การแข่งขันทางการค้ากับองค์การค้าโลก


การเป็นภาคีสมาชิกองค์การค้าก็ทำให้ประเทศไทยมีภาระผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตาม

               เมื่อจะกล่าวถึงองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทที่ทำให้เกิดการเจรจาระหว่างประเทศสมาชิกแล้ว ก็หนีไม่พ้นองค์การค้าโลก (World Trade Organization : WTO) ซึ่งทำให้เกิดกลไกการเจรจาการค้าพหุภาคี (Multilateral Trade Negotiation) ซึ่งเป็นกระบวนการอันเป็นเวทีให้นานาประเทศใช้เป็นที่เจรจาตกลง ตลอดจนจัดระเบียบเศรษฐกิจการค้า ซึ่งมีการกำหนดพันธกิจไว้คือ มุ่งมั่นทำให้ระบบการค้าโลกเสรี, ผลักดันให้เกิดการเจรจาการค้าให้เกิดขึ้น, มีกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางการค้า จากพันธกิจที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าเรื่องหนึ่งที่ทำให้ทั่วโลกสามารถติดต่อทำธุรกิจอย่างไม่จำกัดที่จะต้องทำธุรกิจเฉพาะประเทศเพื่อบ้านหรือเฉพาะภูมิภาคเท่านั้นนั้นก็คือ การทำให้ระบบการค้าโลกเสรี เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบการค้าโดยเสรี จึงมีความจำเป็นได้ว่าระเบียบและกฎเกณฑ์ของแต่ละประเทศจำเป็นที่จะต้องมีและรวมถึงการเปลี่ยนแปลง

               สำหรับประเทศไทยเองก็ได้เข้ามาเป็นสมาชิกกับองค์การค้าโลกซึ่งก็สร้างประโยชน์ให้กับระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมากมายไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่ส่งออกได้รับการลดหย่อนภาษีจากประเทศสมาชิกอื่นตามหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง (Most Favored Nation Treatment: MFN), มีโอกาสทางการค้า และมีตลาดส่งออกมากขึ้นเนื่องจากสมาชิกทุกประเทศมีพันธกรณีที่จะลดภาษี ลดและยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าอื่นๆที่มิใช่ภาษีศุลกากร จึงเท่ากับเป็นการเปิดช่องทางให้ไทยสามารถส่งสินค้าไปขายโดยมีอุปสรรคทางการค้าน้อยที่สุด รวมไปถึงการมีอำนาจต่อรองทางการค้าระหว่างประเทศ                

               แต่การเป็นภาคีสมาชิกองค์การค้าก็ทำให้ประเทศไทยมีภาระผูกมัดที่จะต้องปฏิบัติตามไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดซึ่งตรงนี้เองจะทำให้ประเทศไทยมีต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้นส่งผลให้มีการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งการแข่งขันจะทำให้ธุรกิจมีการพัฒนาในด้านต่างๆ เช่นเทคโนโลยี เพื่อที่จะสร้างศักยภาพในการแข่งขันทำให้มีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่ง จนทำให้ไทยต้องมีกฎหมายออกมาเพื่อจะทำให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมและมีความเป็นเสรี ด้านการค้า  อย่างเช่นพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ซึ่งมีการตราขึ้นโดยมีเจตนารมณ์เพื่อที่จะป้องกันการผูกขาด/ ลดการแข่งขัน/จำกัดการแข่งขัน, มุ่งส่งเสริมการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม, ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ระบบการตลาดช้าลง มุ่งให้เกิดผลประโยชน์แก่ผู้บริโภค ทำให้ส่งเสริมการประกอบธุรกิจให้เป็นไปอย่างเสรี และเพื่อป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ เช่น ตามมาตรา 26 ที่ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดกระทำการรวมธุรกิจอันอาจก่อให้เกิดความผูกขาดหรือไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน,มาตรา  27 ที่ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจใดร่วมประกอบธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจอื่นอันเป็นการทำให้เป็นการผูกขาดหรือลดการแข่งขันหรือทำให้มีการจำกัดการแข่งขันในสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่งตามลักษณะที่กฎหมายกำหนด ตัวอย่างเช่น การกำหนดราคาขายสินค้าหรือราคาบริการเป็นราคาเดียวกัน เป็นต้น และแม้ว่าเป็นการทำธุรกิจกับต่างชาติก็มีบทบัญญัติที่กำหนดไว้เพื่อป้องกันการจำกัดการค้าแข่งเช่นกันดังที่ปรากฎในมาตรา31 กล่าวคือ  ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักร ไม่ว่าความสัมพันธ์นั้นจะเป็นโดยทางสัญญา นโยบาย ความเป็นหุ้นส่วน การถือหุ้น หรือมีความสัมพันธ์ในลักษณะอื่นใดทำนองเดียวกัน ดำเนินการใดๆ เพื่อให้บุคคลซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรที่ประสงค์จะซื้อสินค้าหรือบริการมาใช้เอง ต้องถูกจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจซึ่งอยู่นอกราชอาณาจักรโดยตรง                

               นอกจากนี้ยังมี พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ซึ่งตราขึ้นโดยเจตนารมณ์ที่จะทำให้ข้อกฎหมายที่ไม่เหมาะสมบางประการตาม พ.ร.บ.ป้องกันการทุ่มตลาด พ.ศ. 2507 หมดไป อันสืบเนื่องมากจากขยายตัวและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศไทย รวมถึงการไม่มีหลักการเรื่องการตอบโต้การอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้ามายังประเทศไทย และไม่สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เช่น   ในเรื่องการตอบโต้การทุ่มตลาด   มาตรา ๑๒ กำหนดให้การทุ่มตลาดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในเป็นการกระทำอันมิชอบที่อาจตอบโต้ได้   ,มาตรา ๑๓  การทุ่มตลาดตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่ การส่งสินค้าเข้ามาในประเทศไทยเพื่อประโยชน์ในทางพาณิชย์ โดยมีราคาส่งออกที่ต่ำกว่ามูลค่าปกติของสินค้าชนิดเดียวกัน และเมื่อมีการกำหนดเช่นนี้ก็จะมีมาตราที่กำหนดถึงการตอบโต้การทุ่มตลาด เช่น มาตรา ๓๘  ถ้ารัฐบาลของประเทศใดร้องเรียนว่าสินค้าทุ่มตลาดจากประเทศอื่นที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายในของประเทศนั้น และคณะกรรมการมีคำวินิจฉัยเห็นสมควรให้ดำเนินการพิจารณาตอบโต้การทุ่มตลาดตามที่ถูกกล่าวหานั้น ให้กรมการค้าต่างประเทศดำเนินการตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการต่อไป แต่อย่างไรก็ตามการตอบโต้การทุ่มตลาดต้องได้รับความเห็นชอบจากองค์การการค้าโลกด้วย  ในส่วนของการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศนั้นประเทศไทยก็มีมาตรการตอบโต้การอุดหนุนโดยเฉพาะเจาะจงดังที่ปรากฏในมาตรา 67 คือกำหนดให้ใช้วิธีการดังต่อไปนี้ในการตอบโต้การอุดหนุนสินค้าจากต่างประเทศโดย  คือ ให้กรมการค้าต่างประเทศแจ้งให้ประเทศที่ให้การอุดหนุนทราบเพื่อปรึกษาหารือกันและเสนอเรื่องให้มีการระงับข้อพิพาท ตามขั้นตอนและวิธีการพิจารณาตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลกว่าด้วยการอุดหนุนและมาตรการตอบโต้ และให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการตอบโต้อย่างหนึ่งอย่างใดที่เหมาะสมแก่กรณี และให้คณะกรรมการดำเนินการเพื่อพิจารณาตอบโต้การอุดหนุน โดยกำหนดอากรตอบโต้การอุดหนุน  จะเห็นได้ว่ามี พระราชบัญญัติการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 มีการแก้ไขเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

               จากที่กล่าวมาจะพบว่าองค์การค้าโลกจะพยายามผลักดันให้ประเทศภาคีสมาชิกดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงที่ได้ตกลงไว้ ดังนั้นประเทศไทยจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขกฎหมายในบางส่วนที่ยังไม่สอดคล้องกับข้อตกลงเพื่อที่จะสามารถนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นมาตรฐานเดียวกันกับประเทศภาคีสมาชิกอื่นๆ

อ้างอิง : http://www.pub-law.net/library/act_tradeadv.html , http://www.oic.thaigov.go.th/WINFOMA/DRAWERS/LAWS/DATA0000/00000157.DOC , http://www.dft.moc.go.th/the_files/$$11/level3/antidumping.doc 


ความเห็น (2)

อ่านแล้วค่ะ

เขียนจบแล้วยังคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท