ชีวิตบนพื้นราบ


ความพิการหากเกิดกับใครแล้ว ก็คงคิดว่าเป็นความโชคร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่สำหรับบุคคลท่านนี้แล้วท่านไม่ได้คิดเช่นนั้น การเกิดมาพิการไม่ได้เป็นจุดจบสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต หากแต่เป็นแรงกระตุ้นให้ท่านดึงศักยภาพในตนเองออกมา พัฒนาจนสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณค่าไม่เพียงแต่ตนเองเท่านั้นแต่ยังมีคุณค่าต่อครอบครัวและสังคมด้วย

ชื่อเรื่อง ชีวิตบนพื้นราบ

ผู้เล่า นทพ.พบพลอย เพ็ชรเม็ดใหญ่

แก่นของเรื่อง

ความพิการหากเกิดกับใครแล้ว ก็คงคิดว่าเป็นความโชคร้ายที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่สำหรับบุคคลท่านนี้แล้วท่านไม่ได้คิดเช่นนั้น การเกิดมาพิการไม่ได้เป็นจุดจบสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต หากแต่เป็นแรงกระตุ้นให้ท่านดึงศักยภาพในตนเองออกมา พัฒนาจนสามารถมีชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณค่าไม่เพียงแต่ตนเองเท่านั้นแต่ยังมีคุณค่าต่อครอบครัวและสังคมด้วย

 

เนื้อเรื่อง        

 

 

nivate          

          ครูนิเวทน์ ลูกชายคนที่ 3 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 10 คน ในชีวิตของครูมีโอกาสที่เท้าได้สัมผัสกับพื้นดินเพียงช่วงปีแรกของชีวิตครูเท่านั้น หลังจากนั้นชีวิตครูก็เปลี่ยนแปลงไป ครูไม่สามารถใช้ขาในการก้าวเดินได้อีกต่อไป รวมถึงมือที่เกิดความผิดปกติไม่สามารถใช้ได้เหมือนคนปกติ ชีวิตของครูตั้งแต่นั้นมาต้องเป็นชีวิตบนพื้นราบ คือ ทุกอย่างในบ้านต้องจัดให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของครู เช่น พื้นบ้านจะต้องอยู่ระดับเท่ากัน ไม่มีขั้น ข้างของทุกอย่างต้องอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ เพื่อมือจะได้เอื้อมถึง

เรื่องบางเรื่องที่คนปกติเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่สำหรับโรคอย่างครูแล้วกลับเป็นเรื่องใหญ่ได้ เช่น มีอยู่วันหนึ่ง แม่ของครูเอาอาหารเช้ามาแขวนไว้ที่หน้าประตูแต่เพราะความพิการด้านร่างกายทำให้ครูเอื้อมไม่ถึง วันนั้นครูจึงต้องอดข้าวจนกระทั่งตอนเย็นที่แม่กลับมาถึง   

        ความพิการที่เกิดขึ้นรวมถึงความเสียสละของพี่ที่มีต่อน้องทำให้ครูไม่ได้เรียนหนังสือ แม้จะไม่ได้ไปเรียนหนังสือเหมือนเด็กคนอื่นๆ แต่ก็ไม่ใช่อุปสรรคสำหรับครูที่จะขวนขวายหาความรู้ ครูเรียนรู้ด้วยตนเองโดยอาศัยการเรียนไปด้วยกันกับน้อง ช่วยน้องทำการบ้าน  จนสามารถอ่านออกเขียนได้ โดยเฉพาะการคำนวณที่ครูชอบเป็นพิเศษ จนกระทั่งได้ทำงานเป็นเลขาจัดการด้านเอกสารช่วยคุณพ่อซึ่งเป็นสารวัตรกำนัน  เช่น ช่วยเขียนใบแจ้งเกิด ใบมรณะบัตร นอกจากนี้ได้เริ่มศึกษาหาความรู้ในงานซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้าจนมีความชำนาญ พอมีรายได้เลี้ยงตัวบ้าง

หลังจากนั้นครูได้ประกอบอาชีพธุรกิจขายตรงของบริษัทหนึ่ง ซึ่งทำให้ครูได้เพื่อนใหม่ๆ ได้ไปสถานที่ใหม่ๆ ได้อบรมความรู้ เป็นประสบการณ์ชีวิตสำหรับครู แต่เนื่องจากสุขภาพที่ไม่เอื้ออำนวย ครูจึงต้องเลิกอาชีพนี้และหันมาทำอาชีพใหม่ซึ่งเป็นอาชีพหลักในปัจจุบันของครูโดยอาศัยแนวคิดในการทำธุรกิจจากการไปอบรม คือ การทำกระดุมเสื้อจากกะลามะพร้าว โดยอาศัยวัตถุดิบในท้องถิ่นร่วมกับอุปกรณ์ในการทำซึ่งอาศัยความรู้ทางไฟฟ้าที่ครูเองก็มีความชำนาญ

ปัจจุบันครูส่งกระดุมขายมีลูกค้าที่สนใจมากมาย ไม่ต้องอาศัยการโฆษณาแต่อาศัยการบอกปากต่อปาก  นอกจากจะทำอาชีพเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองแล้วครูยังช่วยเหลือผู้พิการด้วยกันด้วยโดยครูดำรงตำแหน่งเป็นประธารชมรมผู้พิการตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ไปเยี่ยมเยียนตามบ้านผู้พิการ ช่วยแนะนำให้มีอาชีพเลี้ยงตัวเองรวมถึงสร้างกำลังใจให้กับผู้พิการด้วยกันด้วย

       ความพิการทำให้คนคนหนึ่งขาดโอกาสที่จะเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขกว่า 50 ปี แต่การที่เราไปเยี่ยมครูในวันนั้นได้ให้คำแนะนำครูให้มาตรวจสุขภาพช่องปากที่โรงพยาบาล โดยเราจะไปรับส่งครูถึงบ้าน ครูตกลงที่จะมาตรวจและเข้ารับการรักษา ครูคิดว่า การที่ปล่อยปละละเลยไม่ดูแลฟันมาเป็นเวลานานก็เหมือนกับการไม่ดูแลตัวเอง ไม่รักชีวิตของตัวเอง การที่มีสุขภาพที่ดีย่อมทำให้ช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกมากมาย

ในวันนั้นเรารู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อยที่จะต้องทำคนไข้ที่มีความพิการ และรวมถึงไม่เคยทำฟันมาก่อนในชีวิต ตามเวลาที่นัดครูไว้ 8.30 ครูถูกนำมาส่งที่ห้องทันตกรรม พวกเราช่วยกันอุ้มครูลงจากรถเข็นเพื่อนั่งที่เก้าอี้ทำฟัน หลังจากเราสอบถามอาการและตรวจในช่องปากแล้วพบว่า มีฟันที่ต้องถอน 2 ซี่ รวมถึงต้องขูดหินปูนอีกขนานใหญ่

กว่า 3 ชั่วโมงที่เราทำฟันให้ครู ครูมีความอดทนมาก ไม่มีแม้แต่อาการที่แสดงให้เราเห็นว่ามีความเจ็บปวดเลย อีกทั้งยังคอยให้กำลังใจหมอด้วย หลังจากทำเสร็จพวกเราได้พาครูมาทานอาหารกลางวัน และพาครูไปยังบ้านผู้พิการคนนึงที่กำลังท้อแท้ สิ้นหวัง หมดกำลังใจที่จะต่อสู้กับความพิการที่เกิดขึ้น

ครูได้ให้ข้อคิดอย่างนึงว่า ความพิการที่เกิดขึ้นเป็นกรรมของเรา เราไม่สามารถที่จะไปแก้ไขอะไรได้ ให้คิดแต่ในแง่ดีว่าการที่เรายังมีมือมีเท้าอยู่ก็ให้ถือว่ามีมากกว่าขาดแล้ว  การที่เราทำใจให้ยอมรับมันได้ ก็จะทำให้เราไม่จมปลักอยู่กับความทุกข์ ก็จะทำให้ชีวิตมีความสุข

       หลังจากที่เราใช้เวลาอยู่กับครูทั้งวันตั้งแต่การสัมภาษณ์ชีวิตครู  ทำฟัน  ป้อนข้าว พาครูไปให้กำลังใจผู้พิการคนอื่นๆ มีคำพูดนึงที่ฉันรู้สึกประทับใจมาก ครูบอกว่า ครูอยากจะรู้จักชื่อพวกเรา เพื่อที่จะจำไว้ว่าในรอบ 50 กว่าปีที่ครูไม่เคยมาโรงพยาบาลเลย เราเป็นหมอคนแรกที่ครูมีโอกาสได้รักษาด้วย

ในตอนนั้นฉันรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างมากที่อย่างน้อยฉันก็เป็นหมอคนนึงที่ช่วยให้ครูมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพื่อครูจะได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้อื่นต่อๆไป  ทำให้เราหันกลับมามองว่า แม้ครูจะมีความพิการทางร่างกายเพียงใด แต่ จิตใจของครูกลับไม่ได้พิการตามไปด้วยเลย

ความพิการที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุปสรรคในการที่จะช่วยเหลือผู้อื่นเลย กลับเป็นแรงผลักดัน เป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้พิการอีกหลายๆคนที่กำลังท้อแท้ สิ้นหวังอยู่ ให้กลับมามองเป็นคุณค่าในตัวเองและ ดำรงชีวืตในสังคมในสังคมได้อย่างปกติสุขต่อไป

  

ผู้บันทึก นทพ.พบพลอย เพ็ชรเม็ดใหญ่    วันที่ 21 มกราคม 2553

 

หมายเลขบันทึก: 359427เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2010 19:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท