เด็กวัฒฯ
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร คนวัฒนธรรม

บทบาทของสื่อในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย


               เนื่องจากปัจจุบัน คนในสังคม มีความสามารถในการเข้าถึงสื่อต่าง ๆได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก อีกทั้งยังมีสื่อให้เลือกอยู่มากมาย ทำให้สื่อทุกประเภทมีอิทธิพลกับผู้คนอย่างมากในส่วนของการให้ข้อมูลด้านต่าง ๆ  เพื่อตัดสินใจหรือรับรู้ในเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นของสังคม โดยเฉพาะกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มักจะใช้เวลานอกจากการเรียนไปกับสื่อยุคใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งอินเตอร์เน็ต เกมออนไลน์ หรือแชท ทำให้ความสัมพันธ์ของเยาวชนกับคนในครอบครัวยิ่งห่างเหินกันมากขึ้น เมื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวยิ่งห่างกัน จิตสำนึกทั้งทางด้านจริยธรรม ศีลธรรมและวัฒนธรรมก็ลดน้อยลง ดังนั้นกระทรวงวัฒนธรรมซึ่งเป็นกระทรวงที่มีหน้าที่โดยตรงจึงต้องหาวิธีใช้สื่อในการทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในกิจกรรมต่าง ๆ ของกระทรวงให้เกิดประโยชน์สูงสุด

                ปัจจุบันสื่อต่าง ๆ ที่สามรถเข้าถึงกลุ่มคน มีดังนี้ โทรทัศน์ วิทยุ สิ่งพิมพ์ อินเตอร์เน็ต และจากการพูดปากต่อปาก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสื่อใด ๆ ก็ตาม นอกจากจะต้องสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้รับรู้ได้นั้น ยังต้องเลือกที่จะใช้เทคนิคในการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพด้วย โดยจะชี้แจงรายละเอียดในบทบาทของสื่อในจุดเด่นและจุดด้อยดังนี้

                สื่อโทรทัศน์         เป็นสื่อที่มีอิทธิพลมากกับสังคมปัจจุบัน เพราะไม่ว่าบ้านไหนก็มีโทรทัศน์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีความน่าสนใจสูงเพราะมีทั้งภาพเคลื่อนไหว และเสียง สามารถเข้าถึงได้ทุกครัวเรือน แต่มีข้อด้อยคือ บางรายการถ้าไม่ตั้งใจดูก็จะไม่สามารถดูซ้ำได้อีก แต่ปัจจุบันสามารถดูรายการย้อนหลังได้อินเตอร์เน็ตและจากช่องรายการที่ให้บริการ Re-run  จึงนับว่าสื่อโทรทัศน์ เป็นสื่อที่มีบทบาทและอิทธิพลมาก หากนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่วัฒนธรรมไทย โดยอาจจะใช้โฆษณา หรือสร้างรายการต่าง ๆ ที่น่าสนใจเพื่อให้เรื่องที่เราต้องการเสนอสามารถเข้าถึงผู้ชมหรือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

                กระทรวงวัฒนธรรมสามารถใช้สื่อโทรทัศน์เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์วัฒนธรรมไทยได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จัดสร้างรายการที่นำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุน ทั้งเรื่อง จริยธรรม ศีลธรรม ศิลปะ ครอบครัวและวัฒนธรรม อาทิเช่น รายการพาครอบครัวท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รายการที่สนับสนุนการแสดงออกเชิงวัฒนธรรมของเยาวชนผ่านทางโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ ของรัฐ หรือช่องเคเบิลท้องถิ่น โดยสามารถใช้ดารานักแสดงมาเป็นผู้ดำเนินรายการเพื่อเพิ่มความสนใจได้ก็จะดี

                สื่อวิทยุ เป็นสื่อที่มีบทบาทและอิทธพลรองจากโทรทัศน์ มีความนาสนใจระดับปานกลาง เป็นการสื่อสารสองทาง ทั้งผู้จัดรายการและผู้ฟัง สามารถเข้าถึงได้ทุกครัวเรือน แต่ไม่สามารถดึงดูดใจเท่าที่ควรเพราะมีแต่เสียงและไม่สามารถฟังซ้ำได้ 

                ปัจจุบัน สื่อประเภทวิทยุชุมชนกำลังเป็นสื่อระดับชุมชนที่แข็งแรงและสามารถเข้าถึงประชาชนในระดับรากหญ้าได้ กระทรวงวัฒนธรรมสามารถใช้สื่อวิทยุชุมชนเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ได้เป็นอย่างดี ทั้งการจัดรายการให้ความรู้เชิงวัฒนธรรม หรือรายการบันเทิงประเภทเพลงลูกทุ่ง หรือเพลงพื้นเมือง ซึ่งก็เป็นงานด้านวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน ทั้งนี้วิทยุชุมชนจะสามารถทำให้กระทรวงสามารถสื่อสาร และเข้าถึงชุมชนได้เป็นอย่างสะดวก รวดเร็ว เพราะประชาชนซึ่งเป็นผู้ฟัง สามารถตอบสนองกับผู้จัดรายการได้อย่างรวดเร็ว

                สื่อสิ่งพิมพ์ เป็นสื่อที่มีบทบาท มีความน่าสนใจเพราะมีภาพ และข้อความให้อ่านและดู สามารถเข้าถึงได้ทุกครัวเรือนหากมีการแจกจ่ายทั่วถึง  แต่ไม่ดึงดูดใจเท่ากับสื่อโทรทัศน์ ผู้อ่านไม่สามารถสื่อสารกับผู้จัดทำได้อย่างรวดเร็วทันใจ กระทรวงควรจะใช้ประโยชน์จากสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่มีอายุยืนยาว และสามารถให้ข้อมูลได้ชัดเจนและลึกซึ้งมากกว่า โดยสามารถดัดแปลงได้หลากหลายเพื่อให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย เช่น หนังสือรวบรวมประเพณีไทย หรือชุมนุมพงศาวดาร หรือนำประเพณีไทยหรือประวัติศาสตร์มานำเสนอในรูปแบบการ์ตูน หรือสื่อสิ่งพิมพ์ท้องถิ่น สามารถนำมาใช้ได้อย่างดี ซึ่งอาจจะเป็นการทำคอลัมน์เกี่ยวกับวัฒนธรรมต่าง ๆ หรืออาจจะจัดกิจกรรมร่วมกับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นเพื่อช่วยสนับสนุนการช่วยรักษาวัฒนธรรมท้องถิ่นในระดับชุมชน

                สื่ออินเตอร์เน็ต เป็นสื่อใหม่ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมและเป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบัน มีความน่าสนใจเพราะมีทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียงและข้อความให้อ่านและดู สามารถเข้าถึงได้ทั่วประเทศ กระทรวงควรจะใช้สื่ออินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางใหม่ในการเข้าถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งสามารถใช้อินเตอร์เน็ตในเข้าถึงข้อมูลทางวัฒนธรรม ทั้งสื่อเคลื่อนไหว ภาพนิ่ง และเสียง ทั้งการจัดทำเว็บไซต์ การสร้างเว็บบอร์ด เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เป็นสื่อในการสื่อสารเรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมได้โดยตรง เพื่อก่อให้เกิดกระแสการตื่นตัวในการศึกษาศิลปวัฒนธรรม และวัฒนธรรมในสังคมได้อย่างกว้าวขวาง โดยไม่จำกัดวัยวุฒิและคุณวุฒิ

                สื่อจากการพูดปากต่อปาก ยังเป็นช่องทางในการสื่อสารอีกทางหนึ่งที่สำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี เพราะผู้ฟังมักจะมีความเชื่อถือในที่ผู้เล่าให้ฟัง ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้ฟัง

                ดังนั้นการสร้างสื่อต่าง ๆ ให้แพร่หลายมากที่สุดเพื่อให้ผู้คนนำไปพูดกันปากต่อปาก ในขั้นตอนสุดท้ายเพื่อให้เกิดกระแส จึงจะนับว่าเป็นการสื่อสารที่ครบถ้วนได้เป็นอย่างดี

                ทั้งนี้สื่อต่าง ๆ นับว่าเป็นสิ่งที่มีบทบาท และอิทธิพล ต่อเยาวชนและประชาชนในสังคมเป็นอย่างมาก การที่กระทรวงจะทำงานเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมไทยให้สำเร็จนั้น ต้องเดินหน้าอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดผลทั้งในระยะสั้น และในระยะยาว

                การสร้างสื่อออกมาอย่างต่อเนื่องนั้น นับว่าเป็นการเปิดเกมรุกเข้าถึงมวลชน เพื่อสร้างกระแสสังคมที่มีประโยชน์เพื่อให้ประชาชนรับรู้และตื่นตัวเป็นวงกว้าง

                การสร้างและสนับสนุน รณรงค์ในเรื่องวัฒนธรรมไทย ควรจะถือว่าเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดสังคมไทยที่ และมีเอกลักษณ์สมกับเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์ยืนยาว และที่สำคัญการผลักดันให้เกิดการรักษ์วัฒนธรรมไทยที่ดีนั้น ก็เป็นพื้นฐานในการสร้างสังคมที่ดี เพื่อรองรับลูกหลานของพวกเราที่กำลังจะก้าวมาเป็นสมาชิกของสังคมไทยในอนาคต

 

เอื้อเฟื้อข้อมูล โดย  นายอภินันท์ มุสิกะพงษ์
นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ

หมายเลขบันทึก: 360354เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2010 14:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นบทความที่มีประโยชน์มาก  ขอชื่นชม  จาก นักจัดรายการวิทยุชุมชน มดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท