การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ


การเรียนรู้เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ

                              ที่สุดของชีวิต 

 เมื่อวันที่  ๑  กรกฎาคม  ๒๕๕๒  ที่ผ่านมา นับเป็นประวัติศาสตร์ในชีวิตความเป็นครู ของดิฉัน ทั้งนี้เพราะดิฉันได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการแสดง เนื่องในวันลูกเสือแห่งชาติ ณ สนามศุภชลาศัย  โดยใช้นักเรียนโรงเรียนพรตพิทยพยัต จำนวน ๖๐๐ คน ที่สำคัญเป็นการแสดงหน้าพระพักตร์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช   และถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ช่อง ๗ ๙ และ ช่องอื่น ๆ   

ความเป็นมา

เมื่อวันศุกร์ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๑ ดิฉันได้รับมอบหมายให้จัดทำการแสดงพิธีเปิดกีฬาของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา  กรุงเทพมหานครเขต ๒ งานนี้ ใช้นักเรียน ๕๐๐  คน ชื่อชุดการแสดง องก์ที่ ๑ เทิดไท้องค์ราชันย์  องก์ที่ ๒ สมานฉันท์สามัคคี  องก์ที่ ๓  หกสิบปีพรตพิทยพยัต งานนี้ คุณหญิง ดร. กษมา วรวรรรณ ซึ่งเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาเป็นประธาน ท่านชื่นชมการการแสดงนี้มาก และมอบหมายให้เราทำจัดการแสดงพิธีเปิดวันลูกเสือแห่งชาติ ในวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๒ในปีถัดมา

                เมื่อวันนี้มาถึง ดิฉันได้ดำเนินการจัดการแสดง   และ ใช้ชื่อว่า  เมืองไทยจงตื่นเถิด  ซึ่งเป็นชื่อบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๖ เขียนขึ้นเพื่อปลุกใจ ให้คนไทยรักชาติ  ซึ่งสอดคล้องกับที่พระองค์ทรงตั้งกองเสือป่า จนกระทั่งเป็นกองลูกเสือแห่งชาติ ในปัจจุบันนี้ 

 การแสดงแบ่งเป็น ๒ องก์  

องก์ที่ ๑  เป็นการแปรธงชาติ  เป็นรูปต่าง ๆ จบด้วยเป็นรูปหัวใจ ซึ่งหมายถึง เรารักประเทศไทย บทเพลงที่ใช้เป็นเพลง  To victory 

 

 

 องก์ที่ ๒  ใช้บทเพลง “  ฉันคือเจ้าพระยา    บทเพลงของคุณพลอยไพลิน เจนเซ่น ที่ร้องไว้ในการแสดงชุด แม่น้ำของแผ่นดิน  บอกเรื่องราวของน้ำค้าง กับน้ำฝนมารวมกันเป็นแม่น้ำสายเล็ก ๆ หลายสายจนเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งดิฉันได้นำผ้ายาวจำนวน ๖ ผืน ความยาวผืนละ ๓๐ เมตร สีแดง    ๒ ผืน   ขาว ๒ ผืน และน้ำเงิน ๒ ผืน   รวมเป็นสีธงชาติ  ซึ่งหมายถึงแม่น้ำเจ้าพระยาที่สร้างวัฒนธรรม และ ความอุดมสมบูรณ์ของชาวไทย มาถึง ปัจจุบันนี้  และที่สำคัญประเทศชาติร่มเย็นได้ด้วยพระบารมี ของพระมหากษัตริย์ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน   

 

 

 

ถ้าคุณได้รับมอบหมายงานอย่างที่อ่านมาข้างต้น   คุณจะจัดการอย่างไร กับเด็ก ๖๐๐ คน  

 ( ม. ๔, ๕, ๖ )  กับการแสดงวันลูกเสือแห่งชาติ  หน้าพระพักตร์ ถ่ายทอดสด   โอ๊ย โอ๊ย  กับเวลาแค่ ๑๕ นาที   และเพียงคุณครูคนเดียว กับนักเรียน  

สบายค่ะ  ครูต้องวางแผนและดูตัวเองก่อน  ดังนี้ 

๑.      เมื่องานใหญ่  ใจครูต้องใหญ่  เท่า ๆ กับงาน 

๒.    อย่าไปกลัว  ไม่ลองก็ไม่รู้   ( จริง ๆ ก็หวั่นๆ เหมือนกันว่าจะเป็นอย่างไร ) 

๓.     วางแผนการทำงาน ศึกษาข้อมูล อ่านเรื่องราวบทพระราชนิพนธ์  

ของพระบาทมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ( รัชกาลที่ ๖ ) จนได้ชื่อชุดการแสดง

๔.     เสนอผู้อำนวยการ และผู้อำนวยการนำเสนอเรื่องราว งบประมาณกับ

คณะกรรมการกองลูกเสือแห่งชาติตามลำดับ 

 ทำอย่างไรนักเรียนจะร่วมมือกับครู  ก็นักเรียนเป็นสำคัญไง

                                ๑.  ปลุกระดมความคิดอันยิ่งใหญ่  ให้นักเรียน ว่าเราต้องทำเพื่อชื่อเสียงของโรงเรียน งานระดับชาติ  งานที่เราต้องแสดงหน้าพระพักตร์   งานถ่านทอดสดให้คนดูทั้งประเทศ สารพัดจะบรรยายเลยค่ะ

                                ๒.  แบ่งงานดังนี้  ม. ๕ ทั้งระดับ  ประมาณ ๓๐๐ คน ต้องแสดงทั้งหมด ( เพราะครูสอน ม. ๕ )  และผู้ที่ให้ความร่วมมือจะได้ คะแนนกิจกรรม  แบ่งงานดังนี้

                ๕/ ๑    แสดงเป็นนางใน                               -   ๕/๒ แสดงเป็นนางใน และสายน้ำ

                -   ๕/๓  แสดงเป็นชาวบ้านภาคเหนือ       -   ๕/๔   แสดงเป็นชาวบ้านภาคใต้

                -   ๕/๕   แสดงเป็นชาวบ้านภาคกลาง            -   ๕/๖    แสดงเป็นชาวบ้านภาคอีสาน

                -   ๕/ ๗-๕/๙        แสดงเป็นคนวิ่งธงชาติ

                -  ๖ / ๑  เป็นสตาฟดูแลการฝึกซ้อม เขียนบท  ถ่ายวีดิทัศน์ระหว่างการฝึกซ้อม เพื่อแก้ไขปัญหาระหว่างซ้อม  ประสานงานทุกอย่างกับครู เสื้อผ้า และแสดงเป็นน้ำฝน และตัวละครหลัก เช่นพระราชา พระราชินี

                - ๖ / ๒   แสดงเป็นน้ำค้าง และสายน้ำ

                - ๖ / ๓    แสดงเป็นสายน้ำ

          - ๖ / ๔   แสดงเป็นสายน้ำ  

                - ๖ / ๕- ๖/๖    แสดงเป็นคนถึอร่ม ตุง และคนแบกเสลี่ยง

          - ๖ / ๗     เป็นสตาฟจัดการกับอุปกรณ์การแสดง ซ่อมแซมส่วนที่ชำรุด และจัดเก็บ จัดเตรียมสำหรับให้นักแสดงซ้อมและแสดงจริง

                - ๖ / ๘- ๖/๙    แสดงเป็นคนถึอร่ม ตุง และคนแบกเสลี่ยง สายน้ำ

ส่วนม.  ๔ บางส่วนมาช่วยเป็นสายน้ำ และ ตัวประกอบ และในส่วนที่นักแสดงขาดแคลน

   

                   ชุดนี้เป็นการแสดงโขน  ชุดยกรบ  เป็นนักเรียน ม. ๕ ทั้งหมด

 

             เตรียม  แต่ง  รอ  การแสดง ที่สนามเทพหัสดิน  

 

๓.     จัดโปรแกรมการฝึกซ้อม  และเตรียมเสื้อผ้า ตลอดจนอุปกรณ์

๔.     ปัญหาและอุปสรรค อันนี้มีแน่นอน    ครูบางคนไม่สนใจเรื่องราวของเราเลย

เอาแต่ตำหนิ  จะทำแต่กิจกรรมบางละ    เด็กถูกหาว่าไม่ใส่ใจเรียนขึ้นห้องช้า มัวแต่ซ้อม  จะมาเรียนหรือมารำ เอาเข้าไป  ( นี่งานระดับชาตินะเนี่ย เพื่อนยังว่าเราได้ ชื่อเสียงก็เป็นของโรงเรียน ) เฮ้อ

แล้ววันแสดงจริงก็มาถึง         

                ทุกอย่างพร้อม สตาฟเตรียมแจกอุปกรณ์เสื้อผ้าให้นักแสดงรับผิดชอบ ฝ่ายอุปกรณ์จัดแพ็กอุปกรณ์อย่างเรียบร้อย แต่งหน้า ทั้งคืน ทั้งวัน  ทุกคนเหนื่อยมาก พระบรมโอรสาธิราชจะเสด็จ ๑๖.๐๐ น. ห้ามซ้อมในสนามศุภฯ พักที่สนามเทพหัสดิน  รอ รอ รอ  เวลา

                ระหว่างนั้น เวลา ๑๕.๐๐ น. ใกล้แล้ว เวลาที่สำคัญ จะมาแล้ว  สตาฟ นักเรียน ม. ๖  ถามว่า จะซ้อมสักรอบไหมเพราะวันนี้ยังไม่ได้ซ้อมเลย  ครู ตอบว่า   “ น้อง ๆ ดูเหนื่อย พักดีกว่า   สตาฟไปเช็คประตูทางเข้า ทางออก พบปัญหา ก็ช่วยกันแก้

                ไม่รู้ว่าอะไรดลใจ บรรดาสตาฟเกิดขลังขึ้นมาเรียกน้อง ๆ ซ้อม ที่สนามเทพหัสดินฯ ซะงั้น เอ้า ครูก็ว่าไงว่ากัน   ( ครูก็เหนื่อยเต็มที )

                ผ่านไป ๕ นาที มีนักเรียนวิ่งมาบอกว่า สตาฟหยิบผ้ามีขาวมาผิด  ๑ ผืน หยิบผืนสั้นมา  ผ้าไม่เท่ากัน

                เด็ก ๆ ที่เป็นสตาฟเริ่มจะพูดกันต่อ ๆไป  สติ เท่านั้นค่ะ ที่จะช่วยได้  ครูสั่งห้ามพูด่อ รู้เฉพาะ ทีมงามไม่เช่นนั้น ทุกคนจะใจเสีย 

                แว่บ นั้นครู คิดไว้ ๒ ทาง ทางที่ ๑ ตัดผ้าให้เท่ากันหมด แต่งานจะไม่สวยเพราะสนามใหญ่มาก ทางที่ ๒  หาซื้อผ้าแถวนั้นทันที

                ขณะนั้นเวลา ๑๕.๓๐ น.  ตำรวจเริ่มมาปิดการจราจร เพราะใกล้เสด็จ   ผู้อำนวยการโรงเรียน โทรมาถามว่าเรียบร้อยไหม ต้องโกหกไปว่า เรียบร้อยค่ะ แต่ขณะนั้น ครู พนักงานขับรถ และนักเรียนวิ่งทั้งที่ไม่ใส่รองเท้า  ตำรวจมองแบบงงๆ  ไปวิ่งหาซื้อผ้า จะไปประตูน้ำก็กลัวไม่ทัน ไปศึกษาภัณฑ์หน้าสนามศุภฯ ก็ไม่มี พนักงานขายบอกชี้ไปทางซ้าย เรียกตุ๊ก ๆ  เจอร้านตัดเสื้อกีฬา ไม่มี ได้แต่นึกพึงพ่อแก่ช่วยลูกด้วย  

พอถึงร้านที่ ๓ เวลา ๑๕.๔๕ น. บอกว่าพอมีใช้ได้หรือเปล่าไม่รู้ เป็นผ้าโทเร  ยาว ๓๐ เมตร ราคา ๓,๐๐๐ บาท โอ้โหใจชื้น เพื่อนโทรมาบอกว่าต้องให้เด็กเข้าใต้อัฒจรรย์เตรียมการแสดงแล้ว พระบรมฯ จะเสด็จ แล้ว   เราก็วิ่งหอบผ้าไปให้เด็กเปลี่ยนทันที 

เด็ก ๆ ที่รู้ว่าวิกฤตเกิดขึ้น มองกันด้วยตาที่มีน้ำตาปริ่มๆ ครู ฝืนยิ้ม  ให้ทุกคน แล้วขึ้นไปนั่งดูการแสดงบนอัฒจรรย์  เช็ดน้ำตาไปดูไป  และแล้วเราก็ทำสำเร็จ

ทุกคนชื่นชม   ครูที่โรงเรียนลุ้นกันทางทีวี  กลับมาด้วยความสุขใจ คืนนั้นหลับสบาย

เด็ก ๆ ที่เป็นสตาฟวิ่งมาขอโทษ กันใหญ่ ครูบอกว่า ครูไม่โกรธหรอก  การทำงานมีผิดพลาดได้ทั้งนั้น ให้จำไว้เป็นประสบการณ์ของชีวิต 

และนี่แหละที่สุดของชีวิตของดิฉัน  ถ้าคุณอ่านแล้ว  ลองคิดดูถ้าเป็นคุณจะแก้ปัญหาอย่างไร  แต่สำหรับดิฉัน ดิฉันภูมิใจในตัวลูกศิษย์มากค่ะ  สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เขาคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้

   

 

                     เบื้องหลังและเบื้องหน้า   

            น้ำค้างและน้ำฝน  ไหลมารวมกันเป็นสายน้ำ

                                   

                        

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 360280เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2010 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท