การเล่นของเด็กปฐมวัย


การเล่นของเด็กปฐมวัย PDF พิมพ์ อีเมล

 อย่าให้เด็ก เด็ก.....ขาดการเล่น (การเล่นของเด็กปฐมวัย)

           การ เล่นเป็นเรื่องจริงจังและมีความสัมพันธ์ต่อเด็กอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้ง การเล่นที่เหมาะสมและถูกต้องตามวัยและพัฒนาการของเด็กจะเป็นเครื่องบ่งชี้ ถึงคุณภาพของเด็ก การเล่นสำหรับเด็กมีผลต่อการกระตุ้นการเรียนรู้ พัฒนาการของสมอง เสริมสร้างความฉลาด พัฒนาสติปัญญา พัฒนาอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสาร การมีปฎิสัมพันธ์กับผู้อื่นไม่ว่าจะต่างวัยหรือวัยเดียวกัน ฝึกการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น การเล่นช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัย เด็กๆได้เรียนรู้ทักษะต่างๆจากการเล่นเช่นการทรงตัว การเคลื่อนไหว การใช้ประสาทสัมผัส การใช้กล้ามเนื้อต่างๆ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาฝึก ความจำ ฝึกความมีวินัย ฝึกความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นซึ่งจะพัฒนาไปสู่ความรับผิดชอบต่อ สังคมเมื่อเติบใหญ่ขึ้น เด็กๆได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างจากการเล่น ในขณะที่ พ่อ แม่ ผู้ใหญ่ ก็รู้จักลูกหรือเด็กๆได้จากการเล่นของเด็ก ด้วยเช่นกัน

การเล่นเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กอย่าง หนึ่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ เด็กช่วงอายุแรกเกิดถึง 6 เดือนเป็นช่วงที่เด็กจะทำความรู้จักกับสิ่งแวดล้อมโดยการใช้ประสาทสัมผัส ทั้งห้า ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส เช่น การใช้ปากดูดหรืออม เป็นการชิมหรือรู้รส การมอง การไขว่คว้า หรือการกำมือ เป็นต้น เด็กจะเลือกเล่นและสนุกไปตามพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคมและสติปัญญาของเขาซึ่งหาก ผู้ใหญ่ได้มีส่วนส่งเสริมให้เด็กได้เล่นตามความเหมาะสมของพัฒนาการแต่ละช่วง วัยจะช่วยพัฒนาความสามารถ ส่งเสริมพัฒนาการและเอื้อให้เด็กได้แสดงศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ให้เป็นที่ ปรากฎออกมาได้ อีกทั้งการเล่นยังเป็นช่องทางที่ให้เด็กได้เรียนรู้ได้ซึมซับคุณธรรม จริยธรรม ที่เห็นได้ง่ายที่สุด คือ การรู้จักแบ่งปันการเล่น หรือการรอคอย

เด็กแรกเกิดถึงหนึ่งขวบ

 เด็ก วัยนี้จะเจริญเติบโตและมีพัฒนาการอย่างเป็นลำดับ นับจากเริ่มจ้องมองสิ่งของ เริ่มเคลื่อนไหวร่างกาย ไขว่คว้า ฝึกคืบคลาน กระทั่งตั้งไข่ เกาะยืนและพยายามจะหัดเดินด้วยตนเองและหัดใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้หยิบ ของชิ้นเล็กๆ เด็กจะชอบหยิบของใส่ปากที่ชอบมากคือปล่อยของและโยนลงพื้น การสนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัวจะเห็นได้จากการที่เด็กคลานไปรื้อนี่ค้นนั่นอยู่ ไม่หยุด แม้ว่าจะยังมีการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้าเพื่อความเข้าใจและการเรียนรู้สิ่ง ที่อยู่รอบๆตัวโดยการใช้ปากกัด อม ใช้มือคว้าหรือ กำ บีบและ สัมผัส ช่วงนี้เด็กจะเริ่มสำรวจสิ่งต่างๆรอบตัวมากขึ้น พฤติกรรมการเล่นของเด็กจะเปลี่ยนไปจากการเป็นผู้ดูมาเป็นผู้เล่นเองโดยมี ผู้ใหญ่เป็นผู้ดู ร่วมเล่น หรือหาของเล่นให้เด็กได้เล่น ช่วงนี้เด็กควรได้รับการฝึกให้เคลื่อนไหว เพื่อให้สามารถใช้อวัยวะต่างๆได้อย่างคล่องแคล่ว

เด็กวัยนี้จะชอบ เครื่องเล่นที่มีเสียงหรือเครื่องเขย่า เพราะเด็กจะชอบคว้า โขกหรือเคาะเมื่อเกิดเสียงจะชอบใจและเป็นการฝึกฟังเสียงด้วย ตุ๊กตายางที่บีบแล้วมีเสียงและกัดได้จะช่วยฝึกความความแข็งแรงของเหงือกได้ ฟุตบอลทำด้วยผ้าสำลีหรือผ้าลื่นๆช่วยการฝึกสัมผัสและรับรู้ผิววัสดุ การเล่นน้ำและทรายก็เป็นการเล่นที่เด็กชอบผู้ใหญ่ควรจัดหาชุดเล่นน้ำและทราย เพื่อให้เด็กสนุกกับการเล่นมากขึ้น ผู้ใหญ่อาจจะหาลิ้นชักหรือกล่องให้เด็กเพื่อฝึกให้การใช้นิ้วมือในการหยิบ ของเล่นแต่ส่วนใหญ่เด็กจะชอบเทของออกมากกว่าเก็บใส่ กิจกรรมนี้ผู้ใหญ่ควรจะร่วมเล่นเพื่อเพิ่มความสนุกและฝึกให้เด็กทำงานง่ายๆ ได้โดยคอยกระตุ้นให้เด็กเก็บของเล่นใส่กล่องและลิ้นชักนั้น ของเล่นประเภทไขลาน ของเล่นที่จูงหรือชักลากก็เป็นของเล่นที่เด็กวัยนี้ชอบได้ ผู้ใหญ่อาจประดิษฐ์ของเล่นชิ้นนี้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีง่ายๆเช่นนำหลอดด้ายมาร้อยเชือกหากจะให้สนุกขึ้นอาจจะเป็นของเล่น ที่ลากได้ด้วยและมีเสียงด้วย การหยอด รูปทรง การเล่นสี การระบายสีด้วยมือ ก็เป็นการเล่นที่ถูกใจเด็กวัยนี้ นอกจากนี้ เด็กยังสามารถเล่นเกมส์ง่ายๆเช่น การเล่นจ๊ะเอ๋ การเล่นปิดตา หรือตบแผละ

วัยหนึ่งขวบถึงสองขวบ

วัย นี้เด็กเคลื่อนไหวร่างกายได้มากขึ้นและเร็วขึ้น เด็กจะไม่หยุดนิ่งแต่จะปีนโน่นป่ายนี่อยู่ไม่หยุดและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เด็กวัยนี้มีความอยากรู้อยากเห็น ซุกซนเพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ต้องคอยช่วยเหลือใกล้ชิดโดยเฉพาะคอยระวังเรื่อง อุบัติเหตุต่างๆ เช่นอาจใช้วัตถุใดๆแหย่ปลั๊กไฟ

เด็กวัยนี้ ต้องการที่จะเรียนรู้สิ่งแปลกๆใหม่ๆที่อยู่รอบตัวมากขึ้น การเรียนรู้จะเรียนรู้จากการดูหรือเลียนแบบคนรอบข้าง วัยนี้เด็กจะมีคำถามมากแต่ไม่ค่อยสนใจที่จะฟังคำตอบยังไม่ค่อยสนใจที่จะเล่น กับเพื่อนวัยเดียวกันหากเล่นก็จะทะเลาะกันบ่อยเพราะเด็กยังไม่รู้จักแบ่งปัน และคิดว่าของเล่นทุกอย่างเป็นของตนเองเด็กจึงชอบเล่นกับคนใกล้ชิดเช่น พ่อ แม่ หรือคนเลี้ยงมากกว่า นอกจากนี้เด็กยังชอบของเล่นที่จับแล้วเกิดเสียง หรือตุ๊กตาที่บีบ หรือเขย่า แล้วมีเสียงร้อง เพราะเด็กๆจะสนุกต่อความรู้สึกสัมผัส การบีบรัดแล้วมีเสียงออกมาพร้อมกัน เด็กจะสนุกและรับฟังเสียงนั้นอย่างตั้งใจ เป็นการฝึกการรับฟังอีกทางหนึ่ง น้ำ หรือทรายเป็นของเล่นใกล้ตัวอีกสิ่งหนึ่งที่เด็กๆยังชื่นชอบ อุปกรณ์การเล่นก็ง่ายๆ โดยนำของที่ใช้ตักตวงได้ เช่น ช้อน พลั่ว หรือถังพลาสติกเล็กๆมาเป็นอุปกรณ์เสริมการเล่นของเด็ก การให้เด็กฝึกตักน้ำ ตักทราย เป็นการฝึกการใช้กล้ามเนื้อนิ้วมือ มือ และแขน

เด็กในช่วง วัยนี้เป็นช่วงวัยที่เด็กเริ่มฝึกการสังเกต ฝึกการเปรียบเทียบ การคิด ฝึกการจำได้บ้างแล้ว โดยสามารถฝึกทักษะนี้ได้ด้วยการเล่นภาพตัดต่อ แต่ก็ควรเป็นภาพต่อน้อยชิ้น สัก 3-6 ชิ้น ก็พอ อาจทำด้วยกระดาษ ไม้ หรือพลาสติกได้ทั้งนั้น เบื้องต้นเด็กจะนำมาเรียงต่อกันแบบลองผิดลองถูก แต่ในที่สุดเด็กจะเริ่มจำได้และเริ่มปะติดปะต่อภาพได้ และสามารถต่อได้สำเร็จ วัยสองขวบถึงสาม ขวบ

ช่วงนี้เด็กจะเริ่ม สนใจที่จะเล่นกับเด็กอื่นๆและสามารถเล่นด้วยกันได้นาน ขณะเดียวกันเด็กวัยนี้เป็นวัยที่รู้จักโลกกว้างขวางขึ้น เด็กต้องการค้นพบสิ่งใหม่ เป็นวัยของความเป็นตัวเอง ต้องการเล่นเป็นอิสระ โดยไม่มีใครบังคับ หรือห้ามปราม ร่างกายหรือกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของเด็กจะแข็งแรงขึ้น เด็กจะชอบเล่นกระโดดโลดเต้น ป่ายปีน เล่นผาดโผน ชอบเล่นบอลล์หรือการไล่จับกันเด็กจะชอบถีบจักรยานสามล้อเพราะจะรู้สึกเป็น สุขที่ตนเองได้บังคับรถจักรยานสามล้อให้เคลื่อนไหวไปตามใจชอบ การเล่นชิงช้า การเล่นจิ๊กซอว์ รูปต่อง่ายๆ วาดภาพระบายสี ละเลงสี ขยำแป้งปั้น การเดินลากจูงของเล่นประเภทเรือ รถไฟไปมา การร้องเพลงแสดงท่าทางประกอบ การเล่นกลางแจ้ง เล่นเลียนแบบผู้ใหญ่ เช่น เล่นพูดคุยกับโทรศัพท์ ของเล่นสิ่งหนึ่งที่เด็กวัยนี้ชอบมากคือ หนังสือภาพ เด็กจะชอบนำมาดู และทำทีว่าอ่านผู้ใหญ่ควรส่งเสริมด้วยการซักถาม เด็กจะเล่าเรื่องโดยการดูจากภาพได้ ซึ่งเป็นการฝึกเรื่องการดูภาพ ฝึกการเล่าเรื่องจากภาพและสามารถฝึกให้เด็กจำคำจากหนังสือที่เป็นคำศัพท์ ง่ายๆได้

เด็กวัยนี้ส่วนใหญ่พ่อแม่จะส่งเข้าโรงเรียนอนุบาลเพราะ เด็กเริ่มที่จะเล่นกับเพื่อนเด็กๆวัยเดียวกันได้แล้ว แทนที่จะเล่นคนเดียวกับบุคคลใกล้ชิด ผู้ใหญ่สามารถหานิทานสนุกๆที่เด็กชอบมาเล่าให้ฟังก่อนนอนจะเป็นการกระตุ้น ให้เด็กเกิดพัฒนาการด้านความคิดและจินตนาการได้

วัยสามขวบถึง สี่ขวบ

เด็ก วัยนี้เริ่มมองโลกกว้างมากขึ้น เป็นตัวของตัวเองมากขึ้นการได้ทำกิจกรรมต่างๆจะทำให้เด็กมองเห็นความสามารถ ของตนเองว่าเหมือนผู้ใหญ่จะทำให้เด็กเกิดความภูมิใจในตนเอง เด็กวัยนี้จะชอบคุย โดยไม่รู้จักเบื่อหน่าย บางทีก็พูดคุยคน

เดียว ได้อย่างสนุกสนาน เด็กจะสนใจคำพูดของผู้ใหญ่และนำคำพูดของผู้ใหญ่มาเลียนแบบ เด็กวัยนี้ช่างซักถามและต้องการฟังคำตอบ สนใจและชอบฟังนิทานที่มีภาพหรือสีสดใสแต่ยังไม่สามารถแยกแยะเรื่องจริงจาก สิ่งที่ฟังได้ เช่น เด็กจะเข้าใจว่าสัตว์ ต้นไม้ ตุ๊กตา พูดได้ แต่เมื่อโตขึ้นกว่านี้เด็กจะเข้าใจ

ในช่วงวัยนี้เด็กจะเริ่มเข้า สังคมและเล่นกับกลุ่มเพื่อนมากขึ้น เด็กกำลังเรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน การผลัดกันเล่น การรอเด็กแสดงออกโดยการชอบเล่นบทบาทสมมุติ และแสดงเป็นบทบาทต่างๆ เช่น ครู นักเรียน หมอ พยาบาล พ่อ แม่ พ่อแม่จะเห็นภาพสะท้อนของตนเองได้จากการเล่นของลูก เช่น เด็กบางคนเล่นเป็น พ่อ แม่ เมื่อฟังจากบทสนทนา หรือบทบาทที่เขาเล่นจะเห็นว่าเป็นนิสัยหรือคำพูดของพ่อแม่ที่ใกล้ชิดกับเขา นั่นเอง เด็กวัยนี้จะเริ่มมีจินตนาการ เริ่มเรียนรู้การเข้าสังคมและเริ่มต้นพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง กระดาษวาดรูป สี เครื่องขีดเขียน แป้งปั้น หนังสือที่มีรูปสวยๆ บ้านตุ๊กตา เครื่องเล่นที่เป็นชุดๆเช่น ชุดเครื่องครัว ชุดเครื่องมือแพทย์ ชุดเครื่องมือช่าง จะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการและถ่ายทอดความคิดนั้นออกมา เป็นรูปธรรมได้ กระดานลื่น ม้าหมุน หรือเครื่องเล่นสนามอื่นๆก็จะช่วยให้เด็กได้ออกกำลังกาย และสร้างเสริมความแข็งแรงแก่สุขภาพกายและจิตด้วย

วัยสี่ขวบถึงห้าขวบ

เด็ก วัยนี้จะมีความคิดเห็นเป็นของตนเองมีความภาคภูมิใจในตนเอง เด็กวัยนี้จะเข้าใจภาษามากขึ้น กำลังฝึกการพูดเป็นประโยคยาวๆเด็กสามารถช่วยตนเองได้ทุกอย่าง วัยนี้เด็กจะเริ่มชอบเล่นแบบแข่งขัน กับการเล่นโดยใช้จินตนาการซึ่งจะมีความซับซ้อนขึ้น เด็กจะชอบเล่นวาดภาพ ระบายสี งานประดิษฐ์เล็กๆน้อยๆ ชอบใช้กรรไกรตัดกระดาษเป็นรูปร่างต่างๆปั้นแป้งเป็นรูปสัตว์ หรือรูปทรงต่างๆการเล่นดังกล่าวเป็นการเล่นที่เด็กชอบเพราะเป็นส่วนหนึ่งของ การถ่ายทอดสิ่งที่อยากจะทำในความคิดของเด็กเองออกมาเป็นรูปเป็นร่างที่มอง เห็นได้ อีกทั้งความคล่องแคล่วทางกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกายก็มีมากขึ้นเด็กจะ เล่นของเล่นที่สามารถใช้ความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อ ได้ดี ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างกล้ามเนื้อ มือ แขน ขา ตา การฟัง เช่น การโยนบอล ป่ายปีนบันใด ไต่ไม้แผ่นเดียว ตีกลอง เคาะวัสดุ ต่างๆ

กล่าว ได้ว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์และสามารถถ่ายทอดจินตนาการ ออกมาได้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ไม่ว่าจะจากการวาด การปั้น การเล่นต่อรูปทรงเป็นรูปแบบต่างๆ หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกสนใจสิ่งไหนเป็นพิเศษสามารถส่งเสริมจนเป็น ความสามารถเฉพาะตัวได้

วัยห้าขวบถึงหกขวบ

เด็ก วัยนี้ชอบเล่นของเล่นที่ช่วยทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์จากสิ่งต่างๆ ชอบเล่นเลียนแบบชีวิตของผู้ใหญ่ ชอบเล่นตั้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ชอบเล่นใช้กำลัง บางทีชอบเล่นแรงๆ เด็กวัยนี้จะห่วงเล่นมาก ไม่ว่าจะเป็นการเล่นในร่มหรือกลางแจ้งเด็กจะเล่นตลอดเวลา โดยไม่รู้จักแบ่งเวลา บางทีอาจจะขัดแย้งกับผู้ใหญ่ เด็กวัยนี้เริ่มมีบุคคลหรืออาชีพในดวงใจ เช่น หมอ พยาบาล ฯลฯ ดังนั้นหากต้องการให้เด็กรับประทานอาหารผู้ใหญ่ควรบอกว่า นักกีฬาที่ดี (หรืออะไรก็ตามที่เด็กชื่นชอบ) ต้องรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เช่นผัก เนื้อ นม เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเก่งๆ เด็กก็จะคล้อยตาม และเป็นสุขใจที่จะทำตามมากกว่าที่ผู้ใหญ่จะบังคับ

การเล่นของเด็กวัย นี้จะเน้นไปในเรื่องของการฝึกทักษะการใช้กล้ามเนื้อ การประสานสัมพันธ์ระหว่างมือ แขน ขาและสายตา ความคล่องแคล่ว ความว่องไว ทางกล้ามเนื้อ การทรงตัว เช่น การเล่นเตะฟุตบอล กระโดดเชือก ไต่ไม้ ถีบรถจักรยาน เด็กเริ่มที่จะถีบจักรยานสองล้อได้แล้ว และมีความกล้าพอที่จะไม่กลัวเจ็บ ชอบเล่นของเล่นที่เป็นชิ้นส่วนประดิษฐ์ เพราะมีความสนใจใคร่รู้อยากทดลองสิ่งใหม่ๆ เด็กสามารถที่จะประดิษฐ์สิ่งเล็กๆน้อยด้วยตัวเองจนสำเร็จได้ เด็กวัยนี้ยังชอบที่จะเล่นแสดงบทบาทเลียนแบบในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นสมมุติ ว่าเป็นนั่นเป็นนี่ แต่งเรื่องราวโดยคิดขึ้นเอง ซึ่งเป็นการฝึกในเรื่องของการใช้ภาษาในการสื่อสาร และการกล้าแสดงออกและกล้าบอกความต้องการของตนเองด้วยการพูด ซึ่งจะเป็นการฝึกทักษะในการเข้าสังคมเบื้องต้นของเด็กอีกด้วย การวาดรูป ต่อภาพ ต่อแต้ม เกมส์ต่างๆยังเป็นสิ่งที่เด็กชอบหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติ และคำศัพท์ต่างๆเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่น่าจะจัดหามาให้เด็กเพื่อส่งเสริมการ เรียนรู้ของเด็กวัยนี้

 

 ที่มาของข้อมูล   วารสารการศึกษาปฐมวัย ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 กรกฎาคม 2542

คำสำคัญ (Tags): #ชัยภูมิ7
หมายเลขบันทึก: 358775เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2010 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท