เด็กเร่ร่อน : บริบทที่เปลี่ยนไป


เด็กเร่ร่อนทุกคน ไม่ได้มีความตั้งใจ หรือความพยายามว่า จะออกมา เป็นเด็กเร่ร่อน แต่เด็กได้รับความกดดันทั้งจากตัวเด็กเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก ในอดีต เป็นอย่างไร ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวก็ยังคงอยู่ ทั้งเรื่อง ความเชื่อ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และล่าสุด ยังมีแรงดึงเด็กให้ออกมาจากครอบครัวมาสู่ถนนเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่เกิดจากเทคโนโลยี และ สังคมที่เปลี่ยนไป เด็กบางคน มีปัญหาภายในครอบครัวอยู่แล้ว และเมื่อได้ออกมาสู่สังคมภายนอกที่มีแรงดึงที่รุนแรง เด็กที่อ่อนแอและไม่มีแรงฉุดรั้งจากครอบครัวอยู่แล้ว ก็ทำให้เด็กหลุดออกมาสู่สังคมข้างถนนได้เร็วมากขึ้น
 บทนำ

               

นิยามศัพท์ของเด็กเร่ร่อน ที่เป็นที่รู้จักและคุ้นชินกันมากว่า 10 ปี ก็จะแบ่งเด็กเร่ร่อนออกเป็นส่วน ๆ แต่ทั้งหมดก็จะมุ่งไปที่ เด็กที่ไม่มีที่อยู่ที่เป็นหลักแหล่ง และจะชี้ชัดไปที่พฤติกรรมปลายทางที่แสดงออก คือ มีพฤติกรรมรุนแรง กร้าวร้าว และมัจะเข้าสู่กระบวนการทาง อาชญากรรมในที่สุด แต่ในการศึกษาเชิงปฏิบัติการที่สมาคมสร้างสรรค์กิจกรรมอิสรชนทำนี้ จะเป็นการเปิดมุมมองอีกมุมหนึ่งของเด็กเร่ร่อนที่สังคมมองข้ามผ่าน หรือาจจะมองไม่เห็นเลยด้วยซ้ำไป

 เด็กเร่ร่อนกับภาพเดิมที่เจนตา               

เมื่อกล่าวถึงเด็กเร่ร่อน หลายคน จะนึกไปถึง เด็กที่เนื้อตัวมอมแมม เดินขายพวงมาลัยตามสี่แยก ขาย ดอกไม้ ขายขนม ขายกระดาษทิชชู่ ขอทาน ตามที่ต่าง ๆ ที่เป็นที่สาธารณะ และ ร้านอาหาร ซึ่งจะทำให้กิดอคติในการมองและตัดสินภายใต้ความเชื่อและความรู้ที่มีในฐานะคนนอกมองเข้าไปในปัญหา ว่ามักจะเป็นแก้งค์ขอทาน หรือ เด็กถูกบังคับให้ออกมาทำงานข้างถนน ด้วยความไม่เต็มใจ ซึ่ง ก็ต้องยอมรับว่า ภาพและสภาพความเป็นจริงดังกล่าวนั้นมีจริง แต่ ต้องมองโดยละเอียดและแยกส่วนให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการทำงานกับเด็กในกลุ่มดังกล่าว ซึ่งเด็กเร่ร่อนตามความคิดแบบดั้งเดิม ที่เคยมีผุ้แบ่งและให้นิยามไว้นั้น ประกอบไปด้วย เด็กเร่ร่อนถาวร ,เด็กเร่ร่อนชั่วคราว ,เด็กเร่ร่อนกับครอบครัว ,ครอบครัวเร่ร่อน ,เด็กเร่ร่อนต่างด้าว  และในปัจจุบันภาพของเด็กเร่ร่อน แบบนั้น ก็ยังเจนตา และ ติดอยู่ในความรู้สึกของคนหลาย ๆ คนทั้งที่ทำงานโดยตรงกับเด็กกลุ่มนี้ และ กำลังงเริ่มคิดจะทำ หรือ คนทั่ว ๆ ไปที่ สัมผัสเด็กเร่ร่อนในชีวิตประจำวัน ซึ่งนั่น ก็ไม่เรื่องผิดที่จะคิดและติดกรอบแบบนั้น 

เด็กเร่ร่อนขายพวงมาลัย ขอทาน บังคับ หรือเต็มใจ               

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ในกลุ่ม เด็กเร่ร่อน ที่ประกอบอาชีพ ขอทาน หรือขายของ ที่มีตั้งแต่ พวงมาลัย เรียงเบอร์ ขนม กระดาษทิชชู่ และอื่น ๆ ตามสถานการณ์จะพาไป นั้นมีความหลากหลาย และในความหลากหลายนั้น ต้องพินิจพิเคราะห์ในรายละเอียดให้ถี่ถ้วน อย่าเพิ่งด่วนสรุปจากประสบการณ์ทั้งประสบการณ์ชีวิต หรือประสบการณ์ที่พบเจอ หรือฟังเขาเล่าว่า เพราะนั่น เป็นการมองสภาพปัญหาแบบ คนนอกมองเข้าไป ไม่ได้มองแบบผู้เผชิญปัญหามองออกมา สิ่งที่ต้อง ยอมรับในสภาพความเป็นจริงคือ สภาพความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทยยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่มาก ดังนั้นเมื่อปัจจัยทางเศรษฐกิจ ยังเป็นตัวกำหนดสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ การต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดในสังคมก็จะมีขึ้น และ วิธีการ ก็จะแตกต่างกันออกไปตามแต่สิ่งที่แต่ละคนเผชิยอยู่ บางครอบครัวต้องยอมรับว่า มีการบังคับให้เด็กออกมาประกอบอาชีพข้างถนน เพื่อเลี้ยงดูคนในครอบครัว แต่บางครอบครัว เด็กเองก็เต็มใจที่จะออกมาประกอบอาชีพข้างถนนเพื่อเลี้ยงดูคนในครอบครัวเสียเอง เพราะอะไร คำถามนี้สังคมต้องตอบ และเป็นโจทย์ใหญ่ที่หาคำตอบได้ไม่ยากนัก ก็เพราะสังคมไทย ยังมองเด็กเป็นเพียงทรัพยากรมนุษย์  หรือเป็นเพียงประชากรเท่านั้น ยังไม่ได้มองเด็กเป็นพลเมือง จึงทำให้ มองเด็กแบบไม่เชื่อในศักยภาพ ไม่มั่นใจเด็ก หนำซ้ำ ยังโอบอุ้มมากจนเกินไปในหลาย ๆ กรณี จนทำให้ สังคมมองไปว่าเด็กน่าสงสาร ช่องโหว่ ช่องว่างตรงนี้ จึงทำให้ ทั้งตัวเด็กเอง และ ผู้ที่จ้องแสวงหาประโยชน์จากเด็ก ใช้เป็นช่องทางในการหารายได้ให้กับตนเอง จนเป็นปัยหาที่ พยายามหาทางออกกันอยู่ในปัจจุบันนี้

พัฒนาที่เเปลี่ยนแปลงของเด็กเร่ร่อนในปัจจุบัน

เด็กเร่ร่อนทุกคน ไม่ได้มีความตั้งใจ หรือความพยายามว่า จะออกมา เป็นเด็กเร่ร่อน แต่เด็กได้รับความกดดันทั้งจากตัวเด็กเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเด็ก  ในอดีต เป็นอย่างไร ปัจจุบันปัญหาดังกล่าวก็ยังคงอยู่ ทั้งเรื่อง ความเชื่อ วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และล่าสุด ยังมีแรงดึงเด็กให้ออกมาจากครอบครัวมาสู่ถนนเพิ่มมากขึ้น ทั้งที่เกิดจากเทคโนโลยี และ สังคมที่เปลี่ยนไป เด็กบางคน มีปัญหาภายในครอบครัวอยู่แล้ว และเมื่อได้ออกมาสู่สังคมภายนอกที่มีแรงดึงที่รุนแรง เด็กที่อ่อนแอและไม่มีแรงฉุดรั้งจากครอบครัวอยู่แล้ว ก็ทำให้เด็กหลุดออกมาสู่สังคมข้างถนนได้เร็วมากขึ้น ปัญหาเด็กติดเกม ปัญหาเด็กเล่นเว็บแคม ก็ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อกัน และสถานที่สุดท้ายที่เด็กจะเลือกออกมาอยู่ก็คือ ข้างถนน ซึ่งัจจุบันรูปแบบการออกมาอยู่ข้างถนนของเด็ก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย ถ้ายังจะมามัวเดินหาเด็กเร่ร่อน ตามสถานที่สาธารณะเพียงอย่างเดียวเห็นจะไม่เพียงพอ ต้องรุกเข้าไปถึง สถานที่พักอาศัยในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งห้องเช่ารายวัน หอพักรายเดือน คอนโดฯ และอื่น ๆ ที่เด้กจะมีช่องทางและแสวงหารายได้มาจับจ่ายเพื่อความอยู่รอดของตัวเอง ซึ่งหากพิจารณากันดีดี เด็กเร่ร่อนในปัจจุบันจะแตกต่างจากในอดีตไปอย่างมาก จนมองไม่ออก หรือ ไม่ยอมรับว่าตนเองคือเด็กเร่ร่อน หรือแม้กระทั่ง คนทำงานเอง ก็ไม่ได้จัดให้เด็กเหล่านี้ เป็นเด็กเร่ร่อนด้วยซ้ำไป

 การคุ้มครองเด็กภายใต้เงื่อนไขและมุมมองปัจจุบัน

ในปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความสำคัญกับการเข้ามามีความพยายามมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเด็ก ทั้งที่เป็นหน่วยงานที่ริเริ่มและดำเนินการมาอยู่ก่อนแล้ว และเป็นหน่วยงานที่เริ่มให้ความสนใจและคิดริเริ่มสิ่งที่เรียกว่า นวัตกรรม เข้ามาเพื่อมีส่วนร่วมในการทำงานกับเด็ก หากแต่ว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือมุมมองของคนทำงานที่มีต่อเด็กต่างหาก ไม่ใช้เครื่องมือ หรือนวัตกรรม ที่จะนำมาใช้ในการทำงานกับเด็กกลุ่มพิเศษนี้ เด็กต้องการความเข้าใจมากกว่าการตีตรา หรือพิพากษาจากคนที่ได้ชื่อว่าทำงานกับเด็ก เพราะหากคนทำงานมีคำตอบติดตัวลงไปทำงานแล้วว่า เด็กเร่ร่อน เด็กขอทาน เป็นเด็กที่โดนทารุณกรรม เป็นเด็กที่โดนหลอกมา หรือเป็นเด็กในแก้งค์ขอทาน การปฏิบัติต่อเด็กจะเป็นในอีกรูปแบหนึ่ง ซึ่งในความเป็นจริงที่กล่าวไว้แล้วข้างต้น จะพบว่า มีความหลากหลายในกลุ่มเด็กเร่ร่อน เด็กขอทานมากกว่าที่ บางหน่วยงาน บางองค์กรตั้งข้อสังเกตมากนัก ดังนั้นการแก้ไขปัยหา บนพื้นฐานที่มีโจทย์มีคำตอบที่ตายตัวอยู่แล้ว เมื่อลงไปพบปะเด็ก เด็กก็จะ โดนตีตราไปโดยปริยาย และนั่น คือการกระทำซ้ำกับเด็ก เป็นเจตนาดีประสงค์ร้ายโดยไม่ตั้งใจ

 ข้อเสนอในการทำงานเพื่อเด็ก               

การทำงานกับเด็กภายใต้สภาพปัญหาปัจจุบัน คนทำงานที่ตั้งใจดี ตั้งใจจริง ที่จะลงมาทำงานกับเด็ก ต้องมีทัศนคติแบบเป็นกลาง ไม่ตัดสิน ไม่สรุป ไม่พิพากษา ไม่ตีตรา แต่ต้องลงไปในพื้นที่ เพื่อลงไปแสวงหาคำตอบ แสวงหาควมจริงด้วยตนเอง จากนั้น จึงนำข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงกลับมา วางแผน วางกระบวนการ สร้างสรรค์กิจกรรมทางเลือกให้แก่กลุ่มเด็ก ในขณะเดียวกัน ก็ พัฒนาและส่งเสริมโอกาสให้กับครอบครัวไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้ครอบครัวของเด็กมีทางเลือกในการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างหลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ ครอบครัวยุติการใช้เด็กเพื่อประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวในที่สุด ซึ่งหลาายคนอาจจะมองว่า ช้า หรือสายเกินไป แต่ การ แยกเด็กออกจากครบครัว ก็เป็นการสร้างปัญหาที่ซับซ้อนให้แก่เด็กมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ควรที่จะแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม และนำครอบครัวเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาด้วย ปัญหาเด็กเร่ร่อน เด็กขอทาน ก็น่าที่จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท