ตัวอย่างโครงการของบประมาณจากองค์กรที่สนับสนุนชุมชน


ตัวอย่างโครงการของบประมาณจากองค์กรที่สนับสนุนชุมชน

โครงการพัฒนากระบวนการการจัดการมูลฝอยในชุมชน

กองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลน้ำน้อย

อำเภอหาดใหญ่    จังหวัดสงขลา

 

1. หลักการและเหตุผล

                 ปัญหาเกี่ยวกับมูลฝอยได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากรมีมากเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในทุกพื้นที่รวมทั้งการจัดการที่ไม่ถูกวิธีและไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ  อันเนื่องมาจากขาดการรับความรู้ข้อมูลในเรื่องพิษภัยอันเกิดจากทับถมของเศษสิ่งเหลือใช้ที่ปราศจากการจัดการให้เป็นระบบ   อีกประการหนึ่งความเจริญทางด้านวัตถุได้มุ่งสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตอบสนองต่อผู้บริโภคจนส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เกินความจำเป็นจึงทำให้สิ่งของบางส่วนถูกทิ้งให้เป็นของไร้ค่า ไร้ประโยชน์  ไม่มีการจัดการที่ถูกสุขลักษณะ  จึงส่งผลกระทบต่อประชากรในพื้นที่แต่ละชุมชนตามสภาพของการเกิดมูลฝอย  อันรวมถึงการอยู่ดีมีสุขและสภาพภูมิทัศน์ในด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมจะค่อยๆสูญหายไป หากชุมชนไม่ได้ตระหนักถึงพิษภัยที่จะเกิดขึ้นตามมา โดยยากที่จะแก้ไขต่อไปในอนาคต

                 การจัดการมูลฝอยในปัจจุบันชุมชนได้รับความรู้แล้วระดับหนึ่ง  แต่ขาดการสร้างภูมิรู้ที่แท้จริงในการจัดการ และการมีส่วนร่วมในการเป็นผู้รับผิดชอบ  ในการจัดการกระบวนการการนำมูลฝอยมาแปรสภาพให้มีมูลค่าเพิ่มเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม   การศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติ การดูการสาธิต  ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแท้จริงจะทำให้การจัดการมูลฝอยเกิดความยั่งยืนได้

                 การศึกษาดูงาน การฝึกปฏิบัติ การดูการสาธิตจากแหล่งเรียนรู้ที่ได้ดำเนินการที่เป็นแบบอย่างระดับประเทศจะเป็นศูนย์บูรณาการครบวงจรในการจัดการมูลฝอยจะเป็นแหล่งจำเป็นที่ชุมชนหรือตัวแทนชุมชนจะต้องได้เข้าไปร่วมเรียนรู้  ฝึกปฏิบัติ อันจะส่งผลให้เพิ่มความตระหนัก  เกิดภูมิรู้ที่แท้จริง  และสามารถที่จะขยายในการสร้างแนวร่วมให้มีส่วนร่วมครอบคลุมได้ทั้งตำบลจะกระทำได้ง่ายขึ้นตามมาด้วย

                  ด้วยความจำเป็นดังกล่าวจึงต้องคัดเลือกตัวแทนชุมชนไปร่วมพัฒนาความรู้ พร้อมทั้งยอมรับในเงื่อนไขข้อตกลงว่าเมื่อเสร็จสิ้นการไปรับรู้กระบวนการการพัฒนาการจัดการมูลฝอยแล้วจะมาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่องได้ ส่วนผู้เกี่ยวข้องในด้านการจัดการมูลฝอยและด้านสุขภาพก็จะต้องมีส่วนหนึ่งไปร่วมกระบวนการเรียนรู้ด้วย ซึ่งจะมีผลต่อการสร้างการมีส่วนร่วมในตำบลได้ง่ายขึ้นเพราะได้รับรู้มาจากแหล่งเดียวกัน การปฏิบัติจะได้เป็นไปในทางเดียวกัน  อันจะส่งผลไปสู่การพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ถูกวิธีและการพัฒนาด้านสุขภาพกายสุขภาพจิตที่ดีก็จะพัฒนาตามควบคู่ไปด้วย

 

2. วัตถุประสงค์

                2.1 เพื่อเพิ่มความตระหนักถึงพิษภัยของมูลฝอยที่มีผลต่อสุขภาพ

                2.2 เพื่อพัฒนาความรู้และกระบวนการจัดการมูลฝอยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

                 2.3 เพื่อสร้างผู้นำด้านกระบวนการจัดการมูลฝอยในชุมชน

                2.4 เพื่อให้ตัวแทนชุมชนและผู้เกี่ยวข้องได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรการจัดการมูลฝอยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

                2.5 เพื่อให้ตัวแทนชุมชนสามารถสร้างกระบวนการจัดการมูลฝอยเป็นแบบอย่างในตำบลได้

                2.6 เพื่อสร้างความมั่นใจว่าถ้าสามารถจัดการมูลฝอยได้ก็จะนำไปสู่การอยู่ดีมีสุข

 

3. เป้าหมาย

                3.1 ส่ง คณะกรรมการกองทุนฯและตัวแทนชุมชน  เข้ารับการอบรมเชิงปฏิบัติการจัดการมูลฝอย ณโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์  สำนักงานใหญ่  อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ระหว่างวันที่ 22 – 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553   จำนวน  7   คน เป็นเวลา 5 วัน

                3.2  บุคลากรที่จะคัดเลือกเข้ารับการอบรม ทั้งหมด 7 คน ประกอบด้วย

                       3.2.1  นายคมกฤช  นนทะสร  ประธานคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลตำบลน้ำน้อย

                       3.2.2 นายธนา  นนทพุทธ  คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลน้ำน้อยในฐานะตัวแทนผู้ทรงคุณวุฒิ

                        3.2.3 นางทัศวรรณ  ขวัญหวาน เจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน ตัวแทนกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลน้ำน้อย   

                        3.2.4 ตัวแทนประชาชนจำนวน 4 คน ที่พร้อมจะร่วมดำเนินการคัดแยกมูลฝอยเพื่อรีไซเคิล (โดยผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลน้ำน้อย และยินยอมทำสัญญาตามเงื่อนไขของตามที่คณะกรรมการกำหนดกำหนด)

 

4. วิธีการดำเนินการ

                4.1 นำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลตำบลน้ำน้อย

              4.2 ประกาศรับสมัคร

                4.3 จัดตั้งคณะทำงานจัดทำเงื่อนไขและคัดเลือกผู้แทนชุมชนตามจำนวนที่กำหนด

                4.4ประชุมชี้แจงหลักการและเหตุผลให้ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกและทำสัญญาในการจัดการมูลฝอยอย่างยั่งยืน

                4.4 สมัครการอบรมไปยังศูนย์การอบรม ณ โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์  สำนักงานใหญ่  อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก และจ่ายค่าลงทะเบียน

                4.5 เดินทางไปเข้ารับการอบรม ณ โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์  สำนักงานใหญ่  อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

                4.6 ประชุมสรุปบทเรียนหารูปแบบและแนวทางการดำเนินการการจัดการมูลฝอย

                4.7 ประเมินผล

 

5. สถานที่

                  โรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์  สำนักงานใหญ่  อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

 

6. งบประมาณ

                งบประมาณค่าใช้จ่ายทั้งหมด 88,900 บาท โดยมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายดังนี้

6.1ค่าลงทะเบียน การอบรม 5 วัน 7 คน ๆ ละ 8,500 บาท   เป็นเงิน 59,500   บาท เหมาจ่ายป็น

        -ค่าที่พักโรงแรม 5 คืน (โรงแรมระดับ 3 ดาว)

        - ค่าอาหารว่างเช้า , บ่าย / อาหารกลางวัน 

        - ค่ารถบัสรับ-ส่ง (จากโรงแรม ถึง โรงงานฯ วงษ์พาณิชย์)

         - ค่าเอกสาร/ตำรา /อุปกรณ์

          -ค่าใช้จ่ายพิธีมอบเกียรติบัตรพร้อมงานจัดเลี้ยง

 

                6.2 ค่าเหมารถตู้ 1 คัน(ไม่รวมค่าน้ำมัน) ไป-กลับหาดใหญ่ – พิษณุโลก ตั้งแต่วันที่ 20 – 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553 จำนวน 9 วัน ๆ ละ 1,800 บาท เป็นเงิน 16,200 บาท

                6.3 ค่าน้ำมันดีเซลเติมให้แก่รถตู้ที่เหมาตามจ่ายจริงจากหาดใหญ่ – พิษณุโลก 9 วัน เป็นเงินไม่เกิน 10,000 บาท

                6.4 ค่าอาหารระหว่างเดินทางไป-กลับหาดใหญ่–พิษณุโลกของตัวแทนชุมชน4คนคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพ 3  คน และคนขับรถ 1 คน รวม 8  คน ทั้งหมด 10 มื้อ ๆ ละ 40 บาทต่อคน

                                วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2553 จำนวน 1 มื้อ

                                วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2553 จำนวน 3 มื้อ

                                วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2553 จำนวน 1 มื้อ

                                วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2553 จำนวน 3 มื้อ

                                วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553 จำนวน 1 มื้อ

                สรุปค่าอาหารระหว่างเดินทางไปกลับ 8 คน ๆ ละ 400 บาท เป็นเงิน 3,200 บาท

 

 

7. ผู้รับผิดชอบโครงการ

                    นายธนา  นนทพุทธ  คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพเทศบาลตำบลน้ำน้อย

 

8. ประเมินผล

                8.1 แบบสอบถาม

                8.2 สังเกตพฤติกรรมการเข้ารับการอบรม

 

9. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

                9.1 ตัวแทนที่ได้รับการคัดเลือกจากชุมชนจะได้เพิ่มความตระหนักถึงพิษภัยของมูลฝอยที่มีผลต่อสุขภาพ

                9.2 ตัวแทนจากชุมชนจะได้พัฒนาความรู้และกระบวนการจัดการมูลฝอยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

                 9.3 จะได้มีผู้นำในด้านจัดกระบวนการจัดการมูลฝอยที่เป็นต้นแบบและภูมิรู้ในชุมชน

                9.4 ตัวแทนชุมชนและผู้เกี่ยวข้องได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรการบูรณาการการจัดการมูลฝอยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

                9.5   ตัวแทนชุมชนสามารถสร้างกระบวนการจัดการมูลฝอยอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นแบบอย่างได้

                9.6 เป็นการสร้างความมั่นใจว่าชุมชนก็สามารถจัดการมูลฝอยได้ซึ่งจะนำไปสู่การอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนได้ตลอดไป

หมายเลขบันทึก: 359206เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2010 21:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 17:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท