โครงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรทางการศึกษาด้วยการจัดการความรู้ : สคส. ทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ครั้งที่ 2


               วันที่  15 -  17  มิถุนายน  2549     ทีม  สคส.  นำโดย  ดร.ประพนธ์  ผาสุขยืด,  คุณฉันทลักษณ์  อาจหาญ  และผู้เขียน  รับหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้ให้กับการประชุมเชิงปฏิบัติการทีมแกนนำนักจัดการความรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษา   ให้กับบุคลากรของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ   เวทีนี้เป็นเวทีที่ 2  และเป็นเวทีสุดท้ายของ สคส.  ตามเงื่อนไขที่ สคส.  ตกลงไว้กับทีมนักวิจัยโครงการฯ  ว่า  สคส.  จะทำหน้าที่เป็นวิทยากรกระบวนการจัดการความรู้ให้ดูเป็นตัวอย่างแก่ทีมนักวิจัยของโครงการฯ  เป็นจำนวน  2  ครั้ง  หลังจากนั้น  ทีมนักวิจัยของโครงการฯ  ต้องดำเนินการเอง
 เวทีครั้งนี้  จัดขึ้นที่โรงแรมคุ้มสุพรรณ  จังหวัดสุพรรณบุรี  ผู้เข้าร่วม  คือ    ผู้บริหารและบุคลากรของ สพท.  และสถานศึกษา  ในเขต  สพท. พระนครศรีอยุธยา  1,  สพท. ลพบุรี  1  และ  สพท. สุพรรณบุรี  เขต  2  จำนวนประมาณ  60  คน

             กลุ่มผู้เข้าร่วมกลุ่มนี้  ส่วนใหญ่จะเคยฟังการบรรยายของ  อ.ประพนธ์  มาแล้ว  และมีบางส่วนที่ได้เริ่มลงมือดำเนินการในหน่วยงานหรือโรงเรียนของตนเองบ้างแล้วด้วย  

            ในครั้งนี้  ทีมประสานงานและทีมนักวิจัย  ได้นำบทเรียนจากเวทีครั้งแรก มาปรับกระบวนการใหม่  ในหลายๆ  ประเด็น  เช่น

           1.  มีการส่งแบบบันทึกความภาคภูมิใจ ประทับใจในการทำงานให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้กรอกก่อน  เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งกลุ่มในช่วงกิจกรรมเรื่องเร้าเล่าพลังต่อไป

            2.  มีการเตรียมเอกสารคู่มือการทำหน้าที่ "คุณอำนวย"  และ  "คุณลิขิต"  ในกลุ่มย่อยให้ศึกษาทำความเข้าใจทั้งช่วงก่อนและระหว่างการทำหน้าที่  "คุณอำนวย"  และ  "คุณลิขิต"  ประจำกลุ่ม

             3. มีการกำหนดหัวปลาย่อย  ซึ่งได้มาจากแบบบันทึกความภาคภูมิใจ  (ข้อ 1)  เพื่อกำหนดให้สมาชิกแต่ละกลุ่มย่อย  ได้เล่าเรื่องให้ตรงกับหัวปลาย่อยที่กำหนดไว้  และให้แต่ละกลุ่มได้พูดคุยทำความตกลงกันเองว่า  สมาชิกแต่ละคนจะเล่าเรื่องอะไร  ขอบเขตแค่ไหน  ที่ไม่เกินเลยหรือออกนอกหัวปลาย่อยที่กำหนดไว้

              สำหรับบรรยากาศช่วง Workshop  ช่วงที่ผู้เข้าร่วมรู้สึกว่า มีความสำคัญ  คือ  ช่วงการสังเคราะห์ขุมความรู้เป็นแก่นความรู้  และการนำมาทำเป็นตารางแห่งอิสรภาพ  กระบวนการนี้มีข้อถกเถียงอย่างมากถึงเกณฑ์ในการนำมาสร้างตารางแห่งอิสรภาพ  เนื่องจากผู้เข้าร่วมค่อนข้างคุ้นชินกับเกณฑ์วัดระดับแบบขั้นบันได  แต่สำหรับตารางแห่งอิสรภาพตามแนว สคส.  จะเน้นไปที่วิธีการ  ที่ค่อนข้างเป็นเอกภาพระหว่างกันอย่างชัดเจนในแต่ละเกณฑ์และในแต่ละระดับ  ซึ่งผู้เขียนในฐานะวิทยากรกระบวนการ  ใช้เวลาอธิบายทำความเข้าใจในกระบวนการนี้อยู่นานทีเดียว    และสิ่งที่ผู้เขียนเน้นย้ำอย่างมาก  คือ  วิธีการหรือกระบวนการของ  สคส.  เน้นการดำเนินการเพื่อพัฒนาตัวเอง  และร่วมมือกันพัฒนาแบบเป็นเครือข่าย  แบบเพื่อนช่วยเพื่อน  ให้ก้าวไปด้วยกัน  โดยที่ไม่ได้เน้นที่แข่งขันกันแบบคู่แข่ง  แต่เราแข่งขันแบบกัลยาณมิตร    ในที่สุดผู้เข้าร่วมเข้าใจมากขึ้น           

             นอกจากนั้น ในเวทีครั้งนี้  ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยนอกรอบกับ  อ.สุรศักดิ์  ศิริ  ผู้อำนวยการโรงเรียนบางปะหัน  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งโรงเรียนนี้  เป็นศูนย์การเรียนการสอนภาษาไทยของ  เขตพื้นที่การศึกษา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  เขต  1  ด้วย   อ.สุรศักดิ์    ให้ความสนใจที่จะนำกระบวนการ  KM  ไปใช้ในการดำเนินการของศูนย์ฯ  นี้ด้วย  ซึ่งผู้เขียนสนับสนุนและยินดีเป็นที่ปรึกษาให้อย่างเต็มที่   โดยคงได้มีการประสานงานและจะรายงานความคืบหน้ากันต่อไป

           และแล้วเวทีการสร้างแกนนำด้านการจัดการความรู้  ครั้งที่ 2  ก็ผ่านพ้นไปด้วยดี  

           แล้วพบกันในเวทีครั้งที่  3  ที่จังหวัดพิษณุโลกคะ

หมายเลขบันทึก: 35981เขียนเมื่อ 28 มิถุนายน 2006 17:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2014 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท