สร้างสุข ให้คนในโรงงาน


“ สิ่งหนึ่งที่คนทำงานในโรงงาน ต้องการ คือ คุณภาพชีวิตที่ดี ”

สร้างสุข ด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในองค์กร

 

“ สิ่งหนึ่งที่คนทำงานในโรงงาน ต้องการ คือ คุณภาพชีวิตที่ดี ”  แล้วจะทำอย่างไรดีแหละ? ผมในฐานะของผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่อง ชีวิต ความเป็นอยู่ ของพนักงานมักจะถามตัวเองอยู่บ่อยๆว่า... คุณภาพชีวิตที่ดีเป็นอย่างไร ?

 

ตามหลักเขาว่า “  จะต้องเริ่มต้นจากฝ่ายบริหาร ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณชีวิตของพนักงานอย่างต่อเนื่อง  ”  จุดหมายปลายทาง คือ “ เป็นองค์กรแห่งความสุข ”  ถ้ามองดูให้ครบรอบด้านก็น่าจะเป็นอย่างนั้นนะครับ... ถ้าเป็นไปได้จริง สถานที่นั้น คงเป็นที่ “น่าอยู่ น่าทำงาน” มากๆ

 

ที่ทำงานของผมสอนให้พนักงานทุกคน นำหลักคิด “  คิดบวก ” มาใช้ แม่ผมก็สอนว่า... “ ให้คิดดี ทำดี  ”  เดี๋ยวก็ได้ดี "  ผมคิดไป คิดมา แล้วนำมาเทียบกันดู ก็น่าจะคล้ายๆกันครับ... เลยแอบยิ้มกับใจตัวเอง... “แสดงว่า ที่แม่ผมสอนไม่เชย”

 

ผมไปอบรมมา...ฟังแนวคิดเรื่องการสร้างสุข และพัฒนาคุณภาพชีวิต มาตั้งหลายครั้ง แนวทางและเครื่องมือก็มีให้เลือกนำมาใช้ตั้งหลายอย่าง... แต่ที่ผมมองดูแล้ว วิธีสร้างสุข โดยนำแนวทาง “ 8 Happy ” มาพัฒนาคุณภาพชีวิตในโรงงาน ก็ดูเข้าท่าครับ... ดูแล้วถ้าผมนำมาประยุกต์ใช้ กับกิจกรรมที่โรงงานทำอยู่...ก็น่าจะพอไหว... และที่สำคัญคือ น่าจะสื่อสารทำความเข้าใจกับพนักงาน รวมทั้งคุยกับคนอื่นข้างนอกโรงงานรู้เรื่อง ผมเลยแบ่งกลุ่มกิจกรรมตามที่ผมเข้าใจออกเป็น 3 ด้าน ครับ

1. การพัฒนาด้านอารมณ์และจิตใจ

2. การพัฒนาด้านร่างกาย

3. การพัฒนาสังคม

ลองมาดูนะครับว่า ในแต่ละด้านเป็นอย่างไรบ้าง ?

 

เริ่มจากด้านที่ 1 : การพัฒนาด้านอารมณ์และจิตใจ

ส่งเสริมให้พนักงานได้ตักบาตรทุกวันพระ โดยโรงงาน จัดรถ รับ-ส่งพระ จากวัดในบริเวณใกล้เคียงโรงงาน เพื่อมารับบิณฑบาตร จากพนักงาน ภายในโรงงาน ซึ่งพนักงาน หลายๆคนพา บิดา มารดา  สามี ภรรยา และบุตร มาร่วมกันทำบุญตักบาตร ในช่วงเช้าก่อนเข้าทำงาน ซึ่งสร้างสัมพันธะภาพ และความอบอุ่นให้แก่ครอบครัว และในโอกาสสำคัญๆ ทางศาสนา เทศกาลวันสำคัญต่างๆ โรงงานได้ ใช้หลักคิดเรื่อง “ยกวัดมาไว้ที่ทำงาน”  โดยจัดนิมนต์พระ เข้ามาสนทนาธรรมะ ในโรงงาน  จัดกิจกรรมหล่อเทียน เข้าพรรษา และจัดขบวนแห่เทียนไปวัด ในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ ปีใหม่ จัดให้มีพิธีทำบุญใส่บาตรพระประจำวันเกิด ถวายสังฆทาน จัดซุ่มงานวัด ให้มีการทำบุญถวายกระเบื้องสร้างโบสถ์  ไถ่ชีวิตโคกระบือ ฯลฯ ตีฆ้อง เคาะระฆัง สงฆ์น้ำพระ ซึ่งเป็นการส่งเสริมพุทธศาสนา และวัฒนธรรมที่ดีงามของไทย อีกทางหนึ่ง ให้พนักงานและครอบครัว ได้ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ และได้ร่วมเดินทางไปทำบุญไหว้พระเก้าวัด เพื่อเป็นศิริมงคลกับชีวิต ร่วมกับโรงงาน โดยใช้บริการของ ขสมก. ซึ่งทำให้พนักงานได้ร่วมทำบุญ ไหว้พระในวัดต่างๆ ได้พักผ่อน มีจิตใจที่ดีงาม  สร้างความสุขร่วมกับครอบครัว และเพื่อนร่วมงาน  รวมๆแล้วก็คือ “เน้นด้านศาสนาเป็นหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ” ครับ

 

ด้านที่ 2 : การพัฒนาด้านร่างกาย

ส่งเสริมให้พนักงานได้รวมกลุ่มออกกำลังกาย โดยทางโรงงาน สนับสนุนในเรื่อง สถานที่ งบประมาณ ทำให้เกิดชมรมกีฬาขึ้น หลายชมรม เช่น ชมรมฟุตบอล ชมรมแชร์บอล ชมรมแอร์โรบิค ชมรมปิงปอง ชมรมโยคะ ชมรมไค้ชิ  วิธีการที่โรงงาน นำมาใช้ในการดูแลพนักงาน คือ “การตรวจสุขภาพ พนักงาน” ในแต่ละชมรม เพื่อให้ทราบผลก่อน และหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมชมรม โดยการตรวจวัดระดับความดันโลหิต และ หาค่า ดัชนีมวลกาย (BMI)  ของพนักงาน

ผลการตรวจสอบผมพบว่า พนักงานบางกลุ่ม อยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเฝ้าระวังอันตรายจากสุขภาพ จึงจัดกิจกรรมส่งเสริมให้พนักงานปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดแข่งขันกีฬา หรือการประกวด การให้ความรู้เรื่องการบริโภคอาหาร ให้ถูกต้อง ปลอดภัย หรือการให้ความรู้เรื่องการพักผ่อน คลายเครียดจากการทำงาน หลังจากนั้นก็ส่งทีมงานเข้าไปพูดคุย แนะนำหลักการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง และให้แพทย์ พยาบาลของโรงงาน ทำหน้าที่ตรวจสอบ ดูแลพนักงานที่มีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง ผลเป็นที่น่าพอใจครับ เพราะ พนักงานหลายคนสามารถปฏิบัติตน และมีผลการตรวจสุขภาพที่ดีขึ้น วิธีนี้เป็นวิธีที่ดีนะครับ เน้น “ การส่งเสริมให้มีการออกกำลังกาย และตรวจสุขภาพ ให้พนักงานทุกระดับ ”

 

ด้านที่ 3 : การพัฒนาสังคม

ส่งเสริมให้พนักงานได้รวมกลุ่มเพื่อดำเนินกิจกรรม  บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมทั้งภายในและภายนอก สร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้เป็น “องค์กรแห่งการแบ่งปัน” เช่น โครงการแบ่งปันน้ำใจให้บุตรพนักงาน  ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของพนักงานด้านการศึกษาของบุตรพนักงาน โครงการ Forest For Lift For Earth “ คืนชีวิตให้ป่า ป่าคืนชีวิตให้เรา “ ให้พนักงานได้ร่วมกันปลูกป่า ช่วยลดภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุทีทำให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมองค์กรสาธารณกุศลต่างๆ เช่น มูลนิธิขาเทียม ช่วยเหลือเด็กและโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร และ ผู้ป่วยโรคเอดส์ ฯลฯ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญครับ เพราะ การส่งเสริมให้ทุกคนมีจิตอาสา คิดถึงคนอื่นให้มากขึ้น แล้วจะทำให้เรามีสุขมากขึ้น ครับ

 

จากที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ ผมได้เลือกเอาแนวทางของ 8 Happy มาใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงาน ทำให้พนักงานมีความสุข นอกเหนือจากสวัสดิการที่โรงงานได้จัดให้แก่พนักงาน“การสร้างสุขด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานในองค์กร ”  จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะเวลาส่วนใหญ่ในสังคม คนเมือง แรงงาน หรือ คนทำงานจะใช้เวลา มากกว่า 1 ใน 3 ในแต่ละวัน อยู่ในสถานที่ทำงาน การสร้างสุข ทั้ง 3 ด้าน จึงเปรียบเสมือน การสร้างชีวิตที่ดี” ให้แก่พนักงาน “ และส่งผลให้องค์กรเป็น “องค์กรแห่งความสุข”  ในความคาดหวังของผมครับ ...

หมายเลขบันทึก: 361256เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2010 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

อนุโมทนา คนคิดดีด้วยครับ

เป้นอะไรที่อยากให้ทำในทุกที่ครับ

ขอบคุณมากครับ ดร.ภิญโญ

ผมขอเป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมดีๆ เพื่อคนอื่นครับ

แวะชมองค์กรแห่งความสุขครับผม

สวัสดีครับ

ตามมาชื่นชมความพยายามครับ

มีกำลังกายใจปัญญาทำเรื่องราวดี ๆ ตลอดไปนะครับ

พบแล้วค่ะ  องค์กรแห่งความสุข

ขอชื่นชมและให้กำลังใจ

รวมถึงขออนุญาตนำ “ 8 Happy ” ไปใช้ในองค์กรบ้างนะคะ

ขอบคุณค่ะ

ใช่ครับถ้ามีการสร้างความสุขในโรงงาน ก็จะยิ่งทำให้พนักงานทำงานได้ดีขึ้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท