การสัมผัสความรุนแรงด้วยการร่วมและมองเห็นเหตุการณ์จะกระทบจิตใจเด็กในระยะยาว


การสัมผัสความรุนแรงด้วยการร่วมและมองเห็นเหตุการณ์จะกระทบจิตใจเด็กในระยะยาว

การสัมผัสความรุนแรงด้วยการร่วมและมองเห็นเหตุการณ์จะกระทบจิตใจเด็กในระยะยาว

          ความบริสุทธิของเด็กจะถูกกำหนดได้จากพ่อและแม่ว่าลูกที่เกิดมาจะให้เขาเป็นอย่างไรได้ถึงแม้จะไม่ได้ทั้งหมดและในทำนองเดียวกันพ่อแม่ก็สามารถไม่ให้ลูกไปกระทบสัมผัสกับสิ่งที่ไม่เป็นการสร้างสรรให้แก่ชีวิตของเขาได้เช่นกัน  แต่ก็มีพ่อแม่ส่วนหนึ่งยังไม่เข้าใจว่าเขาจะเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับจิตใจของลูกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์และเมื่อเขาเติบโตขึ้นมาในสังคม เขาก็จะสร้างปัญหาให้กับตัวเขาเอง พ่อแม่ และสังคมอย่างยากที่จะแก้ไขได้
          น.พ.สุริยเดว ทรีปาตี กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวถึงกรณีการชุมนุมทางการเมืองที่มีการนำเสนอภาพเด็กที่อยู่ระหว่างการปะทะทั้งการร่วมต่อสู้ หรือใช้เด็กเป็นเกราะกำบัง ว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้อยากเรียกร้องใดๆ แต่อยากขอร้องให้ผู้ใหญ่ ให้คำนึงถึงความปลอดภัย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กทั้งจิตใจและร่างกาย ซึ่งผลกระทบที่อาจเกิดในระยะสั้น คือ ความปลอดภัย การเสียขวัญทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า  และผลกระทบระยะยาวในเรื่องพฤติกรรม เพราะเด็กเป็นวัยที่พร้อมซึมซับทุกอย่างที่ได้ยิน ได้เห็น เพราะยังไม่สามารถแยกแยะเหตุผลความถูกผิดได้  

            น.พ.สุริยเดว กล่าวว่า  หากเด็กรับรู้ หรืออยู่ในสถานการณ์ที่มีความรุนแรง สามารถทำให้เกิดพฤติกรรม 4 อย่าง คือ 1. การใช้ความรุนแรงโต้ตอบทุกครั้งที่เกิดปัญหา แรงมาแรงไป ไม่ยอมใคร 2.เกิดความหวาดระแวงสังคม มองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้ใจใคร แม้แต่ครอบครัวตนเองทำให้ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ 3.เคยชินในการใช้ความรุนแรง เห็นเป็นเรื่องปกติ 4 ขาดความเมตตา ไม่อยากช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะสะท้อนกลับเข้าสู่ครอบครัว เพราะเมื่อเด็กไม่มีความเมตตา เติบโตมาบนความไม่ไว้ใจพ่อ แม่ ก็จะไม่สนใจที่จะช่วยเหลือหรือดูแลพ่อ แม่ ครอบครัว เมื่อยามแก่ลง ยามเจ็บป่วย หรือมีปัญหา

            “ตามปกติสัญชาตญาณของความเป็นพ่อแม่ ต้องรักและปกป้องดูแลลูกตัวเองอย่างดี ไม่ให้เกิดอันตราย และอยากให้เกิดสิ่งที่ดี อนาคตที่ดี ไม่ว่าจะคนหรือสัตว์ก็มีสัญชาติญาณปกป้องและรักลูกเหมือนกัน สิ่งที่ผู้ใหญ่กำลังกระทำวันนี้อาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ว่าการปลูกฝัง หรือให้เด็กได้เจอกับความรุนแรงบ่อยๆ สุดท้ายก็จะสะท้อนปัญหากลับมาที่ครอบครัวของตัวเอง และเชื่อว่าทุกคนต่างรักลูก หลาน จึงอยากให้คำนึงถึงความรัก ความเป็นพ่อ แม่ ที่ต้องมอบสิ่งที่ดี มอบประโยชน์ให้กับลูก แล้วก็จะได้คำตอบว่าควรทำอย่างไร” น.พ.สุริยเดว ได้ฝากข้อคิดให้พ่อแม่และสังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องความรุนแรงที่กระทบกับเด็กให้มากที่สุด    อันจะส่งผลให้พ่อแม่คนรอบข้างและตัวเด็กเองมีความสุขตลอดไปด้วย

ที่มา....หนังสือพิมพ์บ้านเมือง  ฉบับบวันที่ 21  พฤษภาคม  พศ.2553

หมายเลขบันทึก: 360497เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2010 22:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท