดอีก แล้วจึงนำไปเพาะ โดยปรับดินด้วยการใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ผลิตเอง พื้นที่แปลงทดลองไม่ถึง ๑ งาน ใส่ปุ๋ยลงไป ๓๐ กิโลกรัม

ภาพที่ ๗๒ แปลงทดลองบริเวณหน้าบ้าน

     จากนั้นใช้ขี้เทาปกคลุมหนาประมาณ ๒ นิ้ว ก็เห็นใส่หนาไปหน่อย จึงแก้ไขปรับพื้นที่ใหม่ ให้หนาเพียง ๒ เซนติเมตรก็พอ เมื่อดำได้สักระยะหนึ่งก็จึงฉีดฮอร์โมนผลไม้ น้ำหมักหอยเชอรี่ ๒ ครั้ง แล้วใช้น้ำหมักสมุนไพรไล่แมลง สมุนไพรประเภทสะเดา

     ต่อมาอีกสักพักก็เกิดปัญหาขึ้นอีก ข้าวที่เจริญเติบโตนั้น จากเขียวกลายเป็นเหลือง เจอปัญหาก็รีบแก้ไขโดยทันทีด้วยการใส่ขี้เค้ก คุณบุญมาตั้งข้อสมมติฐานว่า น่าจะเป็นเพราะอาหารจากตัวเมล็ดข้าวหมด ต้นข้าวจึงเหลือง เพราะขาดอาหาร จึงต้องให้อาหารลงไปเพิ่ม

     ในตอนที่ไปเยี่ยมนั้น ข้าวในแปลงต้นเขียวมากๆ คุณบุญมาบอกว่า ตอนนี้รู้จักเทคนิคการทำให้ข้าวเขียว ไม่อยากเลย นึกถึงตอนที่เคยใช้สารเคมี ต้องใส่ปุ๋ยมากขนาดไหนข้าวจึงจะข้าวได้ แต่ตอนนี้ใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพประกอบการน้ำหมักต่างๆ ทำให้ข้าวเขียวยิ่งกว่าเดิมอีก และปลอดภัยด้วย แถมยังไม่ต้องเสียเงินเสียทองเลย คุณบุญมาขอย้ำว่า ทำให้ข้าวเขียวได้ไม่ยากเลย ใครอยากรู้ไปเที่ยวบ้านคุณบุญมาได้ ยินดีต้อนรับเสมอ (หากอยู่บ้าน)

     คุณบุญมาขาเจ็บ จึงขอให้ภรรยาเดินลุยเข้าไปในแปลงนา แหวกๆดูต้นข้าวหน่อย เลือกตรงบริเวณที่ใส่ปุ๋ยมาก เพราะบริเวณดังกล่าวข้าวเขียวและกอใหญ่มากกว่าบริเวณอื่นๆ นับกันหลายรอบ บางกอก็มีต้นข้าว ๒๐ ต้น บางกอก็มีเกือบ ๓๐ ต้น คงอยู่ในราวๆนี้แหละ

     บ้านหลังต่อไป เป็นหลังที่ ๕ เป็นบ้านของคุณสุรินทร์ ซึ่งบ้านอยู่ติดกับบ้านคุณบุญมา พอไปดูๆรอบๆแปลงทดลองแล้ว จึงพบกับความแตกต่างเป็นอย่างมาก เห็นความเขียวของใบแล้วก็บอกว่าเหมือนกันกับหลายๆราย แต่กอออกจะใหญ่เป็นพิเศษ จึงขอนับกอก่อนที่จะพูดคุยกันในเนื้อหาสาระ

ภาพที่ ๗๓ คุณสุรินทร์กับแปลงข้าวทดลอง

     ด้วยความตื่นเต้น คุณสุรินทร์นั่งนับกอหลายกอ เล็กกอใหญ่ๆเป็นหลัก ซึ่งบางกอมีต้นข้าว ๔๘ ต้น บางกอก็ได้มากกว่านี้ และบางกอก็นับต้นข้าวได้ถึง ๕๗ ต้น

ภาพที่ ๗๔ นับจำนวนต้นใน ๑ กอ

     ข้าวที่ปลูกทดลองเป็นพันธุ์ปทุมธานี เพาะเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘ แล้วก็ดำไปเมื่อ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๘

     คุณสุรินทร์เล่าความให้ฟังอย่างสั้นๆว่า ได้ใส่ปุ๋ยหมักชีวภาพลงไปประมาณ ๒ กระสอบ จากนั้นก็บำรุงต้นด้วยฮอร์โมนรกหมู ฮอร์โมนฟักทองผสมหัวปลา หอยเชอรี่ กล้วยสุก อ้อย มะละกอ หน่อกล้วย เปลือกสับปะรด และโมลาส ส่วนผสมเยอะมาก คุณสุรินทร์เล่าไปหัวเราะไป บอกว่ามีอะไรเหลือๆอยู่ในบ้านก็หมักผสมกันจนหมด

ภาพที่ ๗๕ กอข้าว         

                

ภาพที่ ๗๖ บริเวณโคนกอข้าว

     นักเรียนชาวนาคนต่อมาที่ใครจะขอแนะนำให้รู้จักอีกคนหนึ่ง คือ คุณมะนาว ผู้ที่ชื่นชอบการร้องลิเก...เสียงดี้ดี...ขอรับรอง

 

หมายเลขบันทึก: 36164เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2006 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 พฤษภาคม 2012 22:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • น่าสนใจมากครับ
  • เริ่มไม่อยากสอนหนังสือแล้วครับ
  • อยากกลับไปบ้านไปทำนาดีกว่า
  • รออ่านเรื่องต่อไปครับ

อาจารย์ค่ะ,

 หากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อมูลนิธิข้าวขวัญ ได้เลยนะคะ  หรือจะลงพื้นที่ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันก็ได้ค่ะ

035 597193

อ้อม สคส.

  • เคยไปแล้วครับ
  • ดีใจที่ได้พบพี่เดชา ตัวเป็นๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท