หลานปู่
สมศักดิ์ ป้อม สายแสงจันทร์

ย้ายวัดเข้าโรงเรียนด้วยกระบวนการเรียนรู้ร่วมที่มีชีวิต


คำว่าย้ายวัดเข้าโรงเรียน ก็คือ การนำวิถีของความสุขแท้ด้วยปัญญา มาอยู่ในกระบวนวิถีของการศึกษาในระบบโรงเรียนอย่างมีชีวิตนั่นเอง

ย้ายวัดเข้าโรงเรียน ด้วยเวทีพ่อแม่ลูกและกระบวนการเรียนรู้ร่วมที่มีชีวิต
เกริ่นหัวเรื่องเช่นนี้เพราะว่า เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 53 ทางมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ได้กราบนมัสการเรียนเชิญพระอาจารย์พงษ์นรินทร์มาให้ข้อคิด ข้อธรรมในเรื่องงานรณรงค์ วันพระวันเพ็ญ ซึ่งจะเป็นงานรณรงค์ใหญ่ที่สำคัญในปีนี้ เพื่อให้เครือข่ายครอบครัวได้มีกิจกรรมสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์ทุกๆวันพระใหญ่ของเดือน คือวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ในชุมชน หรือวัด โดยหวังผลทั้งในแง่ของความรักความสามัคคีในครอบครัวและชุมชน และผลบุญกุศลเชิงลึกต่อจิตใจ คิดว่าน่าจะเชื่อมโยงกับงานสุขภาวะครอบครัวในโรงเรียนที่พวกเราชาวครูกระบวนกรทำกันอยู่ได้ จึงลองหยิบมาเล่าข่าวเร้าพลังให้อ่านสบายๆเรียนรู้ด้วยกัน
แรกสุดท่านพาพวกเรา สวดมนต์ เจริญสติอยู่กับลมหายใจเก้าคู่ และร่วมสาธุอนุโมทนาบุญกัน จากนั้นจึงเริ่มเข้าเรื่อง ท่านพูดถึงอดีตของชุมชนไทยก่อนปี พ.ศ.2550 ที่คนไทยจะมีเวลา ไปวัดด้วยกันทุกวันพระ หรือกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ตักบาตร สวดมนต์ไหว้พระร่วมกัน ถือเป็นช่วงเวลาของการ เรียกสติ ทำความดี ละชั่ว และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ที่ต่อเนื่อง คือ ทุก ๆเจ็ดวัน รวมปีหนึ่งก็ 50 กว่าครั้ง ถือเป็นภูมิคุ้มใจอย่างดี ต่อเด็กและครอบครัว โดยวิถีเช่นนี้ จะกล่อมเกลาให้คนในชุมชนรักสามัคคีกันโดยอัตโนมัติ เช่น ไปวัดวันพระ ก็จะได้เจอหน้ากัน ล้อมวงกินข้าว พูดคุย สุนทรียสนทนากัน ลองนึกดูแค่เราทำสุนทรียสนทนา ในเวที 1 ครั้งต่อปี หรือ เดือนละครั้ง ยังสร้างความสัมพันธ์ ความเข้าใจกัน ได้มากมายเลย ถ้าทำบ่อยๆ ในบรรยากาศ ของความสงบ คุ้นเคยและดีงามเช่นนั้นด้วย ชุมชนจะเข้มแข็งขนาดไหน ลองนึกกันดู จึงไม่แปลกที่แต่เดิม ชุมชนเราจะเข้มแข็งด้วยวิถีชีวิต มีรูปแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์ เอื้อให้คนใฝ่ดี รักสามัคคีกัน และรวมถึงพ่อแม่ก็ไม่ต้องสอนลูกสอนหลาน เคี่ยวเข็ญมากมาย เพราะ วิถีชุมชน ซึ่งเปรียบเสมือนอ้อมกอดแห่งมารดา ก็ได้เลี้ยงดู เด็ก เยาวชน ครอบครัว ด้วยกิจกรรมกระบวนการกุศโลบายต่างๆที่ต่อเนื่องทั้งปีด้วย ทั้งนี้ยัง รวมถึงการละเล่น บันเทิง ต่างๆ ก็ดูเหมือนจะมีความดีงามเป็นพื้นฐาน และเป็นการละลายพฤติกรรม สร้างความสามัคคีของคนในชุมชนไปในตัวด้วย เช่น การลงแขกเกี่ยวข้าว ลอยกระทง ฯลฯ ซึ่งทั้งหมด ถูกกลืนกินมากว่า 50 ปี เสียเวลาที่เราควรได้ชำระอกุศลจิต เรียกสติ เว้นอบายมุข รักษาศีลตามวิถีเดิม 2500 ครั้ง ซึ่งเป็นจำนาวนที่ไม่น้อยเลย นั่นจึงเป็นสาเหตุหนึ่ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้ เด็ก ครอบครัว ชุมชนไทย วันนี้ เริ่มอ่อนแอ ท่านพระอาจารย์ ใช้คำว่า ตกอยู่ ในโมหะภูมิ (ความหลง)โดยวิถีวัตถุนิยมที่โหมเข้ามาหลากหลายเส้นทางและรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างที่เราทราบกันดีเช่น สื่อทีวี วัฒนธรรมบริโภคนิยม ระบบเศรษฐกิจและการศึกษา (อันนี้ผมเติมเอง)
50 กว่าปีที่ภูมิคุ้มกันทางสังคมที่ชาวพุทธ ซึ่ง มี จำนวน90 เปอร์เซ็นต์ของคนไทยทั้งหมด ได้มองข้ามไป ในขณะที่ชาว คริสต์ และอิสลามต่างดำรงไว้ซึ่งวิถีตัวเองอย่างเข้มแข็ง ชาวไทยคริสต์ มีเข้าโบสถ์ร่วมกันทุกวันอาทิตย์ ชาวไทยอิสลามทุกวันศุกร์ และละหมาดส่วนตัวอีกวันละ 5 ครั้ง
ชาวไทยพุทธ จึงควรมีโอกาสที่จะกลับมาหาวิถีเดิม ในรูปแบบกิจกรรมที่สร้างสรรค์เหมาะกับยุคสมัย คือ นำกิจกรรมที่เป็นวิชาความสัมพันธ์ จิตวิทยามวลชนร่วมทางตะวันตก มาผสมผสานกับ จิตวิทยาทางพุทธ ที่หมายรวมถึงบุญกุศลเชิงลึกต่อจิตใจ ที่จะข้ามภพข้ามชาติ (มีนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด)ได้และรูปธรรมของกิจกรรมรณรงค์ก็คือ มีช่วงเวลา เว้นอบายมุข ชำระอกุศลจิต และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ ทุกวันพระใหญ่ เป็นอย่างน้อย พระอาจารย์ใช้คำว่า อย่างต่ำเตี้ย เพราะ น้อยกว่าศาสนาอื่นๆมากแล้ว (แต่ถ้าใครเจริญสติปัฐฐานสี่ คือ รู้กาย รู้ใจ เจริญสติอย่างต่อเนื่องทั้งวันอยู่ จะพบว่า เราไม่ได้อ่อนด้อยไปกว่าศาสนาอื่นเลย เพียงแต่เราไม่ได้ทำเท่านั้น) ถือว่าเหมาะสำหรับมือใหม่หัดขับ และอาจจะเพิ่ม หรือ ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม อาจจะเป็นเสาร์อาทิตย์ก็ได้ ซึ่งที่กล่าวมาทั้งหมด น่าจะเป็นหลักการและเหตุผล ของโครงการรณรงค์ วันพระวันเพ็ญ ด้วย
นี่คือประเด็นสำคัญๆที่ผมพอจะจับได้ ฟังแล้ว รู้สึก ชื่นใจ มีพลังที่ยังมีพระนักพัฒนา นักรณรงค์ที่เข้าใจภาพรวมของสังคม ผ่านมิติของเวลาและวิถีของวัฒนธรรมอย่างดียิ่ง ที่มากไปกว่านั้น คือท่านนำเราภาวนาตามสมควร พอให้ได้มีสติและจิตสงบสุขเป็นเบื้องต้นด้วย
แล้วคิดอะไรได้มากไปกว่านี้ แน่นอนละครับ กระบวนกร ควรจะคิดเชื่อมโยงมาถึงงานของตัวเองด้วย
อันที่จริงเรื่องดังกล่าว ครูกระบวนกรระดับเทพอย่างครูแมว ก็พาพวกเราทำอยู่ และพวกเราก็ศรัทธามัน โดยเฉพาะ เวทีเรียนรู้จุดประกาย ครูผู้มีเมล็ดพันธ์แห่งความดี และเวทีเรียนรู้พ่อแม่ลูก
คำว่าย้ายวัดเข้าโรงเรียน ก็คือ การนำวิถีของความสุขแท้ด้วยปัญญา มาอยู่ในกระบวนวิถีของการศึกษาในระบบโรงเรียนอย่างมีชีวิตนั่นเอง
สิ่งนี้ พวกเราครูฟาสร้างสุขทำกันอยู่ ด้วยรูปแบบกิจกรรมที่อิงกับตะวันตก(จิตวิทยาของฝรั่ง)ค่อนข้างมาก อาจเป็นเพราะว่าคนไทยส่วนใหญ่เชื่อฝรั่งมากกว่าภูมิปัญญาโบราณตัวเองก็ได้ กิจกรรมหลักๆที่พวกเราคุ้นเคยกันดีคือ
-นันทนาการที่อ่อนโยนสร้างสรรค์
-สถานการณ์จำลอง
-สมาธิดอกไม้บาน เมตตาภาวนา
-สุนทรียสนทนา การสานเสวนาโดยมีคนกลาง
-กระบวนการ คุย คิดร่วมอย่างสร้างสรรค์
ฯลฯ
ซึ่งอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ร่วมที่มีชีวิต คือ กายร่วม เคลื่อนไหว ไว้วางใจ ใจร่วมแบ่งปัน ความรู้สึก และคิดร่วม แบ่งปันประสบการณ์ ภูมิปัญญา ทั้งหมด อยู่บนพื้นฐานของวิถีพุทธอย่างเรียบง่ายและมีความหมาย เช่น การนวดนั้น ถอดออกมาจากพระสูตรบทหนึ่ง ที่กล่าวว่า ชีวิตมนุษย์อยู่ได้ด้วยการนวด... เป็นต้น ทุกๆกิจกรรม แฝง ธรรมมะ แทรกเนียน ไปอย่างไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกสอนอยู่ คือพาทำอย่างมีความสุขและเคารพอ่อนน้อมต่อผู้ร่วมเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่ หรือ ลูกศิษย์ ก็อย่างที่ พ่อใหญ่ ครูภาษาไทยโรงเรียนผดุงนารี จ.มหาสารคาม ได้เคยถอดบทเรียนกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวเอาไว้ คือ
“เป็นการแปลทฤษฎีพระพุทธศาสนา มาสู่การปฏิบัติที่ง่ายๆ ด้วยคารวะธรรม และกระบวนการกลุ่ม”
เป็นการพาครู พ่อ แม่ ลูก ครอบครัว ปฏิบัติธรรม เจริญปัญญา พัฒนาจิต อย่างไม่มีใคร รู้สึกตัวว่าถูกสอน หรือไม่มีคุณค่า สิ่งที่เราทำ กระบวนกรเองก็ได้เรียนรู้ ลดอัตตา และเติบโตทางจิตวิญญาณ เป็นพุทธบูชาไปด้วย
จึงอยากจะส่งกำลังใจ มาให้พวกเราครูกระบวนกรที่มีกันอยู่มากแล้วให้เต็มเปี่ยมและหนักแน่น ด้วยแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ที่จะข้ามภพข้ามชาติ มีนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด เพราะวิถี รูปแบบกิจกรรมที่พวกเราทำกันอยู่ ก็สอดคล้องกับหลักธรรม และวิถีชีวิต องค์กร ห้องเรียน ที่เอื้อให้คน รัก สามัคคีกัน ถ้าจะกล่าวว่ามาถูกทางแล้วก็น่าจะถูกต้อง และช่วยกันพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นไป เพื่อบุญกุศล ความดีงาม ทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม
ป้อม หลานปู่

หมายเลขบันทึก: 360514เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2010 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

บ้าน  วัด โรงเรียน เป็นสถาบันหลักและสำคัญที่สุดของชุมชน  หากนำสามสถาบันมาเป็นหลักร่วมมือกันปลูกฝังและสร้างสิ่งดี ๆ ให้กับเยาวชนน่าจะเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาการศึกษาและปัญหาเยาวชนได้ดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท